Skip to main content
sharethis


ภาพจากสถาบันอิศราฯ

 

เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี รายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ม.ค.) ว่า รัฐบาลอังกฤษได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกและจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดแบบมือถือ ADE-651 ไปยังประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งกำลังพลจากกองทัพอังกฤษยังคงปฏิบัติการอยู่ใน 2 ประเทศนี้ ภายหลังจากตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว

ก่อนหน้าการจับกุม สำนักข่าวบีบีซีได้รายงานข่าวเชิงสืบสวนเพื่อจับโกหกเครื่องมือชนิดนี้ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายโฆษณาว่าสามารถค้นหาวัตถุระเบิดได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพด้วยการ์ดอิเลคทรอนิคส์แบบพิเศษ แต่แท้ที่จริงแล้วเครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถค้นหาวัตถุระเบิดได้จริง

รายงานระบุด้วยว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ADE-651 ถูกส่งไปจำหน่ายอย่างแพร่หลายในตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศไทย โดยรัฐบาลอิรักเคยทุ่มเงินถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,500 ล้านบาท) เพื่อจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้ซึ่งมีสนนราคาอยู่ที่เครื่องละ 40,000 เหรียญ (ราว 1.2 ล้านบาท) และส่งไปใช้กันเกือบทุกจุดตรวจในกรุงแบกแดด 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งรูปลักษณ์และวิธีการทำงานของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ADE-651 มีความคล้ายคลึงกับเครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200” ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงใช้กันอย่างกว้างขวางในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือที่ตัวเครื่องจะมีเสาอากาศคอยชี้จุดหรือทิศทางที่ตรวจพบสารที่ต้องการค้นหา ขนาดของเครื่องไม่ใหญ่นัก สามารถถือได้อย่างเหมาะมือ มีการ์ดใส่เข้าไปในตัวเครื่องเพื่อกำหนดชนิดของสสารที่ต้องการตรวจ และอ้างว่าใช้ไฟฟ้าสถิตย์จากตัวผู้ถือไปค้นหาสนามแม่เหล็กจากสารประกอบระเบิด

แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังในกรุงเทพฯ ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ถูกจับกุมในอังกฤษน่าจะเป็นบริษัทเดียวกันกับที่จำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่มีชื่อทางการค้าว่า ADE-101 ซึ่งกำลังถูกจัดซื้อเพื่อนำมาใช้ในภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย

ก่อนหน้านี้ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนชุมชนในอินเทอร์เน็ต ได้ออกมาตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 หลังจากฝ่ายความมั่นคงใช้เครื่องมือดังกล่าวตรวจหาวัตถุระเบิดและแสดงผลผิดพลาดถึง 2 ครั้งซ้อน จนเกิดระเบิดครั้งรุนแรงที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส (คาร์บอมบ์) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และในตลาดสดกลางเมืองยะลา (มอเตอร์ไซค์บอมบ์) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ผลจากความผิดพลาดดังกล่าว ทำให้กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และสรุปว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นจากตัวผู้ใช้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ หรืออาจจะพักผ่อนน้อย เนื่องจากเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดชนิดนี้ใช้ไฟฟ้าสถิตย์จากร่างกายผู้ถือ เพื่อตรวจหาสนามแม่เหล็กจากสารประกอบระเบิด แต่คำชี้แจงดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหลักการทำงานของเครื่องมือตามที่อ้างไม่ใช่หลักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังไม่มีกลไกอิเลคทรอนิคส์ใดๆ ในตัวเครื่อง วิธีการค้นหาระเบิดจึงคล้ายกับ “ลวดเดาว์ซิ่ง” ที่ใช้หาแหล่งน้ำ แต่ไม่ได้มีการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

นอกจากนั้น จากเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทผู้จำหน่ายเครื่อง ยังอ้างว่าการทำงานของเครื่องมือนี้ไม่ใช้แบตเตอรี่ แต่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าสถิตย์ ใช้หลักพื้นฐานการดึงดูดของสนามแม่เหล็ก ชี้บอกทิศทาง (ตำแหน่ง) ของสารที่ได้กำหนดค่าไว้ในเซนเซอร์การ์ด การตรวจจับสามารถผ่านทะลุพื้นผิวแต่ละชนิดและผสมหลายชนิด เช่น พื้นดิน น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง คอนกรีต โลหะ ตะกั่ว ยานพาหนะ เรือ อากาศยาน สิ่งปลูกสร้าง ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นการตรวจจับได้ สามารถตรวจค้นหาทางภาคพื้น พื้นที่เปิดโล่ง 700 เมตร มีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น 200 เมตร ในบริเวณป่าเขา 600 เมตร สามารถตรวจค้นหาทางทะเลชายฝั่ง 850 เมตร บริเวณท่าเรือเปิดโล่ง 750 เมตร ท่าเรือมีเรือหนาแน่น 100 เมตร สามารถตรวจค้นหาทางอากาศโดยขึ้นไปบนเฮลิคอปเคอร์ 4,000 เมตร (เท่ากับ 4 กิโลเมตร) ความลึกในการตรวจค้นหาใต้น้ำลึก 500 เมตร ใต้พื้นดินลึก 60 เมตร สามารถค้นหาได้ทั้งสารประกอบระเบิด ดินปืน รวมถึงซากศพมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้ทางด้านนี้ต่างยืนยันว่าเป็นคุณสมบัติที่เกินจริงและเป็นไปไม่ได้เลย

ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 เคยถูกนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา โดยมีการเชิญผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกองทัพบกโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เข้าชี้แจง 

ผลสรุปจากคณะกรรมาธิการฯ คือให้กองทัพจัดการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้อย่างเป็นทางการด้วยวิธีการที่สากลยอมรับ ไม่ใช่จัดทดสอบโดยบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่อง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายความมั่นคงแต่อย่างใด

ปัจจุบัน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนในอินเทอร์เน็ต ได้จัดทำฟอร์เวิร์ดเมล์ในนามของ "ชุมชนวิทยาศาสตร์หว้ากอ" หัวข้อ "ร่วมยับยั้งเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก" มีเนื้อหาต่อต้านเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่มีชื่อทางการค้าแตกต่างกันหลายชื่อ และกำลังนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ส่งต่อๆ กันเพื่อให้ความรู้กับประชาชนด้วยภาษาและข้อมูลที่เข้าใจจ่าย พร้อมให้โหลดเอกสารอ้างอิงจากต่างประเทศที่มีการตรวจสอบ จับกุม และสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องมือลักษณะใกล้เคียงกันนี้ เพื่อกดดันให้ฝ่ายความมั่นคงยุติการใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีนักข่าวต่างประเทศชื่อดังที่ทำข่าวอยู่ในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความเชิงประชดประชันผ่านเว็บไซต์ของตนเอง กรณีฝ่ายความมั่นคงไทยใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ถูกตั้งคำถามว่ามีคุณสมบัติไม่ต่างอะไรกับของเล่นเด็กด้วย 

สำหรับเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 ที่ใช้ในประเทศไทยมีราคาเครื่องละ 9 แสนถึง 1.6 ล้านบาท และมีใช้กิจการเพื่อความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 535 เครื่อง!

 

...........................................................................

ที่มา: โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ต้นฉบับของบีบีซี http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/8476381.stm

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net