Skip to main content
sharethis

ในขบวนงานพัฒนาภาคอีสาน หากพูดถึงองค์กรชาวบ้านที่ทำงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นและการแพทย์พื้นบ้านมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หนึ่งในนั้นเชื่อแน่ว่าต้องมีชื่อของ “ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร” รวมอยู่ด้วย

 

 
 
 
“ตะบัล” เป็นคำเขมรแปลว่า “ครก” ส่วน “ไพร” แปลว่า “ป่า” ซึ่งความหมายที่ลึกซึ้งคมคายจากคำอธิบายของ “เอียด ดีพูน” นักพัฒนาอาวุโสแห่งภาคอีสาน หนึ่งในผู้บุกเบิกศูนย์สมุนไพรแห่งนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗  ก็คือ
 
“ตะบัลแปลว่าครก ไพรคือป่า เมื่อพูดถึงป่าก็จะเห็นว่าในป่านั้นย่อมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชสมุนไพรนา ๆ ชนิด และด้วยเหตุที่ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในบ้านตะบัน ดังนั้นนัยความหมายโดยรวมในเชิงสัญลักษณ์ของศูนย์ตะบัลไพรก็คือเป็นเหมือนกับเป็น ‘ครกบดยาแห่งบ้านตะบัน’ ” 
 
ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรก่อเกิดในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๘๑ / ๑ หมู่ ๗ ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ราว ๕ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสุรินทร์ – ศีขรภูมิ ปัจจุบันมีคุณชัชวาลย์ ชูวา เป็นอายุรเวทประจำศูนย์และผู้ประสานงานงานกลาง ถือเป็นอีกองค์กรพัฒนาเอกชนหนึ่งที่ก่อเกิดจากการทำงานพัฒนาของคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาสุรินทร์ (ศพพ.สุรินทร์) และมูลนิธิพิพิธประชานาถ สององค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดสุรินทร์ที่มีฐานประสบการณ์ด้านงานพัฒนามายาวนานร่วม ๒๐ ปี อีกทั้งยังได้สั่งสมองค์ความรู้ ประสบการณ์งานพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะงานพัฒนาทางเลือกที่ยึดหลักการของพุทธปรัชญาเป็นเครื่องชี้นำความคิดและการปฏิบัติ
 
ปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถานที่รับซื้อสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูปเป็นยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่น ๆ กว่า ๖๕ ตำรับแล้ว กิจกรรมอีกด้านหนึ่งที่ศูนย์แห่งนี้ดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องแพทย์พื้นบ้าน การส่งเสริมแนวคิดเกษตรกรรมทางเลือก รวมไปถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นโดยใช้รูปแบบป่าครอบครัว
 
มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ ๕ ตำบล ได้แก่ ตำบลบุฤาษี ตำบลท่าสว่าง ตำบลตระแสง อ.เมือง ตำบลตาเบา อ.ปราสาท และตำบลเขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์
 
ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่จะมีเนื้องานที่โดดเด่นและเข้มข้นแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดร่วมสำคัญนั่นก็คือ มุ่งไปสู่การทำงานพัฒนาที่รอบด้าน ครอบคลุมทุกมิติของชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องานด้านป่าชุมชน เกษตรอินทรีย์ หมอพื้นบ้าน นวดแผนไทย และประเด็นอื่น ๆ ซึ่งจนถึงวันนี้งานพัฒนาหลายด้าน หลายประเด็น ได้กลายเป็นความรู้ที่พร้อมจะเผยแพร่สู่สังคม ทั้งในแง่ของแนวคิด หลักการพื้นฐาน ตลอดจนถึงประสบการณ์ บทเรียน ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง
 
ป่าครอบครัว : การฟื้นฟูนิเวศพื้นบ้านเพื่อการพึ่งตนเอง
 
แนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นบ้าน โดยวิธีจัดการพื้นที่ภายในบริเวณบ้านเพื่อทำการผลิตที่หลากหลายด้วยรูปแบบ ป่าครอบครัว” จากการสนับสนุนของมูลนิธิพิพิธประชานาถ (มพป.) โดยมีศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรเป็นองค์กรดำเนินงาน นับเป็นเนื้องานอีกด้านหนึ่งที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนได้ตระหนัก และให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่หลากหลาย สอดคล้องกับระบบนิเวศท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพึ่งตนเองในระดับพื้นฐานทั้งในด้านการผลิตและบริโภค
 
“ป่าครอบครัว”  คือแนวคิดของการสร้างความมั่นคงในเรื่องปัจจัย ๔ ที่ถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นแนวคิดที่พัฒนาจากรูปแบบการจัดการสวนหลังบ้าน ซึ่งแต่เดิมครอบครัวในชนบทส่วนใหญ่ได้มีการจัดการมาก่อนแล้ว เพียงแต่ภายใต้แนวคิดการจัดการป่าครอบครัว ได้มีการจำแนกให้เห็นถึงหลักการและองค์ประกอบซึ่งเป็นพื้นฐานใน ๔ ด้านได้แก่
  • เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเอง ปลูกเองในพื้นที่ของตัวเอง
  • มีความหลากหลายในแปลงทั้งพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล ไม้ใช้สอยและสัตว์เลี้ยง
  • มีความมั่นคงด้านอาหาร ปลอดภัยและมีรายได้เสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต
  • ทำแล้วมีความสุข มีความภาคภูมิใจ ก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
                       
อย่างไรที่เรียกว่า “ป่าครอบครัว”
 
รูปแบบการผลิตในระบบป่าครอบครัว ซึ่งเป็นแบบแผนทั่วไปก็คือจะมีการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ คละเคล้าผสมผสานกันไป ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ไม้ใช้สอย ผักสวนครัวรวมถึงสมุนไพรรักษาโรคชนิดต่าง ๆ โดยองค์ประกอบที่สำคัญคือ
  • พื้นที่การผลิต  ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งพัฒนาขึ้นจากสวนหลังบ้าน เป็นระบบการจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกในบริเวณบ้านแบบดั้งเดิมของคนในชนบท แต่ในระบบการจัดการแบบป่าครอบครัว จะให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างสูงสุด ทั้งในบริเวณบ้านและหัวไร่ปลายนา
  • ประเภทของพันธุ์ไม้ พันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าครอบครัวให้ความสำคัญกับพืชพันธุ์ท้องถิ่นที่สามารถใช้บริโภคและให้ผลผลิตหมุนเวียนไปได้ตลอดทั้งปี เป็นการปลูกแบบผสมผสาน และถ้าหากจำแนกให้เห็นตามระดับความสูงของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดก็สามารถแบ่งตามระดับความสูงของกลุ่มพันธ์ไม้ประมาณ ๕ กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรกไม้สูงประเภท ต้นหมาก ต้นมะพร้าว กลุ่มที่สองจะเป็น มะม่วง ขนุน กลุ่มที่สามประเภทไม้ผลเช่นกล้วย อ้อย มะละกอ กลุ่มที่สี่เป็นพืชผักสวนครัว สมุนไพร และกลุ่มที่ห้ากลุ่มสุดท้ายเป็นประเภทไม้เลื้อยอย่างเช่น ตำลึง ผักปัง เป็นต้น
 
โดยสรุป แนวคิดในการจัดการป่าครอบครัวก็คือ การให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่หลากหลายในพื้นที่การผลิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภายในบริเวณบ้าน หัวไร่ปลายนา มุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารสำหรับครอบครัวและเผื่อแผ่ไปยังเครือญาติคนในชุมชน เป็นรูปแบบการผลิตขนาดเล็กเน้นหนักให้ความสำคัญกับผลผลิตที่สามารถตอบสนองการบริโภคได้ในชีวิตประจำวัน
 
หมอพื้นบ้าน อีกหนึ่งงานสืบสานความรู้
 
กลุ่มหมอพื้นบ้าน ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนโดยศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร ก่อเกิดจากการรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเคล็ดวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ตามวิถีและแบบแผนของระบบการแพทย์แผนโบราณ ของเหล่าบรรดาหมอพื้นบ้านในจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะกลุ่มหมอพื้นบ้านในพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา จ.สุรินทร์ (ศพพ. สุรินทร์) ดำเนินงานพัฒนาอยู่ในขณะนั้น
 
ต่อมาในในปี ๒๕๓๓ ได้มีการพัฒนายกระดับจากกลุ่มผู้สนใจมาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบการแพทย์แผนโบราณของชุมชนชาวไทเขมรในจังหวัดสุรินทร์ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อที่จะนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของโรคภัยที่เกิดขึ้น และมีการดำเนินงานสืบต่อเนื่องจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรเป็นศูนย์กลางในการหนุนเสริมทั้งในแง่การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดองค์ความรู้และขยายผลความรู้ที่ได้ออกสู่พื้นที่ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
นวดแผนไทย – นวดพื้นบ้านฟื้นภูมิปัญญารักษาสุขภาพ
 
อีกหนึ่งงานที่โดดเด่นและถือเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ของศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรนั่นก็คือ การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้เรื่องการนวดแผนไทย – นวดพื้นบ้าน ตลอดจนถึงการสืบสานองค์ความรู้ที่ว่าให้มีชีวิตและคงอยู่ในชุมชน และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็คงต้องพูดถึงกลุ่มเรียนรู้เรื่องการนวดแผนไทย - นวดพื้นบ้าน ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
 
กลุ่มเรียนรู้เรื่องการนวดแผนไทย - นวดพื้นบ้าน ตำบลตาเบา ก่อเกิดจากพื้นฐานแนวคิดในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะปัญหาในภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การอพยพแรงงานไปต่างถิ่น รวมถึงปัญหาในด้านสุขภาพที่นับวันจะกลายเป็นภาระที่หนักขึ้นทุกวันของคนในเขตชุมชน 
 
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างกลุ่มสมาชิกโดยมีกลุ่มสตรีเป็นแกนหลัก ร่วมกับศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การนวดแผนไทยน่าจะเป็นทางออกได้ดีที่สุดภายใต้สภาพปัญหาที่กำลังรุมเร้า ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถยึดเป็นอาชีพเสริมได้และที่สำคัญ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องลงทุนสูงเพียงแค่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นก็สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้และฝึกหัดทักษะเบื้องต้นได้
 
การเรียนรู้เรื่องการนวดแผนไทยภายในเขตตำบลตาเบาได้รับการหนุนเสริมเป็นอย่างดีทั้งจากองค์กรภายนอกอย่างเช่นศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรและองค์กรภายในนำโดย หลวงพ่อโสภณ บุญกิจ เจ้าอาวาสวัดอัมรินทราราม ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและอนุญาตให้ใช้สถานที่วัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งเริ่มมีการรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรมเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ และมีการฝึกอบรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
 
กระบวนการเรียนรู้
 
สำหรับกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการนวดแผนไทยกำหนดให้มีการเรียนรู้ทั้งการปฏิบัติและศึกษาทฤษฎี โดยให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับระบบโครงสร้างร่างกาย รู้ถึงจุดสำคัญที่เป็นอันตราย   รู้ถึงกระบวนการวินิจฉัยตรวจสอบอาการผู้ที่มานวดรวมไปถึงคุณธรรมจริยธรรมของในการเป็นหมอนวดที่ดี ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถจำแนกเป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้
 
·         การฝึกอบรมนวดแผนไทยทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ๙ วัน
·         การทดสอบความรู้โดยตรงกับครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ ทั้งนี้เพื่อทดสอบดูว่าผู้เรียนรู้มีทักษะฝีมืออยู่ในขั้นใด
·         การนำความรู้ที่ได้กลับไปทดลองใช้กับคนในครอบครัว ในชุมชน พร้อมด้วยการจดบันทึกอย่างละเอียดในทุกครั้งที่มีการนวด
·         ติดตามประเมินผล ของกลุ่มผู้เรียนรู้ ร่วมกับผู้สอนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันหลังจากที่มีการปฏิบัติแล้ว
·         จัดกิจกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ให้กลุ่มผู้เรียนรู้ได้ทดลองฝีมือตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้าน
·         จัดการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหมอนวดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด
 
 
ลึกลงฐาน สร้างงาน สร้างคน
 
นอกจากประสบการณ์ความรู้จากเนื้อหางานแล้ว อีกด้านหนึ่งซึ่งถือเป็นจุดเด่นในการทำงานของศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรก็คือ หลักการทำงานที่เน้นการสร้างความเข้มข้นในระดับพื้นที่ เพื่อเกาะติดการทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาคนในพื้นที่ให้เข้ามาสู่การเป็นผู้ปฏิบัติงานในชุมชน
 
การสร้างการเรียนรู้ให้กลุ่มแกนนำในชุมชน เพื่อที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ถือได้ว่า มีบทบาทสำคัญอย่างมากกับการทำงานของศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านภาษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสุรินทร์ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขมร ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบ แนวคิด การทำงานขององค์กรซึ่งยึดโยงอยู่กับแนวทางงานพัฒนาที่ใช้วัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนเป็นพื้นฐานขับเคลื่อนงาน
 
ขณะเดียวกันผลที่ตามมาก็คือมีคนทำงานที่ลงลึกเกาะติดพื้นที่ พัฒนาติดตามงานได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญแม้ในช่วงที่มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณกิจกรรมในพื้นที่ก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากฐานชุมชนของตน ยังพร้อมที่จะเป็นหลังพิงในเรื่องการกินการอยู่ นั่นเป็นการยืนยันว่าคนทำงานจะยังไม่หายไปไหน ถือเป็นการรองรับระบบการทำงานให้เคลื่อนไหวได้ไม่ขาดช่วง
 
เส้นทางข้างหน้า ประตูสู่อนาคต
 
ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน จึงอาจกล่าวได้ว่า ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร เป็นเสมือนกับหัวหอกหนึ่งที่พุ่งไปสู่การสร้างรูปธรรมงานพัฒนาทางเลือก ด้วยรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ยืนยันถึงเรื่องการลงไปปักหลักในท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ในยุคบุกเบิก สร้างตัวตนที่เข้มแข็งด้วยพลังศรัทธาและปฏิบัติการที่สืบสายจากองค์กรยุคบุกเบิกมายาวนานร่วม ๒๐ ปี
 
และวันนี้บทสรุปที่พวกเขาได้กลั่นออกมาเพื่อวางเป็นแนวทางข้างหน้าก็คือ การยืนหยัดในแนวทางและรูปแบบการทำงานที่ใช้วัฒนธรรมชุมชนเป็นตัวตั้ง พร้อมทั้งประประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัย บนแนวคิดทิศทางในการพึ่งตนเอง พึ่งกันเองของชุมชนท้องถิ่น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
 
มันเป็นสิ่งที่พวกเขา รัก ศรัทธา ทำแล้วมีความสุข เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรี่ยวแรงหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีบนวิถีแห่งการพึ่งตนเองของชุมชน
 
 
หมายเหตุ : เอกสารประกอบการเขียน
-           บทความ “ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร : โรงหมอพื้นบ้านแห่งบ้านตะบัน” จากเว็บไซต์เสียงคนอีสาน www.esaanvoice.net
-           รายงานผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรรมธรรมชาติและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” ปี ๒๕๕๑- ๒๕๕๒ โดยศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร
-           รายงานการศึกษา “องค์ความรู้ระบบสุขภาพองค์รวมในบริบทชุมชนอีสาน” จัดทำโดย คณะทำงานศึกษาระบบสุขภาพองค์รวม (เครือข่ายหมอพื้นบ้านอีสาน,เครือข่ายเอดส์,เครือข่ายเกษตรทางเลือก,เครือข่ายผู้บริโภค)สนับสนุนโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.), ๒๕๔๘.
-           รายงานการศึกษา “การสังเคราะห์องค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อการพึ่งตนเองและการเรียนรู้ท้องถิ่นบริบทชุมชนอีสาน กรณีศึกษา โรงเรียนชาวนา จังหวัดยโสธร และศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จังหวัดสุรินทร์” โดย สถาบันชุมชนอีสาน, โรงเรียนชาวนา จังหวัดยโสธร และ ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จังหวัดสุรินทร์ สนับสนุนโดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ภาคอีสาน, ๒๕๕๑.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net