สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24 - 30 ม.ค. 2553

 
ธ.โลกชี้ไทยปั๊มน.ศ.ไม่ตรงเป้า ป.ตรีว่างงานอื้อ-จี้รัฐให้อิสระมหาลัย
เว็บไซต์มติชน (
23 ม.ค. 53) - เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกต สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกา (สกอ.) ร่วมกับธนาคารโลก โดยนายลูอิส เบนเวนิสเต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ธนาคารโลก ได้นำเสนอผลการศึกาเรื่อง "การสร้างศักยภาพการแข่งขันของระบบอุดมศึกษาไทยในเศรษฐกิจโลก" นายลูอิสกล่าวว่า การเข้าถึงการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทยยังไม่มีความเท่าเทียมกัน นักศึกษาที่เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษากว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่วนผู้มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เพียงร้อยละ 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดด้านการเงินและทรัพยากรบุคคล และจากการสำรวจภาพการผลิตและบรรยากาศการลงทุนของธนาคารโลกเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเป็นสาเหตุที่ทำให้กว่าร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการบางประเภทไม่สามารถหาบุคลากรเข้าทำงานได้ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ยังพบว่า บัณฑิตที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ของไทยมีอัตราว่างงานสูง แสดงให้เห็นว่าระบบการเรียนการสอนในอุดมศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ที่สำคัญประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความไม่สมดุลอย่างรุนแรงระหว่าง นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีจำนวนร้อยละ 86 กับนักศึการะดับปริญญาโทและเอกที่มีอยู่เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนนักศึกษาทั้งระบบและจากการสำรวจยังพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีมีอัตราว่างงานสูงสุด ขณะที่ผู้จบปริญญาเอกว่างงานร้อยละ 2.6 ส่วนระดับอนุปริญญาว่างงานร้อยละ 30.6 เท่านั้น ทั้งนี้ยังพบด้วยว่านักศึกษาที่จบปริญญาโทกว่าร้อยละ 40 มีงานรองรับอยู่แล้ว
"ขณะนี้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนแก่มหาวิทยาลัยร้อยละ 70 ทำให้นักศึกษาต้องสมทบเงินเพื้อศึกษาต่อไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนการเงินแบบถดถอยอย่างยิ่ง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทุ่มงบฯ ลงทุนเรื่องนี้เพิ่มขึ้นไม่ใช่เฉพาะระดับอุดมศึกษาด้วย สำหรับโครงการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเงินทุนการศึกษาพบว่ามีอยู่มากมายแต่ขาดประสิทธิภาพเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการใช้หนี้คืนของนักศึกษาที่จบไปแล้ว" นายลูอิสกล่าว และว่า สกอ.จะต้องเข้าไปดูเรื่องการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มหาวิทยาลัยสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่นรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา จัดการศึกษาต่อเนื่อง เป็นต้น ขณะที่รัฐบาลต้องลดบทบาทการกำกับดูแลอุดมศึกาลงให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ
 
นายจ้างลอยแพแรงงานต่างด้าวกว่า 80 คน หลังใบอนุญาตหมดอายุ รวมตัวร้องขอความเป็นธรรม
เว็บไซต์แนวหน้า
(23 ม.ค. 53) - นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ( LPN ) กล่าวถึงกรณีที่แรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวนกว่า 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป้นแรงงานสัญชาติพม่า ได้ชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างบริษัท สยามเดลี่ฟู้ดส์ จำกัด ว่า การชุมนุมเรียกร้องของแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ เพื่อต้องการเรียกร้องหาความยุติธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน เช่น หากแรงงานต่างด้าวต้องการขอลาหยุด ต้องมีใบรับรองแพทย์ หรือเอกสารอื่นมายืนยัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูกหักค่าแรง หรือในวันหยุดราชการ แรงงานต่างด้าวก็ไม่มีสิทธ์หยุดเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังกีดกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน เนื่องจากเห็นว่าใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าวทั้ง 80 คนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ทั้งที่ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศออกมาชัดเจนว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวสามารถทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ หากทำการต่อใบอนุญาตและยื่นเรื่องของพิสูจน์สัญชาติ
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า แรงงานต่างด้าวได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างทั้งหมด 8 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขอให้นายจ้างใช้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม และขอให้นายจ้างคงสภาพการจ้างงานไว้ แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างก็ตาม นอกจากนี้ ยังยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างช่วยออกค่าดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ จำนวน 1,810 บาท จาก 3,810 บาท ซึ่งทางนายจ้างได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยยื่นคำขาดว่า หากแรงงานต่างด้าวคนใดไม่ไปทำเรื่องขอต่อใบอนุญาตทำงาน จะไม่มีสิทธิ์เข้าทำงานในบริษัทฯ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากแรงงานต่างด้าวต่อใบอนุญาตทำงานเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ก็ยินดีรับกลับเข้าทำงานตามเดิม
นายสมพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดหานายจ้างให้แก่แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว โดยนายจ้างเหล่านี้ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการต่อใบอนุญาตทำงานให้ แต่ทางแรงงานต่างด้าวทั้ง 80 คน ไม่ยินยอม เนื่องจากต้องการต่อสู้ เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้าง ทั้งนี้ เรื่องนี้ดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งทางบริษัทฯ จะให้ข้อสรุปที่ชัดเจนในวันที่ 25 มกราคมนี้
