Skip to main content
sharethis

ความตื่นตัวของการมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านโลกออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารและการแสดงพลังทางสังคมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนของ citizen journalist  หรือ cyber activist ที่คืบคลานเข้ามาสู่โลกแห่งการสื่อสารแบบใหม่นี้ ไม่ว่าคุณจะสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยความหวาดระแวงคลางแคลงใจ หรือชื่นชมยินดีก็ตาม มันก็เข้ามามีบทบาทในโลกจริงแล้วอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างชั้นดีของการตอบสนองจากรัฐต่อช่องทางการสื่อสารใหม่นี้ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์หลักของประเทศต้องปรับกลยุทธ์แบ่งสรรเนื้อหาออนไลน์กับฉบับตีพิมพ์อย่างชัดเจน หลังยอดขายเริ่มส่งสัญญาณในทางลบ

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงเรื่องผลตอบแทน หากแต่วัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมอินเตอร์เน็ตคือ ไม่มีใครเป็นผู้ยึดกุมความถูกต้อง สิ่งนี้ท้าทายขนบธรรมเนียมการสื่อสารแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่เชื่อว่าสื่อสามารถกำหนดวาระทางสังคม ปรากฏการณ์ข่าวเจาะจากเว็บพันทิปโดยผู้เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า ผู้เล่นอินเตอร์เน็ตสามารถกำหนดวาระสื่อได้เช่นกัน

ประชาไทเปิดศักราชใหม่ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าคนทำสื่อในโลกไซเบอร์ ว่าเขานิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดันให้หันมาใช้สื่อใหม่เหล่านี้ เขามีข้อสังเกตอะไรบ้างต่อพื้นที่ออนไลน์ และมันช่วยเติมเต็มเสรีภาพในการสื่อสารได้จริงหรือไม่ เพียงใด

000

 

พงศ์พันธุ์ ชุ่มใจ สัมภาษณ์

 

มีไม่มากนักที่จะมีสื่อในประเทศไทย ที่รายงานเรื่องราวจากพม่า เพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกอย่างตรงไปตรงมา หลากหลายแง่มุม และรุ่มรวยด้วยข้อมูลเชิงศิลปวัฒนธรรม “นิตยสารสาละวินโพสต์” ถือเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่น้อยนั้น

จากการก่อตั้งศูนย์ข่าวสาละวินในปี 2546 เผยแพร่ “จดหมายข่าวสาละวินโพสต์” ราย 6 สัปดาห์ และจดหมายข่าวทางอีเมล์ สู่ “นิตยสารสาละวินโพสต์” เริ่มออกราย 6 สัปดาห์ ต่อมาในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 49 ประจำเดือนกันยายน ปี 2551 ก็ปรับเป็นราย 2 เดือน โดยล่าสุดนิตยสารฉบับนี้ปรากฏอยู่ในบรรณพิภพ ถึงฉบับที่ 56 แล้ว

 

 
ปก “สาละวินโพสต์” ยุคต่างๆ ที่เปลี่ยนโฉมจาก “จดหมายข่าว” สู่ “นิตยสาร” เต็มตัว

 

เว็บไซต์ www.salweennews.org “สาละวินโพสต์” ในโลกของ “สื่อใหม่”อย่างอินเทอร์เน็ต ที่ปรึกษาสาละวินโพสต์ระบุว่าข้อมูลจากเว็บไซต์ “สาละวินโพสต์” ถูกนำไปอ้างอิงในเว็บไซต์ที่หลากหลายตั้งแต่เว็บไซต์การทหาร กฎหมายสัญชาติ ศิลปวัฒนธรรม สตรี จนถึงเว็บไซต์ทำอาหาร

 

“ปรับโฉม” เพื่อ “สถานการณ์เดิม”

วันดี สันติวุฒิเมธี อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับนิตยสารฉบับนี้ กล่าวว่า “สาละวินโพสต์” เริ่มต้นจากจดหมายข่าวแบบขาวดำ และค่อยๆ ปรับปรุงมาเรื่อยๆ จากที่มีแต่ข่าว ก็เริ่มมีสารคดี มีเรื่องจากปก จากจดหมายข่าวสีเดียว ก็เพิ่มเป็นหน้าปกสองสี หน้าปกสี่สี ปรับเปลี่ยนขนาดของจดหมายข่าวให้เท่ากับขนาดนิตยสารทั่วไป กระนั้นบางคนยังติดเรียกสาละวินโพสต์ว่าวารสาร

วันดี บอกว่า ที่สาละวินโพสต์ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ก็เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้มากขึ้น

“ประเด็นหลักก็คือ สาละวินโพสต์เป็นนิตยสารที่โฟกัสเรื่องพม่า ดังนั้น จะทำอย่างไรให้คนสนใจเรื่องพม่ามากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์พม่าไม่เคยเปลี่ยน สาละวินโพสต์ทำมา 50 ฉบับแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองในพม่าซึ่งเป็นสถานการณ์หลักยังไม่เปลี่ยน โจทย์ในการทำงานของเราคือ ภายใต้เรื่องเดิม ๆ สถานการณ์เดิมๆ แต่เราต้องการกลุ่มคนอ่านที่มากขึ้น สิ่งที่เราจะเปลี่ยนได้คือรูปแบบการนำเสนอ ในฐานะคนทำสื่อที่ติดตามเรื่องพม่ามากนาน เราพบว่า สถานการณ์ปัญหาการเมืองในพม่าเป็นเรื่องซับซ้อนที่เกิดขึ้นมานาน และดูเหมือนจะหยุดนิ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่นิตยสารเป็นสื่อมวลชน ซึ่งเนื้อหาจะหยุดนิ่งตามสถานการณ์ไม่ได้ เราต้องหาทางเดินต่อไปข้างหน้า”

“บรรณาธิการนิตยสารสารคดี (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) เคยพูดประโยคหนึ่งทำนองว่า “หนังสือสารคดี จะไม่มีวันตาย ตราบใดที่โลกยังหมุน” คือนี่เป็นแนวคิดของคนทำงานสื่อ โลกมันหมุนไปเสมอ หนังสือก็ต้องติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มันต้องเดินหน้า ต้องหมุนไปข้างหน้า เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้น สาละวินโพสต์จึงไม่ได้หยุดนิ่งตามสถานการณ์ เราพยายามหามุมมองใหม่ๆ เพื่อนำมามองเรื่องเดิมๆ”

 

ฝ่ามายาคติด้วยวิธีใหม่ๆ

ในขณะที่สังคมไทยยังมองพม่าด้วยท่าทีแฝงอคติแบบเดิมๆ ซึ่งนำไปสู่วิธีแก้ปัญหา ที่ปรึกษานิตยสารสาละวินโพสต์กล่าวถึงความจำเป็นที่สังคมไทยต้องมองพม่าด้วยมุมใหม่ว่า เพราะพรมแดนที่ติดกัน ไทยกับพม่าไม่มีวันเลิกเป็นเพื่อนบ้าน แต่สายตาของเราที่ใช้มองเพื่อนบ้านสามารถเปลี่ยนไปได้ เรามองเขาแบบเขาเป็นศัตรูก็ทำได้ แต่ทำแบบนั้นแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ถ้ามองเขาในมุมใหม่ มองพม่าที่เพื่อนบ้าน ที่เป็นมิตร เขาอยู่กับเราไปตลอด

“ถ้ามองเรื่องเดิมในมุมมองเดิม ใช้แว่นอันเดิมมองพม่า เราก็คิดเหมือนเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนแว่นในการมองใหม่เราก็มองเห็นพม่าในมุมใหม่”

“สาละวินโพสต์จึงหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้คนไทยมองพม่าในมุมใหม่ หาเทคนิคในการนำเสนอ เข้าถึงกลุ่มคนอ่านให้มากขึ้น เราหาแว่นสายตาอันใหม่ๆ กรอบใหม่ๆ มามองพม่า หลังๆ ดูหนังสือจะพบว่าเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น มีเรื่องเบาๆ มากขึ้น อย่างตำราอาหาร หรือโหราศาสตร์พม่า”

อาจเกิดคำถามว่าจู่ๆ นิตยสารทีมีข้อมูลข่าวสารเรื่องพม่าเชิงลึก แต่กลับมีแต่เรื่องศิลปวัฒนธรรมสอดแทรก จนบางคนเห็นว่ามีแต่เรื่องไร้สาระ วันดีกล่าวว่า บางคนอาจเห็นว่ามีแต่เรื่องไร้สาระ แต่ถามว่า ถ้าในสาละวินโพสต์ไม่มีเรื่องเบาๆ ในนิตยสารเลย จะพบว่าที่เหลือคือส่วนที่เป็นข่าว ก็เป็นข่าวสถานการณ์ในพม่าที่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เราอ่านสาละวินโพสต์ฉบับที่ 1 ผ่านมาอีก 30 เล่ม ผ่านมา 6 ปี 7 ปี ออง ซาน ซูจี ก็ยังถูกกักบริเวณอยู่ สำหรับผู้อ่านหากเขาไล่อ่านข่าวย้อนหลังในสาละวินโพสต์เล่มเก่าๆ ก็จะพบว่าเขากำลังอ่านเรื่องเดิมๆ ดังนั้นในเมื่อสถานการณ์หลักยังเป็นเรื่องเดิม แต่เพื่อให้ผู้อ่านเปิดหนังสือของเราทุกๆ ฉบับ เราจึงต้องหาเรื่องใหม่ๆ เข้ามาให้คนเปิดอ่าน คิดคอลัมน์ใหม่ๆ เพื่อให้คนเปิดหนังสือ ไม่อย่างนั้น หนังสือก็จบ

“สาละวินโพสต์จึงมีอะไรใหม่ๆ มาเสมอ เพื่อดึงผู้อ่านกลุ่มเดิม และขยายไปสู่ผู้อ่านกลุ่มใหม่ๆ คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องพม่ามาก่อน เขาอาจเริ่มต้นรับรู้เรื่องพม่าผ่านเรื่องเบาๆ อย่างเรื่องโหราศาสตร์ ซึ่งใครๆ ก็ชอบดวง เพื่อนำไปสู่ความสนใจเรื่องอื่นๆ ขยับจากเรื่องที่เบาๆ อย่างโหราศาสตร์ ไปสู่เรื่องวัฒนธรรม ไปสู่ปัญหาต่างๆ ในพม่า คือเพิ่มระดับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

ใครอ่านสาละวินโพสต์

เมื่อถามว่ากลุ่มผู้อ่านของสาละวินโพสต์ คือใครบ้าง วันดีเล่าให้ฟังว่า หลักๆ ช่วงแรกที่เป็นจดหมายข่าว เราอยากให้เจ้าหน้าที่ๆ ปฏิบัติงานที่ชายแดนอ่าน ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แรกๆ ส่งให้อ่านฟรีเลย เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านั้นควรได้รู้เรื่องสถานการณ์ในพม่า ต่อมาจึงเริ่มขยายไปสู่กลุ่มผู้อ่านทั่วไป ทั้งนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือกลุ่มผู้อ่านปัญญาชนที่สนใจเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน

ตอนที่เริ่มทำสาละวินโพสต์ในรูปแบบจดหมายข่าว ซึ่งขณะนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทน รูปแบบจึงยังไม่น่าสนใจ พอเริ่มมีทุน ก็พยายามปรับปรุงรูปแบบสาละวินโพสต์ ที่หลากหลายมากขึ้น และเริ่มขยายไปสู่ผู้อ่านกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น

ตอนนี้ หากนับจากวันแรกของจดหมายข่าว ปัจจุบันนี้ถือว่าผู้อ่านขยายกว่าเดิมเยอะเลย วันดีกล่าว “เรามีกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นฐานคนอ่านที่กำลังขยายตัวอย่างมาก สิ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ เรื่องของการทำรายงาน ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีสาขาของวิชาที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักศึกษาเลือกหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับพม่ามากขึ้น เมื่อนักศึกษากลุ่มนี้เลือกศึกษาเรื่องพม่า เขาจะติดต่อมายังสาละวินโพสต์ เพื่อขอข้อมูล เพื่อขอสัมภาษณ์ รายงานเรื่องพม่าของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจะพบว่าเขาอ้างอิง “สาละวินโพสต์” ในรายงานของเขาด้วย นับเป็นผู้อ่านกลุ่มใหม่ที่เข้ามาอ่านหนังสือของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

จดหมายถึง บก.

