Skip to main content
sharethis

กองทัพรัฐฉาน SSA จัดงานวันชาติปีที่ 63 ที่ดอยไตแลง “เจ้ากันเจ็ด” เรียกร้องผู้รักชาติช่วยกันกอบกู้บ้านเมือง “เจ้ายอดศึก” เรียกร้องชาวไทใหญ่ให้คิดถึงชาติที่ยังลำบากอยู่ ขอให้มาช่วยเหลือกัน ฝากสื่อบอก “อังกฤษ” ให้ดูแลปัญหาในพม่าและรัฐฉาน ในฐานะพยานสัญญาปางโหลง ทหารกองทัพรัฐฉาน SSA เดินสวนสนามเนื่องในงานวันชาติรัฐฉานปีที่ 63 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง ตอนใ้ต้ของรัฐฉาน เมื่อ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากร่วมชมการสวนสนามของทหาร SSA ทหาร SSA ขณะฟังคำกล่าวสุนทรพจน์จากผู้นำรัฐฉานและตัวแทนชนชาติต่างๆ ในรัฐฉานและรัฐชนชาติสหภาพพม่า ประชาชนหลายพันคนเดินทางมายังดอยไตแลง เพืื่อเข้าร่วมงานวันชาติรัฐฉาน เจ้าปายเมือง ผู้นำอาวุโสกล่าวเปิดงานวันชาติรัฐฉาน เรียกร้องให้ประชาชนอย่าลืมสัญญาปางโหลง พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State - RCSS) และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อ 7 ก.พ. 53 ที่กองบัญชาการสภากอบกู้รัฐฉาน ดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้ เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 53) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) จัดงานวันชาติรัฐฉาน ปีที่ 63 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีชาวไทใหญ่มาร่วมงานหลายพันคน โดยพิธีเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า มีการแสดงทักษะการใช้อาวุธของทหารไทใหญ่ การสวนสนามของทหารไทใหญ่ที่เพิ่งสำเร็จการฝึก เจ้าปายเมืองวอนอย่าลืมสัญญาปางโหลง ผู้นำชนชาติต่างๆ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ โดยหลังการสวนสนาม มีการร้องเพลงชาติไทใหญ่ หลังจากนั้นเจ้าปายเมือง ผู้นำอาวุโสกล่าวเปิดงานวันชาติรัฐฉาน ใจความตอนหนึ่งกล่าวว่าหลังจากมีการลงนามสัญญาปางโหลง ได้มีการสร้างเสาหินเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงสัญญาปางโหลง แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลพม่าได้สร้างเจดีย์สูงใหญ่ ให้เงามาบดบังเสาหินนี้ รัฐบาลให้สองผัวเมียชาวพม่าเป็นผู้ดูแลเสาหิน ต่อไปเสาหินปางโหลงก็อาจจะไม่เหลือ เจ้าปายเมืองยังกล่าววิงวอนให้ชาวไทใหญ่อย่าลืมความสำคัญของสัญญาปางโหลงด้วย จากนั้น พ.ท.เจ้าป๋องเครือ กล่าวถึงความสำคัญของวันชาติรัฐฉานและสัญญาปางโหลง หลังจากนั้นผู้แทนจากชนชาติต่างๆ ในรัฐฉานร่วมกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติรัฐฉาน ได้แก่ ผู้แทนสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) ผู้แทนจาก องค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organization - WNO) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization) หลังจากผู้แทนชนชาติต่างๆ ในรัฐฉาน กล่าวสุนทรพจน์แล้ว ผู้แทนจากรัฐอื่นในสหภาพพม่าได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ได้แก่ ผู้แทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union – KNU) และผู้แทนจากพรรคคะเรนนีก้าวหน้า (Karenni National Progressive Party – KNPP) จากนั้นผู้แทนประชาชนรัฐฉาน ได้กล่าวสุนทรพจน์ เจ้ากันเจ็ดให้กำลังใจผู้รักชาติพยายามกอบกู้บ้านเมือง หลังจากนั้นเจ้ากันเจ็ด ที่ปรึกษากองทัพ SSA และผู้นำอาวุโส เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ ขอบคุณตัวแทนชนชาติต่างๆ และขอบคุณประชาชนที่มาร่วมงาน เจ้ากันเจ็ดกล่าวตอนหนึ่งว่าพม่าหักหลักสัญญาปางโหลง ไม่เพียงแต่ประชาชนในรัฐฉานเท่านั้นที่รู้ แต่คนทั่วโลกเขาก็รู้ ทุกวันนี้คนในรัฐฉานต่างเจ็บใจ กินข้าวเคล้าน้ำตาทุกวัน นอกจากนี้เจ้ากันเจ็ด ยังกล่าวให้กำลังใจผู้รักชาติมีความพยายามในการกอบกู้ชาติบ้านเมือง แม้ผาสูงก็ยังอยู่ใต้ตีน น้ำลึกก็ยังยังอยู่ใต้เรือ เจ้ายอดศึกชี้รัฐบาลทหารพม่าจัดเลือกตั้งพวกเดียวกันเองไม่เกิดประชาธิปไตย ขณะที่ พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State - RCSS) และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพรัฐฉาน SSA กล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าว โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่าในปี 2553 ว่า รัฐบาลพม่าพยายามให้เกิดขึ้น แต่ทุกกลุ่มทุกพรรคการเมืองไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของเขา ขณะนี้หัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรคถูกจับกุม ทั้งพรรค SNLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน) และพรรค NLD (สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องเลือกตั้งพวกเดียวกันเอง ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ยาก ขณะที่มีแต่ชนกลุ่มน้อย กลุ่มหยุดยิง อยากให้ใช้การเมืองแก้ปัญหา แต่รัฐบาลพม่าสนใจแต่จะใช้การทหารแก้ปัญหา เรียกร้องชาวไทใหญ่ขอให้คิดถึงชาติที่ยังลำบาก ขอให้มาช่วยเหลือกัน พล.ท.เจ้ายอดศึก ยังกล่าวด้วยว่า ในวันชาติปีนี้ อยากกล่าว 3 ประเด็น ประเด็นแรก ประชาชนชาวไทใหญ่ไปอยู่ประเทศไหนก็แล้วแต่ให้คิดถึงชาติของเราว่ายังลำบากอยู่ ให้มาช่วยเหลือกัน ประเด็นที่สอง อยากฝากสื่อมวลชนไปบอกรัฐบาลอังกฤษ เพราะสัญญาปางโหลงอังกฤษเป็นพยาน ตั้งสหภาพพม่าขึ้นมาอังกฤษก็เป็นพยาน ตอนนี้อังกฤษยังมีบทบาทอยู่ แต่อังกฤษไม่มาช่วยเราเลย ทิ้งประชาชนแบบนี้ ทิ้งปัญหาให้เรา อยากให้รัฐบาลอังกฤษคิดหน่อย ให้มาดูแลประชาชนที่ยังลำบากอยู่ ประเทศอังกฤษปกครองเรา 60 กว่าปี ประเทศไทใหญ่เป็นอย่างไรเขารู้ปัญหาที่แท้จริง สหภาพพม่าเป็นอย่างไรเขาก็รู้ อยากให้ประชาชนของอังกฤษและผู้ใหญ่ในรัฐบาลอังกฤษ ให้ช่วยแก้ปัญหาของไทใหญ่และสหภาพพม่าเข้ามา ประเด็นที่สาม อยากเรียกร้องไม่ว่าสหประชาชาติ ไม่ว่าประเทศไหนในโลก ให้เห็นใจคนที่สหภาพพม่าที่ลำบากอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังยากจน ไม่มีสิทธิ ไม่มีสิทธิมนุษยชน การเลือกตั้งเกิดขึ้น อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ไม่ใช่อย่างนั้น การเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วจะเกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ไม่ใช่ จึงอยากให้ชาวโลกตรวจสอบด้วย 000 ความเป็นมาของวันชาติรัฐฉาน และการเรียกร้องเอกราชของชาวไทใหญ่ สำหรับความเป็นของวันชาติรัฐฉาน เกิดขึ้นในปี 1947 หรือ พ.ศ. 2490 ระหว่างการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 ที่เมืองปางโหลง (Panglong) ภาคใต้ของรัฐฉาน ระหว่างวันที่ 3 - 12 ก.พ. 2490 โดยมีการประชุมระหว่างของบรรดาเจ้าฟ้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนในรัฐฉานที่ โดยในวันที่ 7 ก.พ. ที่ประชุมร่วมกันออกแถลงการณ์จัดตั้งสภาสหพันธรัฐฉาน (Federated Shan State Council) แล้วยกเลิกสภามุขมนตรีแห่งรัฐฉาน (Shan Chief’s Council) ที่ตั้งโดยอาณานิคมอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันในการประชุมที่ปางโหลง ยังมีการประชุมระหว่างผู้แทนจากรัฐฉาน คะฉิ่น และชินด้วย โดยผู้แทนทั้งสามรัฐได้ร่วมกันตั้ง สภาสูงสุดแห่งประชาชนบนเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill Peoples – SCUHP) ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง ที่สำคัญคือ ขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าชาวปะหล่อง ซึ่งปกครองเมืองน้ำสั่น ทางภาคเหนือรัฐฉาน และเป็นประธานสภาสหพันธรัฐฉานขณะนั้นได้กำหนดให้ผืนธงสีเหลือง เขียว แดง และวงกลมสีขาว พร้อมด้วยเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของชาวรัฐฉานทั้งมวล และเนื่องจากการประชุมที่ปางโหลงแสดงถึงความเป็นเอกภาพด้วยการบรรลุข้อตกลงครั้งสำคัญหลายฉบับ ชนชาติในรัฐฉานได้ถือเอาวันที่ 7 ก.