นายบุญฤทธิ์ แสนพาน หัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ นายจ้างเห็นว่าใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวกำลังจะหมดอายุ อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงกลัวว่าหากรับคนงานเหล่านี้เข้าทำงานจะมีความผิดตามกฎหมาย ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจึงเป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถทำความเข้าใจและตกลงกันได้ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการต่อใบอนุญาตทำงานจะสามารถกลับเข้าไปทำงานได้ตามเดิม
เผยสถานการณ์แรงงานไทยเริ่มขาดแคลน
สำนักข่าวไทย (24 ม.ค. 53) - กรมการจัดหางานเผยแรงงานไทยเริ่มขาดแคลน ชี้ส่วนใหญ่เข้าสู่วัยเกษียณ-เด็กจบใหม่น้อย ระบุเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง วอนภาคการผลิตเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยีมากขึ้น-ใช้คนให้น้อยลง ขณะที่บีโอไอ-ก.อุตฯ ต้องร่วมส่งเสริม หวั่นเป็นปัญหาใหญ่ภายใน 5 ปี
น.ส.ส่ง ศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยภายหลังเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นว่า จากสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในขณะนี้ ยอมรับว่าทำให้ภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท เริ่มขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อปีที่แล้วพบทางเลือกใหม่หลังกลับสู่ภาคการ เกษตร ขณะที่แรงงานที่จบใหม่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันแรงงานยังไม่ขาดแคลนมากถึง 4-5 แสนคน ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกมาระบุ โดยเชื่อว่าอาจเป็นความต้องการแรงงานในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของแรงงานไทยในขณะนี้
น.ส.ส่งศรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งอีกไม่นานแรงงานกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณอายุ และปลดระวางการทำงาน ทั้งนี้ ตามปกติแล้วจะมีแรงงานใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่เป็นที่น่ากังวลว่าแรงงานช่วงอายุ 25 – 39 ปี ที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานสูงอายุมีปริมาณน้อยมาก และคาดว่าจะลดลงทุกปี ซึ่งเป็นผลจากการคุมกำเนิดที่ได้ผล ทั้งนี้ ในปี 2552 ที่ผ่านมา แรงงานกลุ่มดังกล่าวหายไปจากระบบกว่า 200,000 คน
น.ส.ส่งศรี กล่าวอีกว่า จากผลวิจัยแนวโน้มความต้องการแรงงานในปี 2553 – 2557 โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่า ความต้องการแรงงานไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากกำลังแรงงานทดแทนที่มีอยู่ ไม่สามารถทดแทนกำลังแรงงานของผู้สูงอายุที่กำลังจะเกษียณอายุได้
“หาก สถานการณ์แรงงานไทยยังไม่ดีขึ้น ภาคการผลิตทั้งหมดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวโดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยี การผลิตแทนแรงงานคนให้มากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้คนน้อย แต่มีการใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังแรงงานในปัจจุบันให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขยาก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี” น.ส.ส่งศรี กล่าว
ทางด้าน นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ยอดการส่งออกย่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานในการผลิตมากขึ้น ในขณะที่จำนวนแรงงานยังคงเท่าเดิม และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ทำให้สถานการณ์แรงงานระดับล่างอยู่ในภาวะตึงตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาใช้แรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน
หากภาคอุตสาหกรรมต้อง พึ่งพิงกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือประเภทนี้ อาจเกิดปัญหาตามมาในระยะยาว เช่น ในเรื่องของกฎหมายและวิธีปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ส่งผลให้ตลาดต่างประเทศกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยหันมาใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงาน คน ให้เหลือแต่อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ เช่น อุตสาหกรรมตัดชิ้นเนื้อ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เพราะหากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม เป็นไปได้ว่าภาคอุตสาหกรรม จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมด้านแรงงาน และค่าจ้างในราคาที่ไม่สูงมาก เช่น ประเทศจีน และเวียดนามแทน
 
บอร์ดบีโอไอเล็งยืดอายุนโยบายปีแห่งการลงทุน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
25 ม.ค. 53) -  รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ประชุมจะพิจารณาต่ออายุนโยบายปีแห่งการลงทุนไทยออกไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี โดยบีโอไอดำเนินนโยบายดังกล่าวช่วงปี 2551-2552 และพบว่าช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ซึ่งนโยบายนี้หมดลงไปเมื่อสิ้นปีที่แล้ว มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 720,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการต่ออายุปีแห่งการลงทุนไทยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน และจะเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่มีผู้ประกอบการสนใจลงทุนในขณะนี้มาก รวมทั้งจะเสนอกรอบการส่งเสริมการลงทุนปี 2553 ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งจะเน้นส่งเสริมการลงทุนที่สร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีระดับสูงขึ้น
นอกจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาส่งเสริมการลงทุน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุน 21,999 ล้านบาทด้วย 1.โครงการลงทุนผลิตชิ้นส่วนโลหะและชิ้นส่วนประกอบของตัวถังรถยนต์ของบริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด 2.โครงการลงทุนผลิตถ่านโค้ก (Coke) ของบริษัท ไทย เจนเนอรัล ไนซ์โคล แอนด์ โค้ก จำกัด 3.โครงการลงทุนผลิต Treated Distillated Aromatic Extract (TDAE) ของบริษัทไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) 4.โครงการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะของบริษัท ไอเอชไอ เทอร์โบ (ประเทศไทย) จำกัด 5.โครงการลงทุนทดสอบและสำรวจโครงสร้างของแท่นขุดเจาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของบริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด 6.โครงการทดสอบและสำรวจด้านโครงสร้างของแท่นขุดเจาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของบริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด 7.โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมของบริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด 8.โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษของบริษัท ฟินิคซ์ ยูทิลิตี้ส์ จำกัด 9.6 เมกะวัตต์ 9.โครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บางจากโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ในปี 2552 มีผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสูงถึง 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนประเภทใหม่ที่มีผู้สนใจมาก และการที่ผู้สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานมากอาจทำให้การลงทุนมีความล่าช้า เพราะเป็นการลงทุนที่ต้องเงินลงทุนจำนวนมากและผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถลงทุนจริงได้ โดยนักลงทุนอาจประสบปัญหาการแหล่งทุนและปัญหาการหาพื้นที่ลงทุน ซึ่งอาจมีปัญหาชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ลงทุนไม่เห็นด้วยกับการลงทุนโรงไฟฟ้า "บีโอไอ ได้หารือกับนักธุรกิจต่างชาติพบว่ากังวลกับการประท้วงของแรงงานหลายแห่งที่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอเพิ่มเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการ โดยการชุมนุมในบางครั้งต่อเนื่อง ทำให้เกิดการหยุดงานหลายวันติดต่อกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบส่งมอบสินค้าไม่ทันตามที่ลูกค้ากำหนดไว้ โดยปัญหาดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนบางรายชะลอแผนขยายการลงทุนในไทย" นางอรรชกากล่าว
บีโอไอชี้ต่างชาติย้ายฐานหนีม็อบโบนัส
ไทยโพสต์ (
25 ม.ค. 53) -  นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงความกังวลถึงการประท้วงของแรงงานไทยบางกลุ่มเพื่อขอเพิ่มเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการ ซึ่งบางเหตุการณ์มีการหยุดงานหลายวันติดต่อกันส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนด จนหลายรายเริ่มชะลอแผนขยายการลงทุนในไทย หรือพิจารณาการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นนักลงทุนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาด่วนไม่เช่นนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวใหม่ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย "การขึ้นค่าแรงของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบรรยากาศการลงทุนในไทย แต่การประท้วงของแรงงานน่าห่วงมาก โดยเฉพาะการประท้วงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติกลัวมาก" นางอรรชกากล่าว
รัฐบาลผ่อนผัน 2 ปี รอตีตราตรวจสัญชาติรับเปิดเสรีแรงงาน
เว็บไซต์ไทยรัฐ (25 ม.ค. 53)
-  นายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ในปี 2558 กลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องเปิดเสรีตลาดแรงงานอาเซียน ทุกคนที่ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางไปทางานประเทศในกลุ่มตามตำหน่งที่ประกาศรับ ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้ โดยรัฐบาลที่ผ่านมาได้ทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับประเทศลาว กัมพูชา และพม่า ถึงการจัดส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย การพิสูจน์สัญชาติ การคุ้มครองแรงงานที่ได้มาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ที่จะต้องรับค่าจ้างขั้นต่ำ คุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้เสนอ ครม. เพื่อขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยแก่แรงงานต่างด้าว และการตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มเติม และ ครม.มีมติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอโดยเห็นชอบให้เพิ่มอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เพราะต่อไปแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต้องไปขึ้นทะเบียนราษฎรจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าวนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตทำงาน
นายพงศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.มีมติขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในไทยเป็นการชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ที่จดทะเบียนและใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 ม.ค.2553 และแรงงานต่างด้าว ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 ก.พ.2553 รวม 1,310,690 คน ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ โดยได้ขยายเวลาให้อยู่ในไทยชั่วคราวเพื่อการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2555 โดยแรงงานเหล่านี้ต้องกรอกแบบการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ. 2553 และเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้ทันตามวันเวลาที่กำหนดทั้งนี้ ต้องไม่เกินวันที่ 28 ก.พ.2555 และขอย้ำว่า แรงงานเหล่านี้จะอยู่ในไทยชั่วคราวได้ตั้งแต่ถือใบแบบฟอร์มเพื่อพิสูจน์สัญชาติ และมีใบอนุญาตทำงาน
นายพงศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานลาว กัมพูชา ได้มีการพิสูจน์ล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนแรงงานพม่าที่เริ่มพิสูจน์ในรัฐบาลนี้เป็นครั้งแรกตามนโยบายของนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ที่ได้พบกับ รมว.ต่างประเทศพม่า ที่ตกลงกำหนดจุดตรวจ 3 จุด ในพื้นที่ฝั่งพม่าใกล้ จ.ระนอง อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยสามารถพิสูจน์ได้วันละ 600 คน เชื่อว่าจะทันตามระยะเวลาที่ ครม.มีมติ อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันครั้งนี้จะเป็นปีสุดท้าย ต่อไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้มาตรการเด็ดขาดกับแรงงานที่หลบหนีเข้าเมือง และผู้ประกอบการที่รับแรงงานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งผลักดันออกนอกประเทศ จะถูกลงโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด เพราะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ก่อปัญหาอาชญากรรม และนำพาโรคติดต่อ กระทบคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"กรมจัดหางาน"ปล่อยข่าว ไทยขาดแรงงาน ลูกจ้างออกโรงโต้ มีคนเตะฝุ่นเพียบ
แนวหน้า (
25 ม.ค. 53) -  น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 24มกราคม ว่า ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งอีกไม่นานแรงงานกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณอายุ และปลดระวางการทำงาน ทั้งนี้ ตามปกติแล้วจะมีแรงงานใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่เป็นที่น่ากังวลว่า แรงงานช่วงอายุ 25 - 39 ปี ที่จะเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานสูงอายุนั้นมีปริมาณน้อยมากและคาดว่าจะลดลงทุกปี โดยในปี 2552 ที่ผ่านมา พบว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวหายไปจากระบบกว่า 200,000 คนรองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากผลวิจัยแนวโน้มความต้องการแรงงานในปี 2553 - 2557 โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน พบว่า ความต้องการแรงงานไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากกำลังแรงงานทดแทนที่มีอยู่ ไม่สามารถทดแทนกำลังแรงงานของผู้สูงอายุที่กำลังจะเกษียณอายุได้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้จำนวนคนงานสูง เช่น กิจการก่อสร้าง กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ กิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์"หากสถานการณ์แรงงานไทยยังเป็นเช่นนี้ ภาคการผลิตทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ เช่น เพิ่มการใช้เทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคนให้มากขึ้น หรือไม่อาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศข้างเคียง รวมทั้งผู้ประกอบการอาจต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้นด้วย"น.ส.ส่งศรี กล่าวขณะที่นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ยอดการส่งออกย่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานในการผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนแรงงานยังคงเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยหันมาใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน เพราะหากไม่มีการปรับเปลี่ยน เป็นไปได้ว่านายทุนต่างชาติอาจจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่น จีนหรือเวียดนาม ซึ่งมีความพร้อมด้านแรงงานและค่าจ้างในราคาที่ไม่สูงมากนักนอกจากนี้ ยังส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมอาจต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนอีกด้วย ซึ่งตนมองว่าหากมีการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มอาจเกิดปัญหาตามมาในระยะยาว เช่น การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ส่งผลให้ตลาดต่างประเทศกีดกันทางการค้าได้นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภาคการผลิตจะขาดแคลนแรงงาน เพราะในขณะนี้แรงงานในภาคประมง ภาคเกษตร และในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เริ่มขาดแคลน เนื่องจากในอุตสาหกรรมเหล่านี้คนไทยไม่ยอมทำ จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวแทน
ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กรมการจัดหางานออกมาระบุว่าประเทศไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานนั้น ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันยังมีคนงานจำนวนมากที่ยังไม่มีงานทำ ส่วนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้นก็ไม่อยากกลับเข้าไปทำงานอีก เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่มักจะจ้างทำของ หรือ จ้างงานแบบเอาท์ซอร์ส ซึ่งทำให้สภาพการจ้างงานนั้นไม่มีความมั่นคง เพราะแรงงานส่วยใหญ่ต้องการการจ้างงานแบบประจำหรือไม่ก็แบบเหมาค่าแรง เพื่อให้มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีกว่า นอกจากนี้ นายจ้างอาจมีการอ้างว่าขาดแคลนแรงงาน เพราะในความเป็นจริงแล้วนายจ้างต้องการใช้แรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทย เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูก ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องรีบเข้าไปอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เพื่อหาทางช่วยให้แรงงานไทยได้มีงานทำกันทุกคน
"สปสช." ดันขยายหลักประกันคลุมคนเกิดในไทยอีก 5 แสน
เว็บไซต์มติชน (
25 ม.ค. 53) -  แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ รวมทั้งสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ (สวปก.) กำลังร่วมกันผลักดันขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมถึงคนที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มใหญ่ราว 5 แสนคน แต่ยังมีปัญหาด้านสถานะบุคคล อาทิ คนไร้รากเหง้าในสถานสงเคราะห์ คนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายชนกลุ่มน้อยที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยมานานคนที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เป็นต้นเนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยเฉพาะในยามเจ็บไข้ เพราะไม่มีสวัสดิการใดๆ ครอบคลุมถึง ทั้งๆที่ถือว่าเป็นคนไทยตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนการออกบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทย
ข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นด้วยแล้วซึ่งได้จัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อให้คณธรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วหลายรอบ แต่ยังไม่นำสู่ครม. เนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองชุดต่างๆ เรื่อยมา เพราะมีความเข้าใจผิดคิดว่ากลุ่มนี้เป็นแรงงานต่างด้าว ขณะที่สำนักงบประมาณและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต่างทักท้วง เพราะเป็นห่วงในเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณและเรื่องความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตามล่าสุด เตรียมนำเสนอ ครม.อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเข้าขั้นวิกฤต เพราะโรงพยาบาล (รพ.) ตามแนวชายแดนต่างเป็นหนี้จำนวนมาก เพราะต้องหมุนเงินงบประมาณจากส่วนต่างๆ มาให้บริการ ขณะที่งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐไม่ได้กันส่วนนี้ไว้ให้
ข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ รพ.ต่างๆ ในเขตชายแดนต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิรักษาตามหลักประกันสุขภาพ อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน 5 รพ.เป็นหนี้รวมกว่า 23 ล้านบาท ขณะที่ รพ.ใน จ.ตาก 5 แห่งใช้เงินถึง 111.5 ล้านบาท โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลอุ้มผางต้องเป็นหนี้อยู่ถึง 30 ล้านบาท เช่นเดียวกับ รพ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่เป็นหนี้อยู่เกือบ 10 ล้านบาท
ด้านผู้อำนวยการ รพ.แห่งหนึ่ง กล่าวว่าจำเป็นต้องรักษาคนเหล่านี้ เพราะพบว่าโรคหลายโรคที่หายสาบสูญไปจากคนไทยก็ปรากฏขึ้นจากคนตามชายแดน ดังนั้น จะต้องรักษาและป้องกันเพื่อไม่ให้สังคมเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดเหล่านี้อีก
นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ล้างบาปที่รัฐไทยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศมายาวนาน เพราะเดิมทีคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรได้รับหลักประกันสุขภาพ แต่ตอนหลัง สปสช.ไปตีความเองว่าจะดูแลเฉพาะคนไทยที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้น การกลับมาสู่ความถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะควรรับผิดชอบคนเหล่านี้ที่ถูกบันทึกทั้งทะเบียนบ้านและประวัติไว้แล้ว แต่อาจให้ระดับที่แตกต่างกันตามความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศไทย เช่น กรณีแรงงานต่างด้าว ควรต้องมีช่องทางซื้อหลักประกันสุขภาพ
"แต่สำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยและเกิดในประเทศไทยมานานกลุ่มนี้ เพียงแต่พวกเขายังไม่มีสถานะตามกฎหมายที่ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่นับแสนๆ คน แต่มีตัวตนชัดเจนในทะเบียนราษฎรคนเหล่านี้เสียภาษีเข้ารัฐมาตลอดชีวิต อย่างน้อยก็ภาษีทางอ้อม ดังนั้น พวกเขาควรได้รับการดูแลเหมือนคนทั่วไป" นางพันธุ์ทิพย์กล่าว
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ได้ระบุไว้ให้มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมถึงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งาชาติ ที่ให้การคุ้มครองบุคคลไม่ว่าจะมีสัญาชาติอะไร ทั้งนี้ รัฐควรให้งบประมาณในการจัดการสุขภาพได้
"เราควบคุมโรคติดต่อไม่ได้ หากไม่ดูแลเขาเมื่อเขาป่วยเราต้องรักษาพยาบาลอยู่แล้วแต่จะเป็นภาระใหญ่มาก หากไม่ป้องกัน ซึ่งกระบวนการหลักประกันสุขภาพจะเป็นเชิงป้องกันมากกว่า ที่สำคัญหากเลือกปฏิบัติกับคนที่เกิดในไทยและอาศัยในประเทศเดียวกันแตกต่างกันจะเกิดความไม่รักแผ่นดินหรือความเกลียดชังเกิดขึ้นได้ซึ่งเรามีประสบการณ์ให้เห็นใจจังหวัดชายแดนภาคใต้"นางพันธุ์ทิพย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่เห็นด้วย นางพันธุ์ทิพย์กล่าวว่า เข้าใจว่าฝ่ายวิชาการของ สมช.เข้าใจดี แต่คนไม่เข้าใจคือฝ่ายบริหารของประเทศมากว่า เพราะกระบวนการตัดสินใจด้วยความรู้มีน้อย แต่หากทำความเข้าใจก็รับได้ด้วยเหตุผล เมื่อถามว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนคนต่างด้าว นางพันธุ์ทิพย์กล่าวว่า เรื่องสุขภาพส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมทั้งหมด เพราะหากประเทศมีคนป่วยมากๆ ไม่สามารถทำงานพัฒนาได้อย่างจริงจัง หากมีการศึกษาและสุขภาพดีเป็นการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง
หวั่นอีก 5 ปีแรงงานไทยเข้าขั้นวิกฤต ภาคผลิตใช้ 38ล.คน-เด็กจบใหม่ป้อนตลาดไม่ทัน
เว็บไซต์ข่าวสด (
25 ม.ค. 53) -  น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยภายหลังเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นว่า จากสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในขณะนี้ ยอมรับว่าทำให้ภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทเริ่มขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อปีที่แล้วพบทางเลือกใหม่หลังกลับสู่ภาคการเกษตร ขณะที่แรงงานที่จบใหม่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม น้อยลง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันแรงงานยังไม่ขาดแคลนมากถึง 4-5 แสนคน ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกมาระบุ โดยเชื่อว่าอาจเป็นความต้องการแรงงานในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของแรงงานไทยในขณะนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งอีกไม่นานแรงงานกลุ่มนี้จะเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ตามปกติแล้วจะมีแรงงานใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่เป็นที่น่ากังวลว่าแรงงานช่วงอายุ 25-39 ปีมีปริมาณน้อยมาก และคาดว่าจะลดลงทุกปี ซึ่งเป็นผลจากการคุมกำเนิดที่ได้ผล และในปี "52 ที่ผ่านมา แรงงานกลุ่มดังกล่าวหายไปจากระบบกว่า 200,000 คน
น.ส.ส่งศรีกล่าวอีกว่า จากผลวิจัยแนวโน้มความต้องการแรงงานในปี "53-57 โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่า ความต้องการแรงงานไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากกำลังแรงงานทดแทนที่มีอยู่ ไม่สามารถทดแทนกำลังแรงงานของผู้สูงอายุที่กำลังจะเกษียณอายุได้
"หากสถานการณ์แรงงานไทยยังไม่ดีขึ้น ภาคการผลิตทั้งหมดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวโดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคนให้มากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้คนน้อย แต่มีการใช้เทคโนโลยีสูง ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไขยาก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี" น.ส.ส่งศรีกล่าว
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวยอดการส่งออกย่อมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานในการผลิตมากขึ้น ในขณะที่จำนวนแรงงานยังคงเท่าเดิม และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทำให้สถานการณ์แรงงานระดับล่างอยู่ในภาวะตึงตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้แรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน หากภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพิงกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือประเภทนี้อาจเกิดปัญหาตามมาในระยะยาว
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยหันมาใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน เพราะหากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม เป็นไปได้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมด้านแรงงาน และค่าจ้างในราคาที่ไม่สูงมาก เช่น ประเทศจีน และเวียดนาม แทน
รวบ 71 ต่างด้าวคาไซต์งานก่อสร้าง
แนวหน้า (25 ม.ค. 53) -
พล.ต.ต.มนู เมฆหมอก ผบก.สส.สตม.สั่งการให้ ร.ต.อ.สมพนธ์ คณา รอง สว.กก.1 บก.สส.สตม.นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นภายในโครงการก่อสร้างแฮปปี้ลิฟวิ่งคอนโด 101 ซอยลาดพร้าว101 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.เมื่อวันที่ 24 มกราคม ภายหลังรับแจ้งว่าสถานที่ดังกล่าวมีการลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า กัมพูชา และลาว รวม 71 คนทั้งนี้ แรงงานทั้งหมดมีนายณวัฒน์ ประภาสัย อายุ 43 ปี เป็นผู้ควบคุมโครงการก่อสร้างดังกล่าว จึงควบคุมตัวมาดำเนินคดีในข้อหาให้ที่พักพิงและซ่อนเร้นแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และมีแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ได้แจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก่อนผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
จัดหางานฯ ภูเก็ต จัดสัมมนาโครงการสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ และโครงการเครือข่ายชุมชนร่วมรณรงค์ป้องกันการลักลอบไปทำงานต่างประเทศ
ข่าวภาคใต้ (
26 ม.ค. 53) - เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 ม.ค.นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ และโครงการเครือข่ายชุมชนร่วมรณรงค์ป้องกันการลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น ณ โรงแรมเพิร์ล อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีครูแนะแนวของสถานศึกษาใน จ.ภูเก็ต ทั้งภาครัฐ และเอกชน และอาสาสมัครแรงงาน เข้าร่วมโครงการฯ และในโอกาสนี้ประธานในพิธีได้มอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่นายวิโรจน์ พหนการ หนึ่งในเครือข่ายที่ได้ช่วยเหลือภารกิจของสำนักงานฯ ด้วยความขยันขันแข็งและเสียสละด้วยดีเสมอมา
นางสาวอุบล ช่วยพัฒน์ ผู้ช่วยจัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันของสองโครงการ ทั้งนี้เพื่อเชิญชวนให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้ามาเป็นเครือข่ายของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยบริการ ประสานงานหรือให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนตามภารกิจของสำนักงานฯ ทั้งในด้านการส่งเสริมการมีงานทำ ทั้งงานในระบบและการประกอบอาชีพอิสระ การแนะแนวอาชีพ การบริการจัดหางานต่างประเทศ และการคุ้มครองคนหางาน โดยเฉพาะเครือข่ายครูแนะแนวจะมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน หรือร่วมบริการด้านการแนะแนวอาชีพของสำนักงานฯ ในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และในขณะเดียวกันอาสาสมัครแรงงาน บุคลากรในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนก็มีความสำคัญด้านการส่งเสริมการมีงานทำ การช่วยประสานงาน การให้ข้อมูลข่าวสารด้านการไปทำงานต่างประเทศและการคุ้มครองคนหางาน
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกับความต้องการแรงงาน” ต่อด้วยการบรรยายเรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจและความต้องการแรงงานในจังหวัดภูเก็ต” “การไปทำงานเมืองนอกโดยวิธีใดจึงไม่ถูกหลอก” และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าสู่กันฟัง เพื่อเพิ่มพลังด้านแนะแนวระหว่างผู้ร่วมสัมมนาด้วยกันเอง
ITF ส่งรายงานการตรวจสอบรถไฟให้นายกฯ
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (26 ม.ค.53) - สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ส่งรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถไฟ และการไล่ออก 6 พนักงานการรถไฟฯ ส่งไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบพร้อมถอนคดีความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย การกลั่นแกล้งให้เร็วที่สุด หลังจากที่ทางสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ITF ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยระดับสูงมายังประเทศไทยระหว่างวันที่ 11 - 15 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของมาตรฐานความปลอดภัยของรถไฟไทย และตรวจสอบสาเหตุการณ์การไล่ออก 6 พนักงานรถไฟจากกรณีการชุมนุมประท้วง ล่าสุดทาง ITF ได้สรุปรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่งไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบพร้อมถอนคดีความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
