Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เดือนมีนาคมกำลังจะเดินทางมาถึง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีแรงงานรุ่นใหม่ที่เรียนจบออกมาและเดินทางเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ในยุคที่รัฐบาลมีอิทธิพลโดยตรงต่อความสัมพันธ์กับแรงงานในระดับล่าง ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลได้เข้าถึงทุนและมีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนในภาคอุตสาหกรรมอย่างแนบแน่น ด้วยทัศนคติที่สนับสนุนการลงทุนอย่างโจ่งแจ้งและต่อต้านการลุกขึ้นสู้ของแรงงาน รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำโดยฝ่ายบริหาร
           
แต่กลับทั้งรวดเร็วและปราศจากเมตตาปราณีใดๆ ในการทำลายล้างต่อทุกกรณีที่มีสัญญาณบ่งบอกถึงการก่อความไม่สงบเรียบร้อยของแรงงาน ขณะที่ข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลในการปกป้องต่อต้านการใช้แรงงานอย่างทาส (การจ้างงานเหมาค่าแรง) กลับถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการเหลียวแล ข้อเรียกร้องของนายจ้างเรื่องการยกเลิกภาษีนำเข้าและส่งออกได้รับการสนับสนุน สำหรับการแทรกแซงเพื่อการสกัดกั้นการก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานนั้นได้รับการตอบสนองอย่างเต็มใจ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ การตระหนักรู้ทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนงาน ธรรมชาติของอำนาจรัฐ ในระบบทุนนิยมนั้นสามารถมองเห็นได้โดยง่าย โดยเฉพาะหลังจากที่แรงงานได้มีความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มเติมไปถึงความสำคัญของการจัดตั้งองค์กรของพวกเขาเพื่อเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อนำมากเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการต่อรองผลประโยชน์จากนายทุนและภาครัฐ
 
ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสถาบันที่เอื้ออำนวย นักลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงไม่ต้องเผชิญปัญหายุ่งยากในการสรรหาประชาชนคนหนุ่มสาวจำนวนมากมายจากเขตชนบท และเปลี่ยนพวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ ในแต่ละปีลูกสาวและลูกชายชาวนานับแสนๆ คน จะละทิ้งทุ่งนามุ่งสู่โรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง และปรับตัวเข้ากับโลกของงานอุตสาหกรรมอย่างราบเรียบและนุ่มนวล แสดงให้เห็นว่าไม่มีปัญหาเฉพาะใดๆ ในเรื่องการต่อต้านหรือปรับตัวกับระบบอุตสาหกรรมของงานใหม่ แรงงานไทยยากมากที่จะพูดถึงปัญหากฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์อันเลวร้ายของนายจ้าง หรือเขาอาจจะเคยชินกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและสภาพเงื่อนไขการทำงานที่เลวร้ายสุดขีด ถือได้ว่าส่วนใหญ่ขบวนการการเปลี่ยนเป็นกรรมาชีพของแรงงานไทยนับว่าเป็นกระบวนการที่สงบราบรื่นอย่างเห็นได้ชัด
 
ด้วยชั่วโมงที่ยาวนานของงานที่หนัก ทุกวันที่ต้องทำงานล่วงเวลา และไม่มีวันหยุดที่สม่ำเสมอ แม้กระทั่งในวันอาทิตย์ จึงไม่มีเวลาเหลือสำหรับการผักผ่อนหรือดูแลครอบครัวหรือเพื่อนฝูง งานในโรงงานจึงหมายถึง “อุทิศทั้งชีวิต” ให้แก่โรงงานโกโรโกโส เพื่อแลกกับค่าจ้างที่น้อยกว่าการประทังชีวิตซึ่งก็หมายถึงการสังเวย “ชีวิตความเป็นมนุษย์” ของคนงานและเปลี่ยนไปเป็นเครื่องจักรหรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม หลายครั้งที่แรงงานในโรงงานมักมองตัวเองว่าเลวร้ายกว่าเครื่องจักรหรือวัวควายด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่พวกเขาบอกว่า “วัวควายอย่างน้อยก็ยังได้นอนหลับในเวลากลางคืน” และ “เครื่องจักรยังได้หยุดพักในช่วงซ่อมแซม” จึงไม่มีเวลาเหลืออีกแล้วสำหรับสิ่งอื่นใดนอกจากการประทังชีวิตขั้นพื้นฐาน
 
หลายครั้งที่เราได้รับทราบข่าวอันแสนเศร้า และความยากเข็ญทุกข์ทรมานของเพื่อนผู้ใช้ชีวิตในโรงงาน แรงงานทุกคนนำร่างกายที่แข็งแรงของวัยหนุ่มสาวมาสู่โรงงาน แต่หลายปีของงานอันหนักหน่วงในเงื่อนไขที่เป็นอันตรายเป็นเหตุให้ร่างกายอันกำยำของแรงงานเหล่านั้นทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ร่างกายของพวกเขาที่ค่อยๆ อ่อนแอลง บ่อยครั้งพวกเขาได้รับโรคที่เกิดจากอาชีพการทำงาน หรือตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาออกจากโรงงานหรือถูกเลิกจ้างความเป็นหนุ่มสาวของพวกเขาก็จากไปด้วย เหลือแต่ร่างกายที่แก่เกินวัยกับโรคเรื้อรังหลากหลายที่ได้รับจากโรงงาน ดังเช่น แรงงานโดยมากมักคร่ำครวญว่า “เมื่อน้ำมันถูกสกัดออกจากร่างกายของเรา เราก็ถูกโยนทิ้งออกมาเหมือนขยะ” จึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมานั้นมองชนชั้นกรรมาชีพเป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้มีสิ่งใดที่เป็นปัจจัยเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานที่แท้จริงแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net