Skip to main content
sharethis

BOI ระบุต่างชาติชะลอการลงทุนกลัวม๊อบคนงานขึ้นโบนัสรวมถึงกลัวแรงงานขาดในภาคอิเล็กฯ สิ่งทอ หวั่นย้ายฐานหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ด้านสภาอุตฯ วอนขอจ้างคนงานข้ามชาติโดยได้สิทธิพิเศษเหมือนแรงงานไทย

26 ม.ค. 53 – เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติได้แสดงความกังวลมายังบีโอไอถึงการประท้วงของแรงงานไทยบางกลุ่ม เพื่อขอเพิ่มเงินเดือน เงินโบนัส และสวัสดิการ ซึ่งบางเหตุการณ์มีการหยุดงานหลายวันติดต่อกัน ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด จนหลายรายเริ่มชะลอแผนขยายการลงทุนในไทย หรือพิจารณาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทนโดยประเด็นนี้นักลงทุนต่างชาติต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาด่วน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวใหม่ที่จะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติบางรายยังร้องเรียนว่าที่ผ่านมาถูกแรงงานกลั่นแกล้ง ยกตัวอย่างเช่น แอบปิดสวิตช์ไฟจนเครื่องจักรหยุดการทำงานชั่วคราว ส่งผลให้กลุ่มทุนเสียความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

"นักลงทุนมองว่าการขึ้นค่าแรงของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบรรยากาศการลงทุนในไทยเห็นได้จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอปี 2552 อยู่ที่ 723,000 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน แต่ปัญหาการประท้วงของแรงงานเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะภาพการประท้วงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติกลัวมาก" นางอรรชกา กล่าว
 
นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติยังแสดงความกังวลถึงการขาดแคลนแรงงานในไทยด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ที่ได้เข้ามาเจรจาให้บีโอไอเพิ่มสิทธิพิเศษในกรณีที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว เนื่องจากการจ้างงานแรงงานต่างด้าวไม่ได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ เพราะบางบริษัทไม่สามารถหาแรงงานไทยให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงอยากจะไปตั้งโรงงานบริเวณชายแดน เพื่อหวังใช้แรงงานต่างด้าวแทนทั้งนี้ช่วงปลายปี 2552 กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้กำลังผลิต 90-100% แล้ว จึงจำเป็นต้องลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตเพิ่ม เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่กลุ่มยานยนต์พบว่ามีหลายรายที่เพิ่มกำลังผลิตเช่นกันสำหรับกรณีของนักลงทุนญี่ปุ่น แม้จะมียอดการลงทุนในไทยมากที่สุด แต่ยอดการลงทุนในไทยปีก่อนลดลง เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากในปี 2552 บริษัทในญี่ปุ่นได้ชะลอแผนการลงทุนทั่วโลก เพราะบริษัทแม่ประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ แต่ถ้าเศรษฐกิจทั่วโลกดีญี่ปุ่นอาจขยายการลงทุนอีกทั้งนี้ บีโอไอเป็นห่วงการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทนที่ปี 2552 มียอดขอรับส่งเสริมสูงถึง 220,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการลงทุนประเภทใหม่ และมีเม็ดเงินจำนวนมาก ดังนั้นอาจมีการลงทุนที่ล่าช้า และบางรายไม่สามารถลงทุนได้จริง เพราะประสบปัญหาเรื่องการหาพื้นที่ รวมถึงการประท้วงของชุมชน และการหาแหล่งเงินทุนผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงจากการประท้วงของพนังงานเพื่อขอเพิ่มโบนัสในบางกลุ่มอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตยางรถยนต์จากไต้หวันไม่กล้าขยายลงทุนโรงงานในไทยเพิ่ม วงเงินลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท เพราะกลัวว่าปัญหาดังกล่าวอาจขยายวงกว้างในอนาคต ส่งผลให้ต้องไปขยายการลงทุนในโรงงานประเทศเพื่อนบ้านของไทยแทน
 
ด้าน นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงบีโอไอให้แก้ระเบียบ เพื่อช่วยเหลือให้โรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าวสามารถรับสิทธิพิเศษเหมือนกับการใช้แรงงานไทย เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมต้องการขยายกำลังผลิตตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ จึงจำเป็นต้องตั้งโรงงานตามจังหวัดชายแดน เพื่อใช้แรงงานต่างด้าวที่สามารถไปกลับประเทศแบบไปเช้าเย็นกลับได้

 
ที่มาข่าว: เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net