DSI รับร้องทุกข์ชาวจังหวัดเลยถูกหลอกขายแรงงานยิว
เนชั่นทันข่าว (27 ม.ค. 53) -
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นำผู้เสียหาย 10 ราย จากอ.วังสะพุง อ.เชียงคาน จ.เลย เข้าร้องทุกข์ต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ โดยขอให้ช่วยเหลือกรณีกลุ่มนายทุนในอำเภอวังสะพุง หลอกลวงและฉ้อโกงสัญญาการเดินทางไปขายแรงงานในประเทศอิสราเอล โดยชาวบ้านต้องนำโฉนดที่ดินกว่า 30 แปลงไปจำนองกับนายทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ชาวบ้านกลับถูกหลอกลวงไม่ได้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศและยังต้องถูก ฟ้องทวงหนี้และขับไล่ออกจากที่ดิน นอกจากนี้ยังรองขอให้ดีเอสไอจัดชุดคุ้มครองพยาน ไปดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านซึ่งถูกข่มขู่เอาชีวิต
นายธาริต กล่าวว่า จะรับเรื่องร้องทุกข์ไว้ดำเนินการ และจะตั้งชุดเฉพาะกิจเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ เนื่องจากเป็นการเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส เกิดความเสียหายต่อสังคม เป็นการฉ้อโกงที่ดินของคนยากจน โดยดีเอสไอจะเร่งดำเนินการให้ดีที่สุด
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศเผยจำนวนคนตกงานทั่วโลกปี 52 พุ่งแตะ 212 ล้านคน
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 53)
- องค์กร แรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยในรายงาน "Global Employment Trends" ว่า จำนวนคนตกงานทั่วโลกในปี 2552 มีอยู่ราว 212 ล้านคน พุ่งขึ้น 34 ล้านคน หรือ 19% นับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่อัตราว่างงานทั่วโลกในปี 2552 อยู่ที่ 6.6% เพิ่มขึ้น 0.9% ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจ รายงานระบุว่า พนักงานที่มีอายุน้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอัตราว่างงานในกลุ่มพนักงานที่มีอายุน้อยเพิ่มขึ้น 1.6% ในปี 2552 แตะที่ 13.4% ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534
ฮวน โซมาเวีย ผู้อำนวยการ ILO กล่าวว่า "รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องใช้นโยบายที่สอดคล้องกันทั้งในด้านการสนับสนุนภาค ธนาคารและการสร้างงาน ความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆจะช่วยลดผลกระทบที่ เกิดขึ้นได้"
รายงานของ ILO ระบุว่า แม้เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวในปีนี้ แต่คาดว่าอัตราว่างงานทั่วโลกจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 6.1-7% ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยอัตราว่างงานในประเทศกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 2.4% แตะที่ 8.4% ในปี 2552 และคาดว่าอัตราว่างงานในประเทศกลุ่มนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ILO ระบุว่า อัตราว่างงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% แตะที่ 4.4% ในปี 2552 และคาดว่าอัตราว่างงานในประเทศกลุ่มนี้จะลดลงอีกในปีนี้ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
คนงานโรงงานรองเท้าแจ้งจับนายจ้าง
บ้านเมือง (28 ม.ค.
53) - วันนี้ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี มีพนักงาน 400 คนของโรงงานผลิตรองเท้าชื่อดัง “ไนกี้ รีบ๊อค” ในเครือ บริษัท รามาชู อินดัสตี้ จำกัด ซึ่งเป็นของชาวสิงคโปร์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี นายราฟ ชาร์ ชาวอินเดีย เป็นผู้จัดการโรงงาน และนายณรงค์ฤทธิ์ ช่วยเหลือ ผจก.ฝ่ายบุคคล เป็นผู้ดูแล โดยคนงานทั้งหมดได้รวมตัวกันที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ชลบุรี หลังถูกทางโรงงานผลัดผ่อนการจ่ายค่าแรงงานทั้งแบบรายวันและรายเดือนมาเดือน กว่าจำนวนประมาณ 400 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านบาท มา 4 ครั้งแล้ว และยังไม่มีคำตอบว่าจะจ่ายเงินเดือนให้เมื่อไหร่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน จึงมาขอให้นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าฯ ชลบุรี ช่วยเหลือในการเจรจาให้ด้วย หลังจากที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี และจัดหางาน จ.ชลบุรี ได้เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจากับ นายราฟ หลายครั้งแล้ว แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธว่ายังไม่มีเงินจ่าย จนกระทั่ง นายเสนีย์ ผู้ว่าฯ ชลบุรี ให้ตัวแทน 6 คนเข้าพบและทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ได้แนะนำให้ไปแจ้งความ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี เพื่อให้โรงงานออกมารับผิดชอบ จ่ายค่าแรงงานที่ผิดนัดทั้งหมดเพราะเห็นว่าพนักงานได้รับความเดือดร้อนมาก
ต่อมาคนงานทั้งหมดจึงเดินทางไปที่ สภ.เมืองชลบุรี เข้าแจ้งความกับ พ.ต.อ.นภดล วงษ์น้อม ผกก.สภ.เมืองชลบุรี โดย พ.ต.อ.นภดล กล่าวว่า หลังจากที่มีพนักงานของโรงงานผลิตรองเท้าชื่อดังเข้ามาแจ้งความดำเนินคดีนาย ราฟ ชาร์ ผจก.ชาวอินเดีย และ นายณรงค์ฤทธิ์ เนื่องจากยังไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานนั้น ตนได้ออกหมายเรียก เพื่อให้ทั้ง 2 คนมาสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหากทั้ง 2 คนยังไม่มาตามกำหนดมาตรการต่อไปตนจะขออนุมัติต่อศาล จ.ชลบุรี ออกหมายจับต่อไป
สหภาพแรงงานคนฟอร์ด-มาสด้า ร้องสถานทูตสหรัฐช่วยเหลือนายจ้างปิดโรงงาน
โพสต์ ทูเดย์ (28 ม.ค. 53)
- กลุ่มสหภาพแรงงาน ฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย เดินทางไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ทางสถานทูตฯช่วยเหลือพนักงาน หลังนายจ้างได้ปิดโรงงาน ไม่ให้พนักงานเข้าไปทำงาน จากข้อเรียกร้องเรื่องโบนัส และการปรับเงินขึ้นสูงตามยอดการผลิตที่สูงขึ้น
