กสม.ลงพื้นที่พักรอชั่วคราว ดูความเป็นอยู่ผู้หนีภัยชาวกะเหรี่ยง

จากการที่องค์กรพัฒนาเอกชนและนักสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทหารยับยั้งการดำเนินการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับประเทศ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ผ่านมา โดยได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากหวั่นเกรงถึงความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตของผู้หนีภัยหากต้องถูกส่งกลับ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดำเนินการส่งกลับผู้หนีภัย ในขณะที่ฝั่งประเทศพม่ายังไม่มีการรับรองได้ถึงความปลอดภัย

วานนี้ (18 ก.พ.53) น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะได้เดินทางไปยัง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงยังพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุ ตามที่ได้รับการร้องเรียน

ในช่วงเช้าของการลงพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้เดินทางไปที่ทำการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (Backpack Health Worker Team: BPHWT) เพื่อรับฟังการชี้แจงข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่จากกรณีปัญหาการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-พม่า และการส่งกลับผู้หนีภัยสงคราม จากองค์กรต่างๆ ซึ่งทำงานในพื้นที่ อาทิ องค์กรท้องถิ่นกะเหรี่ยง (Karen Community Based organizations: KCBOs), องค์การมนุษยธรรมชายแดนไทยพม่า (Thai Burma Border Consortium: TBBC), กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง (Karen Human Rights Group: KHRG), Solidarites และกลุ่มเพื่อนพม่า (Friends of Burma: FOB)

กรรมการสิทธิฯ รับฟังข้อมูลจากหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่

ประเด็นที่มีการพูดคุย ได้แก่เรื่องความสมัครใจและปัญหาความไม่ปลอดภัยของผู้หนีภัยหากต้องกลับสู่ประเทศพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องกับระเบิดในพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้มีการเก็บกู้ การบังคับใช้แรงงานจากทหารกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ซึ่งควบคุมพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนอยู่ในขณะนี้ และความขาดแคลนอาหาร รวมไปถึงปัญหาการกดดันจากทหารในศูนย์ฯ ด้วยการใช้คำพูด การจำกัดพื้นที่ การจำกัดอาหาร ตลอดจนจำกัดความช่วยเหลือขององค์กรต่างประเทศ เพื่อให้ผู้หนีภัยเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราว ตลอดจนความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในกระบวนการส่งกลับ

ด้าน น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน การจัดการด้วยกำลังทหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทหารเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ต้องเข้ามาช่วย ไม่ใช่กลไกหลักกลไกเดียวอย่างทุกวันนี้ ในเชิงนโยบายแล้ว รัฐบาลควรต้องดูแลผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยการยึดหลักด้านสิทธิมนุษยชน ความมั่นคง และความปลอดภัยให้พวกเขา ขณะเดียวกันควรดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนไทย อีกทั้งนโยบายทางการเมืองต้องดูถึงความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ดูเฉพาะความมั่นคงทางการเมือง

น.พ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่าในบ่ายวันที่ 23 ก.พ.นี้ ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้เชิญนายกรัฐมนตรี หรือตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกเชิงนโยบายในด้านการจัดการต่อกรณีดังกล่าว

ในส่วนข้อเสนอ น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่าจะต้องมีการดำเนินการใน 2 ส่วน คือในระยะสั้นและระยะยาวนั้น เห็นด้วยในเรื่องที่ต้องคำนึงถึงวิธีการจัดการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบที่คำนึงถึงสิทธิในชีวิตและความปลอดภัย ความสมัครใจ และการมีส่วนร่วม ซึ่งจะผลักให้เป็นภาระของฝ่ายทหารอย่างเดียวไม่ได้ อีกทั้งเสนอให้รัฐบาลสั่งการให้มีหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระเข้ามาดูแล ส่วนในระยะยาวที่จะให้มีการเจรจาระหว่างประเทศในเรื่องเขตแดนสันติภาพยังคงเป็นเรื่องยาก และต้องทำงานหนักร่วมกันต่อไป

จากนั้น น.พ.นิรันดร์ พร้อมคณะได้เดินทางไปที่คลินิกแม่ตาว ของหมอซินเธีย หม่อง แพทย์อาสาสมัครรักษาชาวกะเหรี่ยง ที่บ้านแม่ตาว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยและรับฟังข้อมูลการทำงานของคลินิก

พ.อ.นพดล และนายอำเภอท่าสองยางนำคณะกรรมการสิทธิฯ ดูพื้นที่เส้นทางข้ามแม่น้ำเมย ซึ่งผู้หนีภัยจากการสู้รบจะใช้ในการเดินทางกลับประเทศพม่า

บ้านเลอเปอเฮอเมื่อมองจากฝั่งประเทศไทย หมู่บ้านแห่งนี้คือพื้นที่ซึ่งทหารไทยให้ข้อมูลว่าผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัวส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปอยู่ที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะเข้าไปดูพื้นที่พักรอชั่วคราว พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด และนายโภคากรณ์ สินสกลวัฒน์ นายอำเภอท่าสองยาง ได้นำคณะเข้ารับฟังการบรรยายสรุป ณ ที่ว่าการอำเภอท่าสองยาง โดยนายโภคากรณ์ ชี้แจงว่า เดิมมีผู้หนีภัยจากการสู้รบ จำนวน กว่า 4,000 คน ได้เข้ามาตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.52 โดยทางการไทยได้จัดพื้นที่พักพิงให้ 4 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่ง คือที่บ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,100 คน เนื่องจากมีการทะยอยเดินทางกลับไปแล้ว

“มั่นใจว่าทหารไม่ได้รังแก เพราะความจริงคือยอดคนลดอยู่แล้ว” นายอำเภอท่าสองยางกล่าว

นอกจากนี้ นายโภคากรณ์ ยังกล่าวว่า มีผู้แอบแฝงเข้าไปเพื่อขอรับการช่วยเหลือทางด้านอาหาร เพราะเห็นว่ามีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทางฝ่ายทหารและทางฝ่ายปกครองกำลังร่วมกันตรวจสอบ อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า กว่า 8 เดือนที่ผ่านมา การที่ผู้อพยพไม่ยอมกลับออกไปจากพื้นที่เพราะผลประโยชน์  

หลังจากนั้น ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปพบกับผู้หนีภัยการสู้รบชาวกะเหรี่ยง ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุโดยขอไม่ให้ฝ่ายทหารติดตามไปในขณะมีการสัมภาษณ์ผู้หนีภัย เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามพบว่าทหารยังคงติดตามไปรับฟังการสัมภาษณ์และมีการให้ข้อมูลที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่อุสุ

การรับฟังข้อมูลในพื้นทีบ้านหนองบัว

 

การรับฟังข้อมูลในพื้นที่บ้านแม่อุสะ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นัดประชุมโดยเชิญตัวแทนผู้นำองค์กรกระเหรี่ยง นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ร่วมชี้แจงและให้ข้อมูลต่อกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้น เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพภาค 3 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคม UNHCR ตัวแทนสถานทูตต่างๆ อาทิ เบลเยี่ยม แคนาดา หรัฐอเมริกา และตัวแทนสหภาพยุโรป เข้าร่วมรับฟังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท