Skip to main content
sharethis
 
นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลังคณาจารย์ร่วม 400 คนลงชื่อคัดค้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ซึ่งนับเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางสุดอีกครั้งหนึ่งในแวดวงอุดมศึกษาไทย โดย รองเลขาฯ กกอ. ได้อธิบายถึงเป้าประสงค์ ที่มาที่ไปเบื้องต้นของการถือกำเนิด TQF พร้อมรับทราบปัญหาที่คณาจารย์วิตกกังวล อย่างไรก็ตามม ทางออกรูปธรรมนั้นอาจยังไม่ชัดเจน และคงต้องติดตามกันอีกหลายยกสำหรับความพยายามยกเครื่องคุณภาพการศึกษาไทยครั้งนี้
 
000
 
เห็นอย่างไรกับการออกมาคัดค้านของอาจารย์จำนวนมากต่อ TQF
กำจร: ถ้าเอาตั้งแต่ต้นเลยก็คือ TQF จริงๆ แล้วเป็นกระบวนการพัฒนาเพื่อประกันคุณภาพของหลักสูตร ประกันคุณภาพบัณฑิตในแต่ละสาขา ในแต่ละคุณวุฒิเพื่อให้เชื่อมโยงระหว่างวุฒิได้ อนุปริญญา ไปปริญญาตรี ไปปริญญาโท ปริญญาเอกได้
 
หลักการของTQFที่ดำเนินการมาแล้วมีอยู่สองส่วนคือ ใช้คำว่า Learning Outcome ภาษาไทยคือมาตรฐานผลการเรียนรู้ของบัณฑิต ซึ่งคำนี้ก็เป็นคำใหม่ ในกรณีของTQFครั้งนี้ เราพัฒนามาจากรูปแบบของออสเตรเลียและอังกฤษ มีวัตถุประสงค์หลักที่มาตรฐานการเรียนรู้ หรือ Learning Outcome ที่ 5 หัวข้อหลัก หนึ่งคือ คุณธรรมจริยธรรม สองคือด้านความรู้ สามคือทักษะปัญญา คือ ทักษะการแก้ปัญหาด้วยความรู้ที่เรียนมา สี่คือทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับความรับผิดชอบ เพื่อจะให้สามารถสื่อสารในแต่ละกลุ่มได้ ห้าคือทักษะในการคิดเลข การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เหล่านี้มาจากการประมวลจุดอ่อนของบัณฑิตไทยในอดีตที่ผ่านมาว่ามีอะไรที่ยังต้องแก้ไขบ้าง
 
นี่ไม่ใช่โมเดลของต่างประเทศล้วนๆ แต่มาจากการประเมินคุณภาพบัณฑิตไทย
ใช่ครับ มีการประชุมกันหลายครั้ง ต่อเนื่องกันหลายปีด้วย ก็บอกว่าบัณฑิตไทยยังมีปัญหาในบางเรื่อง เช่น ทักษะในการสื่อสารสัมพันธ์กัน คือ พูดกันข้ามกลุ่มไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดง่ายๆ ว่าวิชาชีพตัวเองเท่านั้นแหละที่รู้เรื่อง เป็นต้น หรือทักษะเรื่องภาษา การสื่อสาร การคิดคำนวณ รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรมซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่คิดว่าถ้ามีเรื่องนี้ใส่เข้ามาก็น่าจะเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของบัณฑิตไทย
 
การที่เรื่องคุณธรรม จริยธรรมเป็นข้อแรก ถือเป็นการเรียงลำดับการให้น้ำหนักคุณสมบัติที่พึงประสงค์ด้วยไหม
ใช่ครับ ส่วนทักษะการคิดคำนวณเป็นอันสุดท้าย อันนี้คือ minimum หรืออย่างน้อยที่สุด
 
ทีนี้นอกจากเรื่องผลการเรียนรู้แล้ว อีกประเด็นหนึ่งของการทำ TQF ก็เพื่อจะไปเทียบกับสากล มาตรฐานของหลักสูตรที่เป็นสากล ของอังกฤษ ของออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่ามันเท่ากัน เราไม่ได้ด้อยกว่า เวลาเราจะไปเรียนต่างประเทศ หรือเขาจะมาเรียนที่เราจะได้เทียบกันได้
 
ในการเตรียมการที่ผ่านมา ไม่ทราบว่ามีกระบวนการมีส่วนร่วมจากอาจารย์อย่างทั่วถึงไหม ทำไมจึงเกิดกระแสคัดค้านค่อนข้างมาก
อันนี้ก็เป็นประเด็น เนื่องจากดำเนินการมาหลายปี จริงๆ กระบวนการมีส่วนร่วมมีมาตลอด แต่เนื่องจากคณาจารย์เรามีมาก มีบางระดับที่สนใจก็จะเข้ามาร่วม บางระดับไม่สนใจก็อาจไม่ได้เข้ามาร่วม ในตอนต้น มีการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมมาตลอด ส่วนที่ไม่ได้ร่วมตอนต้นอาจเข้าใจว่าไม่เปิดการมีส่วนร่วม แต่ยืนยันได้เพราะมีการประชุมหลายครั้งและมีผู้เข้าร่วมจากทุกสถาบัน แต่มักจะเป็นตัวแทนของสถาบัน ฉะนั้น พอกลับไปสื่อสารก็อาจไปไม่ถึงทั้งหมด
 
สายวิทยาศาสตร์ เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วใช่หรือไม่ มีผลตอบรับเป็นอย่างไร
ใช่ สายวิทยาศาสตร์ดูจะง่ายกว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มันง่าย ส่วนกระบวนการทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นประเด็นที่น่ากังวลพอสมควร ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์พอพูดถึงการคำนวณ การให้ความรู้ทางไอซีที เขาเข้าใจได้ว่าต้องเพิ่มหรือลดอะไรบ้างในหลักสูตร หรือสายวิทยาศาตร์ประเด็นที่เพิ่มคือเรื่องความรู้ทั่วไปที่เขาขาดไป เป็นต้น
 
มี 3 สาขาวิชาที่ผ่านออกมาแล้วคือ สาขาโลจิสติกส์ การพยาบาล และสาขาคอมพิวเตอร์ คือมีประกาศมาตรฐานของ 3 สาขานี้แล้ว
 
เสียงคัดค้านจากสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มีค่อนข้างมาก และเห็นกรอบแบบนี้อาจเข้ากันไม่ได้กับการเรียนการสอนสายนี้
ครับ เราได้ทราบตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อเดือนธันวาคมเราก็ได้เข้าร่วมประชุมที่เชียงใหม่ และได้กลับมานำเรียนปรึกษากันหลายครั้ง และคิดว่ามีปัญหาแน่ๆ ก็ได้เชิญมาอย่างที่เขาเล่าให้ฟัง เชิญมานี่ไม่ได้มาสรุปหรือดำเนินการแต่มาช่วยกันดูว่าจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ถึงแม้ส่วนที่ผ่านไปแล้วก็ตาม ก็พบว่ามีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา สิ่งเหล่านี้คงต้องเรียน กกอ. หรือ คณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้รับทราบร่วมกันว่าจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทบทวนอะไรหรือไม่ อย่างไร ต้องเรียนว่าเริ่มดำเนินการอาจมีปัญหาเหมือนกัน
 
ประกาศของ กกอ.เอง หรือกระทรวงศึกษาเองได้กำหนดกรอบการดำเนินการไว้หมดแล้ว
ประกาศได้เขียนไว้ว่าให้ใช้กรอบที่พัฒนาแล้ว เสร็จแล้ว อย่างของ 3 สาขาที่ดำเนินการไปแล้ว ถ้ายังไม่มีก็ให้ใช้กรอบใหญ่ ทีนี้ประเด็นปัญหาของอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านให้ข้อคิดเห็นมา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการที่ลงรายละเอียดยิบย่อย การไปใช้เอกสารหลักฐานเสียมากมาย อันนี้ผมก็รับทราบ ในส่วนตัวก็คิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องร่วมพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความสะดวกและไม่ยากจนเกินไปสำหรับทุกๆ ฝ่าย
 
การมีกรอบและรายละเอียดจำนวนมากทำให้ถูกตั้งคำถามด้วย เรื่องการแทรกแซงเสรีภาพในการเรียนการสอน ไม่ทราบเห็นอย่างไร
ความที่มุมมองของแต่ละฝ่ายอาจมีความแตกต่างกัน แต่ในลักษณะแทรกแซงนั้น ต้องเรียนว่าปัจจุบันความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยนั้นสูงมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยิ่งมีความอิสระสูงขึ้นไปอีก การที่สกอ.จะเข้าไปแทรกแซงหรือกำกับนั้นยากมาก ส่วนที่เราจะเข้าไปกำกับก็กำกับที่มาตรฐานหลักสูตรเป็นหลัก ในTQFที่ออกมา โดยหลักการมันดี แต่วิธีการอาจต้องมาปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องเอกสารรายละเอียดทั้งหลาย สิ่งที่เราดำเนินการจริงๆ คือ ตัวกรอบบนสุด คือ หลักสูตรจะเป็นอย่าไงก็เป็นหลักสูตรของประเทศ ดังนั้น มหาวิทยาลัยไม่ว่าของรัฐ เอกชนทั้งหลาย จะดำเนินการเปิดหลักสูตรก็ควรมีมาตรฐานเดียวกัน อันนี้คิดว่าทุกคนก็รับได้ ไม่ใช่การแทรกแซงแต่คือการทำมาตรฐานให้มีกรอบเดียวกัน แต่คำว่า “กรอบ” มันทำให้รัดตรึงเกินไปในบางจุด ต้องไปทำให้มีความยืดหยุ่นเกิดขึ้นได้บ้าง
 
หาก กกอ.เห็นควรว่าต้องปรับปรุงอีกครั้ง จะต้องมาเถียงกันใหม่ถึงปรัชญาการศึกษาเลยหรือไม่ และจะหาเส้นตรงกลางระหว่างคำว่า “มาตรฐาน” กับ “ความหลากหลาย” ของการเรียนการสอนหรือหลักสูตร ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์สายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ให้ความสำคัญได้อย่างไร
อันนี้ก็เป็นข้อกังวลที่ต้องนำเสนอให้ กกอ.ช่วยกันพิจารณา ผมเองก็มีความคิดเห็นอย่างที่เรียนว่า กรอบควรบอกว่าต้องมีอะไร แต่ว่าจะต้องเพิ่มอะไรเป็นอิสระของเจ้าของหลักสูตร ของมหาวิทยาลัย หมายความว่ารถยนต์ที่จะวิ่งต้องมี 4 ล้อ มีเบรค มีเกียร์อย่างน้อย 5 เกียร์ แต่ถ้าจะทำอะไรมากกว่านั้นเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย  เรื่องความยืดหยุ่นคงต้องพิจารณากันอีกรอบ สิ่งที่ลงในหนังสือพิมพ์ อันที่จริงอาจารย์วิจารณ์ (วิจารณ์ พานิช – ประธาน กกอ.) รับทราบแล้ว และต้องนำมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งใน กกอ.
 
หมายความว่าในรูปธรรมจะมีการหารือกันให้ตกก่อนจะมีการบังคับใช้
บังเอิญว่าเรื่องการบังคับใช้นั้นมีการประกาศไปแล้ว ก็อาจต้องดูว่าจะมีการทบทวนประกาศเหล่านี้อย่างไรบ้างด้วย
 
หมายความว่าอาจต้องมีการยกเลิกประกาศ หรือขยายเวลาในการใช้TQF
ต้องดูก่อน ตอนนี้ผมคงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องมีการหารือกันก่อนว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน ส่วนผมเองก็ยินดีช่วยดูให้ ผมก็รับปากทางเชียงใหม่มาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูประเด็นปัญหาทั้งหลายและข้อจำกัดจากประกาศที่ประกาศไปแล้วด้วย ทั้งหมดนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
 
มีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากเรียนชี้แจงคือ เรื่องการกรอกเอกสารในรายละเอียด หรือการเขียนรายงานก็ตาม ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หมายความว่าเวลามีนักศึกษาเรียนในหลักสูตรได้ จบไปกี่คน ได้เอฟ ได้เอกี่คน รายวิชานี้จัดการเรียนการสอนอย่างไร อาจารย์ผู้สอนต้องรายงานมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพียงแต่การรายงานในรูปแบบของมหาวิทยาลัย กับการรายงานรูปแบบใหม่นี้อาจมีความแตกต่างก็อาจต้องประเมินกันอีกทีว่าทำอย่างไรให้การรายงานในมหาวิทยาลัยกับTQFเป็นเรื่องเดียวกัน ภาระงานก็จะไม่เพิ่มขึ้น แต่เป็นหน้าที่ต้องทำอยู่แล้วไม่ว่าจะมีTQFหรือไม่ อาจารย์ผู้สอนก็มีหน้าที่หนึ่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรก็มีหน้าที่หนึ่ง หมายความว่า หัวหน้าภาควิชา คณบดี ต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาเป็นข้อมูลให้กับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว
 
อย่างนี้จะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนไหม หน่วยงานตรวจสอบก็มี สมศ.และหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว
ตอนนี้มี 3 หน่วย คือ กพร. คณะกรรมการพัฒนาระบบราชาการ สมศ.สำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษา และ สกอ.คือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
 
กพร.นั้นตรวจทุกหน่วยงานที่เป็นราชการ ด้วยตัวชี้วัดที่คล้ายๆ กัน สกอ.ก็ถูก กพร.ตรวจสอบด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานราชการมีการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ดูจากพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน เมื่อเอาพันธกิจของของมหาวิทยาลัยมาคลี่ เขาก็วัด ก ข ค ง ว่าของเขาไป
 
สมศ. พันธกิจโดยตรงคือ วัดคุณภาพของสถาบันการศึกษา ทั้งโรงเรียนประถม มัธยม อุดมศึกษา ทั้งหมด แล้วก็วัดว่าจัดการเรียนการสอนได้คุณภาพหรือไม่
 
สกอ. กำกับมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาว่าดำเนินการในหลักสูตรที่บอกจะดำเนินการโดยมีคณาจารย์กี่คน และสำเร็จตามที่ว่าไว้หรือไม่
 
บทบาทของสามหน่วยงานนี้ซ้อนกัน ถ้าต่างคนต่างวัดย่อมซ้อนกันแน่นอน ถามแล้วถามอีก ซึ่งเป็นเรื่องน่ารำคาญของมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง ต้องเรียนว่า ผมเข้ามาผมก็เห็นประเด็นนี้ว่าจำเป็นต้องมีการสังคยนา ก็นัด สมศ.มาคุย ขณะนี้ดำเนินการได้ระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้ตัวชี้วัดของ สมศ. กับ สกอ.จะไม่ซ้อนกัน ก็จะลดภาระที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการซ้ำซ้อนลง ส่วน กพร. เขากำกับเราด้วย การต่อรองกับเขาเป็นอีกเรื่อง แต่คาดว่าก็จะเสนอเขาด้วย ถ้าเห็นว่าอันไหนซ้ำซ้อนกับของเขา เราก็จะหยุดวัดเช่นกัน
 
ก็ยังดูเหมือนซ้อนกันอยู่
กพร.เขาวัดเพื่อจะให้รางวัลกับหน่วยงานที่บริหารราชการได้ดี สมศ.เขารับรองสถาบัน คณะ ว่าจัดการศึกษาได้แค่ไหน ส่วน สกอ.รับรองหลักสูตร มันคนละมิติกัน
 
การเร่งประกาศ เร่งกำหนดการใช้TQF เป็นไปเพื่อรองรับการเปิดเสรีภาคบริการ การศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในอาเซียนใช่หรือไม่
เข้าใจว่าคงคนละประเด็น ช่วงนั้นผมยังไม่ได้เข้ามา แต่คิดว่าคงไม่ได้เกี่ยวกับ Free Trade หรือ AFTA เพราะตัวนี้ ต้องเรียนตามตรงว่าทุกคนปรารถนาดีหมด TQFน่าจะเป็นความพยายามดูมาตรฐานการศึกษาเป็นหลัก และเป็นตัวป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะเข้ามา ไม่ต้องถึงระดับเอฟทีเอ เอาแค่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เปิดหลักสูตรมากมายก็คุมกันลำบากแล้ว นี่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยดูแล ไม่เช่นนั้นบัณฑิตที่จบออกมาจากหลักสูตรเดียวกันในแต่ละสถาบันจะมีมาตรฐานเดียวกันได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net