Skip to main content
sharethis

จากปัญหาเรือคราดหอยลาย ที่รุกน่านน้ำของชายฝั่งนครศรีธรรมราช มามากกว่า 20 ปี สร้างความเสียหายปีละหลายล้านบาท เพราะไถคราดหน้าดินลงลึกเกือบเมตร ส่งผลให้ชาวประมงชายฝั่งแทบลืมตาอ้าปากไม่ออก

“ปัญหาเรื่องคราดหอยลาย มาตั้งแต่สมัยพ่อของผม ตอนนั้นผมหนุ่มๆ จำได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นแล้ว” คือคำสะท้อนของ อภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา ที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม

ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของกฎหมาย ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในการจัดการและแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน “ที่จริงปัญหาเรื่องเรือคราดหอยลาย มีหน่วยงานหลักๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งหลายหน่วยงาน เช่น กรมประมง กรมทรัพยากรฯ กรมเจ้าท่าฯ ตำรวจน้ำ และ ทหารเรือ แต่หน่วยงานเหล่านี้มุ่งจับแต่เรือขนาดเล็ก และถูกริบเรือบ่อยมากๆ จนต้องเลี้ยงน้ำชาเพื่อจัดซื้อเรือ แทบทุกปี” อภินันท์ เปิดใจเพิ่มเติม
 
เมื่อมีช่องว่างทางกฎหมาย และกลไกการทำงานของภาครัฐ ที่ไม่ส่งผลต่อการแก้ปัญหา ชุมชนจึงต้องร่วมมือ และต้องช่วยประสานงานเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ เพราะเขาคือผู้ที่เดือดร้อน ชุมชนชาวประมงในตำบลท่าศาลา จึงรวมตัวกันขึ้น ในชื่อ “เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา” โดยมี สุพร โต๊ะเส็น หรือรู้จักในชื่อ “บังโฉด” เป็นผูประสานงาน
 
บังโฉด เล่าให้ฟังว่า “ปัญหาของชาวประมงมีหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องเรือคราดหอยลายเพียงอย่างเดียว ปีก่อนเราปีปัญหาเรื่อง ซีฟู๊ดแบงค์ ออกโฉนดเล เพื่อสัมปทานในการเพาะเลี้ยง จุดนี้ก็ได้ร่วมมือกับท้องถิ่นในการออกหนังสือระงับไว้ชั่วคราว ปัญหาเรืองอวนลาก อวนรุน ปลากะตักกลางวัน แต่ที่หนักสุดๆ ก็คือ ลากคู่ และเรือคราดหอยลาย”
 
เรือคราดหอยลาย ถือว่าเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ทำลายล้างมากชนิดหนึ่ง เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องใช้ตะแกรงขนาดใหญ่ ไถคราดลงไปในหน้าดิน ครั้งละ ๑๕ ซม.จนถึงเกือบ ๑ เมตร ยิ่งลงลึกจะพบหอยลายตัวใหญ่ ทำให้กฎหมายประมงออกประกาศเรื่องห้ามคราดหอยลายขึ้น คือ ห้ามทำการประมงในเขต ๓,๐๐๐ เมตร ห้ามเรือยาวเกิน ๑๘ เมตร ห้ามซี่คราดต่ำกว่า ๑.๒ ซม. ห้ามคราดหอยลายกว้างมากกว่า ๓.๕ ซม. ปากคราดหอยห้ามเกิน ๑๐ ซม. และในแต่ละลำห้ามมีซี่คราดเกิน ๓ อัน จากกฎหมายนี่เอง พบว่าเรือคราดหอยลายแทบทุกลำมีซี่คราดน้อยกว่า ๑.๒ เพราะถ้ามากกว่านี้การคราดหอยลายจะติดแต่ขนาดใหญ่ไม่คุ้มทุน แต่หากถูกจับที่ไม่ใช่กรณีในเขต ๓,๐๐๐ เมตร เรือเหล่านี้มักจะแค่ถูกปรับ อีกทั้งหากพบว่าเป็นเรือเช่าต้องปล่อยภายใน ๔๘ ชั่วโมง เมื่อปล่อยออกไป ก็จะกลับมาทำความผิดซ้ำอีก เป็นวงจรอย่างนี้มาเกือบ ๒๐ ปี
 
ลุงวิน จินดานิล ประมงอาสา เล่าให้ฟังว่า “เรือคราดหอยลายหากเจ้าหน้าที่ตาไม่บอด และไม่มีใต้โต๊ะ เรื่องนี้คงจับกุมได้ไม่ยาก เพราะว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ มองเห็นจากริมฝั่ง หากทำการประมงต้องเข้าไปตรวจทันที ไม่เช่นนั้นชาวบ้านตายหมด ต้องเอาความผิดให้ได้สักเรื่อง ไม่ใช่บอกไม่มีน้ำมัน ไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือไล่ตามไม่ทัน ปัญหามีไว้ให้แก้ไม่ใช่ปฏิเสธ”
 
จากปัญหาในหลายๆปีที่ผ่านมา เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา อบต.ท่าศาลา จึงต้องจับมือเพื่อหาทางออก และได้ร่วมมือกับทุกๆหน่วยงาน ภายใต้นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ในชื่อ “สมัชชา ประเด็นการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง โดยชุมชน” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่น ภาคชุมชน และอบต. จึงเตรียมตั้งรับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี โดยมีสมาคมดับบ้านดับเมืองเป็นกลไกกลางในการประสานงาน
 
“หากมาก็จับ ทีมงานเราพร้อม เพราะปัญหานี้เดือดร้อนหลายหมื่นครอบครัว เพราะชัดเจนว่า ลากในเขต ๓,๐๐๐ เมตรแน่นอน ต้องเอาผิดให้ได้ ผมก็เป็นคนท่าศาลาด้วยเหมือนกัน” คือ คำกล่าวของ วีระพรรณ สุขะวัลลิ ปลัดปราบปรามอำเภอท่าศาลา หัวหน้าชุดเฉพาะกิจศรีวิชัย และเป็นหัวหน้าชุดในการจับกุมทุกครั้ง”
 
“ผมพร้อมเข้ามาช่วยเต็มที่ โทรได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพราะตอนนี้ปัญหาเรื่องค่าน้ำมัน ทาง อบต.ท่าศาลา จัดสรรให้เต็มที่เมื่ออกปฏิบัติภารกิจ” สิทธิพล เมืองสง หัวหน้าหน่วยปราบปรามประมงทะเลเกาะถ้ำ กล่าว
 
จุดนี้เองที่เป็นจุดพลิกผันของความร่วมมือ เมื่อทุกฝ่ายพร้อม ความร่วมมือก็เกิดปัญหาก็ทยอยหมดไป จากต้นปีที่ผ่านมาจับเรือผิดกฎหมายได้ ๑๐ กว่าลำ แต่ความร่วมมือไม่ได้จบลงแค่นั้น ทางคณะทำงานได้ร่วมผลักงานนโยบายสาธารณะต่อ คือ การทำงานด้านสื่อ และการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยได้ยกร่างและเปิดเวทีระดับตำบล ๖ ครั้ง เวทีระดับจังหวัด ๒ ครั้ง และเวทีประชาพิจารณ์ ๑ ครั้ง ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จนเมื่อวันที่ ๓๐ กย. ๕๒ ได้เปิดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาขึ้น โดยได้รับเสียงสนับสนุน ๒๙ เสียง จาก ๓๐ เสียง ทั้งนี้ประธานสภางดออกเสียงโดยมารยาท และทั้งหมดคือความสำเร็จของการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ทางทะเลแห่งแรกของไทย
 
ภาคภูมิ วิธานกิติรวัฒน์ คณะทำงานยกร่างด้านกฎหมายกล่าวว่า “การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นทางทะเล ถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย เพราะไม่มีท้องถิ่นใดออกมาก่อน และเราไม่มีเขตทางทะเลที่ชัดเจน แต่อนุมานหรือตีความได้ว่า หน้าขอบตำบลทั้งสองด้าน ยื่นออกไปตั้งฉาก ทำแผนที่ประกอบการออกข้อบัญญัติได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายหลักที่มีอยู่แล้ว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและชุมชน แต่ในความเห็นผมออกได้ หากมีใครฟ้องก็ต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง” 
 
สำหรับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สถาบันที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย คือ สถาบันพระปกเกล้า นำโดย ดร.ถวิลวดี บุรินทร์กุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา “ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ทางสถาบันก็เฝ้ามองว่า จะมีท้องถิ่นใดที่หยิบสิทธิตามรัฐธรรมนูญออกมาใช้ ตรงนี้ต้องชื่นชม อบต.ท่าศาลา ชุมชน และทีมงานทั้งหมด เพราะการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ถือว่า เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จะออกเรื่องใดก็ได้ ที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”
 
ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้น มีหลักการ คือ  ต้องไม่ขัดกับกฎหมายหลัก มีส่วนร่วมของประชาชน มีงานวิชาการรองรับ สภาต้องมีมติ ๒ ใน ๓ และสุดท้ายนายอำเภอต้องให้ความเห็นชอบ
 
ในงานวิชาการ เราค้นพบว่า หากมีการคราดหอยเกิดขึ้น จะทำลายสัตว์น้ำชนิดอื่นๆด้วย ๒๐ – ๓๐ ชนิด เราศึกษาร่วมกับชุมชนโดยใช้เรือหางยาว และเครื่องมือคราดหอยลายขนาดเล็ก นอกจากนี้ท้องทะเลอ่าวท่าศาลายังพบความความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์อย่างมาก ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า อวนปลาซาหรือปลากระบอก พบสัตว์น้ำกว่า ๔๒ ชนิด นั่นหมายความว่าหากเรา ใช้เครื่องมือใหญ่ขึ้น หลากหลายขึ้นก็จะพบมากกว่านี้ แต่จากการศึกษาครั้งนี้ก็มากพอที่จะออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้” ผศ.สุริยะ จันทร์แก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏกล่าวอย่างหนักแน่น
 
“ทางตำบลเราโชคดี ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและเห็นความสำคัญของพื้นที่ ตอนนี้ตำรวจโรงพักก็ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา นายอำเภอก็ให้ความสำคัญ หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ส่งเรือมาประจำการ อีกทั้งการออกข้อบัญญัติ การสนับสนุนค่าน้ำมัน อบต.ก็สนับสนุนและเป็นกำลังหลักในการช่วยจัดการ” บังโฉด กล่าวด้วยรอยยิ้มหลังจากผ่านปัญหาซ้ำซากมาเกือบทั้งชีวิต
 
สำหรับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่รัฐ อย่าง วรรณ ชาตรี เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ สงขลา เปิดเผยว่า “ต้องยอมรับความเข้มแข็งของชุมชน และ อบต.ที่นี่ ร่วมไม้ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ทางกรมพร้อมสนับสนุนเต็มที่ อธิบดีก็กำลังอนุมัติเรื่องเรือตรวจการณ์คงได้ต้นปีนี้ อีกทั้งสนับสนุนเรื่องการวางปะการังเทียมเพิ่มเติมให้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ อารี อินทรสมบัติ หัวหน้าประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า “ เรากำลังจะสนับสนุนปะการังเทียมเพิ่มในส่วนของ ท่าศาลา งบประมาณ ๑๐ ล้านบาท จะวางในต้นปีหน้า เพราะตอนนี้ทำประชาคมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว”
 
จากนโยบายสาธารณะเล็กๆ ระดับตำบลจนสู่การยอมรับในระดับประเทศ เป็นการพิสูจน์ความเข้มแข็งของชุมชน และความก้าวหน้าของท้องถิ่น บทเรียนนี้จึงเป็นอีกชุดประสบการณ์หนึ่งที่สำคัญต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญและต่อการพัฒนาประเทศอีกก้าวหนึ่ง



 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net