Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กฎหมายความมั่นคงไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเคยกล่าวไว้ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนมีนาคม 2509 ว่า

"ไม่มีคนที่มีความรับรู้อย่างถูกต้องคนใดชอบกฎหมายความมั่นคงภายใน เพราะกฎหมายนี้ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยทุกเรื่อง"[1]

แต่ประเทศไทยกลับมีชุดกฎหมายความมั่นคง (หลายฉบับ) ไว้ให้รัฐหยิบฉวยใช้ ภายใต้ข้ออ้างแห่งความจำเป็น ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อให้รัฐสามารถใช้อำนาจในสภาวะที่กฎเกณฑ์เช่นการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพลเมืองถูกยกเลิก

ชุดกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย

พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2450 (รัชกาลที่ 6) แก้ไขอีกครั้งในปี 2457 และบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2495 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาแก้ไขในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกมาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ลักษณะโดยรวมของกฎหมายทั้งสามฉบับคือ ล้วนอ้างเหตุจำเป็นในการประกาศใช้เพื่อให้รัฐเข้าแทรกแซงและจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ดังนี้

กฎอัยการศึก ประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร

พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศใช้เมื่อเกิดสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศใช้เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่ม บุคคลที่จะทำให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของประชาชน หรือของรัฐ

จนมีผู้วิพากษ์ว่า[2] เหตุประกาศใช้ของกฎหมายทั้งสามฉบับไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ ถ้อยความต่างๆ ก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ทั้งยังล้วนปราศจากการตรวจสอบ เพียงอ้างว่า “ไม่มั่นคง” ก็จะประกาศใช้ จึงมีการเสนอให้เรียกกฎหมายชุดนี้ว่า “ชุดกฎหมายการก่อการร้ายของรัฐบนพื้นฐานความกลัว"

ในเมื่อชุดกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเครื่องมือคุกคามสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในนามความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งยังเป็นการคุกคามที่รุนแรงถึงขั้นจัดให้เป็น “การก่อการร้าย” แล้วทำไมสังคมไทยจึงยังเพิกเฉยนิ่งงันต่อการประกาศใช้ชุดกฎหมายนี้ เหตุใดจึงยังไม่มีการตั้งคำถามหรือการดำเนินการอย่างจริงจังต่อการใช้อำนาจของรัฐในการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยตรงอย่าง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”

เป็นที่ทราบกันว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (The National Human Rights Commission of Thailand) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่อ้างว่าเกิดจากแรงผลักดันและการเรียกร้องของประชาชนซึ่งมุ่งหวังจะให้มีกลไกอิสระทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดาให้ปรากฏเป็นจริงตามที่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพอย่างกว้างขวางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายในรัฐ ทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตามพันธกรณีแห่งกฎหมายระหว่างประเทศหลายต่อหลายฉบับที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี

อำนาจหน้าที่ดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกระบุไว้อย่างพื้นฐานที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2550 บทบัญญัติมาตรา 257 ข้อ 1 ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

และถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 15 ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ดังนี้

1.ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

2.ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

3.เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แล้วเหตุใดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงยังคงนิ่งงัน ปล่อยให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านชุดกฎหมายดังกล่าวลอยหายไปเป็นเพียงเสียงในสายลม

หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เห็นว่าชุดกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวเป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชน

“เรา” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงออกอย่างจริงจังต่อปัญหาการคุกคามสิทธิมนุษยชนของพลเมืองแห่งรัฐไทยโดยชุดกฎหมายก่อการร้ายของรัฐชุดนีี้

 


[1] รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข. บทเรียนจากมาเลเซีย: กฎหมายความมั่นคงกับปัญหาสิทธิมนุษยชน.http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999514.html

[2] สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net