คนงานพม่าในย่างกุ้งชุมนุมประท้วงคุณภาพการจ้างงานต่ำกว่ามาตรฐาน

ศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชียเรียกร้องประชาชนในประเทศผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในสหภาพพม่า ร่วมสนับสนุนคนงานพม่ากว่า 3,600 คนประท้วงสภาพการทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน เผยผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรรมส่วนใหญ่เป็น เกาหลี ไทย และพม่า

ศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชีย (Asian Migrant Centre - AMC) รายงานว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 คนงานโรงงาน 3,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากนิคมอุตสาหกรรมเลทายาในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้ประท้วงสภาพการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่พวกเขาต้องเผชิญจากการทำงานในโรงงาน คนงานเหล่านั้นเป็นลูกจ้างของโรงงาน Opal2 และโรงงานผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น Mya Fashion พวกเขาเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง 10 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ในวันต่อมา คนงานโรงงานรองเท้าไตยีและโรงทอผ้าเกียเล ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานว่าด้วยวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้เพิ่มค่าแรงรายวัน ให้จ่ายค่าแรงในช่วงล่วงเวลาทำงาน และประกันสิทธิพื้นฐานอื่น ๆ

รัฐบาลทหารพม่าตอบโต้ด้วยการตรึงกำลังตำรวจติดอาวุธหลายร้อยนาย และขู่คนงานว่า จะถูกปราบอย่างรุนแรงถ้าไม่ยอมสลายการชุมนุม ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คนงานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยอมประนีประนอมให้เพิ่มค่าจ้างเพียง 2-5 เหรียญ แต่วันต่อมาคือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ คนงานโรงงานรองเท้าซันนีเมียนมาร์จากนิคมอุตสาหกรรมเขตสอง และโรงงานรองเท้ามิสสไตล์จากนิคมอุตสาหกรรมเขตสาม ประกาศเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงเช่นกัน

นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้จ้างคนงานประมาณ 50,000-70,000 คน โดยมีผู้ลงทุนเป็นชาวเกาหลี ไทย และพม่า รวมทั้งชาติอื่น ๆ

พม่ายังคงปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร มีประวัติการปราบปรามการชุมนุมประท้วงมากกว่าห้าคนอย่างรุนแรง กฎหมายห้ามไม่ให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน คนงานในพม่าจึงถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิทธิพื้นฐานในการชุมนุมและการเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน นอกจากนั้น ยังมีการปิดข่าวห้ามการรายงานเกี่ยวกับการประท้วงที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาคมสากลไม่มีโอกาสรับรู้การเคลื่อนไหวของคนงานครั้งนี้

การปล่อยให้คนงานโดดเดี่ยว การตรึงกำลังทหาร และพฤติการณ์ในอดีตของรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างมากต่อความปลอดภัยและสิทธิต่อคนงานทั้งปวงในพม่า โดยเฉพาะคนงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมเลทายา

ทั้งนี้ ศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชียได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าไม่มีองค์กรระหว่างประเทศในพม่าซึ่งทำงานสนับสนุนสิทธิของคนงาน และติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการกวดขันอย่างเข้มงวดของทางการ โดยศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชีย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) และสันนิบาตกรรมกรและชาวนาแห่งพม่า (Workers and Farmers Solidarity League of Burma) แสดงความชื่นชมต่อการเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญของบรรดาคนงาน และส่งกำลังใจให้คนงานทั้งปวงในพม่าในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนงาน พร้อม ทั้งแสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่ทหารขู่จะใช้กำลังตอบโต้การประท้วงของคนงาน ซึ่งแสดงเสรีภาพในการชุมนุม

ศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชียได้เรียกร้องให้ผู้ที่ต้องการสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานในพม่า ส่งจดหมายประท้วงไปยังรัฐบาลของตนเอง ซึ่งมีการลงุนในประเทศพม่าด้วย พร้อมระบุว่า สามารถส่งข้อความให้กำลังใจคนงานพม่าได้ที่ solidarityburma@gmail.com

"คนงานในพม่าต้องการให้ท่านเรียกร้องต่อองค์การแรงงานโลกให้ขยายอาณัติการทำงานเพื่อแก้ปัญหาการเอาเปรียบด้านแรงงานทุกรูปแบบในพม่า ไม่ใช่ทำงานเฉพาะเรื่องแรงงานบังคับ และท่านอาจเขียนจดหมายถึงพลเอกอาวุโสตานฉ่วย สำเนาจดหมายถึงกระทรวงกลาโหม กรุงเนปีย์ดอว์ ประเทศพม่า แสดงความไม่พอใจของท่านต่อการขู่จะใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามคนงานซึ่งเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงแค่ 5 เหรียญต่อเดือน" แถลงการณ์ของศูนย์ผู้ย้ายถิ่นเอเชียระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท