เจาะเลือกตั้งคอสตาริกา ปธน.คนใหม่ในประเทศไร้กองทัพ

จากในอดีตที่เคยเกิดรัฐประหารและสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ปัจจุบัน คอสตาริกากลายเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดในแถบภาคพื้นทวีป และล่าสุดก็ได้ปธน. หญิงคนใหม่ ซึ่งมีแนวทางเปิดเสรีทางการค้า ด้านนักวิเคราะห์ชี้ ‘ฝ่ายซ้าย’ ในประเทศแถบละตินอเมริกาเริ่มหายไป


ภาพผู้ลงสมัครชิง ปธน. ของคอสตาริกา
(จากซ้ายไปขวา) ลอว์รา ชินชิลา, ออตโต กูวารา, ออตตัน โซลิส
(ภาพจาก Reuters)

 


ปธน.หญิง ผู้เปิดเสรีการค้า แต่อนุรักษ์ด้านเพศวิถี

ลอว์รา ชินชิลา ผู้สมัครจากพรรคเนชันแนล ลิเบอร์เรชั่น (National Liberation หรือ PLN) ซึ่งเป็นพรรคแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย เอาชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดโดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 47

ขณะที่อันดับสองเป็นของ ออตตัน โซลิส จากพรรคแนวทางซ้ายปฏิรูปอย่างพรรค ซิติเซนส แอกชั่น (Citizen's Action หรือ PAC) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 25 ส่วนผู้ได้รับคะแนนอันดับสามคือ ออตโต กูวารา จากพรรคลิเบอร์ทาเรียน มูฟเมนท์ (Libertatian Movement Party หรือ PML) ซึ่งเป็นพรรคแนวทางเสรีนิยมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 21 โดยผู้ลงสมัครทั้งสองรายดังกล่าวนี้ยอมรับความพ่ายแพ้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบผลว่า ส.ส. ของพรรคเนชันแนล ลิเบอร์เรชั่น จะได้รับเสียงข้างมากในสภาหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ชินชิลาเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีออสการ์ อาเรียส ซึ่งทั้งคู่สนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีของกลุ่มประเทศอเมริกากลาง (CAFTA) โดยมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้ากับต่างประเทศและสนับสนุนการแข่งขันในระดับเอกชน โดยอาเรียสบอกว่าจะยังคงนโยบายดังกล่าวนี้ไว้โดยเดินหน้าทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกับสหรัฐฯ และเปิดตลาดการค้ากับจีน

แม้จะมีนักวิจารณ์กล่าวว่านโยบายการค้าในสมัยของอาเรียสให้ความสำคัญกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องแลกกับการทำให้ระบบนิเวศน์แย่ลง แต่ชาวคอสตาริกาส่วนใหญ่ดูจะยังพอใจกับสภาพปัจจุบันที่มีฐานค่าจ้างค่อนข้างสูง อัตราผู้ได้รับการศึกษาสูงร้อยละ 97 และมีประชากรที่คุณภาพชีวิตดีที่สุดในละตินอเมริกา

ชายสูงอายุที่เลือกชินชิลาบอกว่า เขาลงคะแนนให้พรรคเนชันแนล ลิเบอร์เรชั่น เสมอ และดีใจที่ได้ประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง ขณะที่นักโทษหญิงในเรือนจำผู้หนึ่งบอกว่าเธอลงคะแนนเสียงให้ชินชิลาจากในคุก เพราะเห็นว่าชินชิลาสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้หญิง

ประเทศแถบละตินอเมริกาในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีผู้หญิงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศปานามา, ชิลี, อาร์เจนติน่า หรือ นิคารากัว และเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา คอสตาริกา ก็กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ลงสมัครหญิงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ปธน. หญิงคนล่าสุดของคอสตาริกา ก็มีด้านที่อนุรักษ์นิยมเช่นกัน คือการที่เธอมีท่าทีต่อต้านการทำแท้งและการแต่งงานของชายรักเพศเดียวกัน


ฝ่ายซ้ายคะแนนหาย ถ้า 'ไม่มีอะไรใหม่'

