Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
สถานการณ์สมมติ : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมแลกกันพูด ได้เชิญนักวิชาการเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน “ทางวิชาการ” ว่าด้วยเรื่อง “ความจงรักภักดี” ขอสมมตินักวิชาการเสื้อเหลืองชื่อ (ล) นักวิชาการเสื้อแดงชื่อ (ด)
 
ผู้ดำเนินรายการ : ผมเข้าประเด็นเลยนะครับ คือเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 คุณทักษิณพูดผ่านรายการ thaksinlive ว่า “...ความแตกแยกในประเทศมาจากการเล่นพรรคเล่นพวกกัน ไปสำคัญผิดว่า ฝ่ายหนึ่งจงรักภักดี อีกฝ่ายไม่จงรักภักดี ฝ่ายที่อ้างว่าจงรักภักดีไปเกาะพระบารมีหากิน ส่วนฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีก็ต่อสู้ทางความคิด…แนวคิดของคนระหว่างศตวรรษที่ 20 และศตวรรษ 21 แตกต่างกัน คนในศตวรรษที่ 21 เข้าใจว่าโลกทุกวันนี้แคบลง และต้องอยู่ด้วยความจริง ทุกอย่างบันทึกผ่านเทคโนโลยีได้หมด และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนจนเริ่มมองเห็นแสงสว่าง แต่คนศตวรรษที่ 20 มองว่าตัวเองดีคนเดียว คิดว่าต้องมีทาสรับใช้ มีเรื่องชนชั้นและต้องมีการปกครอง ไม่มีความคิดตามระบอบประชาธิปไตยมากนัก คิดว่าทุกคนต้องถูกปกครอง เอะอะก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ คนเกิดความกลัวไม่กล้าคิดกล้าพูด สิ่งนี้คือการทำให้ประเทศล้าหลัง การปฏิวัติเป็นสิ่งล้าหลังในเวทีโลก นี่คือสิ่งที่เราทำกันเองเพราะคนในศตวรรษที่ 20 สั่งให้ปฏิวัติ” อยากจะถามความเห็นของทั้งสองท่านว่า คิดอย่างไรกับสิ่งที่คุณทักษิณพูด เริ่มจากคุณ (ล) ก่อนแล้วกันครับ
 
(ล) : ผมไม่อยากให้ราคากับสิ่งที่ทักษิณพูดเลย เพราะไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องที่เขาทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว มีโอกาสเขาก็จะพูดกระทบเบื้องบนอยู่เสมอ ตั้งแต่ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” “มือที่มองไม่เห็น” แม้ภายหลังจะระบุชื่อ “พลเอกเปรม” แต่ก็เจตนาจะกระทบชิ่งถึงเบื้องบน นี่ก็เอาอีกแล้ว “คนในศตวรรษที่ 20 สั่งให้ปฏิวัติ” คือมันสะท้อนให้เห็นว่าจิตใต้สำนึกเขาเป็นยังไง เขาคิดอะไรอยู่ ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะครับ เพราะในที่สุดสิ่งที่เขาพูดคนไทยส่วนใหญ่คงรับไม่ได้ คำพูดของเขาจะทำลายตัวเขาเอง
 
(ด) :  ผมว่าทักษิณเขาต้องการบอกสังคมว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความแตกแยกที่ทำให้บ้านเมืองถดถอยมันเกิดจากอะไร? คำตอบก็คือการแบ่งแยกคนในประเทศออกเป็นฝ่ายจงรักภักดี กับฝ่ายที่ไม่จงรักภักดี แล้วฝ่ายที่อ้างว่าจงรักภักดีนั่นเองที่ทำลายประชาธิปไตย
 
ผู้ดำเนินรายการ : คำว่า “จงรักภักดี” มีความหมายอย่างไรครับในกรอบของสังคมประชาธิปไตย?
 
(ล) : คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า? ถ้าเป็นคนไทยอย่าถามอย่างนี้! เกิดมาเป็นคนไทยเราต้องรู้โดยสามัญสำนึกอยู่แล้วว่า หน้าที่ของเราคือต้องจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน รัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนก็หมายความว่าประชาชนมีฉันทานุมัติให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะที่เราทุกคนต้องจงรักภักดี และความจงรักภักดีก็เป็นความถูกต้องในตัวของมันเอง เพราะมันเป็นหน้าที่ที่คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติโดยไม่ต้องตั้งคำถาม หรือประมาณว่ามันคือจริยธรรมที่มีลักษณะเป็น “คำสั่งเด็ดขาด” ที่คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
(ด) : ผมเห็นด้วยว่า ความจงรักภักดีมีลักษณะเป็น “คำสั่งเด็ดขาด” ถ้าสังคมเราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงผู้เดียว แต่นี่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนทุกคน ในสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักการพื้นฐานที่ว่า “เราทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” การที่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆมีสถานะพิเศษหรือมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล เพราะเราไม่อาจอธิบายความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้น ถ้า “ความไม่เสมอภาค” ในความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องไร้เหตุผลรองรับในสังคมประชาธิปไตย “ความจงรักภักดี” ที่มีความหมายเป็น “คำสั่งเด็ดขาด” ก็เป็นเรื่องไร้เหตุผลรองรับด้วยเช่นกัน
 
(ล) : ทำไมจะไม่มีเหตุผลรองรับ ก็บอกแล้วไงว่า รธน.กำหนดให้สถานะของพระมหากษัตริย์สูงส่งกว่าสามัญชน ความสูงส่งนี้เป็นคุณค่า (value) ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอดีตที่คนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นที่เคารพสักการะสืบต่อไปตราบนานเท่านาน จึงมีการสร้าง รธน.ปกป้องคุณค่านี้เอาไว้ ฉะนั้น การไม่จงรักภักดีต่างหากที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับ รธน.อันเป็นฉันทานุมัติของประชาชน
 
(ด) : ผมไม่รู้ว่าเป็นฉันทานุมัติของประชาชน หรือฉันทานุมัติของชนชั้นนำที่สมประโยชน์กันแน่? แต่ผมคิดว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว การออกแบบ รธน.ต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งถ้าเรายึดหลักการพื้นฐานดังกล่าวนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้มี “อภิสิทธิชน” เพราะถ้ายอมให้มีอภิสิทธิชนได้ ก็หมายความว่านอกจากเราจะยอมให้มี “บุคคลหรือกลุ่มบุคคลพิเศษ” ที่มีสิทธิต่างๆเหนือเราแล้ว โดยการยินยอมให้มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเช่นนั้นก็เท่ากับเรายอมให้เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคมถูกละเมิดหรือถูกลดทอนลงไปด้วยโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเรียกสังคมของเราว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร?
 
(เสียงแทรก) : ผมอยากให้เราย้อนไปที่คำพูดของทักษิณ ถ้าไม่ติดเรื่อง “จงรักภักดี” สังคมเราจะมีเสรีภาพในการพูดมากกว่านี้ การมีเสรีภาพในการพูดนี่จำเป็นมากนะครับ เพราะจะทำให้เราตรวจสอบ “จริง-เท็จ” ได้เต็มที่ สมมติว่าทักษิณรู้จริงๆ (อย่างมีหลักฐานชัดแจ้ง) ว่า “ใคร” สั่งให้ปฏิวัติ แต่เขาติดเรื่อง “จงรักภักดี” ที่จำกัดเสรีภาพในการพูด จึงทำให้เขาพูดออกมาได้แค่ “นัยยะ” และ “นัยยะ” ที่เขาพูดออกมานั้นก็ถูกใครต่อใครตีความไปต่างๆนานา พิสูจน์อย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณะไม่ได้ว่า จริงๆแล้ว “จริง-เท็จ” คืออะไรกันแน่ ความคลุมเครือเช่นนี้ก็ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายกันต่อไป เราอยากให้สังคมถูกครอบงำให้อยู่กับความคลุมเครือเช่นนี้ตลอดไปหรือครับ? ไม่ต้องพูดถึงหลักความยุติธรรมว่าเสียหายแค่ไหน เพราะมันชัดเจนว่ามีการใช้ “สองมาตรฐาน” กับฝ่ายที่ประทับยี่ห้อ “จงรักภักดี” และฝ่ายที่ถูกตีตราว่า “ไม่จงรักภักดี”
 
(เสียงแทรกอีก) : ผมอยากจะบอกทักษิณว่า “มันจบแล้วครับนาย…ใครคิดจะล้มล้างสถาบันมันต้องข้ามศพผมไปก่อน!” (เสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอ)
 
ผู้ดำเนินรายการ : ใจเย็นๆก่อนครับคุณ “เสื้อสีน้ำเงิน” เรากำลังถกกันด้วยเหตุผลทางวิชาการ ไม่มีใครคิดล้มล้างสถาบันหรอกครับ!
 
(เสียงแทรกอีก) : ในการเมืองสมัยใหม่นี้ หรือกว่า 30 ปีมานี้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมาก เรียกได้ว่า “สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของปัญหาความเป็นประชาธิปไตย” ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน นักวิชาการ ปัญญาชนคนไหนมองไม่เห็นปัญหานี้คือพวกโง่ถึงโง่บัดซบ ไม่มีกระดูกสันหลัง มีอย่างที่ไหนกล้าวิจารณ์แต่นักการเมือง แต่ขี้ขลาดที่จะวิจารณ์ต้นตอของปัญหาซึ่งมีอำนาจมาก ตรวจสอบไม่ได้ และใช้อำนาจนั้นอย่างไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
 
(ล):  ผมไม่คิดว่าในหลวงองค์ปัจจุบันจะเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง พระองค์จะเข้าไปแทรกแซงเมื่อจำเป็นหรือเมื่อถูกขอร้อง เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขไม่เกิดการนองเลือด เช่น เมื่อพฤษภา 35 พระองค์ถูกขอให้เข้ามาแทรกแซงเพื่อให้การนองเลือดยุติลง ส่วน 19 กันยา 49 อาจจะมีการหารือโดยผู้อาวุโสที่เป็น “เสาหลัก” ของบ้านเมืองที่ไตร่ตรองรอบคอบแล้ว จึงจึงมีการตกลงใจทำรัฐประหารก่อนที่จะเกิดการนองเลือด คือคงจะคิดกันดีแล้วว่า “ทำก่อนนองเลือด ดีกว่านองเลือดแล้วค่อยทำ” ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อเกิดรัฐประหารไปแล้ว เกิดสุญญากาศทางอำนาจบริหารบ้านเมือง ในฐานะประมุขแห่งรัฐพระองค์ก็ต้องลงพระปรมาภิไธยรับรองผู้นำประเทศตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้น เรื่องแบบนี้จะไปกล่าวหาว่าพระองค์ท่านเป็นศูนย์กลางของปัญหาการเมืองคงไม่เป็นธรรม เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตพสกนิกรไร้ที่พึ่ง ถวิลหาพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรงแก้วิกฤตนั้น จะให้พระองค์นิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร?
 
(เสียงแทรก) : ผมเคยอ่านคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ ของ คุณอานันท์ ปันยารชุน เขากล่าวว่าในหลวงไม่ได้แทรกแซงทางการเมืองอย่างที่สื่อต่างชาติเข้าใจ “พระองค์ท่านทรงยึดตัวบทกฎหมายตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด...ตลอดระยะเวลาที่ผมทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี 2 ครั้งนั้น ...ไม่เคยมีรับสั่งใดๆเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศ...ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้น พระองค์จะไม่พระราชทานคำปรึกษาใดๆเลย หากจะทรงมีความเห็นก็จะให้เฉพาะเรื่องที่กราบบังคมทูลถามเท่านั้น”
 
(ด) ผมว่าคุณทักษิณต้องรู้ดีกว่าว่าเขาโดน “ใคร” ปล้นอำนาจไป แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ทำรัฐประหาร ผู้สมรู้ร่วมคิด หรือสั่งให้ทำรัฐประหาร รวมทั้ง “นักวิชาการหางเครื่อง” เชียร์รัฐประหาร ก็ล้วนแต่ผิดทั้งสิ้น ไม่มีใครต้องถูกยกเว้น ผมขอย้ำว่าในสังคมประชาธิปไตย ความจงรักภักดีของประชาชนเป็นเรื่องที่บังคับหรือเรียกร้องกันไม่ได้ มันเป็นอำนาจของประชาชนที่เขาจะตัดสินใจด้วยตนเอง หากเขาเห็นว่ากษัตริย์เป็นคนดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ละเมิดหลักการประชาธิปไตยทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เขาก็จะจงรักภักดี หรือ “รัก” กษัตริย์เช่นนั้นเอง
 
(เสียงแทรก) : ที่สำคัญอย่าเสือกผูกขาดความจงรักภักดีไว้ฝ่ายเดียว! เที่ยวปลุกระดมด่าคนอื่นๆที่คิดต่างจากพวกตนว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดี เป็นภัยต่อความมั่นคง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ควรยกเลิกได้แล้ว เพราะมีไว้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองมากกว่าเพื่อปกป้องสถาบัน ควรให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ให้มีหน่วยงานหรือบุคคลเป็นผู้แทนรับผิดชอบแจ้งความฟ้องร้องเมื่อเห็นว่ามีการหมิ่นประมาทสถาบัน การแสดงความจงรักภักดีไม่จำเป็นต้องแสดงออกในรูปแบบ “สรรเสริญพระบารมี” เท่านั้น ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะกษัตริย์ต้องถูกวิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้เช่นเดียวกับบุคคลสาธารณะอื่นๆ ถ้าเป็นการวิจารณ์และตรวจสอบโดยเจตนารมณ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ
 
(ผู้ดำเนินรายการ) : เอ๊...การทำให้กษัตริย์เป็นเหมือนคนธรรมดาแบบในประเทศตะวันตกเช่นนี้ มันจะเหมาะกับสังคมไทยหรือครับ คนไทยส่วนใหญ่เขาจะยอมกันหรือเปล่า?
 
(ล) : ไม่เหมาะแน่นอน เพราะสำหรับสังคมไทยแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “สมมติเทพ” เป็นที่มาแห่งเกียรติศักดิ์ เพราะทรงมีพระชาติตระกูลสูง ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจและศรัทธา ทรงได้ตำแหน่งจากการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงเป็นประมุขของประเทศอย่างถาวร ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ ฉะนั้น สถานะของพระองค์ต้องสูงส่งเหนือสามัญชน เราต้องมีกฎหมายและประเพณีวัฒนธรรมปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของพระประมุขแห่งรัฐให้เป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทุกคนตลอดไป การเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะเช่นนี้ คนไทยส่วนใหญ่คงไม่ยอม อย่าว่าแต่จะไม่ยอมในเรื่องดังกล่าวเลย สำหรับคนไทยไม่ว่าจะผิดหรือถูกจะไม่ยอมทนคำวิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวของเขาโดยเด็ดขาด นี่คือความรู้สึกของคนไทย!
 
(ด) :  ผมว่าการยืนยัน “ความศักดิ์สิทธิ์” ของอะไรก็แล้วแต่มันเป็น mystic นะ คือมันอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผลไม่ได้ว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ทำให้เกิด “สิ่งที่ดี” สำหรับมนุษย์ได้อย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่ดีในกรอบของความเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น จะอ้างคำประเภทนี้ เช่น “ศักดิ์สิทธิ์” มาเป็นคำตอบแบบปิดทางเลือกไม่ได้ ถ้าคุณยืนยันความเป็นสังคมประชาธิปไตย คำถามเมื่อกี้ต้องตอบแบบให้มีทางเลือก เช่น ถ้าคนจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะมากหรือน้อยเขาเห็นว่าควรเปลี่ยนตามแบบตะวันตกก็ควรให้เขาเสนอความเห็นได้อย่างเสรี ถ้าจะมีพรรคการเมืองชื่อ “พรรคแอนตี้กษัตริย์” “พรรคสังคมนิยม” ฯลฯ ก็ควรปล่อยให้มี เพราะสังคมประชาธิปไตยต้องให้เสรีภาพที่ใครจะเสนอแนวคิด อุดมการณ์ หรือทางเลือกต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาและตัดสินใจ ตราบที่กระบวนการเสนอความคิด อุดมการณ์ของเขายังอยู่ในแนวทางของการใช้เหตุผล ไม่จับอาวุธขึ้นมาเข่นฆ่าใคร เราต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนเป็น “มนุษย์ผู้มีเหตุผล” และโดยที่มีเสรีภาพ หรือโดยความเป็น “เสรีชน” เขาย่อมสามารถใช้เหตุผลเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ได้
 
(ล) : คุณมันอุดมคติมากเกินไป ความจริงคือการเมืองทุกระดับในสังคมไทยมันไม่เคยเป็นประชาธิปไตย มีการซื้อเสียงเข้ามาโกงกิน ใครมีเงินมากซื้อพรรคการเมือง ซื้ออดีต ส.ส. ซื้อหัวคะแนน ซื้อเสียง ซื้อศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนไร้การศึกษาไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ก็สามารถผูกขาดอำนาจรัฐและหาประโยชน์เข้าตัวเองได้อย่างที่กระบวนการตรวจสอบใดๆก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่ดีหรือที่เราจะมีอำนาจบารมีอื่นๆ เช่น ทหาร องคมนตรี กษัตริย์คอยถ่วงดุลนักการเมืองเลวๆพวกนี้อีกทางหนึ่ง? นี่ไม่ใช่เอกลักษณ์ที่สวยงามของ “ประชาธิปไตยแบบวัฒนธรรมไทย” หรอกหรือ? ทำไมเราต้องตกเป็นทาสความคิดแบบตะวันตกนิยม?!
 
(เสียงแทรก) : เพราะคิดแบบป่าเถื่อนทางปัญญาอย่างพวกคุณ เพราะเคยชินกับการ “กราบตีน” มานานอย่างพวกคุณ เพราะมีแต่นักประชาธิปไตยที่หน้าไหว้หลังหลอกแบบพวกคุณที่ทำตัวเป็นสมุนบริวารของศักดินา-อำมาตย์ เผด็จการจึงได้ใจ โยน “ขี้” ให้พวกคุณรับประทานอยู่เรื่อย! ผมเหนื่อยที่จะเถียงกับคนอย่างพวกคุณจริงๆว่ะ!!
 
(เสียงแทรกอีก) : ผมว่าวันนี้เราคงหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ แต่ผมก็รู้สึกดีที่ได้เห็นเสื้อหลากสีมานั่งบนเวทีเดียวกัน มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง น้ำเงิน ขาว เขียว รวมทั้งคุณไม่มีเสื้อจะใส่ก็มาด้วย ผมอยากให้มีเวทีแบบนี้มากๆเพื่อให้ความคิดต่างได้มาโต้แย้งกันตรงๆไม่ต้องพูดคนละเวที ไม่ใช่เพื่อ “สานเสวนา-สมานฉันท์” อะไรนั่น แต่เพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะพูดและแสดงเหตุผลของตัวเองอย่างเต็มที่ คิดต่างเห็นต่างกันได้ แต่อย่าปาอึผสมปลาร้าใส่กันก็แล้วกัน! (ฮา...)
 
(ผู้ดำเนินรายการ) : หมดเวลาพอดีเลยครับ ขอบคุณคุณเมื่อกี้ที่สรุปแทนผม สวัสดีครับ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net