Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2490 เพื่อมีภารกิจสัมปทานทำไม้สักหลังจากที่บริษัททำไม้อังกฤษ และบริษัทต่างประเทศอื่นๆทำไม้สักในประเทศไทยมานานเกือบร้อยปี (พ.ศ.2399 – 2497) และสิ้นสุดอายุสัมปทานทำไม้ในปี พ.ศ.2497 ต่อมา อ.อ.ป.มีภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยทำหน้าที่ให้บริการแก่รัฐและประชาชนในการอุตสาหกรรมป่าไม้ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ ตั้งแต่การทำไม้ เก็บหาของป่า แปรรูปไม้ ทำไม้อัด และทำผลิตภัณฑ์หรือประดิษฐ์ วัตถุหรือสิ่งของจากไม้และป่า ปลูกสร้างสวนป่า เพื่อรักษาป่าไม้ วิจัยค้นคว้า และทดลองเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ และการปลูกฝังทัศนคติให้กับประชาชนในการคุ้มครองดูแลรักษาป่า

แต่ในความเป็นจริง อ.อ.ป.มุ่งเน้นการทำไม้ในป่าธรรมชาติ และปลูกสวนป่าเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อเลี้ยงตัวเองให้เติบโต ในอดีตที่รัฐบาลอนุญาตให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทจังหวัดทำไม้ อ.อ.ป.มีหุ้นในบริษัทจังหวัดทำไม้ทุกบริษัทในอัตราส่วนของหุ้นร้อยละ 20 - 46.67 อ.อ.ป. เริ่มปลูกสวนป่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นการปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 58 ทวิ อ.อ.ป.จึงเป็นผู้ได้รับสัมปทานทำไม้รายเกือบทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นใหญ่ที่สุดของประเทศ

เมื่อประเทศไทยยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2532 อ.อ.ป. ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ที่ได้รับสัมปทานทำไม้รายใหญ่ของประเทศ ในปี พ.ศ.2536 อ.อ.ป.ขาดทุนทันที 71 ล้านบาท รัฐบาลต้องดูแล อ.อ.ป. ให้อยู่รอด ด้วยการหาประโยชน์จากสวนป่าในทุกโครงการดังนี้ สวนป่าที่ อ.อ.ป.ปลูกโดยใช้งบประมาณของตนเอง (โครงการที่ 1) สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของ อ.อ.ป. (โครงการ 2) สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของบริษัทจังหวัดทำไม้ (โครงการ 3) สวนป่าที่บริษัทจังหวัดทำไม้ ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ และอ.อ.ป. รับมอบจากกรมป่าไม้มาดูแลใช้ประโยชน์ (โครงการ 4) และสวนป่าที่ปลูกโดยงบประมาณของกรมป่าไม้ซึ่งส่งมอบให้ อ.อ.ป.ดูแลใช้ประโยชน์ (โครงการ 5 ) โดยสรุป จำนวนสวนป่าในความดูแลและใช้ประโยชน์ของ อ.อ.ป.มีทั้งหมด 1,118,374.935 ไร่ ในพื้นที่ 124 สวนป่า

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ที่ อ.อ.ป. ขาดทุน บทบาทภารกิจของ อ.อ.ป เปลี่ยนไปมามุ่งเน้นการหารายได้ในการทำไม้จากสวนป่า การทำอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ การทำธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ป่า ซึ่งสร้างปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ และไม่ประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจดังกล่าว ดังเช่น โครงการทำไม้สนที่บ้านวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สวนป่าเขากระยาง จังหวัดพิษณุโลก สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น ศึกษาในพื้นที่สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สวนป่าห้วยน้ำขาว จังหวัดกระบี่ และสวนป่าสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ผลการศึกษาพบว่า การปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทานไม่บรรลุเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์และความสมบูรณ์ของป่าให้กลับคืนมาหลังจากสัมปทานทำไม้

จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ที่จัดทำโดยกรมป่าไม้ ระบุว่าในปี พ.ศ.2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ 171.02 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53.33 ของพื้นที่ประเทศ และในปี พ.ศ.2547 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือ 104.74 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32.66 ของพื้นที่ประเทศ จำนวนพื้นที่ป่าที่เหลือได้รวมเอาพื้นที่สวนป่าในการดูแลของ อ.อ.ป. จำนวน 1,118,374.935 ไร่ ดังนั้นการทำไม้จากสวนป่าที่กำลังดำเนินการอยู่ จะทำให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงจากเดิม และ อ.อ.ป.ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ปลูกฝังทัศนคติให้ประชาชนดูแลรักษาป่า เพราะในสายตาของประชาชนในท้องถิ่นมองว่า อ.อ.ป.คือผู้ที่ทำลายป่าไม้

นอกจากนี้ จากรายงานของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า สวนป่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก มีจำนวน 46 สวนป่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง บริเวณดังกล่าวได้มีการตัดไม้สักออกจากสวนป่าเพื่อจำหน่าย และจะทำให้เกิดความรุนแรงของดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น อ.อ.ป. ได้ดำเนินการนำสวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ไปขึ้นทะเบียนสวนป่าโดยเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ตาม พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 4 ประสงค์จะใช้ที่ดินนั้นทำสวนป่าเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด......”

สวนป่าที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้คือสมบัติของแผ่นดิน ที่ควรจะมีการฟื้นฟูคืนความอุดมสมบูรณ์ให้เป็นป่าธรรมชาติต่อไป ก็จะกลายเป็นป่าของ อ.อ.ป.ในการหารายได้ต่อไป อนาคตป่าไม้ไทยควรอยู่ในการดูแลของ อ.อ.ป. หรือไม่ สังคมไทยควรพิจารณาจากบทบาทภารกิจของ อ.อ.ป.ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ ชุมชนในพื้นที่สวนป่าจึงมีข้อเสนอ ให้พื้นที่ป่าสมบูรณ์ให้ชุมชนดูแลรักษาเป็นป่าชุมชน พื้นที่ที่มีความหลากหลายของสัตว์ป่าและอุดมสมบูรณ์ควรผนวกไว้ในป่าอนุรักษ์ ตามสภาพของแต่ละพื้นที่ พื้นที่ที่ชุมชนไม่สามารถดูแลรักษาได้ให้กรมป่าไม้เข้ามาฟื้นฟูป่าธรรมชาติ พื้นที่ที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการทำสวนป่าทับที่ดินทำกินของชุมชน ให้มีการจัดการที่ดินและพื้นที่ป่าชุมชนโดยชุมชนในพื้นที่นั้น และกรมป่าไม้ร่วมดูแลรักษาป่า

หากดูจากสภาพพื้นที่ป่าของประเทศไทยซึ่งนับวันมีจำนวนลดลงตามลำดับ จากการไม่เปลี่ยนแนวคิดการจัดการป่าไม้ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนและชุมชน และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วนั้น การทำให้ อ.อ.ป.ยังมีบทบาทการทำไม้จากสวนป่าต่อไป จะเป็นปัจจัยเร่งให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลง เนื่องจากการดำเนินงานของ อ.อ.ป.เปลี่ยนจากการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และการทำสวนป่าที่แปลงสภาพเป็นรูปแบบขององค์กรธุรกิจในการหารายได้ให้องค์กร การให้พื้นที่ป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินของ อ.อ.ป.ในการหารายได้ จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้พื้นที่ป่าของไทยลดลงหนักยิ่งกว่าเดิม

การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติขอคืนป่า 9 แสนไร่จากกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ควรทำมานานแล้ว และควรเร่งจัดการสวนป่าที่อยู่ในการดูแลของ อ.อ.ป.ทั้งหมด เพื่อจัดการความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และพื้นที่สวนป่าที่จะแปลงสภาพไปทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น บทบาทของ อ.อ.ป.จึงไม่มีความจำเป็นต่อไปในประเทศไทย สำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ อ.อ.ป. รัฐบาลควรดูแลให้หลักประกันแก่พวกเขาในการมีงานทำที่ถาวรต่อไป รัฐวิสาหกิจใดที่บทบาทเปลี่ยนไปจากเดิม รัฐบาลควรหาญกล้าที่จะยุบเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ

หากรัฐต้องการทำสวนป่าที่ได้ใช้ประโยชน์จากไม้แล้วนั้น กรมป่าไม้ควรร่วมกับชุมชนให้เป็นบทบาทหลักในการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูป่า และการได้ประโยชน์จากป่าและของป่า โดยมีการกำกับดูแลจากภาครัฐและชุมชนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ป่าไม้ไทยจึงจะมีอนาคตในวันข้างหน้าเพื่อลูกหลานต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net