ศาลแม่สอด นัดสืบพยานคดีชาวบ้านรุกป่าสงวน 18 -19 ก.พ. 53 นี้

ในวันที่ 18 -19 ก.พ. 53 นี้ ศาลจังหวัดแม่สอด นัดสืบพยาน นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา จำเลยคดีป่าไม้ เตรียมขอต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

สืบเนื่องจากกรณีที่นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล ประชาชนในชุมชนแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507 ข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดแม่สอดจึงนัดสืบพยานโจทก์คดีนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 และสืบพยานจำเลย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553

เดิมในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจำเลยได้รับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ประกอบกับขณะนั้นยังไม่มีทนายความให้จำเลยปรึกษา ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1 ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของทนายความ และในวันนัดสืบพยานจำเลย จะมีตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนและชุมชนใกล้เคียงซึ่งเป็นชนเผ่าชาวปกาเกอญอเช่นเดียวกันมาให้กำลังใจจำเลยในการต่อสู้คดีอันถือเป็นคดีของชุมชนประมาณ 70 คน โดยเครือข่ายข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ได้ให้การช่วยเหลือคดีและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
 
คดีดังกล่าวนับเป็นการร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองไว้ในมาตรา 66 ว่าบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน หลังจากที่หลายชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้และป่าสงวนซึ่งเป็นภาพสะท้อนการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมมายาวนาน ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ในเขตป่าโดยเฉพาะภาคเหนือถูกจับกุมดำเนินคดีและถูกจำคุกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ระหว่างการประกาศนโยบายโฉนดชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน และพื้นที่บ้านแม่อมกิเป็นพื้นที่โครงการนำร่องตามนโยบายรัฐบาล คดีนี้ จึงถือเป็นการลุกขึ้นมาทวงสิทธิของชุมชนในการอาศัย ใช้ประโยชน์ ดูแลรักษาทรัพยากรชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนแก่กระบวนการยุติธรรมและเป็นการพิสูจน์ว่าชุมชนสามารถใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญได้ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจแก่สังคมในประเด็นดังต่อไปนี้
 
1. สร้างความเข้าใจต่อสังคมว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ การทำเกษตรระบบไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของป่า ซึ่งมีงานวิจัยโดยการสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน
 
2. ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากชุมชนดังกล่าวชนะคดีจะเป็นบรรทัดฐานให้อีกหลายชุมชนที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาป่ามายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ
 
3. เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท