มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์: ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 

อรอนงค์ ทิพย์พิมล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[1]

 

เมื่อได้รับการติดต่อจากคณะผู้จัดให้มาเป็นวิทยากรในงานเปิดตัวหนังสือเรื่อง “อุษาคเนย์ที่รัก” โดยคนที่โทรมาติดต่อเป็นรุ่นน้องที่คุ้นเคยกัน ดิฉันก็ตอบรับทันทีโดยที่ยังไม่ทราบว่าจะให้พูดเรื่องอะไร ตอนแรกคิดว่าจะให้พูดถึงเรื่องบันทึกการไปเก็บข้อมูลที่อาเจะห์ที่เคยเผยแพร่ในประชาไท แล้วคณะผู้จัดทำหนังสือรู้สึกชอบใจก็เลยนำมารวมในเล่มนี้ แต่คิดว่าถ้าพูดถึงประเด็นในบันทึกนั้นแล้ว ผู้อ่านก็จะไม่อ่านกัน หนังสือก็จะขายไม่ได้อีก ไม่กี่วันหลังจากนั้นรุ่นน้องก็ส่งอีเมล์มาบอกรายละเอียดว่า อยากจะให้หาคำตอบประมาณว่า “ทำไมไทยกับเพื่อนบ้านถึงขัดแย้งกันมาตลอดนับตั้งแต่พัฒนาเป็นรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา” เอาล่ะซี ดิฉันเริ่มวิตกกังวล เพราะดิฉันเป็นคนที่อาจจะรู้เรื่องประเทศอื่นดีกว่าประเทศของตัวเอง ทีนี้ถ้าเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้ง ดิฉันคงไม่สามารถจะพูดอะไรได้มาก หรือจะพูดได้ ก็คงไม่แตกต่างจากความรู้ความเข้าใจในระดับพื้นๆ ซึ่งมีคนพูดถึงกันอย่างดาษดื่นแล้ว

ดิฉันพยายามคิดว่าไทยกับอินโดนีเซียมีความขัดแย้งกันอย่างไร ก็พบว่าเรากับดินแดนอิเหนาไม่ค่อยจะมีปัญหากันสักเท่าไร อาจจะเพราะทั้งสองประเทศไม่ได้มีพรมแดนติดกัน ในทางตรงกันข้ามความรู้สึกเป็นมิตรต่อคนไทยอาจจะพอจะหาได้จากคนอินโดนีเซียเมื่อเทียบกับคนจากประเทศอื่นๆ คนอินโดนีเซียรุ่นพ่อรุ่นแม่จะยังมีภาพประทับใจในการเสด็จเยือนประเทศอินโดนีเซียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ 1960 ในสมัยของประธานาธิบดีซูการ์โน ภาพ “เมืองไทย” ซึ่งมีพระราชินีผู้ทรงสิริโฉมยังคงติดตรึงในความรู้สึกของคนอินโดนีเซียรุ่นผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป

 

โปสเตอร์พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และรูปประธานาธิบดีซูการ์โนถูกประดับเพื่อเป็นการถวายการต้อนรับแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ [ที่มาภาพ: เว็บไซด์ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ http://www.prdnorth.in.th/The_King/king-abroad_02.php]

 

ภาพประชาชนอินโดนีเซียโบกธงชาติอินโดนีเซียและไทยถวายการต้อนรับ [ที่มาภาพ: เว็บไซด์ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ http://www.prdnorth.in.th/The_King/king-abroad_02.php]

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จถึงสนามบินดูบัน บาหลี อินโดนีเซีย ประทับบนพระแท่นเพื่อรับความเคารพจากทหารกองเกียรติยศ [ที่มาภาพ: เว็บไซด์ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ http://www.prdnorth.in.th/The_King/king-abroad_02.php]

 

ประธานาธิบดีซูการ์โนนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินผ่านประชาชนชาวอินโดนีเซียที่เฝ้ารอรับเสด็จ ชาวบาหลีโปรยดอกไม้หอมเป็นการถวายการต้อนรับ [ที่มาภาพ: เว็บไซด์ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ http://www.prdnorth.in.th/The_King/king-abroad_02.php]

 

หากพิจารณาถึงด้านความเป็น “คู่แข่ง” อาจจะพอพูดได้ว่าไทยและอินโดนีเซียมีลักษณะหรือด้านที่ “แข่งขัน” กันอยู่เหมือนกั

ประเด็นแรก คือเรื่องการเป็นผู้นำอาเซียน เมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนถูกโค่นอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในปี 1966 องค์กรอาเซียนก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1967 ท่ามกลางความขัดแย้งแบบทวิภาคีของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยขัดแย้งกับมาเลเซีย, มาเลเซียขัดแย้งกับไทย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และ อินโดนีเซียขัดแย้งกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเริ่มจะมีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งกันเป็นคู่ๆ แต่อาเซียนก็เป็นองค์กรภูมิภาคองค์กรเดียวที่ดำรงอยู่จนมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันก็ยังมีความขัดแย้งเป็นคู่ๆ อยู่ ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่สมาชิกก่อตั้งอาเซียนมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ด้วยความที่เป็นประเทศใหญ่ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก เมื่อผนวกกับปัจจัยทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้อดีตผู้นำอินโดนีเซียผู้ล่วงลับ คือซูฮาร์โต ซึ่งอยู่ในตำแหน่งถึง 32 ปี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียนหรือดูราวกับว่าอินโดนีเซียเป็นผู้นำอาเซียนในทางพฤตินัย เนื่องจากในทางปฏิบัติไม่มีตำแหน่งผู้นำอาเซียนมีแต่ประธานอาเซียนซึ่งจะหมุนเวียนกันเป็นตามลำดับตัวอักษร

เมื่อซูฮาร์โตสิ้นสุดอำนาจจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1998 ก็เป็นที่จับตากันกว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียน ประเทศไทยมีความปรารถนาอยากจะอยู่ตรงจุดนั้น แต่จนถึงวันนี้ปรากฏว่าหลังจากอินโดนีเซียตกจากบัลลังก์ไปก็ไม่มีใครสามารถขึ้นไปครองบัลลังก์ผู้นำอาเซียนได้อย่างชัดเจน

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการจัดการกับความขัดแย้งกรณีขบวนการแบ่งแยกดินแดน หลังยุคระเบียบใหม่ อินโดนีเซียเข้าสู่ยุคปฏิรูป ซึ่งมีเนื้อหาสาระอยู่ที่การปฏิรูปทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยกฎหมายสองฉบับในสมัยประธานาธิบดีอับดุลระห์มาน วาฮิด คือกฎหมายฉบับที่ 22/1999 เรื่อง Local governance และ 25/1999 เรื่อง fiscal decentralisation ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญที่การกระจายอำนาจด้านการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และการเพิ่มอำนาจแก่ส่วนปกครองท้องถิ่น

ซึ่งการกระจายอำนาจดังกล่าว มีส่วนทำให้ขบวนการเรียกร้องเอกราชและการปกครองตนเองในหลายๆ พื้นที่ลดความรุนแรงลง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความรู้สึกว่าสามารถจัดการกับชีวิต ความเป็นอยู่ของตัวเองมากขึ้น รวมถึงมีการหันกลับไปฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลายท้องถิ่น

นอกจากเรื่องการกระจายอำนาจแล้ว การจัดการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่ไทยไม่สามารถจัดเป็นคู่แข่งของอินโดนีเซียได้ ในปี 2005 อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อาเจะห์ ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลา 3 ทศวรรษ จนสามารถตกลงกันและลงนามใน MoU ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในอาเจะห์และอินโดนีเซีย และแม้ว่าข้อตกลงสันติภาพไม่ได้เป็นหลักประกันว่าความสงบสุขจะบังเกิดและอยู่ยืนยาวตลอดไป แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาเจะห์ และสภาพการณ์ความรุนแรงที่อาเจะห์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก

เมื่อไม่สามารถพูดถึงความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียได้  จึงจะขอพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและมีความขัดแย้งกันอย่างประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซียแทน เพื่อจะกรณีเปรียบเทียบกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน และเพี่อที่จะยืนยันว่าความขัดแย้งเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ชาติไทยและคนไทยไม่ได้เป็นมนุษย์พิเศษพิสดารกว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศคู่กรณีเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียมีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 เมื่อมาเลเซียเป็นเอกราชและต้องการผนวกดินแดนบริเวณซาราวักและซาบาห์เข้าไปส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ความขัดแย้งในเรื่องดินแดนนี้นำไปสู่การประกาศการเผชิญหน้า (konfrontasi) 1962-1965 โดยประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงการประกาศใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Demokrasi terpimpin) มองว่ามาเลเซียเป็นรัฐหุ่นเชิดของอังกฤษ การรวมดินแดนซาราวักและซาบาห์เข้าเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียจะยิ่งเป็นการควบคุมบริเวณดังกล่าวของอังกฤษมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าระบอบอาณานิคมยังดำรงอยู่และคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐเอกราชอย่างอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองภายในประเทศอินโดนีเซียก็ส่งอิทธิพลต่อการประกาศการเผชิญหน้ากับมาเลเซียโดยประธานาธิบดีซูการ์โน การที่ขั้วอำนาจทางการเมืองมีลักษณะเป็นแบบสามเส้า ระหว่างประธานาธิบดี, กองทัพ และพรรคคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้ซูการ์โนต้องแสดงพลังและแสวงหาความชอบธรรมในการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ นอกจากนั้นก่อนหน้าการประกาศการเผชิญหน้า กองทัพอินโดนีเซียสามารถยึดดินแดนปาปัวตะวันตก และผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในปี 1962

ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศดูเหมือนจะยุติชั่วคราวเมื่อเปลี่ยนตัวผู้นำจากซูการ์โนเป็นซูฮาร์โต และโดยเฉพาะเมื่อเกิดองค์กรอาเซียน อย่างไรก็ตามก็เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิเหนือดินแดนบริเวณ หมู่เกาะซีปาดัน (Sipadan) และ ลีกิตตัน (Ligitan)[2] ทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่า หมู่เกาะซีปาดันและลีกิตตันเป็นเกาะเล็กๆ ใกล้กับบริเวณซาบาห์ของมาเลเซียและจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกของอินโดนีเซีย ซึ่งกลายเป็นปัญหาข้อพิพาทดินแดนตั้งแต่ปี 1969

จนกระทั่งปี 1997 ทั้งสองประเทศเห็นพ้องต้องกันที่จะให้ศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ตัดสินกรณีดังกล่าว ในที่สุดในปี 2002 ศาลโลกได้ตัดสินว่าเป็นของประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างสองประเทศขึ้นอีก ต่อมาปี 2005 ก็เกิดข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณแหล่งน้ำ Ambalat Block อีกครั้ง และล่าสุดเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเรือรบของมาเลเซียและอินโดนีเซียช่วงเดือนกันยายน ปี 2009

นอกจากเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณทับซ็อนแล้ว ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศลุกลามไปในเรื่องของวัฒนธรรม ในปี 2007 เกิดกรณีพิพาทเรื่องเพลง Rasa Sayang แปลว่าความรู้สึกรัก ซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาเนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวของมาเลเซียได้ใช้เพลงนี้ในการโปรโมทการท่องเที่ยวของประเทศ และรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของมาเลเซียกล่าวว่าเพลง Rasa Sayang เป็นเพลงของคาบสมุทรมลายู ในขณะที่ผู้ว่าการจังหวัดมาลูกู (Maluku) Karel Albert Ralahalu อ้างว่าเพลงนี้เป็นของอินโดนีเซีย เป็นเพลงพื้นบ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมของมาลูกูตั้งแต่ยุคก่อน และเขาจะรวบรวมหลักฐานที่ยืนยันว่าเพลงนี้เป็นของชาวมาลูกู หากรวบรวมได้จะส่งต่อให้รัฐมนตรีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ด้านรัฐมนตรีท่องเที่ยวมาเลเซียก็กล่าวว่าชาวอินโดนีเซียไม่มีหลักฐานที่จะมายืนยันว่าเพลงนี้เป็นของอินโดนีเซีย

นอกจากเพลง Rasa Sayang แล้ว ยังมีการอ้างความเป็นเจ้าของผ้าบาติก (Batik), หนังตะลุง (Wayang kulit), กริช (Keris), การรำ (Tari), อังกลุง (Angklung), เรินดัง (Rendang) โดยมาเลเซีย ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้แย้งตามมา กรณีการอ้างความเป็นเจ้าของผ้าบาติก, หนังตะลุงและกริชเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Hishammuddin Tun Husseinถือกริชไปในงานประชุมประจำปีของอัมโนเมื่อปี 2007 โดยถือว่ากริชนั้นเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความเป็นมลายู หลังจากนั้นชาวอินโดนีเซียก็ทำการประท้วง ในที่สุด Unesco ได้ตัดสินว่าผ้าบาติก, หนังตะลุง และกริช เป็นวัฒนธรรมของประเทศอินโดนีเซีย

การอ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมโดยมาเลเซีย ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจากคนอินโดนีเซีย มีการแพร่หลายของคำว่า Malingsia เป็นการล้อเลียนชื่อประเทศมาเลเซีย คำว่า Maling แปลว่า หัวขโมย, ขี้ขโมย พิมพ์สกรีนบนเสื้อยืดล้อเลียนคำขวัญการท่องเที่ยวของมาเลเซียจาก Visit Malaysia เป็น Visit Malingsia และมีเว็บไซด์ต่างๆ มากมายจากทั้งสองประเทศที่โจมตีอีกประเทศหนึ่งในเรื่องดังกล่าว

           

การแก้ไขปัญหาของทั้งสองประเทศ

ท่ามกลางความขัดแย้งและความรู้สึกเป็นศัตรูในระดับประชาชนบางกลุ่ม รายการโทรทัศน์อินโดนีเซียได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Najib Rasak ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้สัมภาษณ์ดีมาก บอกว่าสองประเทศมีความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรม ภรรยาของท่านก็มีเชื้อสายมินังคาเบา ดังนั้นการมีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ส่วนเรื่องการเผชิญหน้าทางทหารทางทะเล เขากล่าวว่าเป็นเพียงความเข้าใจผิด ไม่คิดจะทำสงครามกับอินโดนีเซีย และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ “รัฐชาติ” ยังไม่เกิดในภูมิภาคนี้ การลากเส้นแบ่งประเทศเมื่อเกิดรัฐชาติย่อมก่อให้เกิดปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนเช่นนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเชื่อมั่นว่า SBY ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นผู้นำที่มีเหตุมีผล และอินโดนีเซียเป็นมิตรประเทศ คิดว่าจะสามารถเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันต่อไป

นอกจากนั้นยังเสริมว่าการอ้างว่าการรำ Pendet เป็นของมาเลเซียทั้งๆ ที่เป็นการรำของบาหลีนั้นเกิดจากรายการโทรทัศน์ซึ่งไม่ใช่ช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียทิ้งท้ายว่าทั้งสองประเทศเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศอันจะเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งสองประเทศต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน การเป็นมิตรกันดีกว่าเป็นศัตรูกัน หากมีปัญหาขัดแย้งกันจะไม่มีใครได้ประโยชน์เลย

 

สรุป

อินโดนีเซียและมาเลเซียถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภาษามลายูเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งซึ่งดำรงและซ่อนตัวอยู่ตลอดตั้งแต่การเกิดเป็นรัฐชาติของทั้งสองประเทศ ทั้งปัญหาเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน ปัญหาการอ้างความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามในฐานะที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งไม่สามารถย้ายประเทศหนีได้ อย่างไรก็ต้องตั้งอยู่ข้างๆ กันตลอดไป ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมองถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นักลงทุนจากมาเลเซียไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนไม่น้อย ในขณะที่แรงงานอินโดนีเซียก็เข้าไปอยู่ในหลายภาคผู้ใช้แรงงานในมาเลเซีย เช่น แม่บ้าน, งานก่อสร้าง, โรงงาน, ประมง และอื่นๆ

แต่ทว่าเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ กลับไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นภาวะปกติทั่วไปที่พบเห็นได้ในประเทศอุษาคเนย์ซึ่งมีพรมแดนติดกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาภูมิภาคและเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอาเซียนในเวลาที่เศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำ ความร่วมมือร่วมใจในภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แต่อุษาคเนย์กลับเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความขัดแย้งกันสูงมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก ซึ่งคนรุ่นเราจำเป็นต้องหาทางออกและทางอยู่ร่วมกันต่อไป ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ เราจำเป็นต้องรู้จักกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีรากเหง้ามาแต่อดีตจากยุคอาณานิคม  ยุคสร้างชาติ ยุคสงครามเย็น ฯลฯ เห็นได้ชัดว่าความเข้าใจ การรู้จักประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในอุษาคเนย์ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แต่เป็นเหมือนๆ กันหมด

ความรักต้องเกิดจากความเข้าใจก่อน เราคงไม่สามารถมีภาพ “อุษาคเนย์ที่รัก” ได้ หากเราไม่สามารถเข้าใจได้ว่า “อุษาคเนย์” คืออะไร



หมายเหตุ:

[1] เผยแพร่ครั้งแรกในงานเสวนาเรื่อง “มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์” ในโอกาสเปิดตัวหนังสืออุษาคเนย์ที่รัก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า

[2] บทความของสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ ในหนังสือ “อุษาคเนย์ที่รัก” ได้อภิปรายเรื่องนี้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท