Skip to main content
sharethis

                 “หกสิบสี่แล้ว ไม่กลับหรอกบ้าน กลับทีไรลูกร้องไห้
                  ที่ไม่กลับ หนึ่ง ไม่มีบ้านให้กลับ อาศัยพี่น้องอยู่ ไปทำไม ที่ทางไม่มี ถ้ามีไร่นาก็น่ากลับ 
             เราอยู่อย่างนี้มานาน กลับแล้วจะไปทำอะไร ความจริงนาก็มีแต่มันแล้ง ตอนนี้เป็นของใครไปแล้วก็ไม่รู้”

(ลุงหวัง, อภิปรายกลุ่มย่อย 9 ธ.ค.52)
 
ลุงหวังเป็นชายชราจากจังหวัดนครราชสีมา ที่ยึดสถานภาพคนไร้บ้านมาตั้งแต่อายุสิบห้าปี แม่ของภรรยาไม่ชอบที่ลุงหวังมีฐานะยากจน จึงจ้างให้ออกจากชีวิตลูกสาวด้วยเงิน 10,000 บาท ทองหนึ่งบาท ลุงหวังไม่มีที่ไปจึงเริ่มต้นออกเร่ร่อน หางานทำไปเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันลุงหวังอายุมากกว่าหกสิบปีแล้ว หาเลี้ยงชีวิตด้วยการขอทานแบบไร้สังกัด ในเขตกรุงเทพมหานคร
 
ในเมืองใหญ่ทั่วโลก แทบไม่มีเมืองไหนที่ไม่มีคนไร้บ้าน ในเมืองไทยคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเมือง ว่ากันว่าเป็นเพราะความบกพร่องของโครงสร้างสังคม และภาวะทางเศรษฐกิจ
 
ในความเป็นจริงยังมีเงื่อนไขปัจจัยอีกหลายด้านที่ทำให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงความหมายของ “บ้าน” ในสภาวะของโลกทุนนิยม

 
“บ้าน” สิ่งที่มากกว่าสิ่งปลูกสร้าง
แต่ไหนแต่ไรมาอาณาบริเวณที่ถูกเรียกว่า “บ้าน” กินขอบเขตกว้างไกลกว่าตัวสิ่งปลูกสร้าง แต่หมายรวมถึงบริเวณรอบ ๆ เช่น มีสวนหลังบ้านเอาไว้ปลูกผัก มีใต้ถุนบ้านเอาไว้ผูกวัวควาย เลี้ยงไก่ มีที่ตากผ้าหลังบ้าน มีตุ่มใส่น้ำวางอยู่รอบบ้าน ฯลฯ นอกจากนั้น “บ้าน” ในชุมชนชนบทยังกินความรวมไปถึงพื้นที่สาธารณะที่มีทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวมไว้ให้คนยากคนจนได้อาศัยหาอยู่หากิน 
 
นอกจากความหมายในเชิงพื้นที่ “บ้าน” ยังเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นพี่น้องร่วมสายโลหิต เครือญาติ หรือกลุ่มตระกูล หรือเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานหลายปี “บ้าน” ในที่นี้จึงเป็นเครือข่ายที่คน ๆ หนึ่งที่ยึดโยงตนเองไว้กับกลุ่มคนในชุมชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ ที่อาจจะอยู่ร่วมหรือไม่ได้อยู่ร่วมกันในอาณาเขตบริเวณเดียวกันก็ตาม
 
การมี “บ้าน” โดยนัยนี้จึงหมายถึงการมีความผูกพันต่อผู้คนและถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งสร้างความมั่นคงทางจิตใจด้วยการรู้สึกเป็นเจ้าของ หรือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่หรือชุมชนหนึ่งชุมชนใด อย่างไรก็ตาม แต่ละคนอาจให้ความหมายหรือมีความรู้สึกต่อ “บ้าน” แตกต่างกันไป และความผูกพันที่แต่ละคนมีต่อ “บ้าน” ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับพลวัตความสัมพันธ์ที่เขามีต่อสถานที่ และสมาชิกร่วมบ้านในแต่ละช่วงเวลา
 
โลกทุนนิยมทำให้บ้านมีพื้นที่และความสัมพันธ์ที่คับแคบลง เนื่องจากที่ดินกลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการและมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ คนจนรวมถึงคนชั้นกลางรายได้ต่ำไม่ค่อยมีกำลังทรัพย์พอที่จะมีบ้านเรือนเป็นของตนเอง อย่างมากก็ได้แค่เช่าห้องขนาดเท่าแมวดิ้นตายไว้พักอาศัยชั่วคราว เกษตรกรในชนบทมีแนวโน้มสูญเสียที่ดินทำกินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ล้มเหลว จนต้องยอมขายที่ดินให้แก่นายทุนเพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน ขณะที่แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจยังทำให้ผู้คนทั้งในเมืองและในชนบททุ่มเทเวลาไปกับการหาเลี้ยงปากท้องจนกระทั่งไม่ว่างพอจะใส่ใจเครือญาติหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม
 
 
ไร้บ้าน เพราะไร้ทุน
มีคำอธิบายชุดหนึ่งที่เชื่อว่า การไร้บ้านเกิดจากความบกพร่องของปัจเจกบุคคล อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านสุขภาพกายและใจ ความขัดสนทางเศรษฐกิจ การถูกล่อลวง และการไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ และถึงกับมีการวิเคราะห์ว่าพันธุกรรมเลวร้ายเป็นสาเหตุหนึ่งของการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ดังเช่น งานศึกษาของ นิตยา (2535:78-79) ที่ระบุว่า พันธุกรรมที่เลวร้ายเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเร่รอนไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเลิกการเร่ร่อนในช่วงเวลาสั้น ๆ
 
การอธิบายเช่นนี้ไม่ได้เชื่อมโยงปัญหาของปัจเจกบุคคลกับความบกพร่องของเงื่อนไขปัจจัยเชิงโครงสร้างสังคม และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงปัจเจก โดยใช้หลักจิตวิทยา หรือการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดสถานที่พักชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ฝึกอาชีพ หรือปรับพฤติกรรมของคนไร้บ้านและส่งกลับคืนสู่สังคม แต่แนวทางดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้จำนวนคนไร้บ้านลดลง ในทางตรงกันข้าม คนไร้บ้านกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสังคมเมือง
 
แท้ที่จริง การกลายมาเป็นคนไร้บ้านมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะความบกพร่องของโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้ประชาชนสูญเสียทุนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจนต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อแสวงหาแนวทางในการดำรงชีวิตที่ดีกว่าเดิม
 
 
ไร้บ้าน เพราะทุนธรรมชาติถูกทำลาย
ในปัจจุบันไม่เพียงแต่ที่ดินที่มีราคาสูงขึ้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ก็เข้าถึงได้ยากมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งถูกตีตราให้เป็นพื้นที่หวงห้ามของรัฐ ส่วนหนึ่งถูกจับจองเป็นของเอกชน และอีกส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนสภาพอันเนื่องมาจากโครงการ “พัฒนา”ของรัฐบาล เช่น การสร้างเขื่อน การตัดถนน และการสร้างศูนย์ราชการ เป็นต้น
 
การทำลายหรือการเปลี่ยนสภาพทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงแต่ทำให้ “บ้าน” ของคนยากจนและคนด้อยอำนาจมีอาณาบริเวณคับแคบลง แต่ยังทำให้คนยากคนจนมีทางเลือกในการดำรงชีวิตในถิ่นฐานบ้านเกิดจำกัดลงไปด้วย   
 
ขณะเดียวกันทิศทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล และกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมระหว่างคนรวย คนจน คนชนบท คนเมือง และกดดันให้คนด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งอยู่ในภาคชนบทเลือกที่บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ หรือหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม
 
 
ไร้บ้าน เพราะเข้าไม่ถึงทุนทางการเงิน
ไม่มีใครสงสัยว่าคนไร้บ้านเป็นคนยากจน การถากถางทางชีวิตการจับจอบเสียมบุกเบิกป่าเปลี่ยนเป็นที่ดินทำกิน หรือการเริ่มต้นชีวิตในเมืองด้วยเสื่อผืนหมอนใบจนกระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิต กลายเป็นเพียงนิยายปรัมปราสำหรับคนสมัยนี้
เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งต้นชีวิตคนส่วนใหญ่ในโลกยุคนี้ แต่โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้มีไว้สำหรับคนทุกคน คนยากจนมักพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบเพียงเพื่อจะมีเงินสักก้อนมาเป็นทุนทำเกษตรหรือค้าขายเล็ก ๆ น้อย แต่พวกเขาก็มักโชคร้ายทำการผลิตล้มเหลวจนกระทั่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว
 
แรงกดดันทางเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตในเมือง การเป็นแรงงานขาดทักษะไร้ฝีมือ ทำให้คนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยที่ดี ซ้ำร้ายไปกว่านั้นแรงงานที่อพยพมาจากชนบทบางส่วนยังถูกล่อลวงจนหมดเนื้อหมดตัวเมื่อเหยียบย่างเข้ามาสู่เมืองใหญ่
 
มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากแม้ว่าจะอยู่รอดท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แต่ชีวิตของพวกเขาก็แขวนอยู่กับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะว่างงาน หรือถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
 
“ผมชื่อจรัล อายุ 55 ปี พื้นเพเป็นคนที่นี่ (เชียงใหม่) โดยกำเนิด อาชีพตอนนี้ยังไม่เป็นหลักแหล่ง รับจ้างที่ไหนก็ทำที่นั่น ผมจบ ม.3 ปี 2519 เคยทำงานโรงงานยาสูบไทยแอมที่สันกำแพง แล้วย้ายมาอยู่ลำพูน ตอนนั้นบ้านเราแอนตี้เรื่องการสูบบุหรี่ บริษัทเลยเลิกกิจการ ผมเลยจำเป็นต้องเลิกกับแฟน เพราะว่าตอนนั้นฐานะง่อนแง่นแล้ว...” (สัมภาษณ์ กลุ่มคนไร้บ้านช้างเผือก เชียงใหม่)
 
การสำรวจของกรมประชาสงเคราะห์ พบว่าปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมีคนไร้บ้านทั่วประเทศถึง 6,025 คน[1] ขณะที่ก่อนหน้านั้นการสำรวจพบจำนวนคนไร้บ้านน้อยกว่านี้มาก
 
ตาราง จำนวนคนไร้บ้านจากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ

ปีที่สำรวจ
กรุงเทพฯ
ภาคกลาง
ภาคเหนือ
ภาคใต้
รวม
2535
352
-
-
-
352
2537
358
1,520
703
177
3,473
2538
971
-
-
-
5,834
2540
1,712
1,798
976
312
6,025
ที่มา กรมประชาสงเคราะห์ (อ้างใน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 2548:2)  
 
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอย่างเป็นทางการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านมีความแตกต่างกันอยู่มากจนยากที่จะระบุจำนวนคนไร้บ้านที่แท้จริง

 
ไร้บ้าน เพราะสูญเสียทุนทางสังคม
ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญแต่ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวของการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ตามเกณฑ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนยากจนในปี 2549 คือคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1,386 บาทต่อเดือน และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2549 ประเทศไทยมีคนยากจน[2]6.1 ล้านคน แต่มีคนจนที่กลายเป็นคนไร้บ้านในสัดส่วนน้อยมาก อยู่
 
การศึกษาของหลายหน่วยงานพบว่า การกลายมาเป็นคนไร้บ้านเกิดจากปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว การแยกทางกับสามีหรือภรรยา การไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน หรือหน่วยงานใด ๆ ให้พึ่งพาอาศัยได้เมื่อพวกเขาประสบปัญหา
 
รายงานของคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการให้บริการและคุ้มครองทางสังคมแก่คนเร่ร่อนไร้บ้าน ระบุว่าคนไร้บ้านต้องการความเป็นอิสระ และต้องการความสัมพันธ์ทางสังคมที่อบอุ่นแม้จะไม่มีที่พักอาศัยอยู่อย่างถาวรก็ตาม หลายคนเลือกที่จะอยู่ในที่สาธารณะอย่างอบอุ่นกับครอบครัวใหม่ที่พบเจอในที่สาธารณะ และทิ้งอดีตของตนเองไว้ข้างหลัง
 
“ชื่อจันทิมา มาจากจังหวัดอุดรธานี อายุ 53 ปี จากพ่อแม่มาโดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะพ่อแม่ตายหมดแล้ว และมีพี่ขี้โกง โกงสมบัติ สามีก็ตายไปแล้ว...ไม่เหลือใครแล้ว...ถ้าไม่สบายก็ต้องขอความช่วยเหลือ แต่ถ้ายังช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ไปซื้อยาเอง” (สัมภาษณ์ กลุ่มคนไร้บ้านช้างเผือก เชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ มพศ.)
 
คนจำนวนมากใฝ่ฝันที่ได้จะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบใน ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง แต่คนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีภาพบ้านในอุดมคติเช่นนั้น พวกเขาเลือกมาเป็นคนไร้บ้านเพราะมีปัญหากับสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนเดิม อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงต้องการมีเพื่อนที่จะสามารถพึ่งพาและให้ความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาประสบปัญหา และไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ 

 
ไร้บ้าน เพราะบ้านไม่ใช่ “บ้าน”
คนไร้บ้านสะท้อนถึงสาเหตุของการกลายมาเป็นคนไร้บ้านแตกต่างกันไป แต่ลักษณะร่วมกันประการหนึ่งของการกลายมาเป็นคนไร้บ้านคือการที่บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ไม่ได้มีความเป็น “บ้าน” อีกต่อไป
 
“บ้าน” ในที่นี้มิได้หมายถึงเฉพาะการไร้บ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย แต่ยังหมายถึงการสูญเสียทุนธรรมชาติ ทุนทางการเงินในการประกอบอาชีพ และทุนทางสังคมหรือความผูกพันที่มีต่อสมาชิกร่วม “บ้าน”  แม้ว่าการไร้บ้านจะเป็นทางเลือกโดยสมัครใจของคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง แต่การไร้บ้านก็ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ไร้ตัวตน ไร้โอกาส และพื้นที่ทางสังคมและไร้ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต
 
การทำความเข้าใจภาวะไร้บ้านจึงจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงความหมายของ กับการเปลี่ยนสภาพและความหมายของพื้นที่ ทรัพยากร ความสัมพันธ์ทางสังคม ท่ามกลางพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจในโลกทุนนิยม
 
 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
คณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการให้บริการและคุ้มครองทางสังคมแก่คน
เร่ร่อนไร้บ้าน. (2552).รายงานการศึกษารูปแบบการให้บริการและคุ้มครองทางสังคมแก่คนเร่ร่อนไร้บ้าน.เอกสารอัดสำเนา.
นพพรรณ พรหมศรี, (บรรณาธิการ). (2551). ฉันคือคน...คนไร้บ้าน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพัฒนาที่อยู่
อาศัย.
นิตยา กัทลีรดะพันธุ์. (2535). รายงานผลการวิจัยการศึกษาสถานภาพและนโยบายเกี่ยวกับเด็ก
และเยาวชนผู้ด้อยโอกาส: เด็กเร่ร่อน. กรุงเทพฯ: โครงการสตรีละเยาวชนศึกษา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย. (2553) ร่างรายงานการศึกษาการศึกษาแนวทางช่วยเหลือบุคคลไร้ที่อยู่
อาศัย (คนไร้บ้าน) ตามมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550: 
กรณีการจัดศูนย์พักคนไร้บ้าน (เอกสารอัดสำเนา).
 


[1] ตัวเลขจากการสำรวจของกรมประชาสงเคราะห์ (อ้างใน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 2548:2)
[2] จำนวนคนจน หมายถึง จำนวนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน เส้นความยากจนคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกชนในระดับครัวเรือน ที่ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายด้านอาหารและสินค้าบริการจำเป็นพื้นฐานอื่น ๆ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net