Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2553 ที่ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ ร.ร. รามาการ์เด้น คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ประเทศต้องปฏิรูปอย่างไรเพื่อเกษตรกรไทยพ้นวิกฤต” โดยมีเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรเอกชน และผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 300 คน

คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธาน สปกช. กล่าวถึงว่ารัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมกรขึ้นมาดูแลเกษตรทั้งระบบ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรเป็นฝ่ายถูกกระทำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้กำหนดแนวทางของตัวเอง และที่ผ่านมาระบบราชการไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา แม้ว่าจะมีข้าราชการจำนวนมากที่ทำงานโดยเห็นประชาชนเป็นตัวตั้งก็ตาม แต่การปฏิรูปนั้นต้องอาศัยประชาชนเป็นพื้นฐาน

คุณหญิงสุพัตรากล่าวถึงที่มาที่ไปและความคืบหน้าของ สปกช.ว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2552 คณะกรรมการชุมชนเข้มแข็งเห็นชอบว่าต้องตั้งสำนักงานส่งเสริมปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม หรือ สปกช. และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งกำลังทำงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากการรับฟังความเห็นจากเกษตรกร โดยคาดหวังว่าสำนักงานนี้จะเป็นเครื่องมือในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อประสานความร่วมมือเกษตรกรและภาคีทั้งหลาย หากระเบียบสำนักนายกสามารถ่านออกมาได้ภายในเดือนหน้า ก็น่าจะมีความคืบหน้าในการดำเนินการ

จากนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นในช่วงบ่าย โดยประเด็นในการแลกเปลี่ยนหลักคือ ปัญหาที่มีความสำคัญสูงสุดและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนของภาคเกษตรกรรม ความเข้มแข็งของชุมชน และสังคมไทยโดยรวม และสปกช. ควรมีบทบาท หรือดำเนินยุทธศาสตร์ตลอดจนมีแผนการดำเนินงานอย่างไร ในช่วงเวลา 3 ปี

ผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มแรกเสนอว่าปัญหาหลักๆ ที่พบคือ ทั้งเกษตรกรทั้ง 4 ภาคยังไม่เข้าใจเรื่องการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร ได้แก่น้ำและที่ดิน ความอ่อนแอของเกษตรกรเองไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ ขาดองค์ความรู้ในการทำเรื่องเกษตรยั่งยืน ปัญหานโยบายรัฐเน้นการส่งออกเป็นหลัก ปัญหาการคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ค่านิยม การสืบทอด คนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำการเกษตร การทำงานของภาครัฐที่ไม่ทันกระแสโลกส่งเสริมเรื่องล้าสมัยหลายเรื่อง การส่งเสริมการบริโภคสีเขียว คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ยังมีคี่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ผลิตและขายสินค้าปลอดสาร

ผู้ร่วมประชุมทางออกว่าคือ การบริโภคอย่างยั่งยืน ควรขยายวงให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเกษตรยั่งยืนให้มากขึ้น ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการผลิตที่ไม่เน้นการส่งออก ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ทำเกษตรกรรม ลดการใช้สารเคมี ห้ามการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มมากขึ้นจะได้มีพลังการต่อรอง ทำให้เกษตรกรสามารถถึงตัวเอง ควรมีการเน้นหนักเรื่องการใช้พันธุกรรมท้องถิ่นทั้งพืชและสัตว์ให้มากขึ้น

สำหรับความคาดหวังกระบวนการทำงาน สปกช. นั้น ผู้ร่วมประชุมกลุ่มแรกเสนอว่า ควรทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ทำงานผ่านตัวชุมชนเป็นหลัก มีการทำสมัชชาทุกระดับโดยเฉพาะระดับพื้นที่ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร สนับสนุนให้มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และให้มีการนำเสนอนโยบายไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น เชื่อมโยงภาคีต่างๆ ควบคุมการโฆษณาชวยเชื่อ สื่อสารเชิงรุก

ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มที่สอง นำเสนอว่าปัญหาเกษตรกรรมของไทยมี 4 ปัจจัย คือ รัฐบาล ซึ่งไม่มีเสถียรภาพ ทำให้นโยบายเรื่องเกษตรยั่งยืนไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐยังมีนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมพืชน้ำมัน นโยบายการส่งเสริมพืชพลังงานส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร การไหวตัวไม่ทันเรื่องวิกฤตต่างๆ และประการสุดท้าย รัฐปล่อยให้มีการโฆษณาชวนเชื่อ

ปัจจัยต่อมาคือ ระบบการศึกษา สอนเกษตรกรให้ห่างไกลจากอาชีพเกษตรกรรม และไม่มีคนสืบทอดเจตนารมณ์ ปัจจัยที่สามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเครื่องมือของนายทุน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีบทบาทต่อการส่งเสริมอาชีพเกษตรค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด

ปัจจัยสุดท้าย ตัวเกษตรกรเอง ไม่มั่นใจหรือศรัทธาในคุณค่าของเกษตรกรรมเพราะ ขาดความรู้ ขาดข้อมูล ค่านิยมบริโภคนิยม พึ่งพาทุกอย่างจากภายนอกแม้แต่ปัจจัยการผลิตแรกอย่างเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และมุ่งว่าทำอย่างไรให้รวย เอาเงินเป็นหลัก ให้ได้เงินเร็วไม่มีการจัดตั้งองค์กร หรือตั้งโดยภาครัฐแต่ไม่เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง

สำหรับความคาดหวังต่อบทบาท สปกช. นั้น ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่าควรจัดทำข้อเสนอให้ภาครัฐเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน น่าจะรวบรวมข้อมูลในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ติดตาม เฝ้าระวัง เตือนภัย ชี้แนะ เชื่อมโยงความรู้ และเชื่อมโยงคน ละเครือข่าย หน่วยงานภาคีต่างๆ มาช่วยกันปฏิรูประบบ สนับสนุนการทำงานในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนต่างๆ มียุทธศาสตร์เชิงรุกในการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปเกษตรและชุมชน ให้มีส่วนร่วม แปดสร้างองค์ความรู้และการวิจัย เกา รณรงค์กับสาธารณะ ควรกำหนดวิสัยทัศน์ของ สปกช. ให้ชัดเจน  สนับสนุนงบประมาณให้ถึงเกษตรกร สร้างกองทุนเกษตรกรรมยั่งยืนจากภาษีสารเคมีเกษตร สร้างฐานข้อมูลที่เกษตรกรเข้าถึงได้ สนับสนุนการสร้างทายาทในภาคการเกษตร บูรณาการงานร่วมกันอย่างจริงจัง และท้ายสุดให้รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาระบบเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มที่สาม สรุปว่าปัญหาคุณภาพชีวิตเกษตรกรมี 4 ด้าน คือ ด้านนโยบาย ซึ่ง รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการเกษตรที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และรัฐต้องให้ความสำคัญเป็นนโยบาย มองเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องวิถีชีวิต อย่าเอาตัวเลขหรือจีดีพีมาเป็นตัววัด ให้ความสำคัญเท่ากับความมั่นคงของชาติ

ด้านต่อมาคือกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดเกี่ยวกับเกษตรกร ซึ่งคาดว่าอีกไม่กี่ปี อาชีพเกษตรกรจะหายไปเพราะลูกหลานเริ่มไม่ภาคภูมิใจ  และในปัจจุบันภาคเกษตรถูกครอบงำทางความคิด ทำการเกษตรเพื่อการค้ามากกว่าเป็นการทำเกษตรตามภูมิปัญญา และอีกส่วนคืออำนาจในการครอบครองปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ       ปัญหาสำคัญคือระบบการเกษตร คือ ความรู้ ต้องทำให้เป็นความรู้ที่จับต้องได้ หนี้สิน รัฐต้องให้ความสำคัญและมาแก้ไข สินค้าอื่นกำหนดราคาได้เอง นอกจากนี้สื่อก็มีบทบาทอย่างสูงในเปลี่ยนค่านิยมในเรื่องการบริโภคด้วย

สำหรับคาดหวังบทบาทของ สปกช. นั้น ผู้ร่วมประชุมกลุ่มที่ 3 ระบุว่า สปกช. ควรทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ให้เกิดข้อเปรียบเทียบและเข้าถึงไดง่าย โดยมีบุคลากรมืออาชีพเป็นผู้จัดเก็บและทำให้น่าสนใจ เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ค้นหาได้ง่าย โดยที่ทุกฝ่ายต้องช่วยการ นอกจากนี้คาดหวังว่าสปกช.จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเกษตรกรและเครือข่ายผู้บริโภค

ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มที่ 4 ระบุว่า ปัญหาหลักของเกษตรกรคือ ปัญหากระบวนทัศน์ซึ่งถูกครอบงำโดยเกษตรเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรส่วนมากเกิดปัญหาหนี้สิน และทำให้ค่านิยมการทำอาชีพเกษตรกรเปลี่ยนไป

นอกจากนี้คือปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถผลิตได้อย่างที่เคยผ่านมา ทำให้ปัญหาการเตรียมเมล็ดพันธุ์และการผลิต ทรัพยากรเสื่อมโทรมนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการใช้สารเคมีในการเกษตรมากไป ทำให้เดินเสื่อมสภาพมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ผลผลิตก็ไม่ด้อยกว่า

ปัญหาอีกประการคือนโยนบายของรัฐและภาคเอกชน ซึ่งส่งเสริมให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง แต่ไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะทำได้ดีจริงหรือไม่ และปัญหาการผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์และการตลาด ปัจจุบันเกษตรกรไม่สามารถทำเมล็ดพันธุ์เองได้ ต้องซื้อใหม่ทุกฤดูกาล เช่น การทำข้าวโพดในภาคเหนือ เพราะเป็นพืชจีเอ็มโอ ทางบริษัทเป็นผู้ผูกขาด เกษตรกรกลายเป็นแค่ลูกจ้างของบริษัทเหล่านี้

ปัญหาประการต่อมาคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชน เช่นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีโครงการทำโรงไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงไม่สามารถทำการเกษตรระบบเกษตรอินทรีย์ได้  

ประการต่อมา คือปัญหาเกษตรกรการไม่มีที่ดินทำกิน ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยถือครองที่ดินต่อครอบครัวไม่ถึงยี่สิบไร่ ที่ดินส่วนใหญ่นายทุนมากว้านซื้อหลังจากเกษตรกรบอบช้ำจากเกษตรเชิงเดี่ยวแลพะเป็นหนี้สิน

และสุดท้าย หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำงานประสานกันเท่าที่ควร ไม่มีการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน

สำหรับความคาดหวังต่อการทำงานของ สปกช. นั้น ผู้ร่วมประชุมกลุ่มที่ 4 คาดหวังว่าสปกช. จะดำเนินการยุทธศาสตร์ด้านการฟื้นฟูภูมิปัญญาเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงการฟื้นฟูดิน น้ำ อากาศ

นอกจากนี้ สปกช. ควรมุ่งเน้นการพัฒนาคน บูรณาการงาน ส่งเสริมด้านการตลาด การสร้างพลังการรวมกลุ่มในชุมชน สร้างสิทธิและศักดิ์ศรีของเกษตรกร สนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ซึ่งปัจจุบันสามารถพึงตัวเองได้บางส่วน แต่ยังต้องการให้ภาครัฐและเอกชนมาสนับสนุนให้เกิดการขยายผลและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ผลักดันสิทธิของเกษตรกร เลิกการเป็นเจ้าของพันธุกรรม ปัจจุบันพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่ในมือพี่น้องเกษตรกรไม่ว่าภาคใดๆ ยังไม่มีการทำให้เป็นกิจจะลักษณะที่จะให้เกษตรกรถือครองสิทธิเองได้แบบไม่ต้องกังวล

และท้ายสุดคือ ทำระบบฐานข้อมูล ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ขยายข้อมูลให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ไม่ใช่รอให้ปัญหาใกล้ถึงขั้นวิกฤตแล้วจึงค่อยนำเสนอ ทั้งนี้ต้องบูรณาการจากภาคส่วนต่างๆ ให้มีความร่วมมือและมีการเชื่อมประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุด

“ความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยคือความอยู่รอดของประเทศชาติ” ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวในที่สุด

ผศ.ดร.จิตติ มงคงชัยอรัญญา ผู้อำนวยการสปกช. กล่าวว่า จากที่ผู้ร่วมประชุมเสนอมาทั้งหมดนั้นเห็นว่ามีปัญหาจากหลายส่วน ได้แก่ ปัญหาของคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปัญหาความรู้ความเข้าใจ และขาดข้อมูล รวมถึงปัญหาสภาวะความมั่นคงด้านอาหาร

ในเรื่องกระบวนทัศน์นั้น ผศ.ดร.จิตติกล่าวว่า คงต้องการนักจิตวิทยามวลชนที่เก่งขึ้น กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่สองพันกว่าคนยังเป็นความหวัง และหากมีการจัดระบบการเรียนการสอนที่ดี ก็น่าจะมีการฟื้นฟูเรื่องการเกษตรขึ้นมาใหม่ และขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็กำลังปฏิรูปการศึกษารอบใหม่อยู่เช่นกัน

“สำหรับเรื่องนโยบายนั้น มีปัญหาหลายด้านทั้งเรื่องการโอนเอียงไปเข้าข้างอุตสาหกรรม ผมเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันเปล่งเสียงออกมาดังๆ ในอนาคตเราอาจะมีการจัดการรณรงค์พิเศษ ทำให้เห็นว่าเกษตรกรรมยั่งยืนคือทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศนี้ นโยบายเรื่องการใช้สารเคมี นโยบายที่ไม่ชัดเจนว่าระหว่างพืชอาหารกับพืชส่งออกจะมีนโยบายทิศทางกันอย่างไร” ผศ.ดร.จิตติกล่าวและวิเคราะห์ว่า เรื่องงานวิจัยที่ผู้เข้าร่วมประชุมคาดหวังนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก และน่าวิตกว่าวงการวิชาการยังคิดโจทย์หลายข้อไม่ออกและไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่น งานวิจัยพันธุ์พืช ที่จะต้องใช้เวลา 12 ปีอย่างต่ำ กว่าจะผลิตพันธุ์พืชใหม่ได้ ขณะที่แมลงเปลี่ยนพันธุกรรมทุกหนึ่งปี นอกจากนี้ฤดูกาลมีความเปลี่ยนแปลง คงต้องมีระบบวิจัยแบบใหม่ที่จะต้องใช้การวิจัยในชุมชนมากขึ้น แต่ก็คงไม่เป็นธรรมนักที่จะให้ชุมชนมีบทบาทอยู่ฝ่ายเดียว

“สำหรับความความหวังที่ให้ สปกช. ทำนั้น เราจะมาร่วมกันคิดค้นและขอความร่วมมือจากเกษตรกร เนื่องจาก สปกช. เองมีภารกิจหลักคือเป็นองค์กรที่จะสะท้อนให้เห็นปัญหาสถานการณ์และให้รู้ว่ามีแหล่งศักยภาพอะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ในบางเรื่องอาจจะเป็นเจ้าภาพเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบาย และสิ่งที่จะทำแน่ๆ จะทำรายชื่อและสถานที่ติดต่อเพื่อสร้างเครือข่าย และอาจจะทำเวทีระดมความเห็นทั้งในระดับลึกและกว้างอีกครั้ง” ผู้อำนวยการ สปกช. กล่าวในที่สุด

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net