"ไพฑูรย์"ยาหอมม็อบ"ไทรอัมพ์" ให้ยืมจักรเย็บผ้า
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (31 ม.ค. 53)
- นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลืออดีตคนงานไทรอัมพ์ ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 1,959 คน ว่า ขณะนี้ทางบริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้แจ้งความจำนงว่าจะบริจาคจักรเย็บผ้าให้กับกระทรวงแรงงานจำนวน 560 ตัว หลังจากมอบหมายให้นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ประสานขอความช่วยเหลือบริจาคจักรเย็บผ้ากับบริษัทไทรอัมพ์ฯ ตามที่ตัวแทนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ร้องขอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพของคนงาน ซึ่งหากได้รับจักรเย็บผ้าคนงานทั้งหมดยินดีออกจากกระทรวงแรงงาน
อย่างไรก็ตาม จักรเย็บผ้าดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ที่กระทรวงได้รับบริจาคมาจากบริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นการมอบให้กับกลุ่มม็อบไทรอัมพ์จึงเป็นการให้สิทธิยืมใช้เท่านั้น ไม่สามารถยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวได้
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เตรียมนำเงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ของกรมการจัดหางาน ปล่อยกู้ให้กับอดีตคนงานไทรอัมพ์ที่สนใจประกอบอาชีพ ทั้งนี้ อดีตคนงานไทรอัมพ์ต้องรวมกลุ่มกันจำนวน 5 คน จึงจะสามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
ส่วนกรณีการช่วยเหลือแรงงานไทยจากเหตุการเรืออับปางที่ไต้หวัน นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เรือดังกล่าวเป็นเรือบรรทุกไม้ซุงจากประเทศไทย ชื่อ “ซี แองเจิล” ซึ่งเรือดังกล่าวเป็นของบริษัท แสงไทยการเดินเรือ จำกัด มีลูกเรือทั้งหมด 19 คน เป็นคนไทย 15 คน อินเดีย 1 คน และชาวพม่า 3 คน
จากการรายงานเบื้องต้นทราบว่ามีลูกเรือชาวอินเดียเสียชีวิต 1 ราย ส่วนลูกเรือไทย ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 ราย กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเจียยี่และโรงพยาบาลเมืองไถจง ซึ่งขณะนี้ปลอดภัยแล้ว และหากลูกเรือทั้ง 9 คน มีอาการดีขึ้น ก็จะประสานให้ส่งตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทยต่อไป
9 หน่วยสนธิกำลังกวาดล้างขอทานกรุง 15ก.พ.
กรุงเทพธุรกิจ (29 ม.ค. 53) -
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้(28 ม.ค.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานการประชุมการแก้ไขขอทานในพื้นที่ กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงแรงงาน กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์(ปคม.) ศูนย์ประชาบดี สำนักเทศกิจ มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น
โดยนายธีระชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจจำนวนขอทานในพื้นที่ กทม.ของสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ล่าสุดพบทั้งสิ้น 131 คน ในจำนวนนี้เป็นขอทานต่างด้าว 23 คนส่วนใหญ่มาจากประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นยอดหลังจาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่กวาดล้างไปทั้งสิ้น 557 ราย
นายธีระชน กล่าวอีกว่าที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปจะสนธิกำลังกันใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ศูนย์ประชาบดี ตำรวจ และเทศกิจ กทม. ลงพื้นที่กวาดล้างขอทานในวันที่ 15 ก.พ. โดยในส่วนขอทานต่างด้าว 23 คนนั้นจะแยกกลุ่มออกมาเพื่อผลักดันกลับประเทศ ส่วนขอทานคนไทยจะส่งไปศูนย์แรกรับนนทบุรี กรมประชาสงเคราะห์จะสอบประวัติ รวมทั้งหากพบเป็นการค้ามนุษย์ ปคม.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปด้วย โดยการแก้ปัญหาในระยะสั้นคงต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวาดล้างอย่างหนัก ส่วนในระยะยาวทุกฝ่ายจะประชุมเพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากการวางกระป๋องขอทานเป็นเร่ขายดอกไม้ ขายสินค้าต่างๆ เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่าจากข้อมูลของศูนย์ประชาบดี พม.พบการทำเป็นขบวนการและเป็นธุรกิจ โดยเช่าบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเปลี่ยนหน้ากันมาขอทาน ทั้งเด็กและคนแก่ แต่ทั้งหมดจะมีรถรับส่งคันเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีหมู่บ้านขอทานใน 2 จังหวัดที่มาขอทานในพื้นที่ กทม.จำนวนมาก แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นจังหวัดใด นอกจากนี้ พม.ยังได้สำรวจจำนวนคนเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.ซึ่งนอกเหนือจากจำนวนขอทานอีกกว่า 900 คนด้วย ทั้งนี้ ประชาชนที่พบว่าสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลเข้ามาที่สายด่วน กทม. 1555 และศูนย์ประชาบดี หมายเลข 1300
ก.แรงงาน เตือนนายจ้างรีบพาแรงงานต่างด้าวต่อใบอนุญาตทำงาน-ยื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติ ภายใน 28 ก.พ.นี้
เว็บไซต์แนวหน้า (30 ม.ค.53) -
ที่กระทรวงแรงงานนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวออกไปอีก 2 ปี ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ตนได้กำชับให้จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดเร่งดำเนินการแจ้งนายจ้างและสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวให้พาแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีใบอนุญาตทำงานหมดอายุในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ รีบไปตรวจสุขภาพ และยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมยื่นขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิในการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทย ตามมติ ครม.และกลายเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท