Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพราะ... “ความรัก” คือแรงบันดาลใจในทุกๆ ย่างก้าวของชีวิตก็ว่าได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงาน งานเขียน ตลอดถึงการใช้ชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม

เพราะ... “ความรัก” อีกเช่นกันที่นำพาตัวเองมาถึงวันนี้ วันที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน บอบช้ำ และประสบความสำเร็จในบางเรื่องบางราวของชีวิต
แต่ใจก็ยังมีหวังอยู่เสมอ เพราะมีพลังบางอย่างนำทางไม่ให้ชีวิตเขวจนเกินไปนัก
แม้วัยที่เลยเลขสามมาแล้วร่วมห้าปีแล้ว แต่แปลกที่ดิฉันกลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจะสูงวัย(แก่)ไปตามตัวเลขเลย กลับรู้สึกกระชุ่มกระชวยในทุกครั้งเมื่อพูดถึงความรัก
ด้วยวัยเกือบครึ่งชีวิตแล้ว จะให้พูดถึงความรักแบบชู้สาวก็ออกจะกระดาก และยากเกินพร่ำเพ้อไปเสียแล้ว ไม่ใช่เพราะหมดช่วงโปรโมชั่นหรอกคะ แต่เป็นเพราะอารมณ์เพริดเตลิดแบบนั้นมันได้เริ่มขึ้นและอยู่ในทุกห้วงรู้สึกอยู่แล้ว หากวันนี้มันได้กลายเป็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างไป
เพราะฉะนั้น...ความรักของดิฉันในวันนี้จึงขอโฟกัสไปที่เด็กหญิงชายสองคนที่นอนอยู่ข้างๆ ทุกคืน พวกเขาคือ “ลูก” คำสั้นๆ นี่แหละที่แฝงนัยยะและความหมายเปี่ยมล้น
เด็กหญิง-ชายเพียงสองคนนี่แหละที่ทำให้ชีวิตคนเป็นแม่คนนี้มี “พลังชีวิต” มหาศาล
ลูกทำให้ใจกล้าและบ้าบิ่นเกินคาดยามมีภยันตราย ไม่ว่าจะเป็นจากผู้คนหรือสถานการณ์เลวร้ายประดามีที่พากันมารุมล้อมพวกเขา และลูกอีกเช่นกันที่ทำให้ชีวิตต้อง “ใฝ่ดี” ให้มากๆ ไม่อย่างนั้นก็คงเป็นแบบอย่างให้ได้ไม่ดีนัก และลูกอีกเช่นกันที่เป็นแรงบันดาลสำหรับงานเขียนชิ้นนี้
ดิฉันอยากบอกรักพวกเขาผ่านข้อเขียนสำหรับห้วงเวลาวันแห่งความรักที่ผ่านมาไม่นานนัก ตลอดจนอยากฝากข้อคิดบางประการถึงบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่หัวใจเปิดกว้างพอสำหรับความเห็นต่าง
ความนำก็คือหลังแต่งงานแล้วดิฉันไม่เคยแปลนถึงชีวิตคู่ที่มีลูกอยู่ด้วย ไม่เคยแม้แต่นิดเดียว ไม่กล้าพอที่จะจินตนาการภาพตัวเองเวลามีลูก จวบจนวันที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บังเกิดขึ้นภายในร่างกาย จนถึงวันนี้วันที่เป็นแม่ลูกสอง ดิฉันพูดได้เต็มปากว่า “ภูมิใจ”ที่ได้เป็น “ผู้ให้” และ “ผู้ให้กำเนิด” ไปพร้อมๆ กัน
ในส่วนตัวแล้วดิฉันเชื่อว่าด้วยสัญชาตญาณแล้วหากวันหนึ่งที่คุณต้องเป็น“แม่” คุณเองคงรู้ได้เองว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งตำราวิชาการใดๆ ก็ได้ หากแต่ต้องใช้กำลังกายอย่างมากสำหรับการ “สร้าง” เด็กคนหนึ่งให้เป็นคนมีคุณภาพของสังคม
“มีพี่คนหนึ่งมาชวนว่าจะพาลูกไปเรียนคุมองดีไหมพี่” มิตรที่ดีคนหนึ่งเอ่ยถามดิฉันประสาแม่ๆ ที่คุยกันอย่างถูกอัธยาศัย
“อย่าเพิ่งไปยัดเยียดลูกเลย แค่อนุบาลเอง เรียนดนตรี หรือเล่นกีฬายังจะดีซะกว่า แค่ในห้องก็เรียนหนักอยู่แล้ว เด็กเล็กๆ ก็เครียดเป็นเหมือนกันนะ” ดิฉันตอบไปในทันที
ภายหลังการสนทนาวันนั้นทำให้ดิฉันขบคิดอยู่หลายตลบ ดิฉันรู้สึกงงและค่อนข้างประหลาดใจกับการนำเสนออะไรๆมากมายให้ลูกๆ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่มุ่งเป็นไปที่ความเป็นเลิศ จนลืมแง่มุมต่างๆ ของชีวิต
ดิฉันไม่ได้ตำหนิการให้ของพ่อแม่หรอกนะคะเพียงแต่มีข้อคิดบางประการที่อยากนำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมอง
ก่อนการสนทนาครั้งนั้นดิฉันได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “เลี้ยงลูกด้วยสัญชาตญาณ” เขียนโดยคุณสุวรรณา โชคประจักษ์ ผู้แปลหนังสือขายดี “คุณคือคนแรกของลูก”
หนังสือเล่มดังกล่าวมีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เขาแบ่งพัฒนาการของเด็กเป็นสี่ด้านหลักคือ...
