Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
‘นายวสันต์ ปานเรือง’ ชาวบ้านในอำเภอไทรโยค ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเนื่องมาจากดำเนินการวิทยุชุมชนในพื้นที่ แม้จะรู้ดีว่าตนเองไม่ใช่อาชญากรที่กระทำความผิดร้ายแรง ทั้งไม่ได้ฆ่าผู้อื่น ไม่ได้วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้ใด และไม่ได้เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ กระทั่งไม่ใช่ผู้ที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ เพียงแต่ริเริ่มดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนในท้องถิ่น ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการสื่อสารไว้ ซึ่งการสื่อสารเรื่องราวกันเองในชุมชนเป็นผลให้สมาชิกในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจต่อชุมชนร่วมกัน ทำให้วสันต์มีความมุ่งหวังจะต่อสู้กับข้อกล่าวหาของรัฐเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคม ว่าการสื่อสารถึงกันระหว่างคนในชุมชนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย
 
ทว่าการต่อสู้เพื่อให้พ้นจากความผิดในครั้งนี้กลับยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบเจ็ดเดือน ตามขั้นตอนและกระบวนการยุติธรรมที่รัฐกำหนด กลับกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความมุ่งหวังที่ต้องการให้เกิดความถูกต้องและความเป็นธรรม เกิดความรู้สึกท้อแท้กับการต่อสู้โดยลำพัง รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องนำกำลังทรัพย์ส่วนตัวมาใช้ต่อสู้คดีในชั้นอัยการ
ทางออกที่ดีที่สุดของการยืนอยู่บนสภาวะเช่นนี้ เมื่อศาลประทับรับฟ้อง คือ “ การรับสารภาพ “ และยอมรับผลของคำพิพากษาที่เกิดขึ้น
 
หากย้อนไปเมื่อ 22 กรกฎาคม 2551 ภาพที่ ‘วสันต์ ปานเรือง’ ยังจดจำได้อย่างแจ่มชัด คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ไทรโยค เข้าตรวจค้นจับกุมวิทยุชุมชนไทรโยค จ.กาญจนบุรี และแจ้งต่อนายวสันต์ว่าเป็นผู้ที่กระทำความผิดในข้อหา “มี ใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต จงใจให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต”
 
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ต่อมาอัยการจังหวัดกาญจนบุรีได้พิจารณาหลักฐานและสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ 28 ธันวาคม 2552 ด้วยฐานความผิด 5 ฐาน ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 คือ มีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
 
ท้ายสุดศาลมีคำพิพากษาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ‘จำเลย’ มีความผิดตามคำฟ้องของอัยการ แต่ด้วยเหตุที่จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 18 เดือน ปรับ 32,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี
 
หากตั้งถามว่า “ รัฐธรรมนูญคืออะไร ?” ผู้รู้กฎหมายทุกท่านก็คงจะตอบว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และกฎหมายใดก็ตามที่ออกมาบังคับใช้โดยที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจมีผลบังคับใช้ได้
 
แต่ในเมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ในมาตรา 47 วรรคแรกบัญญัติว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ“ ซึ่งหมายความว่าทุกคนมีสิทธิที่จะสื่อสารตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ แต่เพราะเหตุใดกรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในกรณีนายเสถียร จันทร ที่ตกเป็นจำเลยในคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง และ นางสุภาพ ตะสูงเนิน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีวิทยุชุมชนคลองเตย ซึ่งล้วนแต่ถูกศาลพิพากษาว่าการะทำความผิดไปแล้วทั้งสิ้น คำตอบที่ได้รับกลับมาจากผู้บังคับใช้กฎหมายของรัฐ คือ “เมื่อยังไม่มีกฎหมายใดมารองรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การกระทำเช่นนี้ก็ต้องถือเป็นความผิด” หากเป็นตามความเช่นนั้นจริง รัฐธรรมนูญที่เรายึดถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดก็คงมีค่าไม่ต่างจากกฎหมายทั่วไป เพราะกว่าประชาชนจะได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็ต้องรอจนกว่ากฎหมายลูกออกมาบังคับใช้ 
 
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการจับกุมดำเนินคดีนายวสันต์ ปานเรือง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่งกำหนดให้มี “การออกใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน” เป็นการชั่วคราว หลายฝ่ายก็คงตั้งคำถามกับ กทช. ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตว่าแล้วทำไมไม่ออกใบอนุญาตเสียที เพราะสิ่งที่จะสามารถคุ้มครองไม่ให้บุคคลใดต้องตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ คือ การออกใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด หรือจะต้องให้มีผู้ตกเป็นจำเลยและได้รับโทษในคดีอาญาเช่นนี้อีกสักกี่ราย คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมี “ใบอนุญาต” ออกมารองรับสิทธิการสื่อสารกันเสียที.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net