Skip to main content
sharethis

“สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง” เผยแพร่แถลงการณ์ “จุดยืนของ KNU ต่อกรณีผู้ลี้ภัย” แจงไม่มีส่วนร่วมผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ ยืนยันการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับพม่าไม่ใช่จุดยืนของ KNU ระบุหากเกิดผลกระทบในทางลบจากการบังคับผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ผู้ที่กระทำการนั้นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

วานนี้ (4 ก.พ.) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธเรียกร้องเอกราชของชาวกะเหรี่ยงในพม่า เผยแพร่แถลงการณ์ “จุดยืนของ KNU ต่อกรณีผู้ลี้ภัย” (KNU position on Refugees) ทั้งภาษากะเหรี่ยง ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ เพื่อยืนยันจุดยืนของ KNU ต่อกรณีที่จะมีการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ยืนยันว่าการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไม่ใช่จุดยืน KNU และจุดยืนของ KNU ต่อกรณีผู้ลี้ภัยยังคงยึดตามแถลงการณ์ KNU ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2543 ที่ระบุว่ามีผู้คนจำนวนมากในพม่าต้องลี้ภัยเพราะการกดขี่จากรัฐบาลทหารพม่า และเป็นเรื่องจำเป็นที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักการมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน

โดยแถลงการณ์ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ของ KNU มีรายละเอียดดังนี้


แถลงการณ์ฉบับภาษากะเหรี่ยง

 

 
แถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ

 
(แปลจากแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษ)
 
 
4 กุมภาพันธ์ 2553
 
จุดยืนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ต่อกรณีผู้ลี้ภัย
 
อีกครั้งหนึ่ง ที่เรา สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ประสงค์จะเผยแพร่แถลงการณ์เพื่อยืนยันจุดยืนของเราในกรณีผู้ลี้ภัย
 
หลังจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค. มีรายงานในสื่อบางฉบับอ้างว่า KNU และ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ได้หารือกันเรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัย ที่ลี้ภัยอยู่ที่อำเภอท่าสองยางเมื่อมิถุนายนปี 2552 นั้น
 
ต่อสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐกะเหรี่ยง และสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในพม่านั้น KNU ต้องการสร้างความกระจ่างว่า เราไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ให้สมาชิกของเราพิจารณาการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ และการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไม่ใช่จุดยืนของ KNU
 
ทั้งนี้ ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงใดๆ ในพื้นที่ซึ่งผู้ลี้ภัยจะถูกผลักดันกลับ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง นอกจากนี้ยังมีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การโจมตีพลเรือน การข่มขืน การบังคับเกณฑ์แรงงาน การบังคับขู่เข็ญ และอื่นๆ เกิดขึ้นรายวันในพื้นที่ยึดครองของ SPDC (สภาเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) และ DKBA
 
จุดยืนของ KNU ต่อกรณีผู้ลี้ภัย ยังคงเหมือนจุดยืนเดิมในแถลงการณ์ของ KNU ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ระบุว่า
 
- ผู้คนจำนวนมากในพม่าต้องลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านร่วมทั้งประเทศไทย เพราะกองทัพภายใต้พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP), สภาเพื่อฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) ที่ต่อมาคือ SPDC ได้กระทำการด้วยวิธีรุนแรง โจมตีพลเรือน ปล้นสะดม และทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนชาติพันธุ์และประชาชนพม่าโดยทั่วไป
 
- เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ลี้ภัยต้องได้รับสิทธิในการลี้ภัยซึ่งเป็นสิทธิในการได้รับความมั่นคงปลอดภัย และได้รับสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานอย่างอาหาร เสื้อผ้า ที่พัก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์กรพัฒนาเอกชน และประเทศที่เกี่ยวข้อง ควรมีหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักการมนุษยธรรมพื้นฐาน
 
- KNU กังวลอย่างยิ่งถ้ามีการส่งกลับผู้ลี้ภัยเข้าไปในพื้นที่ควบคุมของ SPDC หรือพื้นที่ของกลุ่มที่ภายใต้การบัญชาของ SPDC ทั้งที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องการเมือง หรือยังไม่เกิดความสงบ
 
- หากเกิดผลกระทบในทางลบจากการบังคับผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ผู้ที่กระทำการนั้นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
- KNU จะไม่ขัดขวางผู้ลี้ภัย ที่จะเดินทางกลับไปสู่บ้านและหมู่บ้านตามความประสงค์ของพวกเขา KNU เห็นว่าไม่ควรมีการข้ามแดนโดยไม่มีการตรวจสอบ เหมือนการเข้าออกค่ายผู้ลี้ภัยโดยไม่มีการควบคุม
 
- เนื่องจากแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากพม่าอย่างถาวร คือการรื้อถอนระบอบเผด็จการทหารและสถาปนาสหพันธรัฐสหภาพพม่าที่แท้จริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ดังนั้นเราจะเพิ่มความพยายามของเราในการเข้าแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ
 
 
 
ที่มา: แปลจาก KNU position on Refugees, February 4, 2010

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net