-          ด้านกาย(PQ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยและนิสัย
-          ด้านอารมณ์ (EQ) เป็นเรื่องความพันธ์ที่ดี หรือการมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้คนนั่นเอง
-          ด้านการคิด (IQ) เป็นเรื่องการตัดสินใจ
-          ด้านจิตวิญญาณ (SQ) เป็นการอุทิศและพัฒนาตนเอง
พ่อแม่ส่วนมากจะให้ความสำคัญกับลูกๆ ในด้าน IQ การเรียนมุ่งให้ความเป็นหนึ่งด้านวิชาการ เริ่มตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องก็ว่าได้ เราคงเคยได้อ่านหนังสือคู่มือคุณพ่อคุณแม่มาบ้างว่าให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง ลูกจะได้เรียนเก่ง หรือแม่ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์เน้นเนื้อ นม ไข่ เพื่อบำรุงสมองให้ลูก หรือแม้กระทั่งต้องเปิดเพลงคลาสสิคของโมสาค (ซึ่งจริงๆ แล้วฟังเพลงไทยเดิมก็ได้เหมือนกัน) จะเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ ฯลฯ
แต่...ที่น่าตกใจก็คือแม้ลูกจะเรียนอยู่แค่ระดับอนุบาลพ่อแม่ยุคนี้ต่างพาไปเรียนพิเศษอะไรต่อมิอะไรมากมาย หวังจะให้ลูกให้หลานของตนเก่งที่สุดหรือถ้าจะเป็นเรื่องความสามารถพิเศษก็เป็นในลักษณะที่ “ต้องทำให้มี” ไม่ใช่สิ่งที่เป็น “พรสวรรค์”
การมุ่งเสริมพลังลูกด้วยเน้นแต่เรื่องไอคิวนี่เอง คุณเคยสังเกตไหมว่าเด็กสมัยนี้เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ (Me First Generation) มีความอดทนรออะไรไม่เป็น ขาดน้ำใจต่อใครๆ แม้แต่พ่อแม่เองบางครั้งก็สัมผัสได้ นั่นคงเป็นเพราะเด็กเป็นแต่ฝ่ายรับ แต่ “ให้” ไม่ค่อยจะเป็น พ่อแม่น่าจะลองให้ลูกเป็นทั้งสองฝ่ายอย่างสมดุลกันเสียบ้าง บอกเขาไปเลยว่าไม่มีอะไรที่เราจะต้องได้ทุกอย่าง และบางครั้งเราก็ “แพ้” ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือโหยหาแต่ทางเอา “ชนะ” เพียงอย่างเดียว
ดิฉันเลี้ยงลูกเองเป็นส่วนใหญ่ มีบางเวลาที่มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเปลี่ยนมือ แต่เก้าสิบเปอร์เซนต์ลูกๆ อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่คะ ดิฉันและสามีผลัดกันไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนเอง เหนื่อยคะ แต่คุ้มค่าเพราะเรามีโอกาสเห็นพัฒนาการของพวกเขา ได้เห็นรอยยิ้มที่ล้นแก้มของลูกๆ ก่อนใคร ได้รับฟังความคับข้องใจของพวกเขาต่อบรรดาครู ๆ และเพื่อนๆ บางกลุ่มที่ไม่คอยจะลงรอย บางคราวก็ได้เห็นท่าทีที่ไม่พึงประสงค์ของพวกเขาต่อเรื่องราวที่ไม่ถูกใจ บางคราวพวกเขาก็แสดงท่าทีแข้งกร้าวออกจะก้าวร้าวในทีกับเรื่องบางเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือไม่ก็ขอให้เขาแสดงออกมาให้หมด ก่อนจะพิพากษาและให้บทเรียนกันไปตามที่ควรจะเป็น
ดิฉันชอบฟังพวกเขาร่วมร้องเพลงโปรดพร้อมๆ กันขณะนั่งรถกลับบ้าน ดิฉันสุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มที่แสนจะเปิดเผย ตลอดจนเสียงหัวเราะที่ก้องกังวานเวลาที่พวกเขาเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตะบอล ตีแบด วิ่งแข่งฯลฯ
เหนืออื่นใดเวลาที่พวกเขาเอาจริงเอาจังกับการบ้านตรงหน้ามันทำให้ดิฉันยิ่งภูมิใจในตัวพวกเขา ไม่ใช่เพราะเขาทำการบ้านถูกหมดทุกข้อ แต่เป็นเพราะดิฉันเห็นถึงความมุมานะและความรับผิดชอบของพวกเขาในเบื้องต้นของวัยขนาดนี้
ขอคุยสักเล็กน้อยตามประสาพ่อแม่ทั่วไปคะว่าลูกทั้งสองคนเรียนเก่งติดอับดับท็อปเท็นในทุกครั้งที่มีการวัดผล
แต่สำหรับตัวเองแล้วการที่ลูกจะสอบได้ที่หนึ่งหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะดิฉันจะบอกและปลูกฝังกับพวกเขาเสมอว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือความพยายามอย่างที่สุดและตั้งใจให้เต็มที่ในทุกๆ เรื่องไม่เฉพาะแต่เรื่องการเรียน ผลจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน และไม่จำเป็นที่จะต้องแข่งกับเพื่อนคนไหนๆ แข่งกับตัวเองเวิร์คกว่า
เพราะฉะนั้นดิฉันจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียนหนักเพียงอย่างเดียวคงไม่ทำให้เด็กสักคนมีความสุขและมีคุณภาพได้ มันต้องประกอบกันทั้งเล่นเรียนและเรื่องการปลูกฝังด้านคุณธรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์ กตัญญู อดออม ความมีระเบียบวินัยในตนเอง
ดิฉันมักจะเห็นแย้งกับผู้ปกครองยุคนี้ที่มุ่งแต่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ยัดเยียดเนื้อหาหนักๆ ให้ลูกมาก ล้นเสียจนกระทั่งเด็กบางคน “เบื่อโรงเรียน” หรือขาดการบ่มเพาะด้านอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับการอยู่ในสังคม
ดิฉันไม่ปฏิเสธหรอกว่าการเรียนเป็นรากฐานของอนาคต เป็นต้นทุนในชีวิตการงานและด้านอื่นๆ แต่ดิฉันก็ไม่ส่งเสริมให้เด็กมุ่งแต่เรียนๆๆๆ แล้วก็เรียนจนไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับการพัฒนาด้านที่เหลือของชีวิต และที่ร้ายก็คือเรียนมากเสียจนลืม “ฝัน” ของตัวเอง
การเล็งผลเลิศในตัวลูกมันก็มีมาทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละคะ ยุคดิฉันก็เติบโตมากับการเรียนพิเศษ อัดๆ มันเข้าไป ท้ายสุดก็หมดสนุกกับชีวิตคะ เข้าห้องสอบทีก็เครียดจนอาเจียนทุกครั้งไป
และด้วยเหตุผลนี้กระมังเวลาเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยจึงเลือกเอนทรานต์ในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ใจคิดเพียงว่ามันคงเฮฮาและเบาสมองลงหน่อย (เม็มโมรีมันเต็มซะแล้ว) ซึ่งก็ไม่ทำให้ดิฉันผิดหวังเพราะดิฉันได้เลือกเรียนในภาควิชาหนังสือพิมพ์ การได้เรียนเขียนบทความ สารคดี เขียนข่าวทำข่าว ถ่ายรูปต่างๆ ทำให้ดิฉันมีความสุขมากๆ พร้อมๆ ไปกับการได้รู้ว่า “จรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน” เป็นเช่นไร และต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งอันนี้เป็นความดีความชอบของสถาบันแต่เพียงผู้เดียวคะ
การได้เขียนหนังสือทำให้สิ่งที่ตัวเองค้นหามันเริ่มชัดเจนขึ้น มันเหมือนเราได้ปลดปล่อยในทุกๆ ครั้งที่ลงมือจับปากกาเขียนอะไรสักเรื่อง มันวิเศษมากเลย “ยา” ขนานนี้ ดิฉันหาย “เครียด” ลงมาก
“หนูอยากเป็นนักเขียน”
ดิฉันเคยบอกกับพ่อครั้งหนึ่งในวันที่มีการปะทะสังสรรค์ทางความคิดกันเล็กน้อยในวันที่หันตัวเองมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว
แม้ชีวิตจะไม่เป็นเหมือนฝันไว้ซะทั้งหมด แต่มันก็ดีที่ครั้งหนึ่งเราก็รู้ได้เห็นและได้ปฏิบัติจริง(สมัยเป็นคนเขียนสารคดีของหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งซึ่งปัจจุบันถูกปิดตัวไปแล้ว)
และ...แม้วันนี้บทบาทสถานภาพและอาชีพจะเปลี่ยนไป แต่ดิฉันยังคงได้เขียนหนังสืออยู่เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส แต่ยังไม่ถึงขึ้นที่จะเป็น “นักเขียน” ได้ เพราะคำคำนี้ดูอลังการเกินตัว นักเขียนในจินตภาพของดิฉันต้องหมายถึงขั้นคุณกฤษณา อโศกสิน , อาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล,ทมยันตี,โสภาค สุวรรณ ฯลฯ ไปโน่น
สิ่งที่อยากบอกอย่างเต็มภาคภูมิในวันนี้ก็คือมันดีและวิเศษที่สุดที่ดิฉันได้เป็นแม้ควบคู่ไปกับการที่ได้รู้ว่าเราฝันและอยากทำอะไร สิ่งไหนทำให้เราเป็นสุข ซึ่งสิ่งนั้น “เราเลือกเอง” ไม่ได้ถูกขีดเส้นจากพ่อแม่ หรือเติมเต็มฝันของใคร
เพราะฉะนั้นการจะเลี้ยงลูกสักคนมันต้องใช้ความเข้าใจอย่างมหาศาล ตลอดจนจำต้องยอมรับในความเป็นคนคนนั้นของพวกเขา พวกเขามีตัวตน มีมีสไตล์ และมีสติปัญญาของเขาเองคะ หากมีเวลาสักนิดลองถามลูกๆ ของคุณดูว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ถามแต่ใจตัวเองว่าหวังอะไรในตัวพวกเขา
สิ่งที่ผ่านมาในอดีตซึ่งก็มีทั้งผิดหวังและประสบความสำเร็จ ดิฉันได้นำประสบการณ์ของตัวเองมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกๆ หมดคะ ดิฉันไม่ต้องการให้พ่อแม่บังคับลูกๆ หรือยัดเยียดอะไรมากมายจนเกินที่พวกเขาจะรับหรือเข้าใจมันได้
ก่อนจะหยิบยื่นใดๆ ให้ลองถามเขาสักนิดว่าเขาคิดเห็นอย่างไร เขาอยากได้ อยากทำ หรือเต็มใจรับกับสิ่งนั้นๆประการใด หรือเขาเพียงทำๆ ไปให้พ่อแม่รู้สึกพอใจหรือภูมิใจในตัวพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่สนุกหรือเต็มใจเลยแม้เพียงนิด
ทุกวันนี้เวลาที่เหนื่อยและล้าดิฉันจะมองความสดใสในความเป็นธรรมชาติของลูกๆ ซึ่งเขาก็มีทั้งเรื่องเก่ง ไม่เก่ง มีดี-ไม่ดี
โดยเฉพาะแง่มุมแย่ๆ ของตัวเองที่ปรากฏผ่านตัวลูก มันก็ทำให้ดิฉันมองมันอย่างตีแผ่และจริงใจตรงไปตรงมา หาทางแก้ไขให้มันแย่น้อยลงๆ จนดีขึ้นมาได้ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องมันก็เปลี่ยนยากจริงๆ(ไม้แก่เริ่มดัดยากซะแล้ว)
ความเป็นปุถุชนของลูกๆ และตัวเองนี่เองที่ทำให้ดิฉันไม่เคยคาดหวังกับชีวิตของใครๆ เพราะลำพังตัวเองก็ยังจัดการได้ไม่ดีนัก แม้จิตใต้สำนึกมันไปทางฝ่ายดีเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังไม่วายที่จะออกอาการ “น็อตหลุด” อยู่บ่อยๆ ก็แหมความสมบูรณ์แบบมันมีอยู่ในโลกซะที่ไหน....
และ...ในความธรรมดาของมนุษย์นี่ด้วยเช่นกันที่ทำให้ดิฉัน “รัก” และ “รับได้” กับทุกๆ ย่างก้าวของลูกๆ ขอเพียงแค่รอยยิ้มที่เปี่ยมสุขของพวกเขาก็ทำให้หัวใจพองโตขึ้นอย่างง่ายดาย
พลังชีวิตตัวน้อยๆยืนอยู่ข้างๆ คุณทุกวันคะ อย่าคาดหวัง อย่าไขว่คว้า และอย่าซ้ำเติม
ขอแค่ “เข้าใจ”...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net