พ. เป็นวันชาติรัฐฉานพร้อมจัดงานฉลองทุกปีนับแต่นั้นมา ขณะที่ต่อมาในวันที่ 10 ก.พ. คณะผู้แทนของพม่าคือนายพลออง ซาน พร้อมด้วยผู้แทนจากรัฐบาลอังกฤษ และผู้แทนจากพรรคแรงงานอังกฤษ เดินทางมาถึงปางโหลง โดยร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อมาเจรจากับสภาสูงสุดแห่งประชาชนบนเทือกเขา และมีการลงนามในสัญญาปางโหลงวันที่ 12 ก.พ. 2490 สัญญาปางโหลงนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญสหภาพพม่าระหว่าง 10 มิถุนายน ถึง 24 กันยายนปีเดียวกันนั้น ทำให้บรรดารัฐต่างๆ ที่รวมกันในสหภาพพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหภาพพม่า มีเงื่อนไขให้รัฐของชนกลุ่มน้อยใช้ "สิทธิแยกตัว" (Right of Secession) ได้ต่อเมื่อหลัง 10 ปี ที่ได้รับเอกราชหากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภาแห่งรัฐนั้นๆ (State of Council) 2 ใน 3 และผู้นำของรัฐนั้นต้องแจ้งให้ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพรับทราบมติ ให้ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที และยังไม่ทันที่ นายพลออง ซาน จะได้พิสูจน์คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราชกับรัฐฉานและรัฐชนชาติต่างๆ หากต้องการแยกตัวออกจากสหภาพพม่า นายพลออง ซานก็เสียชีวิตไปเสียก่อนที่สหภาพพม่าจะได้รับเอกราช โดยเขาเสียชีวิตหลังเหตุการณ์มือปืนบุกกราดยิงระหว่างการประชุมสภาบริหาร (Executive Council) แห่งรัฐบาลชั่วคราวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 จนนายพลออง ซาน และที่ปรึกษาทางบริหารอื่นๆ อีกคน 6 รวมทั้งเจ้าจ่ามทุน เจ้าฟ้าเมืองป๋อนเสียชีวิต และแม้จะครบ 10 ปีตามหลักเกณฑ์ใช้ “สิทธิแยกตัว” ออกจากสหภาพพม่าแล้ว แต่ผู้นำจากรัฐฉานไม่มีโอกาสได้ใช้ “สิทธิแยกตัว” ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลย โดยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2505 นายพลเนวินได้ทำรัฐประหารยกเลิกรัฐสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ "สิทธิแยกตัว" กับชนกลุ่มน้อย โดยในรัฐฉานมีความพยายามทั้งในทางการเมืองและการทหารขอแยกตัวออกจากสหภาพพม่ามาอย่างยาวนาน ในวันที่ 21 พ.ค. ปี 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นที่อำเภอเมืองหาง เขตเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน โดยปัจจุบันในรัฐฉาน มีกองกำลังที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าคือ Shan State Army หรือ SSA นำโดย พ.อ.เจ้ายอดศึก (ยศในขณะนั้น) ภายหลังจากที่ขุนส่านำกองทัพเมิงไต หรือ MTA (Mong Tai Army) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2539 และต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 กองกำลังแห่งชาติรัฐฉาน หรือ SSNA ซึ่งแยกตัวจาก MTA เมื่อปี 2538 และทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่านั้น ได้ยกเลิกสัญญาหยุดยิง และ พ.อ.เจ้าจายยี่ ผู้นำ SSNA ได้นำกำลัง SSNA กลับมารวมกำลังกับกองทัพรัฐฉาน SSA เรียบเรียงบางส่วนจาก อัคนี มูลเมฆ (แปล), รัฐฉาน: ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ, [แปลจาก The Government of Tailand Revolutionary Council (TRC), Historical Facts about the Shan State, ไม่ทราบปีที่พิมพ์] กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548 น.28-39.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net