ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (1)

 
 
 
เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน คงจะจำและคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ป่าไม้ อส.ฯลฯ ร่วม 200 นาย สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงถึง 3 ครั้งติดต่อกัน โดยครั้งหลังสุด เมื่อปี 2547 มีการจับกุม 48 ชีวิต ไม่เว้นแม้คนพิการขาขาด ตาบอด และหญิงท้องแก่ ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ขณะพักอยู่ในกระท่อมของตนเอง ภาพการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้น ทำให้สังคมมองว่า นี่เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
กระนั้น เหตุการณ์ปางแดงที่ผ่านมา ก็ได้สร้างกระแสการตื่นตัวในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขึ้นอย่างมาก ซึ่งดูได้จากมีหยิบยกนำเอากรณีปัญหาบ้านปางแดง ไปเป็นวิทยานิพนธ์ รวมทั้งงานข่าว งานสารคดี รวมทั้งทำให้ชาวบ้านได้ตื่นตัว ตระหนัก เกิดการเรียกร้องไปยังหลายๆ หน่วยงาน อาทิ อำเภอ จังหวัด ป่าไม้ วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาที่ปรึกษา รวมทั้งสหประชาชาติ เป็นต้น
และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้...
0 0 0 0 0
อนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ช่วย รัฐไทยยังมีอคติต่อชนเผ่า
นายวสันต์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสเข้าไปในคุกครั้งแรก ก็เมื่อตอนที่พี่น้องปางแดงถูกจับและติดคุก ซึ่งได้เข้าเยี่ยม พร้อมกับอาจารย์เสน่ห์ จามริก อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องประชาชนหรือชนเผ่าหรือใครก็แล้วแต่ ในรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 ได้รับรองและบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ที่บอกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ก็หมายความว่า ใครที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นชนเผ่า หรือนับถือศาสนาใดๆ ก็ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกันหมดเลย และพี่น้องชนเผ่าก็เหมือนกับคนทั่วไป และปี 2550 มีการแก้ข้อความเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคน ได้รับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยมีคำว่า “เสมอภาค” เข้ามา 
“นอกจากนั้น เมื่อปีพ.ศ.2546 ประเทศไทยเราก็เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติและเลือกขจัดทางเชื้อชาติโดยทุกรูปแบบ โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีนายทหารจากรัฐธรรมนูญมา ขณะนั้น นายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา มาให้ความเห็น และมี ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ(อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)ได้มาให้ข้อมูลความเห็นทางกฎหมาย ผลสรุปในวันนั้น ก็คือ พี่น้องปางแดงเขาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่ขณะเดียวกัน วันนั้นมีการเข้าจับกุมชาวบ้านตอนเช้ามืด และมีการสนธิกำลังโดยมีการระดมกำลังทั้งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้ามา เหมือนกับการยกทัพเพื่อที่จะไปออกรบเข้าไปจับพี่น้อง และไล่ลงมาเพื่อมาทำบัญชี แต่ในที่สุดแล้ว มาระบุความผิดที่เกิดขึ้น คือ การแผ้วถางป่า ทั้งที่บ้านนั้นเขาได้มาอยู่นาน แล้วเข้าไปจับข้อหานี้ได้อย่างไร อุตริหรือเปล่า ไปตั้งข้อหา ยังไม่พอ การเข้าไปวันนั้น ถ้ามามีหมายจับแล้ว เขาจะหาข้ออ้างอะไรมาเป็นตัวกำหนด เป็นตัวช่วย และปรากฏว่าเขามีการอ้างว่าใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และมีการส่งสำเนาให้กับทางอัยการ…”
นายวสันต์ ยังวิเคราะห์ต่อว่า ที่ผ่านมา สายตาของภาครัฐ ยังคงมองชาวเขาหรือชนเผ่า ด้วยสายตา และความคิดที่มีอคติอยู่เสมอ มักมองว่า ชนเผ่าค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า
“และสิ่งเหล่านี้ถูกสั่งสมและสั่งสอนมา มีการถูกฝังแนวความคิดมาอย่างนี้กี่ยุคกี่สมัย ก็ออกมาแนวนี้ พอเป็นอย่างนี้ การที่มองต่อกลุ่มชาติพันธ์จึงมองในความรู้สึกที่เป็นอื่น ทั้งที่โดยหลักสิทธิมนุษยชนก็คือ... มนุษย์ทั้งปวงคือผองเพื่อน”
 
ทำไมถึงจับกุมซ้ำซากถึง 3 ครั้ง?
ในขณะ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ทนายความที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านปางแดงทั้ง 47 คนออกมา ได้ให้ข้อมูลเบื้องหลังว่า กรณีชาวบ้านปางแดง ถูกจับกุม กระทั่งญาติชาวบ้านปางแดง ต้องมาชุมนุมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ยืดเยื้อนานร่วม 2 เดือน กระทั่ง ศาลให้มีการประกันและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา จนนำไปสู่การเจรจาเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา
นายสุมิตรชัย กล่าวว่า อยากเสริมข้อมูลต่อจากทางคุณวสันต์ พานิช กรณีที่มีการส่งสำเนาให้กับอัยการด้วยว่าทำไมต้องมีการส่งสำเนาให้กับอัยการ ประเด็นคือว่า เขาต้องการให้อัยการไปคัดค้านกับการประกันตัว คือตอนที่ชาวบ้านปางแดงถูกจับกระบวนการของการฝากขัง จับกุม หรือส่งมาฝากขังที่เรือนจำนั้นเหมือนกับว่ามีการถูกออกแบบไว้พอสมควร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาก็เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว และพี่น้องชาวบ้านปางแดงก็ถูกขังที่เชียงดาวคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็มีการฝากขังที่ศาล กระบวนการก็ต้องเป็นอย่างนั้น 
“ตอนที่ถูกชาวบ้านปางแดงถูกจับนั้น ผมอยู่ที่ห้องประชุมโรงแรมในเมืองเชียงใหม่ มีการจัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชน โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวันนั้นเองอาจารย์เสน่ห์ จามริก มาด้วย ตอนที่ชาวบ้านถูกจับทุกคนก็วิ่งเข้ามาในเวทีนี้ เพราะส่วนใหญ่ NGOs ก็จะอยู่ตรงนั้นทั้งหมด และมีการพูดคุยกันด้วยว่า ชาวบ้านปางแดงถูกจับและก็มีการพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนกันอยู่ ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็พูดขึ้นในเวทีเลยว่า...นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องของการละเมิดสิทธิชุมชน หลังจากนั้นก็มีการลงพื้นที่หลังจากเสร็จเวที ทุกคนก็ตรงไปที่บ้านปางแดง ที่ อ.เชียงดาว ซึ่งพี่น้องบ้านปางแดงเองก็อยู่ที่โรงพักทั้งหมด และทนายที่อยู่ในพื้นที่ก็ลงพื้นที่ตรงนั้น สภาทนายความฯ ทุกคนมีการรู้เรื่องของบ้านปางแดงทั้งหมดเลย ก็ต้องเลยลงมาช่วยกัน นี่เป็นที่มาของกระบวนการตอนที่ถูกจับ...” 
นายสุมิตรชัย ได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจและชวนคิดกันต่อ...ว่าทำไมถึงมีการจับกุมซ้ำซากถึง 3 ครั้ง?
“...สิ่งที่ผมรู้สึกเลยตอนนั้น คือ การตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมชาวบ้านปางแดงถึงมีการถูกจับเป็นครั้งที่3 เพราะว่าผมเองได้ศึกษาและติดตามคดีของปางแดงตั้งแต่ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2541 มีโอกาสได้อ่านสำนวนคดี สอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ที่ลงไปทำงานในพื้นที่นั้นมากมาย ในช่วงนั้นมีโครงการร่วมกันกับป่าไม้ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ ที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นโครงการร่วมกัน...แต่แล้วทำไมถึงมีการถูกจับกันเป็นครั้งที่ 3 และประเด็นคำถามต่อมา ก็คือ ทำไมถึงจับ จับแล้วกำลังสนธิ ระหว่างทหาร ตำรวจ อ.ส. ป่าไม้ ลักษณะเหมือนกับครั้งที่1และครั้งที่2 ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนกับว่า ยังไม่ได้สรุปบทเรียนอะไรเลย ครั้งแรก ชาวบ้านก็ถูกจับ ถูกติดคุกอยู่บางส่วน แต่ครั้งที่ 2 หลายองค์กรเริ่มมีประเด็นของการเคลื่อนไหว และตอนนั้นได้เข้าไปร่วมในการต่อสู้ มีการตั้งองค์กรเพื่อที่จะเข้ามาทำในเรื่องของกฎหมายโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปางแดง มีสภาทนายความเข้ามาช่วย”
ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเครื่องมือในการต่อสู้                                                                           
นายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า และครั้งนั้นเองก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญครั้งหนึ่ง โดยมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ มีประเด็นเรื่องของการจับกุมมิชอบ ในเรื่องของการเข้าไปสนธิกำลังจับครั้งที่ 2 ก็บอกว่าเป็นการจับกุมมิชอบ มีการยืนคำร้องต่อศาลในการต่อสู้คดี
“คดีปางแดงจึงเป็นบทเรียนชิ้นหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมสมัยนั้นเอามาถกกันเรื่องของการจับกุมมิชอบ และมีท่านหนึ่งที่เขียนออกมาเป็นตำรา โดยท่านได้อ้างถึงคดีของบ้านปางแดง ในปี 2541 กระทั่งมีการจับกุมครั้งที่ 3 อีกครั้ง อย่างที่พวกเรานั้นรู้กันอยู่”
ส่วนราชการอ้าง ‘กฎอัยการศึก’ แต่ทหารที่เข้าร่วมสนธิกำลังปัดไม่ใช่                                                                                     
นายสุมิตรชัย ยังได้วิเคราะห์ถึงประเด็น การจับกุมชาวบ้านปางแดงนั้นเป็นเรื่องของการจับกุมโดยมิชอบ แต่ในช่วงเวลานั้น ทางส่วนราชการ ที่นำกำลังเข้าจับกุมกลับออกมาอ้างต่อสื่อมวลชน ว่าได้ใช้ ‘กฎอัยการศึก’ จนกลายเป็นประเด็นร้อน และมีการเชิญตัวแทนฝ่ายทหารมาสอบถาม
“ตอนนั้น ทางส่วนราชการได้อ้างต่อหลายฝ่าย รวมทั้งมีการอ้างต่อกรรมาธิการของสมาชิกวุฒสภา(ส.ว.)ด้วยซ้ำไปที่ว่าเขาได้ใช้ ‘กฎอัยการศึก’ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียกหน่วยงานทางทหารมาสอบถามว่า เป็นการใช้กฎอัยการศึกจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีตัวแทนทหารมาให้ข้อมูล เขาก็มีการตอบไว้ว่า ‘ไม่ใช่กฎอัยการศึก’ ที่ทหารเข้ามาร่วม ก็เพราะทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้นขอความร่วมมือมา และประเด็นเรื่องของกฎอัยการศึกก็มีความชัดเจนในเวทีครั้งนั้นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้กฎอัยการศึก นั่นก็หมายความว่า การจับกุมครั้งนั้นเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบโดยกฎหมาย ถ้าไม่ใช้กฎอัยการศึก”
นายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า เพราะว่าในขณะนั้น ยังไม่มี พ.ร.บ.ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่า การจะจับกุมผู้ใดในบ้าน ในที่รโหฐาน ก็ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับของศาลตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีปางแดง ไม่มีหมายศาล เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ชัดเจนมาก และเป็นประเด็นที่ออกสื่อสารมวลชน ต่อหน้าสาธารณะออกไป ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน
“อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้น หลายฝ่ายหลายองค์กรพยายามจะหาเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านปางแดง แต่ก็ไม่ทันการ เมื่อชาวบ้านนั้นอยู่ในเรือนจำไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ไม่สามารถที่จะประกันตัวได้ เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านปางแดงนั้นไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพย์สิน และตอนนั้นก็ไม่สามารถที่จะหาผู้ที่มาประกันตัวได้”
 
โปรดติดตามตอนต่อไป... 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท