Skip to main content
sharethis

เกาะติดสถานการณ์ที่เวียงแหง จ.เชียงใหม่ “ลิกต์ไนต์และเขื่อนกั้นน้ำแตง” โครงการที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ นักวิชาการและชาวบ้านมีความคิดเห็นอย่างไร

 

 

 


 

และสิ่งแปลกปลอมที่กำลังจะเข้ามาสู่อำเภอเวียงแหงอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ โครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแตง บริเวณพื้นที่หมู่บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

เมื่อดูจากข้อมูล พบว่า โครงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนมีทั้งหมดถึง 10 แห่งด้วยกัน โดยกรมชลประทาน เข้ามาผลักดันเพื่อเร่งรัดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา แต่ก็ถูกชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่อต้าน คัดค้าน จึงเก็บพับโครงการนั้นไว้ ก่อนจะถูกนำมาปัดฝุ่น และนำเสนอขึ้นมาใหม่ และล่าสุด มีรายงานว่าได้มีการนำโครงการดังกล่าวบรรจุอยู่ไว้ในแผนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลชุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งรวมไปถึงโครงการสร้างเขื่อนที่จะสร้างกั้นลำน้ำแตง บริเวณบ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง นั้น ตามรายละเอียดโครงการระบุว่า มีความสูงของสันเขื่อน 83 เมตร ยาว 800 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,639.5 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

โดยก่อนหน้านั้น ทางสำนักวิศวกรรมสถาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบทำหน้าที่ในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้จัดเวทีประชุมชาวบ้าน อ.เวียงแหง ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งว่ากันว่า การไม่ใช้คำว่า ‘เขื่อน’ นั้นอาจหวังจะลดกระแสการต่อต้านของชาวบ้าน แต่ในที่สุด ก็ถูกชาวบ้านออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวจนได้


ชาวบ้านกังขา หวั่นสร้างเขื่อนเพื่อรองรับเหมืองถ่านหินลิกไนต์!?

สาเหตุที่คนเวียงแหงไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแตง คือ หนึ่ง ไม่ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และสอง คนเวียงแหงเชื่อว่าเป็นโครงการที่ไม่ชอบพากล และต่างกังขากันว่า โครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแตงนี้เป็นการดำเนินการเพื่อเตรียมรองรับกับโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังดำเนินการอย่างเงียบๆ ในขณะนี้หรือไม่

ต่อกรณีนี้ นายอ่อง จองเจน กำนัน ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า พื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว จะกั้นลำน้ำแตง หากสร้างขึ้นมาแล้วผลกระทบจะครอบคลุม อ.เวียงแหงทั้งอำเภอ และจะเป็นการส่งเสริมให้มีการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์หรือไม่อย่างไร เพราะในปัจจุบัน เหมืองลิกไนต์ก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา และพื้นที่เหมืองแร่กับพื้นที่เขื่อนก็อยู่ใกล้กัน ชาวบ้านกลัวว่าหากสร้างเขื่อนขึ้นมาแล้วก็จะเข้าทางผลประโยชน์ของการขุดเหมืองแร่ขึ้นมา ชาวบ้านก็จะต้องเดือดร้อนอยู่วันยังค่ำ

ด้านนายพยอม คารมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง อ.เวียงแหง กล่าวว่า จริงๆ แล้ว โครงการอะไรจะเกิดขึ้นในพื้นที่เวียงแหง ก็ควรจะมีการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเสียก่อน แต่โครงการนี้ ที่ผ่านมาก็มีการประชาคมกับชาวบ้าน แต่ผ่านทางอำเภอ โดยนายอำเภอเวียงแหงสั่งการให้ผู้ใหญ่บ้านไปจัดทำประชาคมและเอาความเห็นมาเป็นมติ หลังจากนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษาเรื่องรายละเอียดของพื้นที่ ต่อมาก็ถูกชาวบ้านห้วยไคร้ขับไล่ ไม่ให้เข้าไปศึกษารายละเอียด

นายพยอม กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านขับไล่คัดค้านไม่เอานั้น เพราะโครงการที่จะสร้างเขื่อนนั้น ก็เป็นจุดเดียวกับแผนของ กฟผ. ที่จะขุดเหมืองพอดี ซึ่งสามารถชี้ชัดได้เลย เพราะว่าแผนของทาง กฟผ.นั้นมีอยู่แล้วว่าจะต้องสร้างเขื่อน จนทำให้ชาวบ้านวิตกว่าเขาอาจสร้างเขื่อนเพื่อจะเอาน้ำไปลดการสันดาปเวลาขุดเหมือง สุดท้ายชาวบ้านก็คัดค้าน รู้สึกว่ามติประชาคมนั้นไม่ผ่าน แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่อยู่ในส่วนที่ไม่เข้าใจและไม่รู้ แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้านไปประชุมลูกบ้านก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย และชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ได้รู้ข้อมูลใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกว้างของสันเขื่อน ปริมาณน้ำ และจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าเท่าไหร่ จะมีการผันน้ำมาให้ชาวบ้านโดยระบบไหน ที่เกี่ยวกับการเกษตรของชาวบ้านในการใช้ระบบท่อ ระบบเหมือง

 


นายพยอม คารมณ์
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง

เมื่อสอบถามถึงเรื่องปริมาณน้ำที่เกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่เวียงแหงที่ผ่านมาว่าเพียงพอหรือมีปัญหาเรื่องน้ำหรือไม่

นายพยอม กล่าวว่า ณ ขณะนี้ถือว่าปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรนั้น มีความเพียงพออยู่ และมีการใช้น้ำจากลำน้ำหลายสาขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในเขื่อนนี้เพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตก็ไม่ทราบว่ามันจะเพียงพอหรือไม่ เราไม่สามารถบอกได้ นี่เป็นมุมมองหนึ่ง และเราเห็นว่าโครงการนี้ยังไม่ได้เข้ามาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่เป็นโครงการที่เร่งรัด มาประชุมก็มีการเสนอแผนในลักษณะที่เสนอรายละเอียดของโครงการ และนำไปติดตามห้องประชุม อบต.สำนักงานอำเภอเท่านั้น แต่ยังไม่มีความเข้าใจในวงกว้าง ไม่ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน

เมื่อสอบถามต่อไปว่า หากกรมชลประทานยังคงเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแตงต่อไป โดยอ้างว่าได้นำเข้าไปบรรจุในโครงการไทยเข้มแข็งไปแล้ว ในส่วนของชาวบ้าน จะเสนอหรือเรียกร้องอย่างไรที่จะให้รัฐบาลให้ศึกษาหรือชะลอโครงการนี้ไปก่อน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง กล่าวว่า ควรจะมีการศึกษาเรื่องของการทำอีไอเออย่างจริงจังเสียก่อน และควรสร้างความเข้าให้กับชาวบ้าน รายละเอียดทุกอย่างนั้นจะต้องนำมาพูดคุยและให้ความเห็นร่วมกัน และไม่ต้องพูดคุยภาษาของวิชาการ เพราะชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ

“ที่ผ่านมา มีเอกสารผลศึกษาอีไอเอเป็นกองๆ แต่ก็ไม่สามารถที่จะสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านได้ คือ ภาษาทางเทคนิคอีไอเอนั้นชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่อยากให้จัดเวทีสร้างความเข้าใจประชาคมร่วมกับพี่น้องชาวบ้านก่อน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ และต้องมีการเอาเสียงและความคิดเห็นของพี่น้องชาวบ้านด้วย เพราะแต่ละโครงการที่เข้ามานั้น ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบ หรือว่าจะได้ใช้ผลประโยชน์ ตามคำกล่าวอ้างจริงหรือไม่”
 

ยืนยันหมู่บ้านใกล้พื้นที่สร้างเขื่อน ค้าน 100%
นายคำ ตุ่นหล้า ชาวบ้านบ้านกองลม อำเภอเวียงแหง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่เวียงแหง ต่อเรื่องนี้ว่า ปัญหาเรื่องเหมืองแร่นั้นเงียบไป แต่กลับมีประเด็นใหม่คือเรื่องการสร้างเขื่อนขึ้นมา และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่อง ซึ่งหากโครงการนี้เกิดขึ้น เชื่อว่าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนนั้นจะปฏิเสธเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

“ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พบปะกับนายอำเภอ นายอำเภอบอกว่าช่วยไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย ผมก็ตอบไปว่า ถ้าไม่มีรายละเอียดผมไม่อาจที่จะช่วยได้ คุณต้องเอารายละเอียดมา โดยที่ว่าถ้าสร้างเขื่อนแล้ว ก็ต้องมีระบบการจัดการน้ำ มีการผันน้ำ ระบบน้ำเป็นอย่างไร ต้องมีการพูดคุยให้กับชาวบ้านอย่างชัดเจนเสียก่อน” นายคำ กล่าว

 


นายคำ ตุ่นหล้า
ชาวบ้านบ้านกองลม อ.เวียงแหง

เผยรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ชี้ชาวบ้านอยากได้ฝายขนาดเล็ก แต่โยนเขื่อนให้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านมีความต้องการปรับปรุงฝายมะขามป้อม เป็นชลประทานขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ชาวบ้านต้องการที่จะทำการปรับปรุงเรื่องของระบบส่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นคันดิน และมีการใช้งานก็ใช้มานานประมาณ 20-30 กว่าปีแล้ว และชาวบ้านจะเข้ามาบริหารจัดการเอง จัดระบบจ่ายแบบระบบเหมืองฝายเดิม

“เคยยื่นหนังสือผ่านทาง อบต.ไปทางกรมชลประทาน แต่ไม่มีการอนุมัติโครงการ แต่กลับนำผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาก็มีการเสนอผ่านมติ ครม.เรียบร้อย เลยเกิดความมั่นใจ แต่สุดท้าย กลับกลายเป็นเขื่อนแทน โดยมีหนังสือตอบมาว่า…นี่เป็นความต้องการของชาวบ้าน และมีการบรรจุเข้าแผนของไทยเข้มแข็งแล้ว”

ซึ่งคนเวียงแหง บอกว่า โครงการดังกล่าวได้สวนทางกับความต้องการของชาวบ้าน เพราะต้องการเพียง ปรับปรุงฝายมะขามป้อม ไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการกลับไม่ให้ และสิ่งที่ชาวบ้านไม่ต้องการกลับให้ เช่น ฝายมะขามป้อม ที่เราต้องการ ซึ่งสามารถผันน้ำเข้าหมู่บ้านเพื่อใช้ในช่วงหน้าแล้งก็จะได้ใช้ประมาณ 3,000 กว่าไร่ และครอบคลุมทั้ง 4-5 หมู่บ้าน เรามีความจำเป็นเพียงแค่นี้ ชาวบ้านก็อยู่ได้แล้ว การบริหารอะไรต่างๆ ก็ไม่เกิดความยุ่งยากด้วย”


ชาวบ้านถกเรื่องการจัดการน้ำ ระหว่างเขื่อนกับเหมืองฝาย
ใครได้ ใครเสีย ใครดูแล ใครรับผิดชอบ

นอกจากนั้น ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ได้วิเคราะห์ถึงระบบการจัดการน้ำ โดยได้เปรียบเทียบระบบการจัดการน้ำระหว่างเขื่อน กับระบบเหมืองฝายที่มีอยู่เดิมว่าที่ผ่านมา ระบบเหมืองฝายจัดการน้ำในรูปแบบคณะกรรมการที่มีชาวบ้านเป็นหลัก ในการเปิด-ปิดน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร ในขณะที่ถ้าเกิดกรมชลประทานเข้ามาสร้างเขื่อน แล้วใครจะเป็นฝ่ายจัดการน้ำ

“ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่เก็บกุญแจไว้เอง อยากจะมาเปิดก็เปิด อยากจะปิดก็ปิด ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็ไม่ใช่ แต่พอมีการสร้างเขื่อนเสร็จเรียบร้อย การบริหารจัดการน้ำในการเปิด-ปิดน้ำ จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่เจ้าของโครงการ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้วิถีเกษตร วิถีชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความเห็นชาวบ้านเวียงแหงหลายคน สุดท้ายก็วกกลับมาวิตกกังวลในเรื่องเดิมๆ นั่นคือวิตกกังวลว่า โครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแตงจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเอื้อต่อโครงการอื่นที่จะเข้ามาแอบแฝง

นั่นคือโครงการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง ที่ทาง กฟผ.ยังคงเดินหน้าโครงการอยู่เงียบๆ

และแน่นอนว่า ทั้ง 2 โครงการ ที่ล้วนมาจากโครงการของรัฐ ในนาม ‘การพัฒนา’ นี้ อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และอาจสร้างปัญหาหรือทำลายความงาม คุณค่า ความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียงแหง อำเภอเล็กๆ เมืองในหุบเขาแห่งนี้ให้แปรเปลี่ยนไปในอนาคตหรือไม่นั้น เจ้าของโครงการ และเจ้าของพื้นที่เท่านั้นที่จะรู้ดีที่สุด.

ข้อมูลประกอบ
สำนักข่าวประชาธรรม
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือตอนบน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net