เป็นธรรมดาที่นิตยสาร จะมี “ผู้อ่าน” จากทางบ้านเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการและทีมงานนิตยสาร “สาละวินโพสต์” ก็เช่นกัน มีกลุ่มคนที่หลากหลายเขียนจดหมายมายัง “สาละวินโพสต์” รวมทั้ง “คนพิเศษ” อย่างผู้ต้องขังในเรือนจำ

“ก็มีคนเขียนจดหมายมาหลากหลาย มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเรือนจำด้วย เขาเขียนจดหมายมาที่สาละวินโพสต์ทั้งเขียนบทความมาส่ง และขอนิตยสาร” ที่ปรึกษาสาละวินโพสต์บอกกับเรา

วันดีเล่าต่อว่า มีกลุ่มของคนที่หลากหลายมากส่งเรื่องตอนที่มีการประกวด “มิตรภาพสู่พรมแดนตะวันตก” ในตอนที่ประกวด มีผู้เขียนที่เป็นพยาบาลจากชายแดนภาคใต้เขียนเล่าเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาล แม้กระทั่งไต้ก๋งเรือซึ่งคุมแรงงานประมงชาวพม่าก็ส่งเรื่องมาประกวด เป็นการมองแรงงานประมงพม่าโดยไต้ก๋งเรือคนไทยที่มองในแง่มุมที่ดี จะเห็นว่าตัวนิตยสารกระจายไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น

วันดีกล่าวว่า นิตยสารสาละวินโพสต์กระจายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคที่ติดต่อกับชายแดนด้านพม่า จะมีบางพื้นที่ที่นิตยสารยังไม่แพร่หลาย อย่างพื้นที่ภาคอีสาน ที่เรื่องของพม่าอาจยังได้รับความสนใจน้อย เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล และใกล้ชิดกับประเทศแถบแม่น้ำโขงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีของอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช ซึ่งเคยสอนที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เคยแนะนำให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทำรายงานในประเด็นพม่า มาขอข้อมูลกับนิตยสาร

 

สาละวินโพสต์ในโลกของ “สื่อใหม่”

“สาละวินโพสต์” ไม่เพียงทำหน้าที่เป็น “สื่อทางเลือก” ในโลกของ “สื่อเก่า” อย่างสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ในโลกของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ www.salweennews.org ของสาละวินโพสต์ก็ถูกกล่าวถึงในเว็บหลายหลายประเภท ตั้งแต่เว็บการทหาร จนถึงเว็บทำอาหาร!

“การสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต มีการพูดถึง “สาละวินโพสต์” ในเว็บที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เว็บที่พูดเรื่องการเมือง แม้แต่เว็บทำอาหาร เว็บรวมเมนูอาหาร อย่าง “อาระกันโม่งตี่” ซึ่งเป็นยำขนมจีนปลาช่อนทอดขมิ้นแบบชาวอาระกัน ก็มีคนไปโพสต์ในเว็บทำอาหาร”

“เมื่อสาละวินโพสต์นำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย ก็ทำให้เราสามารถไปเกาะเกี่ยวกับคนอื่นกลุ่มอื่นได้มากขึ้น” วันดีอธิบาย และเล่าต่อว่า เมื่อนำเสนอเรื่องอาหารในพม่าก็ไปปรากฏในพื้นที่ของกลุ่มที่ชอบทำอาหาร นำเสนอเรื่องวัฒนธรรมไปเกาะกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสนใจวัฒนธรรม นำเสนอเรื่องเด็กไร้สัญชาติเนื้อหาก็ปรากฏในพื้นที่ของคนทำงานในประเด็นเรื่องสัญชาติ บทความในสาละวินโพสต์ถูกนำไปโพสต์ในเว็บต่างๆ ในพื้นที่ของกลุ่มผู้อ่านที่มีประเด็นที่เขาสนใจ มีการดึงเนื้อหาไปใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเว็บเกี่ยวกับเด็ก เว็บที่เป็นเรื่องของผู้หญิง

“เว็บของทหารก็ยังมีการพูดถึงสาละวินโพสต์ นำเรื่องที่นำเสนอในสาละวินโพสต์ไปโพสต์ในเว็บบอร์ดเขา เอาไปคุยกัน ถือว่ากลุ่มผู้อ่านสาละวินโพสต์มีความหลากหลาย” วันดีกล่าว

 

สังคมไทยที่รอวันเปลี่ยนมุมมองต่อ “พม่า”
และ “พม่า” ที่รอการเปลี่ยนแปลง

เมื่อขอให้วันดี ลองประเมินว่า ระยะหลังมานี้ มุมมองของสังคมไทยที่มีต่อพม่าเปลี่ยนไปหรือไม่ วันดีตอบว่า มองภาพรวมว่า ในสังคมไทย คนที่มองพม่าในมุมเดิม ก็มีอยู่เยอะ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ คนที่อายุเกิน 40-50 ปีไป เขามีข้อมูลชุดเดิมในการมองพม่า ขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งอยู่ในวัยแสวงหา และเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ เขาเริ่มรับรู้ข้อมูลพม่าในแง่มุมใหม่ๆ มากขึ้น มีสายตาที่มองพม่าเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ก็มีคนรุ่นเก่าบางส่วนเริ่มเปิดใจมองพม่าในมุมใหม่บ้าง

เมื่อถามว่าสาละวินโพสต์สนใจนำเสนออะไรในปี 2553 วันดีกล่าวว่า ในปี 2553 ทั่วโลกสนใจเรื่องการเลือกตั้ง สนใจปัญหาการเมืองของพม่า แต่ปัญหาในพม่าถือเป็นเรื่องเรื้อรังมานาน บางทีเหมือนสถานการณ์ในพม่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยและมีแต่ปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ

ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนเฝ้ารอที่จะเห็นพม่าเกิดความเปลี่ยนแปลง ในปี 2551 ที่มีพายุนาร์กีสถล่ม แล้วรัฐบาลพม่าไม่ขอรับความช่วยเหลือ ก็มีคนคาดหวังว่านานาชาติจะมีมาตรการจัดการรัฐบาลพม่า แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นย้อนกลับไปในปี 2550 ที่มีการชุมนุมของพระสงฆ์ แล้วเกิดการปราบปราม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายรุนแรงมาก คนก็ไม่มีความหวัง เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพม่าได้ พอการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีนี้ คนกลัวว่า สุดท้ายพม่าก็จะเหมือนเดิม คนที่ชนะการเลือกตั้ง ดูแนวโน้มน่าจะเป็นพรรคของรัฐบาลทหารอีก การเลือกตั้งจึงเป็นแค่การเปลี่ยนเสื้อคลุมตัวใหม่ให้กับเขาเท่านั้นเอง

“ดังนั้นเมื่อถามว่าจะเปลี่ยนแค่ไหน คำตอบคือ ไม่ค่อยมีความหวังกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

“ในส่วนของสาละวินโพสต์จะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าว่าจะเป็นอย่างไรและจะส่งผลอย่างไร ประเทศพม่าจะเปลี่ยนหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะติดตามมานำเสนอผู้อ่าน ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ที่มีความหลากหลายก็จะทำต่อต่อไป เราจะพยายามทำให้หนังสือมีความน่าสนใจ ทำให้ผู้อ่านอยากจะอ่านหนังสือของเรามากขึ้น” วันดีกล่าว

 

โอกาสที่จำกัดของสื่อทางเลือก

แม้จะปรับรูปแบบเป็นนิตยสารแล้ว แต่ “สาละวินโพสต์” ยังหาที่วางเผยแพร่ได้จำกัดเนื่องจากธุรกิจร้านหนังสือขนาดใหญ่บางแห่ง ยังไม่ใจกว้างพอสำหรับหนังสือทางเลือก

วันดีบอกว่า การกระจายนิตยสารสาละวินโพสต์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มาจากการที่ผู้อ่านสมัครสมาชิกรายปี และสั่งซื้อฉบับย้อนหลัง ซึ่งมีการสั่งเรื่อยๆ ส่วนการกระจายนิตยสารหน้าร้านหนังสือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก ตกอยู่ราวร้อยละ 20 ของยอดจำหน่าย

วันดีเอ่ยชื่อร้านหนังสือแฟรนไชส์ใหญ่ 2-3 แห่งที่ปฏิเสธไม่รับจำหน่ายสาละวินโพสต์ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นิตยสารสาละวินโพสต์ถูกปฏิเสธจากศูนย์หนังสือของสถาบันอุดมศึกษาใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองหลวง

“เราอยากขายตามร้านหนังสือ เปลี่ยนขนาดรูปเล่ม สุดท้ายบางร้านหนังสือ ไม่รับหนังสือไปขาย ให้เหตุผลว่าไม่ใช่หนังสือแฟชั่น วางแล้วเสียพื้นที่บนแผง วางแล้วขายไม่ได้ คือถ้าร้านไม่ใจกว้างพอให้พื้นที่ สื่อทางเลือกก็แจ้งเกิดในร้านหนังสือยากมาก”

วันดีกล่าวว่า ธุรกิจนิตยสารต้องมีสายป่านที่ยาว ถึงจะยืนอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นหนังสือทางเลือกจริงๆ สายป่านก็ไม่ยาว ดังนั้น ธุรกิจร้านหนังสือจึงมีผลมากกับการที่คนจะได้อ่านหนังสือของเราหรือไม่ ยกตัวอย่าง ร้านบางร้านที่รับวางสาละวินโพสต์ อย่าง “สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์” ถือเป็นจุดหนึ่งที่สามารถกระจายนิตยสารสาละวินโพสต์ได้มาก เพราะร้านนี้ให้ชั้นวางหนังสือทั้งแถวเต็มๆ

“ธุรกิจร้านหนังสือไม่ควรมีแนวคิดเหมือนธุรกิจที่มุ่งหากำไร ธุรกิจหนังสือเป็นคลังความรู้ของคนในประเทศ ถ้าอยากร่วมสร้างความรู้ให้คนในประเทศ ถ้าคุณโฆษณาว่าร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้ ก็ต้องเปิดพื้นที่ในแผงหนังสือให้สิ่งพิมพ์ที่แสวงความรู้ ไม่ใช่เพื่อแสวงกำไรอย่างเดียว เราจะขอบพระคุณมากทีเดียว ถ้ามีร้านหนังสือใหญ่ๆ เปิดพื้นที่แผงหนังสือให้หนังสือทางเลือก เป็นคลังความรู้ของคนในประเทศอย่างแท้จริง” วันดีกล่าวทิ้งท้าย

 

สาละวินโพสต์ มีจำหน่ายที่ไหนบ้าง
เชียงใหม่ - ร้านเล่า ถนนนิมมานเหมินท์ - สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ - ร้านแซงแซว ถ.ห้วยแก้ว หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ร้านสามัญชน (คาร์ฟูร์หางดง) เชียงราย - ร้านนายอินทร์ - แม่ฮ่องสอน - ร้านช้าง – ไพลินสาส์น (อ.แม่สะเรียง) – ตาก –ร้านสินสมบัติ (อ.แม่สอด) - กรุงเทพฯ - ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) - ร้านริมขอบฟ้า (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) หรือ สมัครสมาชิก (คลิกที่นี่)

อ่านสาละวินโพสต์ออนไลน์
www.salweennews.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net