Skip to main content
sharethis

แหล่งข่าวรัฐบาลพม่าเผย ตานฉ่วยอาจประกาศวันเลือกตั้งภายในเดือนนี้ ขณะที่มีรายงานว่า ทางการพม่ากำลังเกณฑ์คนนอกกองทัพมาเป็นตัวแทนรัฐบาลพม่าลงชิงชัย ซึ่งได้แก่ นักธุรกิจ และครูจากทั่วประเทศ

อิระวดี  2 ก.พ.53   แหล่งข่าวรัฐบาลพม่าเปิดเผยว่า นายพลอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลพม่าอาจประกาศวันเลือกตั้งภายในเดือนนี้ ขณะที่มีรายงานว่า ทางการพม่ากำลังเกณฑ์คนนอกกองทัพมาเป็นตัวแทนรัฐบาลพม่าลงชิงชัย ซึ่งได้แก่ นักธุรกิจ และครูจากทั่วประเทศ

นอกจากนี้ผู้สมัครของรัฐบาลพม่าบางส่วนอาจมาจากกลุ่มผู้นำของสมาคมเพื่อการพัฒนาและความเป็นเอกภาพ (Union Solidarity and Development Association -USDA) ที่รัฐบาลพม่าหนุนหลัง โดยมีสมาชิกกว่า 20 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่ถูกบังคับให้เข้าร่วม

ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ของญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลพม่าเตรียมจัดการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมปีนี้ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด ด้านผู้ติดตามสถานการณ์พม่าเชื่อว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 เดือนตุลาคมในปีนี้ เพราะเป็นฤกษ์ดีของผู้นำรัฐบาลพม่าที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง

ด้านนายพลอาวุโสตานฉ่วยออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2491 เป็นปีที่ 62 ในกรุงเนย์ปีดอว์เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาว่า จะมีการเลือกตั้งในปีนี้แน่นอน เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดวันหย่อนบัตรเท่านั้น โดยในวันเดียวกัน ตานฉ่วยเรียกร้องให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ถูกต้องเหมาะสม

ขณะที่นางอองซาน ซูจีหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีหมดสิทธ์ลงสนามเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากกฎข้อบังคับที่รัฐบาลกำหนด ได้ห้ามไม่ให้ผู้ที่แต่งงานกับชาวต่างชาติลงสมัครรับเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน เธอยังคงถูกกักบริเวณในบ้านพักโดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงการเลือกตั้ง แม้สหรัฐ สหประชาชาติ และอาเซียนต่างเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางซูจี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ทางการพม่าประกาศปล่อยตัวนางซูจีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ในขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า นางซูจีจะได้รับการปล่อยตัวหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น

ด้านพรรคเอ็นแอลดียังไม่ได้ออกมาประกาศว่าจะร่วมเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ แต่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าทบทวนและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลร่างขึ้นเมื่อปี 2551 พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 1990 (2533)ที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลหันหน้าเจรจากับพรรคฝ่ายค้าน

เช่นเดียวกับสหรัฐที่เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเจรจากับพรรคเอ็นแอลดีและพรรคการเมืองฝ่ายค้านกลุ่มอื่นๆ รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในพม่าก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า แต่ไม่ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไข้รัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐบาลแต่อย่างใด

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้นางซูจีได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในพรรคเอ็นแอลดีเพื่อร่วมกันหารือถึงการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงนโยบายข้อกำหนดของพรรคการเมือง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากรัฐบาลพม่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net