Skip to main content
sharethis

 

 

 

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.53  ที่ ห้องประชุม จิตติ ติงศภัทย์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง นักวิชาการ และนักพัฒนา จัดเวทีโต๊ะกลมระดมความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่และผลักดันวาระของภาคประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข เปลี่ยนแปลง ร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ไม่ให้กระทบต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พรบ. ว่าด้วยแร่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป  ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กฤษฎีกาคณะพิเศษ ชุดที่ ๑ และ ๕ แต่ด้วยจากการศึกษาของคณะทำงานติดตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแร่ พบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของการร่าง เนื่องจากว่าเนื้อหานั้นมีจุดประสงค์ส่งเสริมการทำเหมืองเพื่อเศรษฐกิจ โดยไม่ใส่ใจกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างยั่งยืน

 

ในเวทีโต๊ะกลุม นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปประเด็นเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งก็จะพบหลายประเด็นที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับหลักการ เช่น ๑.แร่เป็นของรัฐ จากเนื้อความในมาตราที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นมาตราที่ล้วนแล้วแต่สนับสนุนคำว่า “แร่เป็นของรัฐ” ทั้งสิ้น  ไม่มีบทบัญัติใดๆเลยที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ นอกจากไม่มีส่วนร่วมแล้วยังจะละเมิดในสิทธิที่พวกเขามีอีกด้วย เช่น ในมาตรา ๑๘(๑) ไม่มีการบัญญัติเลยว่า ต้องมีการอนุญาต  แสดงว่าเมื่อผู้ประกอบการได้รับอนุญาตการรัฐก็สามารถเข้าไปบุกรุกในที่ดินเหล่านั้นได้หรือ ทั้งยังไม่มีเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนอีกด้วย ๒.การขยายขอบเขตแห่งสิทธิผู้ประกอบการ จากการวิเคราะห์บทบัญัติเป็นการให้อำนาจให้สิทธิของผู้ประกอบการมากเกินไป อาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโดยไม่เกิดความจำเป็น ไร้ความรับผิดชอบต่อชุมชนและพื้นที่ที่เกิดการทำเหมืองนั้นได้

 

นนทวัชร์ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขัดกับหลักการและเหตุผลในการร่าง” เนื่องจากประชาชนไม่มีส่วนร่วม, ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 41,65 ขัดต่อเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ พร้อมกันนั้นก็มีข้อเสนอในหลักการที่ควรจะเป็นคือ ๑.แร่เป็นของประชาชน 2.ห้ามทำการสำรวจในพื้นที่ชุมชน  เขตป่าสงวนแห่งชาติ  เขตโบราณสถานหรือแหล่งมรดกทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม  3.กำหนดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน/ชุมชนในพื้นที่ในการร่วม อนุรักษ์ จัดการ และการใช้ประโยชน์แร่ในพื้นที่  ๔.ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและวิถีการดำเนิน  ชีวิตของประชาชน/ชุมชนในพื้นที่ และการวางหลักประกันความเสียหาย ๕.กำหนดหลักเกณฑ์การนำรายได้จากการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่คืนสู่ประชาชน/ชุมชนในพื้นที่ ๖.กำหนดมาตรการที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมเพื่อการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลัง การเลิกทำเหมืองแร่

 

สุรชัย ตรงงาม ทนายความ และผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำคดี เห็นว่าเรื่อง “เกณฑ์เกินมาตรฐาน” นั้น  เกณฑ์จริงๆแล้วอยู่ตรงไหน เท่าไร และคืออะไร เพราะดูเหมือนว่าจะยึดหลักเกณฑ์มากเกินไป เพียงมีเหตุและผลแค่นี้ก็น่าจะเห็นสมควรให้เอาผิดได้แล้ว สมควรให้ประชาชนชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการร่วมกันตรวจสอบด้วยไม่ใช่มีเพียงแค่หน่วยงานราชการเท่านั้น และอยากเพิ่มเติมบทลงโทษของหน่วยงานรัฐ ในเรื่องที่ไม่ติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการฟื้นฟูที่กำหนดไว้

 

ไมตรี จงไกรจักร์ กลุ่มลุ่มน้ำตะกั่วป่า กรณีดูดทรายไปสิงคโปร์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน อยากจะให้มีการเจาะจงที่มากขึ่น ไม่ใช่ไปเอาชาวบ้านจากพื้นที่อื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบมาประชาคม  เห็นว่าไม่ควรให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกิน เพราะองค์กรเหล่านี้เงินสามารถซื้อได้  อยากมีส่วนร่วมใน EIA ให้มีการติดตามตรวจสอบที่มากขึ้น และในเรื่องการต่ออายุสัมปทาน ควรจะมีการพิสูจน์ว่าสมควรจะให้ต่อหรือไม่

 

จำนงค์ จิตรนิรันดร์ มูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ควรกำหนดบทลงโทษให้หนักมากขึ้น อาจจะหนักกว่าโทษฆ่าคนตาย เพราะข้อเท็จจริงแล้วนั้นเป็นการฆ่าทั้งชุมชน และเสนอให้ภาคประชาชนมีส่วนเข้าไปควบคุมกฤษฎีกา เพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐ กรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กฤษฎีกา มีอำนาจในการเสนอกฎหมายมากเกินไปและประชาชนจะมีส่วนในการคัดค้านยาก

 

จันทิมา ธนาสว่างกุล  อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ให้กำหนดกองทุนในกฎหมายเพื่อนำมาฟื้นฟู  ตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการ มีบทลงโทษของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากการละเลยการปฎิบัติหน้าที่และสามารถเพิ่มเติมโทษได้ เช่น ปรับเป็นกี่เท่า และสัญญาสัมปทานนั้นมีกำหนดเงื่อนไขได้แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับขัดกันคือ ไม่ได้มาตรวจสอบ ควบคุม ดูแล รัฐจะมองในแง่รับเงินเมื่อผิดสัญญาในเชิงแพ่งเสียมากกว่า

 

บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากเสนอในเรื่องความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ว่าคุ้มกันหรือไม่  อย่างเช่นที่มีนโยบายรัฐออกมาว่าประเทศไทยมีทองถึง ๗๐๐ ล้านตัน ถ้าทำเหมืองกันจริงๆ ประเทศคงจะเละแน่นอน  อยากให้ศึกษาทิศทางของแร่ในประเทศไทยว่าไทยควรจะเป็นแบบไหน

 

สุวิทย์ กุหลาบวงศ์  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า เห็นว่าร่างกฎหมายตัวนี้ออกมาเพื่อให้เราต่อรอง จึงสมควรดูเรื่องโครงสร้าง เพราะบางอย่างที่ดีอยู่แล้วก็กลับแย่ลงกว่าเดิม  มาตรการฟื้นฟูก็ควรกำหนดให้ชัดเจน มีแผนกำหนดที่แน่นอน อีกยังต้องต่อสู้เรื่องการพัฒนาให้ชาวบ้านเห็นทรัพยากรดีกว่าเงิน



สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ๓ จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กล่าวว่า เห็นว่าสมควรเพิ่มบทลงโทษและค่าปรับจากการไม่ทำตามมาตรการฟื้นฟูให้หนักขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะยอมเสียค่าปรับมากกว่าเนื่องด้วยว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทำตามแผนฟื้นฟู

 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เกรงกลัวและทำตามข้อปฏิบัติมากขึ้น และถ้าหากชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนก็อยากจะให้เหมืองหยุด แล้วพิสูจน์ก่อนว่าเกิดจากการประกอบกิจการหรือไม่

 

มณฑา อัจฉริยกุล มูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ควรเอาผิดต่อเจ้าที่สาธารณสุข อนามัยในท้องที่ เนื่องด้วยว่าไม่ลงไปตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ หรือตรวจแล้วก็ไม่ให้ผล เห็นว่าควรมีบทลงโทษกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้

 

ศุภกิจ บุญเอนก เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการผลิตเกลือสินเธาว์ จ.โคราช กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการยื่นคำขอเรื่องการต่ออายุประทานบัตร เนื่องจากในพื้นที่มีการยื่นคำขอไปแล้วกว่า ๘ ปี ทางหน่วยงานรัฐก็ยังไม่ได้อนุญาตแต่ผู้ประกอบกรก็ยังทำการดูดเกลืออยู่ทุกวัน ๒๔ ชั่วโมง

 

หลังจากระดมความคิดเห็นก็มีแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป คือ จัดเวทีเคลื่อนที่ลงในพื้นที่จริงทั้ง ๔ ภาค เพื่อนำเสนอเรื่องราวของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแร่ และอาจจะมีเวทีสาธารณะด้วย  พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศให้แน่ชัดว่าจะส่งเสริมการผลิตแร่เพื่อเศรษฐกิจจริงหรือ โดยจะมีการทำงาน ๓ ฝ่ายเป็นหลักคือ นักวิชาการหาทางออกในเรื่องร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ ชาวบ้านพร้อมขยายพื้นที่ในการให้ความรู้ และสื่อมวลชนขยายตีแผ่เรื่องราวให้ออกสู่กระแสสังคมมากขึ้น

 

 

 

 

มาตรา ๖ แร่เป็นของรัฐ ผู้ใดจะสำรวจ ทำเหมือง หรือขุดหาแร่ในที่ใด ไม่ว่าที่นั้น  เป็นของตนเองหรือบุคคลอื่นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

แร่ หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ  มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หิน ซึ่งประกาศกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม  และดิน  ทราย  ซึ่งประกาศกระทรวงกำหนดเป็นดิน ทราย เพื่ออุตสาหกรรม

           

มาตรา ๗ การบริหารจัดการแร่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

(๑)          เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ

(๒)          เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแหล่งแร่ให้สอดคล้องกับดุลยภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

(๓)          เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น

(๔)          เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ในการบริหารจัดการแร่ตามวรรคหนึ่ง  ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

มาตรา ๑๘ ผู้ถืออาชญาบัตรสำรวจแร่ และผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษมีสิทธิ ดังนี้

(๑)        เข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สำรวจแร่โดยนำเครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสำรวจแร่เข้าไปในพื้นที่นั้นได้

 

มาตรา  ๒๘ วรรคสี่

ในกรณีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับทำเหมือง เกินที่กำหนดในวรรคสองหรือวรรคสามก็ได้

 

มาตรา ๓๔ ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิดังนี้

(๑)          มีสิทธิในแร่ที่ระบุในประทานบัตรและแร่อื่นซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมือง

 

มาตรา  ๓๖ ผู้ถือประทานบัตรอาจให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองทั้งหมดของเขตเหมืองแร่ได้โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

ผู้รับช่วงการทำเหมืองตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายและให้  ผู้รับช่วงการทำเหมืองนั้นมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายเสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตรด้วย

 

                มาตรา ๒๕ ประทานบัตรให้มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันออก ในกรณีประทานบัตรใดได้กำหนดอายุไว้ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี เมื่อผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่ออายุก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายจะต่ออายุประทานบัตรให้อีกก็ได้ แต่เมื่อรวมกำหนดเวลาทั้งหมดต้องไม่เกินยี่สิบห้าปี

            เมื่อผู้ถือประทานบัตรได้ยื่นคำขอต่ออายุตามความในวรรคหนึ่งแล้ว แม้ประทานบัตรจะสิ้นอายุแล้วก็ให้ผู้นั้นทำเหมืองต่อไปได้เสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตร ทั้งนี้จนกว่าเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ได้มีหนังสือแจ้งการปฏิเสธของรัฐมนตรีไม่ต่ออายุประทานบัตรให้    ในระหว่างเวลานั้นก็ให้ถือว่าสิทธิในการทำเหมืองของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

 

มาตรา ๓๓ ผู้ถือประทานบัตรต้องทำเหมืองตามแผนผังโครงการทำเหมืองและต้องปฏิบัติดังนี้

(๑)          ห้ามทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะห้าสิบเมตร

(๒)          ห้ามปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ

(๓)                ห้ามทดน้ำ หรือชักน้ำจากทางน้ำสาธารณะไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือนอกเขตเหมืองแร่

(๔)          ห้ามปล่อยน้ำขุ่นข้นหรือนำมูลดินทรายหรือมูลแร่อันเกิดจากการทำเหมืองออกนอกเขตเหมืองแร่

นกรณีที่มีเหตุอันสมควรเป็นเหตุให้มิอาจปฏิบัติตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้ถือประทานบัตร ยื่นคำขออนุญาตการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net