สลัม 4 ภาคชุมนุมหน้าคมนาคม จี้แก้ปัญหาเช่าที่การรถไฟ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมพลเกือบพัน ชุมนุมหน้า ก.คมนาคม ร้องแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟฯ เร่งให้เสร็จในกุมภาพันธ์นี้ หลังประชุมร่วมรัฐมตรี ด้านผู้ว่าการ รฟท.ชี้ประธานบอร์ดรถไฟฯ ลาออก ทำงานสะดุด คาดสามารถดำเนินการต่อสัญญาเช่าเสร็จภายใน มี.ค.นี้

วันนี้ (9 ก.พ.53) เมื่อเวลา 9.00 น.เครือข่ายสลัม 4 ภาคกว่า 900 คน นัดรวมตัวเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคม ขอพบ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการการกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้ร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมจี้ให้สานต่อนโยบายให้คนจนเช่าที่ดิน เร่งดำเนินการแก้ปัญหากรณีต่างๆ ภายในเดือน ก.พ.นี้
 

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาค นัดรวมตัวหน้าลานพระรูป ถือฤกษ์ 9.49 น.ออกเดินเท้าไป กระทรวงคมนาคม

ตั้งเต็นท์หน้า กระทรวงคมนาคม ขู่อยู่ยาวหากการเจราจาไม่เป็นผล
 

นายจิตติ เชิดชู ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยถึงเหตุผลของการชุมนุมในวันนี้ว่า เป็นการติดตามเรื่องเก่าในกรณีปัญหาต่างๆ ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ได้มีข้อเสนอไปแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ ทั้งเรื่องกรณีการขอเช่าใหม่ กรณีการนัดทำสัญญาเช่า และการขอเช่าพื้นที่เพิ่ม

นอกจากนี้ยังมีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับกระแสการแปรรูปการรถไฟฯ ที่ว่าอาจมีการจัดตั้งบริษัทมาดูและเรื่องที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้การขอเช่าที่ดินมีความยุ่งยากขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะมีการแปรรูปจะมีขึ้น จึงต้องการที่จะให้การเช่าที่ดินเพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงที่อยู่อาศัยของชุมดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.52โดยมีชุมชนแออัดจำนวน 61 ชุมชน ตามรายชื่อของเครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นชุมชนนำร่อง

นายจิตติกล่าวถึงความไม่มั่นใจถึงผลกระทบจากเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยว่า หากเกิดการยุสภาจะทำให้การแก้ปัญหาหยุดชะงัก อาจมีนายทุนถือโอกาสมาเช่าที่แทน เพราะพื้นที่ตั้งชุมชนบางแห่งอยู่ในที่ดินราคาแพง มีศักยภาพสูง และการให้เอกชนเช่าจะได้เงินมากกว่าการให้สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาคเช่า

ที่งนี้ ปัจจุบัน รฟท.อ้างว่าที่ดินมีศักยภาพ ไม่อยากให้ชาวบ้านเช่า ทั้งที่ชุมชนตั้งมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้สิทธิแต่คนรวยอย่างเดียว ต้องให้สิทธิคนจนที่เขาอยู่มาก่อนด้วย อย่างน้อยก็มีการเจรจา

“อยากให้รัฐมนตรีมาเจรจา ชัดเจนก็จะกลับ หากไม่ชัดเจนเราก็ขออยู่ต่อจนกว่าจะเกิดการแก้ปัญหา” นายจิตติกล่าวถึงข้อเรียกร้อง

ด้านหญิง อายุ 58 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนโรงปูน เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ มากว่า 30 ปี กล่าวให้ข้อมูลว่า หากมีการจัดให้เช่าพื้นที่ก็จะได้ใช้น้ำและไฟที่มีราคาถูกลง เพราะปัจจุบันต้องซื้อต่อจากเอกชนและเสียค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในราคาที่แพงมาก ซึ่งเป็นปัญหาของคนหาเช้ากินค่ำ

“มาชุมนุมก็ลำบาก แต่ทำไงได้เรากลัวไม่มีที่อยู่ ถ้าคนรวยมาเช่าเราก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ที่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีปัญญาซื้อ ที่ต่างจังหวัดก็ไม่มี” ชาวบ้านชุมชนโรงปูนกล่าว

อย่างไรก็ตามตามแถลงการณ์ของเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีชุมชนที่สามารถเช่าที่จาก รฟท.แล้วเป็นจำนวน 39 ชุมชน มีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 3,000 ครอบครัว และชุมชนเหล่านี้ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับ รฟท.เป็นเงินรวมแล้วกว่า 20 ล้านบาท
 

กิจกรรมระหว่างรอการเจรจา
 

จากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น.ตัวแทนชุมชนต่างๆ ในเครือข่ายสลัม4 ภาค ได้เข้าร่วมประชุมหารือในการแก้ปัญหากับนายโสภณ ภายในกระทรวงคมนาคม โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่รออยู่ด้านนอก ซึ่งผลการประชุมแก้ไขปัญหาในกรณีต่างๆ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ถูกนำเข้าพูดคุยประกอบด้วย 1.ให้คณะกรรมการการรถไฟฯ พิจารณาอนุมัติหลักการเช่า สำหรับชุมชนเช่าใหม่ ได้ข้อสรุปว่า ในกรณี 4 ชุมชนของ จ.ขอนแก่น ภายในเดือนมีนาคมนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดการรถไฟ ส่วนกรณีของชุมชนใน จ.เชียงใหม่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ก่อน 2.กรณีการทำสัญญาเช่าที่ดินระหว่าง รฟท.กับ สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) เพื่อให้ พอช.นำไปให้ชุมชนเช่าต่อ ภายในเดือน ก.พ.ซึ่งได้รับการอนุมัติการเช่าที่จากบอร์ดการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2549 ให้ดำเนินการจัดทำสัญญาและลงนามภายในเดือนนี้ 

3.ชุมชนทับกฤช จ.นครสวรรค์ และชุมชนริมทางรถไฟหลังวัดช่องลม-หลังฉาง เขตยานนาวาที่ขอเช่าพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อกันเป็นระยะร่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทาง รฟท.อนุมัติพื้นที่เช่าให้กับทั้ง 2 ชุมชน โดยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม

4.กรณีที่มีปัญหาตกค้าง ในกรณีค่าชดเชยศูนย์อเนกประสงค์ 4 ชุมชน ที่โดนผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (วัดเพลง สะพานดำ ชัยพฤษ์1 ชัยพฤษ์ 2) ทางปลัดกระทรวงจะไปเจรจากับทางบริษัทให้จ่ายค่าชดเชยทั้งหมด 4 ชุมชนรวม 4 แสนบาท ส่วนกรณีการทำสะพานข้ามชุมชนคลองตัน เขตสวนหลวง ให้ทำตามข้อเรียกร้อง และกรณีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย ที่ขอให้เปลี่ยนการคิดค่าเช่าเป็นอัตรา 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี เริ่มต้นในปีนี้ และ

5.ชุมชนที่เตรียมขอเช่าใหม่ 2 ชุมชน คือ ชุมชนโรงปูน และชุมชนเพชรพระรามฝั่งเหนือ ในเขตห้วยขวาง ให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลการแก้ปัญหา

อนึ่ง การเจรจาในครั้งนี้ได้ทำบันข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

ส่วนเว็บไซต์โพสทูเดย์ รายงานว่า นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ว่า มาตรการในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินของ รฟท.ยังติดปัญหาเล็กน้อยเนื่องจาก นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ ประธานบอร์ด การรถไฟฯ ได้ลาออกไปตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งประธานคนใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถดำเนินการต่อสัญญาเช่าที่ดินแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ส่วนในพื้นที่ที่มีปัญหาทับซ้อนแนวท่อแก๊ส ได้แก่ ชุมชนโรงปูนฝั่งเหนือ ฝั่งใต้ และชุมชนเพชรพระราม ฝั่งเหนือ รฟท.จะต้องตรวจสอบรังวัดพื้นที่เพื่อจัดทำข้อเสนอและแผนผังการเช่าต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท