Skip to main content
sharethis

  

 

 

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.53 ที่ผ่านมา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จัดงานเสวนาครั้งที่ 2 ประจำปี 2553 เรื่องจับกระแสยุทธศาสตร์การเมืองพม่า 2010 ที่ห้อง 301 อาคารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวเปิดงานโดย ผศ.ชลดา โกพัฒตา รักษาการ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วิทยากรประกอบด้วย วิรัช นิยมธรรม ผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, พรพิมล ตรีโชติ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


คิดแบบพม่าว่าด้วยอุดมการณ์และรัฐธรรมนูญ

วิรัช นิยมธรรม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2008 ของสหภาพพม่านั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี มีจุดแข็งอยู่ที่การกำหนดให้มีการเลือกตั้งและก่อให้เกิดพรรคการเมืองขึ้นมามากมาย โดยส่วนตัวมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผสมเอาทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนต่างๆ เข้ารวมกันไว้เพื่อให้ทหารสามารถมีอำนาจอยู่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากแนวทาง 3 ประการคือ 1.กลุ่มความคิดเรื่องความเป็นชาติหรือความทรงจำ 2.บทเรียนทางการเมือง และ 3.ความจำเป็นของผู้นำ

สำหรับกลุ่มความคิดเรื่องความเป็นชาตินั้น ความเป็นชาติพม่าจะถูกเชื่อมโยงและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เช่นการกล่าวถึงเอกราชที่มีผู้นำเอกราชคือนายพลออง ซาน การกล่าวถึงเอกภาพที่มีผู้นำเอกภาพคือนายพลเนวิน และกล่าวถึงสันติภาพที่มีผู้นำสันติภาพคือพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย นอกจากนั้นรัฐบาลจะเน้นเรื่องความเป็นสังคมพุทธ เนื่องจากรัฐบาลพม่ามองว่าสังคมพุทธคือสังคมที่สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ หลังจากได้รับเอกราช ขบวนการชาตินิยมและกองทัพมีบทบาทสูงมากในสหภาพพม่า

นอกจากนั้นยังมีการจัดให้มีคู่ตรงข้ามของชาติ โดยแบ่งเป็นภัยภายในและภายนอก ซึ่งภัยภายในมี 2 ประเภทคือ 1.ลัทธินิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่เป็นองค์กรใต้ดิน ซึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหภาพพม่ายังคงมีชีวิตอยู่ และ 2.เชื้อชาตินิยมหรือชนกลุ่มน้อยที่ยึดมั่นในแนวคิดเชื้อชาตินิยมแล้วเข้าสู่การเมือง

และภัยภายนอก มี 2 ประเภทได้แก่ ภัยเก่าและภัยใหม่ สำหรับภัยเก่าคือทุนนิยมและการล่าอาณานิคม โดย ญี่ปุ่น อังกฤษ จีนขาวที่ถูกหนุนโดยซีไอเอ และฟาสซิสต์หรือทหารต่างชาติ ส่วนภัยใหม่คือมหาอโยธยาหรือประเทศไทยที่เป็นภัยทางทรัพยากร และสหรัฐอเมริกาที่เป็นภัยทางยุทธศาสตร์

ในด้านของบทเรียนทางการเมืองนี้จะถูกแบ่งเป็นการเมืองเก่าและการเมืองใหม่ สำหรับการเมืองเก่าประกอบด้วยประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมที่ทางทหารพม่าเองก็ยอมรับว่าประสบความล้มเหลว เนื่องจากกลุ่มของพม่าผูกอยู่กับตลาดมืดและเกิดการคอร์รัปชั่นเป็นอันมาก ส่วนการเมืองใหม่คือการเมืองเพื่อประเทศ การเมืองเพื่อประชาชนซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าจะทำให้สหภาพพม่าอยู่ได้

และสุดท้ายคือความจำเป็นของผู้นำ ในส่วนนี้ภาพลักษณ์ของผู้นำจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบคือผู้นำดีและผู้นำเลว ในส่วนของผู้นำเลวคือ นางอองซาน ซูจีที่มีส่วนทำให้บทบาทของกองทัพเข้มข้นขึ้น เนื่องจากนางอองซานเป็นคนหัวแข็งและสร้างเงื่อนไขมากจนเกินไป อีกคนหนึ่งคืออูนุ ซึ่งเป็นคนที่ทำงานต่อจากนายพลอองซาน และเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มีการเรียกร้องสูงมาก

วิรัช กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐธรรมนูญที่ใช้มาก่อนหน้านั้น ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 1974 ที่มีจุดอ่อนคือรัฐมีความรุนแรงต่อประชาชนมากเกินไป นอกจากนั้นยังมีรัฐธรรมนูญ 1993 ที่ทหารต้องนำการเลือกตั้ง ตลาดกลไกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชน ส่วนตลาดทรัพยากรนั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล การเมืองจะเป็นแบบสหพรรคมีรัฐแบบสหภาพ สังคมภายในจะเป็นสังคมชาวพุทธแต่ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาประจำชาติเพียงแต่มีคนในสังคมนับถือศาสนาพุทธมากที่สุดเท่านั้น ในขณะเดียวกันกองทัพก็เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นคณะรักษาความมั่นคง (NDSC)

สำหรับสภาจะเป็นสภาแบบสหภาพ มีทั้งหมด 664 ที่นั่งมีวาระการทำงาน 5 ปี ถูกแบ่งออกเป็นสภา 2 ประเภทคือ สภาประชาชนที่มี 440 ที่นั่งโดยมาจากการเลือกตั้งจากทุกๆ อำเภอ 330 ที่นั่งและมาจากกองทัพอีก 110 ที่นั่ง ส่วนสภาชนชาตินั้นประกอบด้วย 224 ที่นั่งซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากแต่ละรัฐ 64 ที่นั่ง และมาจากทหาร 156 ที่นั่ง

ระบบการปกครองนั้นจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำรัฐบาลโดยตรงและอำนาจทั้งหมดจะมาจากประธานาธิบดี และประธานาธิบดีจะมีที่ปรึกษาเป็นคณะรักษาความมั่นคง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกันคืออุดมการณ์สหภาพซึ่งได้แก่ 1.สหภาพต้องไม่แตกแยก 2.สร้างความปรองดองในชาติ และ 3.อธิปไตยต้องมั่นคง ซึ่งอุดมการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักการเมืองและชนกลุ่มน้อย นอกจากนั้นผู้นำจะต้องไม่ห่างจากศาสนานั่นคือ ความพัฒนาไปถึงที่ไหน ที่นั่นจะต้องมีการสร้างเจดีย์ขึ้นและผู้นำทุกคนจะต้องมีเจดีย์ประจำตัว

 

ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า: เปิดศึกหรือเจรจา?

พรพิมล ตรีโชติ กล่าวว่า กองทัพของทหารพม่าบุกโคกั้งแล้วยึดเหล้าก๋าย ซึ่งเป็นเขตชายแดนที่ติดกับประเทศจีน โดยกล่าวหาว่าโคกั้งมีการสร้างอาวุธ เนื่องจากโคกั้งเป็นเขตคอมมิวนิสต์เก่า แต่ได้เจรจาหย่าศึกกับพม่ามาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ในขณะเดียวกันสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่นั้นมีมาตราหนึ่งที่ระบุว่าพม่าจะต้องมีกองทัพเพียงกองทัพเดียว ไม่อนุญาตให้มีกองทัพของชนกลุ่มน้อย สำหรับตอนนี้รัฐบาลพม่าต้องการให้ทุกกองกำลังสวามิภักดิ์ต่อพม่า แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปได้ยาก แต่ในขณะนี้การเจรจาของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มก็จบลงด้วยดีแล้ว เนื่องจากยอมรับเงื่อนไขซึ่งกันและกันได้และไม่มีกองกำลังที่จะสามารถสู้กับกองทัพของพม่าได้ ส่วนกลุ่มทางเหนือส่วนใหญ่กำลังรอการเจรจากับรัฐบาลอยู่

ฐานเศรษฐกิจของโคกั้งและว้าเจริญรุ่งเรืองมาก ถ้าหากไม่สามารถตกลงกับรัฐบาลพม่าได้จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต เนื่องจากกองกำลังว้าน่ากลัว ประกอบกับลักษณะภูมิศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากชนพื้นเมืองที่ชำนาญพื้นที่ แต่ตอนนี้กองทัพพม่ามีเงินมากพอที่จะซื้ออาวุธจากทั้งจีนและรัสเซีย นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือด้วย จนกองทัพพม่ากลายเป็นกองทัพที่มีความแข็งแกร่งเป็นอันดับที่สองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรองลงมาจากเวียดนาม

สาเหตุที่พม่าบุกโคกั้งในช่วงนี้เนื่องจากกองทัพของพม่านั้นมีความเข้มแข็งพอที่ไม่จำเป็นต้องออมชอมกับใคร รวมถึงบทบังคับในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย นอกจากนั้นอาจจะเป็นการหยั่งท่าทีจีน และอาจจะเป็นนิมิตใหม่ที่จะเปิดรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็เป็นได้

การบุกโคกั้งของพม่านั้นทำให้ส่งผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ดังนั้นชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนจีนเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน คือ เสียหน้าและลำบากใจเพราะอาจจะมีประชากรกว่า 200,000 คนที่จะทะลักเข้าจีนและเป็นภาระให้กับจีน นอกจากนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการเปิดชายแดนระหว่างโคกั้งกับยูนานนั้นทำให้เศรษฐกิจของยูนานมั่นคงขึ้นมาก

ทางรอดของชนกลุ่มน้อยคือต้องรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน นอกจากนั้นต้องมีพื้นที่บนเวทีการเมือง แต่ในขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็มีจุดอ่อนคือความไม่วางใจซึ่งกันและกัน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ทำให้แต่ละกลุ่มอยู่ห่างกันออกไปและทำให้พวกเขาถูกผลักออกจากประวัติศาสตร์ จึงทำให้ขาดความปรองดอง ทำให้ไม่ไว้ใจกันและมีบางเหตุการณ์ที่ทำให้เกลียดกันได้

 

เปิดโปงอุโมงค์ลับกับการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในพม่า

ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่า วิวัฒนาการของกองทัพพม่ามีสาเหตุมาจากภัยคุกคามรัฐต่างได้แก่ การลุกฮือของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย การลุกฮือของชนกลุ่มน้อยและการแทรกแซงจากมหาอำนาจจากตะวันตก ทำให้กองทัพพม่าได้พัฒนาตนเองจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลางและขนาดใหญ่และมีแสนยานุภาพสามารถทำสงครามระหว่างประเทศได้

สำหรับยุทธศาสตร์ทางการทหารของพม่านั้น เขาได้ให้ความสำคัญกับสองด้านได้แก่ การปรับเปลี่ยนเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอหรือจัดเมืองเนปิดอให้เป็นศูนย์บัญชาการรบ เนื่องจากย่างกุ้งนั้นมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมต่อการรบ และให้ความสำคัญต่อสงคราม 3 แบบ ได้แก่ สงครามตามรูปแบบคือการรวมกองทัพต่างๆ ให้ร่วมรบกับกองทัพพม่าได้ การป้องกันในเชิงลึกหรือแบบกองโจร และสุดท้ายคือสงครามประชาชน

สำหรับอุโมงค์ลับที่สลับซับซ้อนที่สุดของพม่านั้นอยู่ที่เนปิดอ สาเหตุที่สร้างอุโมงค์นั้นเพื่อจัดการโครงข่ายใต้ดิน เช่น การปราบปรามชนกลุ่มน้อย นอกจากนั้นคือสำหรับการทำสงครามกองโจร แต่จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่าทีต่ออาวุธนิวเคลียร์ของพม่านั้นค่อนข้างชัดเจนมาตั้งนานแล้วว่ามีท่าทีปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ชัดเจนในการพัฒนานิวเคลียร์แบบสันติมาโดยตลอด แต่อาจเพื่อหลบจากการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจที่เข้ามาลดอาวุธในพม่า จึงทำให้พม่ามีท่าทีแบบนั้น ในขณะนี้จึงไม่มีใครตอบได้ว่าพม่ามีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองแล้วหรือยัง หากจะมองอีกแง่หนึ่ง การมีข่าวลือว่าพม่ามีอาวุธนิวเคลียร์นั้น อาจเป็นเพียงยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ป้องกันตนเองจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นสิ่งต่อรองอำนาจทางการทหารระหว่างประเทศ เนื่องจากถูกกดดันจากต่างประเทศเป็นอันมาก ขณะที่เรื่องอุโมงค์ลับในพม่านั้นมีหลักฐานอยู่จริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net