ท่องนิทรรศการศิลปะแรงงานข้ามชาติ : การเดินทางและสภาพชีวิตไร้ความมั่นคง

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และสตูดิโอซ้าง (Studio Xang) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยลีด ประเทศอังกฤษ ได้จัดเปิดงานนิทรรศการศิลปะ “การเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอยู่แบบชั่วคราว และการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอน”  ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

งานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อต้องการสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ถึงผลกระทบของนโยบายรัฐประเทศ ต่างๆ ต่อประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานผ่านงานศิลปะในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโอกาสและพื้นที่การแสดงออกให้แก่แรงงานข้ามชาติ ที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง และไม่มีโอกาสในสังคม

ซึ่งในงานมีผลงานศิลปะหลากหลายประเภท ตั้งแต่งานภาพเขียน ภาพถ่าย วิดิโออาร์ต ศิลปะจัดวาง (Installation) รวมถึงมีการแสดงสด (Performance Art) ด้วย


มุมหนึ่งของผลงาน “ทุกสิ่งทุกอย่างเตือนฉันให้จำเกี่ยวกับคุณ#1” โดย เอสเตล โคเฮนนี่

ศิลปะจัดวางชิ้นหนึ่งที่ตั้งอยู่หน้างาน เป็นผลงานของ เอสเตล โคเฮนนี่ ผู้ประสานงานสตูดิโอซ้าง จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานจัดวางชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่างเตือนฉันให้จำเกี่ยวกับคุณ#1’ (Everything reminds me to remember you#1) โดยเอสเตลบอกว่า ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความไร้ตัวตนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนการเป็นคนไร้หน้า นอกจากนี้แล้วยังผู้ที่อยู่กับความไม่มั่นคง ความเป็นอื่น และความรู้สึกก้ำกึ่ง ในการเป็นคนที่ไม่ได้เป็นของรัฐใดโดยชัดเจน

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของเอสเตลที่สื่อเรื่องราวของการเป็นผู้อยู่ระหว่างกลางของสองรัฐ ไม่สามารถเป็นของรัฐใดรัฐหนึ่งได้คือ วิดิโอที่ชื่อ “Thailurma Bound” ซึ่งบันทึกภาพการเดินข้ามสะพานเชื่อมระหว่างแม่สอดของไทยกับเมืองเมียวดีของพม่า เพื่อเข้ามาทำงานในไทย บางคนข้ามมาแล้วไม่กลับ ขณะที่บางคนมีการเดินทางไป-กลับ ทุกวัน

“มันเป็นสภาวะที่อยู่ระหว่างกลางของทั้งสองฝั่ง” เอสเตลกล่าว “พวกเขาไปไหนไม่ได้ แต่ก็ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้”

ผลงานวิดิโออาร์ตชิ้นนี้ยังมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ เช่น “Yes, sir” (ได้ครับ/ค่ะ) “Here you are, sir” (นี่ครับ/ค่ะ) ซึ่งเป็นคำพูดที่คนข้ามพรมแดนต้องไช้พูดกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พวกเขาจำต้องแสดงความนอบน้อมเป็นพิเศษเพราะ ตม. มีอำนาจในการที่จะอนุญาตให้หรือไม่ให้พวกเขาผ่านพรมแดน


ผลงานของสมชาย พินิจทรัพย์ เป็นภาพกึ่งนามธรรมที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัด
การเบียบเสียด ภาวะต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด

ด้านในของงานมีภาพศิลปะกึ่งนามธรรม ผลงานของสมชาย พินิจทรัพย์ นักศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะสมัยใหม่  งานของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวการขนส่งแรงงานข้ามชาติในตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างจังหวัดระนองกับภูเก็ต จนกระทั่งแรงงานข้ามชาติเกิดอาการขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตลง โดยงานชุดนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงภาวะอึดอัด เบียดเสียด และการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างผิดกฏหมายจนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

ขณะที่งานภาพถ่าย ก็จะสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน ของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เช่น งานภาพถ่ายของ จอห์น อูลห์ม มีภาพถ่ายของกลุ่มผู้อพยพที่มารอรถอยู่ที่แถว ‘คำเที่ยง’ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหวังจะได้ขึ้นรถไปทำงาน โดยมีภาพของคนงานที่พยายามกรูขึ้นรถกระบะ อีกภาพหนึ่งก็เป็นรูปกำลังแบกจอบแบกเสียม

ภาพถ่ายอีกบางส่วนก็สะท้อนให้เห็นภาพของการถูกกระทำจากรัฐ ทั้งรัฐไทยและรัฐบาลทหารพม่า เช่นอีกภาพหนึ่งของ จอห์น อูลห์ม ก็เป็นภาพที่คนงานต่างชาติถูกขังอยู่หลังรถกระบะที่มีลูกกรง หนึ่งในนั้นเกาะลูกกรงและกำลังร้องไห้ ซึ่งภาพนี้เป็นเรื่องราวช่วงที่แรงงานชาวพม่าถูกตำรวจจับกุมตัว และส่วนหนึ่งก็ถูกขับไล่ออกจากที่อยู่ จากการที่พวกเขาไปประท้วงที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้างมานานกว่า 3 เดือน

ขณะที่ผลงานภาพถ่ายของ นิค ดันลอป มีบรรยากาศของความแห้งเหี่ยว พังพาบ เจ็บปวด เช่นภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นสภาพหลังเหตุการณ์ที่ชาวบ้านในค่ายผู้อพยพห้วยกาหลกถูกโจมตีโดยรัฐบาลทหารพม่า ทำให้มี ทำให้มีผู้เสียชีวิต และอีกกว่า 7,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย


ผลงาน ‘มนุษย์ยางรถ’ ของ แจ๊กกี้ พอลล็อก สื่อให้เห็นถึงสภาพการเดินทางของแรงงานอพยพ
ที่ไม่มีความสะดวกสบาย และต้องเสี่ยงอันตราย

ตรงลานกลางของงานมีสระน้ำเป็นแอ่งเล็ก ๆ ตั้งอยู๋ และสิ่งที่อยู่ในสระน้ำคือภาพจำลองของคนนั่งบนห่วงยางลอยน้ำ ถึงได้รู้ว่านี่ก็เป็นศิลปะการจัดวางอีกชิ้นหนึ่ง

แจ็กกี้ พอลล็อก ผู้ออกแบบผลงานชิ้นนี้บอกว่าได้กำลังใจจากการที่ได้เห็นแอ่งน้ำนี้แล้วนึกถึงการเดินทางของกลุ่มแรงงานอพยพที่ต้องเดินทางแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต้องเสี่ยงอันตราย และไม่มีความสะดวกสบายเลย ไม่ว่าจะต้องซ่อนอยู่ท้ายรถบรรทุกมากับกองกะหล่ำปลีหรือดอกกุหลาบ หรือที่สื่อให้เห็นจากงานจัดวางชิ้นนี้คือคนงานที่เดินทางระหว่างอำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดีที่ข้ามแม่น้ำมาโดยอาศัยยางรถลอยน้ำข้ามมา จนเป็นที่มาของงานที่ชื่อ ‘มนุษย์ยางรถ’


“วันนี้จริง...พรุ่งนี้ฝัน” ของ ลีส์ ฮิลตัน ที่ให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมกับการจัดวางผลงานด้วย

ผลงานจัดวางอีกผลงานหนึ่ง คือ “วันนี้จริง...พรุ่งนี้ฝัน” ของลีส์ ฮิลตัน เป็นการนำของเล่นพลาสติกหลาย ๆ ชิ้นมาวางไว้ เพื่อสะท้อนภาพชีวิตของแรงงานอพยพซึ่งเข้ามาในรัฐไทยได้ยากลำบาก จากของเล่นที่แสดงเป็นตัวแทนชาวต่างชาติกำลังไต่เส้นเชือกข้ามกำแพง ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีชาวต่างชาติและหมีแพนด้าเดินทางผ่านประตูเข้ามาโดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีหุ่นทหาร หุ่นผู้ใช้แรงงาน ถนน รถยนต์ และเงินเหรียญของเล่น ที่ถูกจัดวางเอาไว้อย่างมีความหมาย

ศิลปะชิ้นที่ชื่อ “วันนี้จริง...พรุ่งนี้ฝัน” ที่นำมาไว้ในงานนี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมนิทรรศการมีส่วนร่วมในการจัดวางชิ้นของเล่นลงในงาน เพื่อสะท้อนว่า ผู้ชมอยากเห็นอนาคตเป็นแบบไหน



การแสดงสด (Performance Art) ของ ผดุงศักดิ์ คชสำโรง
สื่อให้เห็นถึงเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิของการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีการแสดงสด หรือ Performance Art ของ ผดุงศักดิ์ คชสำโรง อาจารย์จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งการแสดงสดชุดนี้มีการนำหุ่นทหารและถุงมือที่เป่าจนพองมาวางเรียงไว้ บทเทปกาวที่แปะไว้เสมือนเส้นอาณาเขต จากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมจำลองการกรอบใบอนุญาตผ่านเข้าเมือง ขณะที่ผู้แสดงจัดเก้าอี้สองตัวด้วยท่าทีครุ่นคิด โดยมีการเลื่อนไปวางตามมุมต่าง ๆ แต่ไม่เลยจากกรอบ ก่อนที่จะจัดเก้าอี้ด้วยท่าทีรุนแรงขึ้นและใช้เก้าอี้ไถลพังกรอบที่มีทหารและถุงมืออยู่ออกมาได้ในที่สุด

ผดุงศักดิ์ กล่าวถึงการแสดงชุดนี้ว่าต้องการสื่อให้เห็นถึงเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิของการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย การที่ขยับเก้าอี้ไป-มา ให้เห็นถึงการพิจารณาเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเสรีภาพคือการได้เลือก และการที่ไถลเก้าอี้ทั้งสองตัวฟังกรอบออกมาแสดงถึงการที่สุดท้ายแล้วก็เลือกที่จะร่วมกันทลายสิ่งที่ขวางกั้นเอาไว้

นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้นำมากล่าวถึง ณ ที่นี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชทนิทรรศการได้ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2553

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท