Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้านคาลิดคาร์แคร์ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
โดยมีปัทมา หีมมิหน๊ะ (ที่สองจากซ้าย) นั่งอยู่ด้วย

 

“เรามีเป้าหมายชีวิตคือ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะทำงาน เก็บเงินให้น้องๆ 4 คน แล้วก็แต่งงาน มีลูก แต่ความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวเกิดขึ้น นับตั้งแต่สามีถูกจับกุมตัวไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วในคดีความมั่นคง ชีวิตเหมือนพลิกฝ่ามือ จากที่กำลังจะสบายเพราะได้ลงทุนสร้างร้านคาร์แคร์ แต่ก็ต้องติดลบขึ้นมาอีกครั้ง ต้องเจอกับความกดดันจากสังคม แม้สามียังไม่มีความผิดจนกกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ชาวบ้านได้ตัดสินไปแล้วว่าเราเป็น “เมียโจร”

นั่นคือประโยคหนึ่งที่พรั่งพรูออกมาจากปากของ “ปัทมา หีมมิหน๊ะ” ในเวทีเสวนาที่ชาวบ้านซึ่งเป็นญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบและครอบครัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จัดขึ้นเอง เพื่อฟังคำตอบจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐ

เวทีนี้จัดขึ้นระหว่างจัดงานเลี้ยงอาหารเพื่อรับบริจาคจัดตั้งกองทุนในการดำเนินโครงการช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ ครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เด็กกำพร้าและเด็กยากจน เรื่อง “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยสันติ” ขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553 ที่ร้านคาลิดคาร์แคร์ บ้านเพ็งยา ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย

แม้ในเวทีเสวนามีชาวบ้านเข้าร่วมไม่มากนัก หรือประมาณ 30 คน แต่ก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นเวทีที่ชาวบ้านจัดเอง โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐมาตอบคำถาม ซึ่งหาไม่ได้ง่ายในสถานการณ์เช่นนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่จะเก็บความช้ำใจที่ได้รับผลกระทบแล้วหนีหายไปหรือตอบสนองด้วยวิธีการที่ไม่อาจยอมรับได้ในทางสันติวิธี

เวทีเสนาที่ประกอบด้วย ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสามฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง นำโดยนายสมโภช โชติชูช่วง นายอำเภอสะบ้าย้อย ร.ต.กัมปนาท เพ็งคล้าย นายทหารพระธรรมนูญ จากกองพันทหารพรานที่ 42 แทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 42 และพ.ต.ท.อุทัย รักษ์นวล สารวัตรป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรสะบ้าย้อย รวมเสวนา โดยมีนางสาวนารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน เป็นผู้ดำเนินรายการ

แม้เวทีเสวนาที่เหมือนเครื่องร้อนช้าไปหน่อยจากการเกริ่นนำถึงภารกิจของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ กับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และล่าสุดคือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แต่ ร.อ.กัมปนาท ระบุว่า ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดแนวปฏิบัติออกมา ดังนั้น จึงยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก ส่วน พ.ต.ท.อุทัย ก็บอกว่า ยังต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เชิญตัวผู้ต้องสงสัยอยู่

บรรยากาศเริ่มเข้มข้น เมื่อในเวทีเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดบ้าง เริ่มด้วยนายอับดุล รอหีม ซึ่งพิการขาขาดทั้งสองข้าง เนื่องจากถูกระเบิดที่ตลาดลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2549 ว่า ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่ทำผิดไปแล้วก็ขอให้เลิก ส่วนคนที่โดนกับตัวเองนั้น ก็คืออัลเลาะห์ให้เราเป็นอย่างนี้

ต่อด้วยการพูดของปัทมา หีมมิหน๊ะ ซึ่งเธอบอกว่า มีตำรวจคนหนึ่งไปพูดที่ตลาดสะบ้าย้อย บอกว่าลูกเขยของครูมณี เป็นโจรติดคุก ซึ่งคนเชื่อเพราะเป็นตำรวจ เกียรติยศศักดิ์ศรีที่สะสมมาตลอดชีวิตหายไปหมดเพราะตำรวจคนนั้น พอไปขึ้นศาล ก็บอกว่าไม่มีหลักฐาน

“เคยถามหัวหน้าศาลว่าหลักฐานแค่นี้ ทำไมถึงต้องถูกจับด้วย ศาลบอกว่าไม่ถึงกับถูกจับ แต่ศาลต้องเคารพตำรวจที่เขานำเสนอสำนวนมา ศาลก็ต้องไต่สวน เราจึงไม่ใช่ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม แต่เราไม่แน่ใจ โดยเฉพาะต้นทางของกระบวนการยุติธรรม”

แม้เธอกับสามีจะแต่งงานกันก่อนที่สามีจะถูกจับไปเพียง 2 เดือน แต่เธอก็บอกว่า ตัวเองพอจะรู้ว่าสามีเราเป็นอย่างไร

“ขนาดเราขับรถไปจอดที่ตลาด ตำรวจก็มาถามว่ามาสังเกตการณ์อะไร เจอกับผู้ใหญ่หลายคน ก็บอกว่า ผมสนใจเคสนี้ จะไปศึกษาดูว่าเป็นอย่างไร แต่ก็เหมือนกับสายลมแสงแดด บางคนบอกว่าเราเหมือนถูกหลอก(สะอื้น) แต่เราคิดว่าเราเหมือนลอยอยู่ในน้ำ มีอะไรลอยมาก็คว้าไว้ก่อน เพราะอาจจะมีซักครั้งที่พาเราไปได้ บางคนบอกว่าหาผัวใหม่ได้แล้ว เขาพูดได้อย่างไรในขณะที่เรากำลังเสียใจอยู่”

“เราไม่เคยคิดเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ แต่วันนี้สามีเราถูกจับ ทำให้เรารู้ได้เลยว่าคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเขารู้สึกอย่างไร เพราะแนวร่วมที่มีอยู่ก็เกิดขึ้นมาจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นเรื่องที่แก้ยาก เจ้าหน้าที่รัฐก็แก้ไม่ได้ อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าไปฟังการไต่สวนพยานของศาลด้วย เพราะจะได้รู้ว่าทำไมชาวบ้านจึงไม่เชื่อตำรวจเลย”

ต่อด้วย อับดุลรอซะ โต๊ะหีม ที่พูดว่า ตั้งแต่พี่ชายตนถูกจับ ก็ทำให้ผมไม่มีพี่ชายอยู่ด้วย พี่ชายกำลังจะเรียนจบศาสนาชั้น 10 กำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ก็ถูกทหารจับตัวไป ขอให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการเรื่องพี่ชายตนด้วย ตอนนี้คดีขึ้นศาลแล้ว ศาลถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมถึงจับคนนี้มา เจ้าหน้าที่บอกว่า เพราะคนที่ก่อเหตุยิงคนอื่น เป็นคนหัวล้าน ซึ่งคนที่เรียนปอเนาะหัวล้านทั้งนั้น เพราะที่ปอเนาะเขาให้โกนหัว และขอให้กลุ่มก่อความไม่สงบได้หยุดก่อการได้แล้ว เพราะมีแต่ความสูญเสีย หลังจากที่พี่ชายผมถูกจับ ตนเองก็ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบไปด้วย

ส่วนในฟากของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างพ.ต.ท.อุทัย ที่แม้ไม่ได้ให้คำตอบโดยตรงถึงคดีที่ชาวบ้านพูดถึง แต่ก็ได้สะท้อนถึงผลดีของการจัดเวทีครั้งนี้ เพราะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยผ่านเวทีสาธารณะซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับฟังข้อมูลด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net