Skip to main content
sharethis

สช.ดึงทุกฝ่ายแก้ปมขัดแย้งยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาหลังภาคประชาชนร้องนายกฯ ชี้รวม “ยา-เวชภัณฑ์”กระทบการเข้าถึงยา สุดท้าย ก.พาณิชย์ ชงเข้า ครม.ตัดหน่วยงาน สธ.ออกจากร่างระเบียบสำนักนายกฯ เผยทีมทำงานเตรียมตั้งกลไกดัน “ยาเวชภัณฑ์” ยุทธศาสตร์เฉพาะ

นพ.ชาตรี เจริญศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเร่งรัดปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ขอใช้สิทธิตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ทบทวนยุทธศาสตร์ฯและแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเกรงว่าจะขัดแย้งกับยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทยซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2551

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน2552 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะที่ได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้หาทางออกในเรื่องนี้ได้จัดประชุมทุกภาคส่วน มีนักวิชาการ ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์โดยมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการดังนี้

1.)เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติว่าด้วยยาและเวชภัณฑ์เป็นการเฉพาะ 2.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติว่าด้วยยาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยกระบวนการส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 3.)ใช้กลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้านยาและเวชภัณฑ์ (สิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้า) กรณีที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่การจัดทำยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติว่าด้วยยาและเวชภัณฑ์ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

“ล่าสุดเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณารับหลักการของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยในร่างระเบียบฯนี้ได้ตัด อย.ออกจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการละเมิดฯและกฎหมายของกระทรวง 4 ฉบับออกหมดแล้ว ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง กฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยังคงเหลือเพียงกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” นพ.ชาตรี กล่าว

รองเลขาธิการ คสช.กล่าวอีกว่า เป็นเจตนาที่ดีของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการมุ่งเน้นให้เร่งปราบปรามในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้า เช่น เทปผีซีดีเถื่อน โดยผ่านทางยุทธศาสตร์ฯ และแผนเร่งรัด ฯ แต่เนื่องจากประเด็นเรื่องของยาหรือเวชภัณฑ์นั้น การพิสูจน์ว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรหรือไม่นั้นเป็นกระบวนการที่ต้องพิสูจน์กันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์นั้นๆ โดยเฉพาะ ดังนั้น กรณีของยาหรือเวชภัณฑ์จะไม่สามารถกล่าวอ้างได้โดยง่ายหรือใช้วิธีการเพียงผิวเผินในการพิสูจน์การละเมิดลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าเหมือนกับกรณีสินค้าอื่นๆได้ ฉะนั้นควรรีบจัดทำยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาที่จำเพาะเจาะจงในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ขึ้นมา และสนับสนุนให้มีการสื่อสารต่อประชาชนอย่างถูกต้องว่าผลิตภัณฑ์ยาชื่อสามัญไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาปลอมและไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

“ยาและเวชภัณฑ์เป็นสินค้าที่มีความเฉพาะและไม่เหมือนกับสินค้าอื่น หากไม่แยกออกมาจากยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปซึ่งมีการยึดยาชื่อสามัญ (Generic drugs) ต้องสงสัย โดยกล่าวอ้างว่าเป็นยาละเมิดสิทธิบัตร เหตุการณ์ลักษณะนี้ถือว่าขัดกับยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย ที่กำหนดยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เน้นการพึ่งตนเองเพื่อการเข้าถึงยาของประเทศในด้านยาและเวชภัณฑ์

ดังนั้น ในทางปฏิบัตินั้นไม่ควรปฏิบัติกับยาและเวชภัณฑ์เหมือนเช่นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่ใช้วิธีการจับหรือยึดสินค้าปลอมแปลงได้ทันที เพราะเรื่องของสิทธิบัตรเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และมีช่องทางให้เข้าไปพิสูจน์การละเมิดในกระบวนการศาลทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว  ขณะนี้ สช. ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับทราบความคืบหน้าแล้ว ซึ่ง คสช.มีมติให้ติดตามการขับเคลื่อนในเรื่องยุทธศาสตร์ยาและเวชภัณฑ์ที่แยกเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมกันในวันที่ 10 ก.พ.นี้ เพื่อจัดตั้งกลไกหรือองค์คณะทำงานในเรื่องดังกล่าว” นพ.ชาตรี กล่าว

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และแผนเร่งรัดฯ จะต้องไม่เกินข้อตกลง TRIPs ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับการเข้าถึงยาได้ อีกทั้งจะต้องมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบกับภูมิปัญญาไทยโดยเฉพาะในเรื่องการจดสิทธิบัตรสมุนไพรต่างๆ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้านเพียงพอที่จะชี้ว่าการเร่งรัดเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการทบทวนเรื่องยุทธศาสตร์ฯ และแผนเร่งรัดฯ นี้ได้สะท้อนว่ารัฐบาลรับฟังเสียงทักท้วงจากภาคประชาชน

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมติที่ประชุมให้แยกยาและเวชภัณฑ์ออกจากยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยในส่วนยุทธศาสตร์ฯและแผนเร่งรัดฯที่ผ่านครม.แล้วนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเน้นในเรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าอื่นๆ ทั่วไป

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net