Skip to main content
sharethis

รายงานเนื้อหางานมหกรรมประชาชนอีสานเพื่อการปกป้องทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น “โฮมตุ้มภูมิปัญญาท้องถิ่น เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินให้ดู๋หมั่น ซอยกันแปงบ้านถิ่นอีสาน”

25-27 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา คนจนทั่วอีสาน ได้คอนกระบุงตระกร้า หาบปลาร้า น้ำพริก พร้อมพืชผักปลอดสารพิษ ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน และการแสดงพื้นถิ่นสะท้อนสารพันปัญหาจากแต่ละพื้นที่ มาบอกกล่าวเล่าความให้คนต่างบ้านต่างเมืองรับฟัง ในงาน “มหกรรมประชาชนอีสานเพื่อการปกป้องทรัพยากรฯชุมชนท้องถิ่น” ท่ามกลางบรรยากาศรื่นสราญของสวนดอกคูณ ริมบึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น อันเป็นสถานที่จัดงาน โดยพร้อมกันนั้นมีประชาชนกว่า 2,000 คน แห่มาเยี่ยมชม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นกันคับคั่ง

หลังจากขบวนแห่รณรงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งาน ในเมืองขอนแก่นจบสิ้นลง ใกล้เที่ยงของวันที่ 25 มกราคม พิธีเปิดงานจึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองขอนแก่นให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี ก่อน อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโส จะกล่าวปาฐกถาในหัวเรื่อง “การเคลื่อนไหวท้องถิ่น: ท่ามกลางภาวะวิกฤติโลก” มีสาระสำคัญว่า กระบวนการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา ได้ใช้โลกภูมิหรือโลกกาภิวัฒน์ บวกชาติภูมิหรือประเทศ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันรัฐบาลส่วนใหญ่ยังเป็นทรราชซึ่งไม่มีความเอื้ออาทรต่อท้องถิ่น มาทำลายมาตุภูมิ ซึ่งปัจจุบันตกอยู่ในสภาพนรกภูมิ ด้วยรากเหง้าภูมิปัญญาพังทลายและธรรมชาติป่นปี้ไปหมด หากคนอีสานจะสู้กับกระแสดังกล่าว ต้องรื้อฟื้นภูมิปัญญาคนอีสานขึ้น แล้วเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น เปลี่ยนนรกภูมิให้เป็นมาตุภูมิ แล้วสร้างสำนึกมาตุภูมิสู้กับชาติภูมิและโลกภูมิ ให้ท้องถิ่นอยู่ให้ได้ท่ามกลางการเคลื่อนตัวไปของกระแสดังกล่าว
 
ก่อนพาแลงยามเย็น ผู้เฒ่าผู้แก่ปราชญ์เมืองขอนแก่นมาเล่าประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น โดยมองผ่านเมืองสาวัตถี เมืองเก่าแก่ที่ผูกโยงโดยตำนานเรื่องสินไซ วรรณกรรมซึ่งมีคุณค่าในทางบาปบุญคุณโทษ และได้ใช้ศาสนาสอนคุณธรรม สะท้อนวิธีคิดคนโบราณในการตั้งบ้านปกครองเมือง ซึ่งศึกษาและอยู่กับธรรมชาติอย่างอ่อนน้องถ่อมตน ตลอดจนมีภูมิปัญญาในการสร้างโบถส์วิหารได้งามงด มีคุณค่าทางศิลปะไม่แพ้คนยุคนี้เช่นกัน ครั้นพอเก็บสำรับพาแลงเสร็จ ผู้ร่วมงานจึงได้ร่วมสนุกสนานกับวงซูซู นักเพลงเพื่อชีวิตที่รับเชิญมาร่วมขับกล่อมบรรยากาศ ให้งานคึกคักจนค่อนคืน
 
เช้าวันถัดมา อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์นักกิจกรรมทางสังคมอีสาน มาประมวลสถานการณ์ “วิกฤติอีสาน”  เราจะไปทางไหนดี? ซึ่งมีสาระโดยสรุปว่า อีสานซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็นแหล่งร่ำรวยอารยธรรม ถูกนโยบายการส่งออกอันเป็นผลพวงจากการพัฒนา ซึ่งกำหนดมาจากส่วนกลาง ได้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงคนอีสาน จนทรัพยากรดีๆ ไม่เหลือหลอ สาแหรกวัฒนธรรมผุกร่อน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปและชาวนายังเป็นหนี้นุงนัง หนำซ้ำในอนาคต อีสานยังถูกวางให้เป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อรองรับวัตถุดิบที่ไทยซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ “อีสานมื้อนี้..จึงวิกฤติแล้ว...พี่น้องเอ้ยยยยย”
 
อ.สันติภาพเน้นย้ำ และมีข้อเสนอที่สอดรับกับวงอภิปราย “เหลียวหลังแลหน้า 3 ทศวรรษ ขบวนการพัฒนาท้องถิ่นอีสาน” ในช่วงต่อมาว่า “คนอีสานต้องเปลี่ยนวิธีคิด พลิกวิถีชีวิต และมีปฏิบัติการจริงเพื่อออกจากวิกฤติ โดยอาศัยนวัตกรรมทางเลือกต่างๆ เพื่อความยั่งยืนของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม” ทั้งนี้ ในเวทีอภิปรายข้างต้น มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน อาทิ องค์กรประชาชน, นักพัฒนาสังคม, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สภาพัฒนาการเมือง และนักวิชาการ ซึ่งเห็นด้วยว่าสังคมอีสานวิกฤติแน่แท้แล้ว เพราะคนอีสานติดอยู่ในมายาคติการพัฒนาที่เน้นเงินเป็นใหญ่ แต่จุดเด่นยังมีอยู่ที่การรวมกลุ่มสร้างทางเลือกที่พึ่งตนเอง โดยใช้ข้อมูลในการตรวจสอบถ่วงดุลนโยบายส่วนบน ทั้งนี้มีข้อคิดจากบทเรียนให้ระแวดระวังไว้ว่า “อย่าเอาเงินนำกลุ่ม แต่ให้รวมกันอย่างเป็นธรรมชาติ และทำงานความคิดกันให้ตกผลึก”
 
บ่ายคล้อยวันเดียวกัน มีการอภิปราย “สมดุลของอำนาจท้องถิ่นในการปกป้องทรัพยากรและพัฒนาชุมชนอีสานอย่างยั่งยืน” โดยตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายส่วน มาแลกเปลี่ยนเน้นย้ำถึงบทบาทโดยตรง ซึ่งตราแล้วตามกฎหมาย ในการปกป้องฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และหน้าที่ในการสร้างการเรียนรู้ และสนับสนุนชุมชนในกิจกรรมเพื่อพัฒนายกระดับชุมชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีข้อเสนอที่เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวทั้งเวทีว่า นอกจากสร้างรูปธรรมในแต่ละพื้นที่ อีสานในวันนี้จะดีขึ้นก็ด้วยการผสานทุกภาคีภาคส่วน เพื่อสร้างข้อเสนอและขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดพลัง และการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และสิทธิชุมชนอันมีมาแต่ดั้งเดิม 
 
...สอยๆ แกงบักหอยกะว่าแซ่บ จั๋งซี่กะว่าสอย...จักหน่อยสอยอีก......ค่ำลงมีเวทีวัฒนธรรม ซึ่งได้ขนหมอลำพื้นบ้านจากหลายพื้นที่ มาแข่งกันลำนำเสนอปัญหา นอกจากได้บรรยากาศม่วนซื้น ยังมีสาระ และน่าตื่นตาตื่นใจ จนแก๊งมั่วหน้าฮ้านอาจจะปวดกกขา และต้องหาซื้อยาสมุนไพรไปประคบ
 
ย่ำรุ่งวันสุดท้าย ตัวแทนจาก 14 เครือข่ายผู้ร่วมจัดงาน ได้ขึ้นเวทีร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ และความเคลื่อนไหวในแต่ละเครือข่าย ให้เพื่อนต่างเครือข่ายและผู้ร่วมงานได้รับทราบ ก่อนปิดเวทีด้วยการกล่าวประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า คนอีสานในวันนี้ มีสังคมใหม่ มีทางเลือกใหม่เพื่อการอยู่รอดของคนอีสานทุกหมู่เหล่า ทุกประเด็นพื้นที่แล้ว ถึงรัฐผู้เก็บภาษี หากยังฮักแพงต้องเบิ่งแงงประชาชน โดยหยุดแนวทางการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรไปจากมือคนอีสาน หยุดการพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และสร้างปัญหาสังคมอย่างที่แล้วมา ให้แผ่นดินอีสานได้ซุ่มเย็น และอยู่รอดในโลกยุคใหม่อย่างมีศักดิ์ศรีกันเสียที...ไซโย ไซโย ไซโย.
 
 
สรุปประเด็นเนื้อหาจากเวทีสัมมนา
มหกรรมประชาชนอีสานเพื่อการปกป้องทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น”
วันที่ 25-27 มกราคม 2553 ณ บริเวณสวนดอกคูณ ริมบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น
 
ประเด็นปาฐกถา โดยอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม
ในหัวข้อ “การเคลื่อนไหวท้องถิ่น : ท่ามกลางภาวะวิกฤติโลก 
 
·         โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่มากับปัจเจก มือใครยาวสาวได้สาวเอา
·         เราไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ เราต้องอยู่กับมันด้วยสติปัญญา อย่าหวังพึ่งรัฐ
·         เราต้องเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสำนึก “มาตุภูมิ”
·         “ชาติภูมิ”เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง โครงสร้างการบริหารงานของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นทรราชซึ่งไม่มีความเอื้ออาทรต่อท้องถิ่น การอ้างเรื่องชาติภูมิเป็นการเอาเชื้อชาติมาอ้างเป็นเรื่องของสายเลือดซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
·         เรื่อง “ชาติพันธุ์” และความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ
·         สังคมอีสานเป็นสังคมที่แม่เป็นใหญ่ เมื่อแต่งงานแล้วเอาลูกเขยเข้าบ้าน สำนึกมาตุภูมิยังมีอยู่ คนอีสานแต่ก่อนอยู่กันอย่างเกื้อกูล มีองค์กรชุมชนก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีแบบแผน มีพระ มีผู้อาวุโส เอาภูมิปัญญาความรู้มาสั่งสอนลูกหลาน นี่คือความเป็นบ้านเกิด เดี๋ยวนี้อยู่กันเป็นแบบเดรัจฉาน อยู่แบบบ้านจัดสรร มันไม่ใช่คนอยู่ คนไม่รู้จักกัน
·         ท้องถิ่นถูกครอบงำโดยนโยบายรัฐ(ชาติภูมิ) ที่เกิดจากความไม่เข้าใจความหมายและเห็นคุณค่าของความเป็นชุมชน
·         ท้องถิ่นต้องต่อสู้เพื่ออยู่ให้รอด อย่าติดกับกระแสชาติภูมิ แต่ต้องสร้างสำนึกมาตุภูมิ ซึ่งเชื่อว่าคนอีสานยังมีสำนึกรักแผ่นดินเกิด มาตุภูมิในปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นนรกภูมิ ปัญหาเด็กเยาวชน ปัจจุบันมีความรุนแรงมากเด็กไม่มีที่พึ่ง ไปพึ่งเทคโนโลยี
·         การสร้างสำนึกร่วมของคนในท้องถิ่นคือทางออกของคนอีสาน คนภาคอื่นๆ อาจสร้างสำนึกร่วมได้ยาก แต่กับคนอีสานเราทำได้ไม่ยาก
·         การสร้างสำนึกร่วมเพื่อแผ่นดินเกิดต้องเริ่มจากการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม คนข้างนอกทำเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องคนในพื้นที่ทำเอา
·         ต้องมีการฟื้นฟูเรื่องประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ประเพณีสิบสองเดือนจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อาจต้องรับเอาของใหม่มาผสมผสาน สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้นี้มาสร้างความเข้มแข็งของตนเองและไปต่อรองกับภาครัฐ 
·         หัวใจของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือ ประวัติศาสตร์สังคม ได้แก่ การสืบค้น สืบสาวประวัติบุคคล สืบสาวให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มคน ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เอาภูมิปัญญาเรื่องอาหารเป็นหลักในการฟื้นวิถีนิเวศวัฒนธรรม สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด
·         สังคมอยู่รอดได้ต้องให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้จัดการสมบัติสาธารณะร่วมกัน เช่น การคืนที่ดินให้กับผีซึ่งเป็นเจ้าของเดิม (โฉนดชุมชนเป็นตัวอย่างที่ดี)
·         พื้นที่อีสานได้รับยกย่องว่ามีรูปแบบการจัดการน้ำที่ละเอียดอ่อนและดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์
·         หนอง บึงที่จัดการโดยภาครัฐมักได้รับความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร
·         พื้นที่อีสานมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ชาวต่างชาติก็เห็นและบางส่วนก็อพยพมาอยู่ และเอาภูมิปัญญาเราไปใช้ ประเทศไทยกลับไปให้ความสำคัญกับตะวันตกมากกว่าบ้านเราเอง
 
 
ประเด็นสรุปจากอาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์
หัวข้อ ประมวลสถานการณ์ “วิกฤติอีสาน” เราจะไปทางไหน ดำเนินรายการโดยคุณสุมาลี สุวรรณกร
 
·         อีสานมีความเป็นมายาวนานมากกว่า 3500 ปี มีวิถีชีวิตแบบหาอยู่หากินพึ่งพาธรรมชาติ มีป่าโคกเลี้ยงวัว-ควาย มีความอุดมสมบูรณ์แต่เมื่อถึงหน้าแล้งก็มีการจัดการน้ำโดยใช้ภูมิปัญญา อีสานเป็นแหล่งร่ำรวยอารยธรรม
·         ประวัติศาสตร์การพัฒนาอีสานที่ผ่านมา การพัฒนาถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง มีแนวทางเพื่อเป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกโดย ละเลยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ มีการสัมปทานไม้ ป่าลดน้อยลงเหลือ 12 % ในปัจจุบัน
·         เราขายไม้ไม่เหลือป่า ตัดถนนมิตรภาพเพื่อเข้าถึงพื้นที่ป่า ขยายพืชเศรษฐกิจ อ้อย ปอ จนไม่มีอะไรจะปลูก ปัจจุบันอ้อย น้ำตาลก็กลับมา โรงงานอุตสาหกรรมก็ย้ายลงอีสาน อีสานดั้งเดิมเสื่อมถอย อยู่ภายใต้การพัฒนาที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น
·         ปัญหาหนี้สินตามมา เนื่องจากฐานทรัพยากรถูกทำลาย คนชนบทมีค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนชีวิตสูง ไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนตนเอง ส่งลูกเรียน กลายเป็นหนี้มาจากหลายสาเหตุ
·         คนอีสานไม่มีทางไป ต้องรวมกันเพื่อเอาชนะความยากจน วิธีการมีมาก คนไม่มีที่ดินก็ต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดิน เช่นโฉนดชุมชน มีการจัดการเป็นให้ได้กรรมสิทธิ์รวม
·         กรณีหนี้สินก็มีข้อเสนอเพื่อปลดหนี้ครบวงจร มีกลุ่มที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ หลายเขื่อนในยุคต้นๆ ก็ยังมีปัญหาเช่นการโยกย้ายอพยพ ของคนของปลา ผลผลิตประมงต่ำลงอีก มองเรื่องน้ำอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าในน้ำมีอะไร วิถีชีวิตเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน มีแม่น้ำสงครามที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อน มีปลา มีบุ่งทามมาก
·         ปัญหาเรื่องเหมืองแร่ การเอาเกลือขึ้นมาบนพื้นดิน เป็นการแพร่กระจายปัญหาดินเค็มทั่วพื้นที่อีสาน การผลิตเกลือก็เพื่อนำไปผลิตสารเคมี ดังนั้นประชาชนอีสานควรปฏิเสธการใช้สารเคมีทางการเกษตรโดยสิ้นเชิง
·         วิกฤติเรื่องพลังงาน มีสถานการณ์ที่ภาครัฐ และนักธุรกิจเข้ามาสนับสนุนให้ปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน ในอนาคตคาดว่าหากประชาชนเห็นเรื่องเงินเป็นหลักก็จะทำลายป่าบุ่ง ป่าทาม ป่าหัวไร่ปลายนา ทำลายแหล่งอาหาร เพื่อใช้พื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานดังกล่าว ในขณะที่คนท้องถิ่นอีสานไม่ได้ใช้พลังงานมากมายอย่างนั้น เราผลิตเพื่อคนอื่น แล้วทำลายแหล่งหาอยู่หากินของเรา
·         การปรับตัวของเกษตรกรในหลายกรณีเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น เกษตรทางเลือกเป็นแนวทางที่ทั้งช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อการอนุรักษ์และการพึ่งตนเอง การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
·         ประเด็นคนไร้รัฐ เป็นปัญหาที่อำนาจของรัฐ และบริการเข้าไม่ถึงคนเหล่านี้ ทั้งที่ๆ เขาอยู่มานาน และมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เขาเป็นคนเหมือนเรา จะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เหมือนเรา ซึ่งรัฐต้องให้ความดูแล
·         อนาคตจะไปทางไหนเราต้องช่วยกันวางแผน และทิศทางที่ถูกวางไว้แล้ว มีคนวางแผนให้แล้วนั้นก็ต้องมาพิจารณาว่าเราอยากให้ชุมชนเราเป็นอย่างนั้นอย่างที่เขากำหนดหรือไม่ เราต้องกำหนดทิศทางร่วมกัน
·         ทิศทางของอีสานตามนโยบายที่กำหนดไว้นั้น คือ อีสานเป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่รองรับวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาอุสาหกรรมหนักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขุดค้นทรัพยากรใต้ดิน และอุสาหกรรมต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงเป็นฐานรองรับการลงทุนจากแหล่งทุนที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคอินโดจีน การทำอุสาหกรรมดังกล่าวแน่นอนว่าต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ใช้พลังงานต่าง ๆ แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ทำถนนสู่ลาวจีน และ การไหลเวียนของแรงงานอย่างสะดวก ต้องมีการจัดการของเสีย และอื่น ๆ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาส่งผลกระทบกับคนอีสานโดยตรงแน่นอน
 
ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาอีสาน คือ
·         ปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของตนเอง โดยเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนความคิด และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อออกจากวิกฤติ โดยอาศัยนวัตกรรมทางเลือกต่าง ๆ ที่เน้นผลเชิงประจักษ์ อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการผลิตอาหารด้วยเกษตรอินทรีย์ กรจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นในระดับฟาร์ม การออมและรวมกลุ่มออม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาและที่ดินสาธารณะของชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงในระดับครอบครัว
·         ขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยร่วมกันดำเนินการ หนุนเสริม ช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงร่วมกันสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นกับภาคีต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
·         เชื่อมร้อยเครือข่ายประเด็น กลุ่มพื้นที่ เครือข่ายที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อสร้างข้อเสนอและขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดพลัง และการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และสิทธิชุมชนอันมีมาแต่ดั้งเดิม
 
 
 การอภิปราย “เหลียวหลังแลหน้า 3 ทศวรรษ ขบวนการพัฒนาท้องถิ่นอีสาน”
 
อาจารย์สน รูปสูง สภาพัฒนาการเมือง
·         30 ปีที่ผ่านมาก็เคยมีแนวคิดว่า คนอีสานอย่าอพยพไปไหน ตอนนี้เราแพ้อย่างสิ้นเชิง คนอีสานอพยพสู่เมือง เรียนจบแล้วก็อพยพเข้าเมืองรับใช้นายทุน
·         การใช้เกษตรผสมผสานเคยประกาศเอาไว้ เราก็แพ้แล้ว เราสู้กับพืชเชิงเดี่ยว พืชอุตสาหกรรมไม่ได้ การสร้างอยู่สร้างกินมันหมดยุคแล้ว ปลูกข้าวไว้กินก็ยังขายข้าวปลูก คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการทำนา ตัวอย่าง เช่น ให้ลูกเอาข้าวไปให้คนขับรถไถ ลูกถามว่า “มอเตอรไซด์ไปฮอดบ่ นาเฮาอยู่ทางใด๋”
·         ต้องมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ต้องมีการจัดตั้งประชาชน รวมกลุ่มกัน เมื่อมีปัญหาแล้วต้องออกมาจัดการกับปัญหา อย่างไรก็ตามต้องมีการจัดตั้ง ส่งเสริมขบวนการประชาชนให้มีความเข้มแข็งมากกว่านี้
 
แม่ผา กองคำ เครือข่ายอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูลตอนกลาง
·         เมื่อก่อนพ่อแม่พาเฮ็ดพาทำ แบ่งปัน หาบหามแลกเปลี่ยนกัน
·         เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนเห็นแก่ตัว ทำอะไรได้ขายทุกอย่างไม่มีแบ่งกันกิน
·         คนปัจจุบันไม่ผลิตอาหารพืชผักกินเองส่วนใหญ่ซื้อกิน
·         แนวคิดของคนสมัยยุคปัจจุบัน คิดเรื่องเงินเป็นใหญ่ จะให้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมคงยาก แต่ทำอย่างไรจะให้คนสมัยยุคปัจจุบันรักษามูนมังของคนรุ่นเก่าเอาไว้และสร้างเพิ่มเติม “วัว-ควาย เลี้ยงไว้เถอะ เป็นการสะสมทรัพย์”
·         การต่อสู้ของขบวนการประชาชนในปัจจุบันต้องสร้างรูปแบบใหม่ ตั้งกองทุน ประสานงานรัฐ สร้างความร่วมมือ พัฒนาตัวเรา รวมตัวกันสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
 
พ่อบุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
 
·         นโยบายการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านวัตถุ มายาคติของการพัฒนาคือเพื่อความสะดวกสบาย คนอีสานถูกหลอกเรื่อยมา เราต้องทบทวนวิถีของเรา
·         ในระยะ 40 ปี ที่ผ่านมาเราสูญเสียฐานทรัพยากร ฐานอาหารมากมาย
·         ระบบผลิตแบบทุนนิยมนั้น ก่อนดำเนินการผลิตจะคิดถึงคนอื่นไม่คิดถึงตนเอง เกษตรผสมผสานคิดถึงตัวเราก่อน เราต้องพึ่งตนเองผลิตเพื่อตัวเองก่อน
 
อาจารย์สังคม เจริญทรัพย์ ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
·         การสร้างกลุ่มองค์กรเพื่อขับเคลื่อนงานภาคประชาชนในรูปแบบปัจจุบันยังใช้ได้อยู่ ต้องมีการต่อสู้โดยใช้ข้อมูล
·         กระบวนการของการทำงานในปัจจุบัน ต้องมีโครงการ ต้องมีเงินจึงได้คุยกัน 
·         “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เชื่อว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นสักวันหนึ่ง
 
อาจารย์สนั่น ชูสกุล โครงการทามมูน
·         สังคมทุกสังคมมีความผิดพลาดทั้งสิ้น มีทั้งดีบ้าง เลวบ้าง ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ทั้งทำงานในระดับหมู่บ้าน การทำงานข้อมูล การทำงานเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ได้รับเสียงเชียร์จากทั่วโลกว่ามีการยกระดับเป็นการทำงานระดับเครือข่าย ภาคประชาชนอย่างแท้จริง
·         ประสบการณ์การต่อสู้ของขบวนการประชาชน 30 ปีที่ผ่านมาจะมีบทเรียนอะไรให้กับคนรุ่นหลัง
·         30 ปีที่ผ่านมาการเมืองบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องแปลกแยก องค์กรต่างๆ ได้ผ่านจุดนี้มา แต่ที่ยังเหลืออยู่คือการไม่มองตัวตนของพวกเรากันเอง อาจจะเป็นเพราะความอิจฉาริษยากัน บางคนได้ลาภ ยศ อำนาจแล้วมากดขี่พวกเรากันเอง ผู้นำหาประโยชน์จากชาวบ้าน
·         พี่น้องประชาชนต้องทบทวนตัวเอง เงินที่ลงไปกี่ครั้งก็ทำให้แตกแยกกัน เนื่องจากไม่ได้สะสมคุณธรรมมาก่อน
·         เราแตกกันมานานแล้ว แต่มันมีความเชื่อร่วมกันคือ เชื่อเรื่องชุมชนว่ามีของดี การจัดงานครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเรามาร่วมกัน จึงควรต้องมีการสรุปบทเรียนกัน
·         การแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครองแบ่งแยกเราเป็นสีเหลืองสีแดง แต่พวกเรามาร่วมกันเพื่อจะต้องทำสิ่งที่ต้องปกป้องมาตุภูมิของเรา นี่เราต้องทำให้จริงมากกว่า
·         คนที่พูดเรื่องเปลี่ยนโครงสร้าง ควรจะเปลี่ยนมาพูดเรื่องสำนึกท้องถิ่น
·         อยากให้มีการจัดงานแบบนี้ทุกปี
 
อาจารย์บัญชร แก้วส่อง นักวิชาการ
·         มองแบบกึ่งคนนอก ไม่ได้อยู่ข้างในแต่มีโอกาสตระเวนภาคเหนือใต้ ออก ตก
·         สภาพปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันรุนแรงมาก ต่างจากสมัยก่อน เป็นเรื่องน่าเศร้า ยอมให้ลูกขายตัว เอาผัวฝรั่ง เอาเงิน คนอีสาน “ใจออก” เช่นเห็นการคอรัปชั่นเป็นเรื่องถูกต้อง แต่มีร่องรอยความดีงามหน่อเหล่านี้มีกระจายอยู่ทั่วไป กลุ่มชาวบ้านทำงานนี้ได้ดี ดีกว่าเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอมัวไปทำงานเพื่อวัตถุประสงค์เชิงนโยบาย
·         NGOs และภาคประชาชนต้องทบทวนว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน ไม่ลืมกำพืดตัวเอง ชวนมาคุยกัน และมองอย่างเชื่อมโยง นาหนึ่งผืนไม่ใช่แค่ที่นาแต่มีส่วนประกอบอื่น ๆ นาคือชีวิต ถ้าเรายังวิเคราะห์ตัวตนไม่ชัดก็จะเหยียบย่ำกันเอง การทบทวนตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องทำให้ได้
·         อย่าเน้นเรื่องการจัดตั้งกลุ่มเกินไปแต่เน้นการรวมกลุ่มตามธรรมชาติ
·         การรวมตัวกันขององค์กรต้องรวมตัวกันด้วยภูมิปัญญา
 
 
การอภิปราย “สมดุลของอำนาจท้องถิ่นในการปกป้องทรัพยากรและพัฒนาชุมชนอีสานอย่างยั่งยืน”
 
ร.ศ วุฒิสาร ตันชัย
·         วิกฤติเรื่องทรัพยากรเป็นเรื่องที่รุนแรงที่สุดในอนาคต
·         องค์กรท้องถิ่นมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น
·         การเสริมพลังภาคประชาชน สนับสนุนให้องค์กรประชาชน ภาคประชาสังคมทำงาน ส่งเสริมพลังให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นการเข้าถึงปัญหามากขึ้น
 
ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชพงษ์
·         เป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ตามกม.อบจ.เขียนไว้อยู่แล้วจะต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว ทำกิจกรรมกันหลายรูปแบบ เช่นการฝึกอบรมเรื่องขยะ โครงการเยาวชนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์แหล่งน้ำ
 
คุณพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น
·         สร้างชุมชนต้นแบบ การดูแลขยะ การทำแผนชีวิตชุมชนแบบพอเพียง ทางอ้อมเน้นเรื่องการเรียนรู้ ศึกษาพลังงานพอเพียง
·         การบริหารจัดการ คือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างข้อตกลงร่วมกัน
 
บำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง
·         เข้าไปทำงานปีแรก เปิดโปงเรื่องการคอรัปชั่นภายในองค์กรท้องถิ่นเปลี่ยนทัศนคติคนที่ทำงานในอบต.
·         อบต.สายนาวังเป็นแห่งเดียวที่ไม่มีถังขยะ เปลี่ยนทัศนคติชาวบ้านโดยการจัดการขยะด้วยตนเอง ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะได้อีกทางหนึ่ง
·         สภาองค์กรประชาชน เป็นการให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นผู้นำที่คลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้ทราบปัญหาทำให้แก้ไขปัญหาได้ถูกทาง
 
อภิปรายเพิ่มเติม
·         หัวใจของการเมือง คือประชาชน ประชาชนรู้ปัญหาการทำงานร่วมกันเราได้เรื่องการเรียนรู้
·         ท้องถิ่นจะต้องเป็นหลักในการสร้างการเรียนรู้
·         ชาวบ้านจาก จ.ยโสธร เสนอปัญหาที่ดินทับที่ทำกิน องค์การบริหารส่วนตำบลอย่าโมเมเอาที่ดินชาวบ้านโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณะ ให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย
·         อบต.มีหน้าที่รักษาไม่ให้ใครมาบุกรุกที่สาธารณะ อบต.ต้องทำหน้าที่ปกป้อง
·         ควรมีการจัดการเรื่องที่ดินสาธารณะให้ชัดเจน ตกลงกันให้เรียบร้อยเพื่อจะได้จัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินนี้
·         อบต.ควรมีการส่งเสริมดูแลเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกป่า
·         ต้องสร้างความสมดุลของอำนาจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้าน ส่วนราชการและองค์กรปกครองท้องถิ่น
·         ต้องมีการผสานพลังอำนาจของประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อนั้นอำนาจใดใดข้างนอกก็มาสามารถเข้ามาทำลายท้องถิ่นได้
·         ประชาชนต้องทำหน้าที่ในการร่วมชี้ประเด็นปัญหา แนวทางแก้ไขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เห็นและร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหา
·         ต้องสร้างความตระหนักว่าสภา ทุก ๆ สภาขององค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นของพี่น้องประชาชน และประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net