ทางสำนักข่าว คริสเตียน ไซเอนท์ มอนิเตอร์ (CSmonitor) ระบุว่าทั้งสามพรรคที่ได้รับคะแนนในสามอันดับแรก ล้วนเป็นพรรคที่เน้นนโยบายการเปิดตลาด ลดภาษี และเน้นการบริหารที่คล่องตัว หนึ่งในผู้ลงสมัครคือ ออตโต กูวารา ยังสนับสนุนให้ปฏิรูประบบสาธารณสุขให้เป็นของเอกชนด้วย

ขณะเดียวกันยังได้เขียนวิเคราะห์ไว้ว่าเหตุใดพรรคฝ่ายซ้ายถึงได้รับคะแนนน้อยกว่าพรรคสายกลางหรือพรรคฝ่ายขวา (ตามการจำกัดความของ CSmonitor) ซึ่งผู้สำรวจโพลล์ของสถาบันโพลล์ CID-Gallup บอกว่ามีบางคนที่คิดจะเลือกใครก็ได้ที่ไม่ใช่คนของพรรคเนชันแนล ลิเบอร์เรชั่น และตัวเลือกถัดมาของพวกเขาคือ ออตโต กูวารา จากพรรคลิเบอร์ทาเรียน มูฟเมนท์ ซึ่งเน้นการหนุนภาคธุรกิจ มีทุนหนา และจูงใจผู้ลงคะแนนได้

คนขับแท็กซี่คนหนึ่งก็บอกว่าเขาเคยโหวตให้ตัวแทนจากพรรคฝ่ายซ้ายอย่างโซลิสมาก่อน แต่ในปัจจุบันเขาชอบกูวารามากกว่า เนื่องจากกูวารามีแนวคิดใหม่น่าสนใจ และน่าจะทำให้คอสตาริกาเปลี่ยนแปลง ส่วนโซลิสนั้นเสียเครดิตไปเล็กน้อยและเขาก็ไม่มีอะไรใหม่เลย

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศในละตินอเมริกาเริ่มมีการเลือกพรรคฝ่ายขวาขึ้นมาแทนพรรคฝ่ายซ้าย เช่นในปานามา ริคาร์โด มาร์ติเนลลี เศรษฐีซูเปอร์มาร์เกตนักอนุรักษ์นิยมถูกเลือกขึ้นมาแทนฝ่ายซ้าย-กลาง ในชิลี เซบาสเตียน ปิเนรา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ชนะการเลือกตั้ง และยึดตำแหน่งมาจากฝ่ายซ้ายซึ่งเคยครองความเป็นผู้นำชิลีมากว่า 20 ปี ขณะที่ในฮอนดูรัสพอร์ฟิริโอ โลโบ เจ้าที่ดินพรรคอนุรักษ์นิยม ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แทนอดีตประธานาธิบดีเอียงซ้ายอย่างเซลายา ที่ถูกทำรัฐประหารไป

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็มองว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ เพราะการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคในคอสตาริกาไม่ได้แยกชัดเจนมากเท่าใด สำหรับผู้ลงคะแนนแล้ว การลงคะแนนในคอสตาริกาเป็นเรื่องของการเลือกรัฐบาลชุดเดิมหรือชุดใหม่เท่านั้น


มองย้อนหลัง คอสตาริกา: ประเทศไร้กองทัพ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คอสตาริกาต้องประสบกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร และมีการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันไปมา จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ขึ้น 44 วัน ในปี 1948 หลังสงครามชิงอำนาจจบลง ก็มีการยกเลิกกองทัพและนำพาประเทศคอสตาริกาเข้าระบอบสู่ประชาธิปไตยสมัยใหม่

ปัจจุบันคอสตาริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงสุดในภาคพื้นทวีปอเมริกากลาง
ออสการ์ อาเรียส อดีตประธานาธิบดี เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1987 จากการที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาสงครามกลางเมืองในแถบประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าผลงานล่าสุดที่สหรัฐฯ มอบหมายให้เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในประเทศฮอนดูรัส จะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐประหารก็ตาม

ล่าสุด คอสตาริกา ยังเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ของการจัดอันดับประเทศ แฮปปี้ แพลนเน็ต อินเด็กซ์ (Happy Planet Index) ของปี 2009 ซึ่งจัดให้กับประเทศที่มีสุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
 
 

 

ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก

Costa Rica election: Why the left is lagging, CSmonitor, 07-02-2010
Costa Rica elects 1st woman president in landslide, AP, 08-02-2010

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท