รายงาน: ทำความเข้าใจมหากาพย์ ‘มาบตาพุด’ และความคืบหน้าทางกฎหมาย

มหากาพย์เรื่องนี้เริ่มต้นจาก มาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมัยนั้นนำโดยนักกฎหมายอย่าง สมคิด เลิศไพฑูรย์ , คมสันต์ โพธิ์คง, บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นต้น ที่เป็นผู้ผลักดันหลักให้เกิดมาตรานี้

สรุปรวมความมาตรานี้ได้ว่าให้ “โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” ต้องดำเนินการ 
1)ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 
2) ผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ)
3) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน 
4) ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำความเห็นประกอบไปยังหน่วยงานอนุมัติ 
 
และสุดท้ายคือ ประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้หากไม่ทำตามนี้
 
แต่ทว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้มาพักใหญ่ เปลี่ยรัฐบาลไปหลายชุด เรื่องนี้ก็ไม่ถูกดำเนินการ หน่วยงานต่างๆ ยังทำไปตามเกณฑ์เดิมคือให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาอีไอเออย่างเดียว องค์การอิสระก็ไม่เกิด แม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะตัดทิ้งข้อความ “ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนด” โดยให้ทุกอย่างมีผลบังคับใช้ทันทีแม้ไม่มีกฎหมายลูก และแม้ส่วนบทเฉพาะกาลจะกำหนดสำหรับมาตรานี้ไว้ว่าต้องมีกฎหมายลูกภายใน 1 ปี
 
จนกระทั่งมีประชาชนจังหวัดระยองรวมตัวกันร่วมกับทนายความสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดย ศรีสุวรรณ จรรยา ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามวรรค3 ของมาตรานี้ฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าอนุมัติโครงการอุตสาหกรรมไปโดยไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 พร้อมแนบท้ายรายชื่อโครงการที่เพิ่งอีไอเอผ่านไปใหม่หมาดหลังรัฐธรรมนูญ 50 ประกาศใช้ไปด้วย 76 โครงการ
 
ศาลปกครองตัดสินให้ระงับโครงการดังกล่าวทั้งหมด รัฐยื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดก็ยังสั่งระงับ แต่ยอมปล่อย 11 โครงการที่เป็นการบำบัดมลพิษ รวมแล้วยังติดค้างอยู่ 65 โครงการ (อ่านข้อวินิจฉัยของศาลปกครอง, ศาลปกครองสูงสุดในเอกสารแนบด้านล่าง) จนกว่าจะดำเนินการตามมาตรา 67
 
ภาคเอกชนออกมาโอดครวญพร้อมชี้ถึงมูลค่าความเสียหายนับแสนล้านบาท รวมถึงแรงงานที่จะตกงานอีกเป็นจำนวนมาก จีดีพีของประเทศที่รัฐบาลหมายมั่นให้เชิดหัวขึ้นบ้างก็ทำท่าจะร่อแร่ม้วนหัวกลับสู่พื้นพสุธา สถานการณ์จึงเข้าสู่ช่วงฝุ่นตลบ ซึ่งมีอยู่ 3 เปราะใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ องค์กรอิสระฯ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร , อะไรที่จะเรียกว่าโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง, “เอชไอเอ” หน้าตาเป็นแบบไหน เพราะที่ผ่านมามีแต่อีไอเอ และหลายคนว่าอันที่จริงในอีไอเอก็มีเอชไอเออยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ให้น้ำหนักนัก 
 
แย่งกันปลุกปั้น “องค์กรอิสระ”
แม้หลายเสียงจากหลายส่วนจะอ่านรัฐธรรมนูญรอบแล้วรอบเล่าพร้อมทั้งระบุว่ามันไม่ได้กำหนดให้ตั้งองค์การอิสระฯ แยกออกมาต่างหาก แต่ดูเหมือนภาคประชาชนและคณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะไม่ได้เห็นดังนั้น
 
สำหรับการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับองค์การอิสระฯ นั้น ตอนแรกมีคู่ชิงดำได้แก่ องค์กรเอ็นจีโอกับคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยกระทรวงอุต กระทรวงทรัพฯ โดยเอ็นจีโอได้ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรอิสระฯ พร้อมพยายามรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายแต่ไม่ทันได้ครบตามจำนวน ส่วนคณะทำงานภาครัฐนำเสนอเพียงแค่แก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ของเดิมเพื่อเติมมาตราว่าด้วยองค์การอิสระฯ เข้าไป
 
เนื้อหาทั้ง 2 แนวทางนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะเอ็นจีโอต้องการให้องค์กรนี้เป็นองค์กรระดับชาติ และมีความเป็นอิสระในการดำเนินการงาน ขณะที่แนวทางการแก้ไขของภาครัฐนั้นนิยามว่าองค์กรนี้คือหน่วยงานไหนก็ได้ที่มาขอขึ้นทะเบียนกับกระทรวงทรัพฯ และรมว.ทรัพฯ ก็มีอำนาจเพิกถอนทะเบียนดังกล่าวได้ ถ้าเห็นว่าหน่วยงานนั้นให้ความเห็น “ไม่เป็นกลาง” และนี่เป็นที่มาที่เอ็นจีโอและประชาชนนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนหลายแห่งประสานเสียงกันค้าน แถลงข่าวเป็นทางการไปตั้งแต่ก.ย.ปีที่แล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ของภาคประชาชนถูกนำเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาจนได้ แต่ก็ถูกถอนออกไปแล้วเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อเปิดทางให้ ร่างพ.ร.บ.ที่กำลังรอลุ้นกันอยู่คือ ร่างของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งมีแนวทางที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับกฎหมายของภาคประชาชน นั่นคือ ให้มีการตั้งองค์การอิสระฯ เป็นองค์กรกลางระดับประเทศ และสามารถมีเครือข่าย สาขาคอยช่วยติดตามข้อมูแบ่งตามพื้นที่ ตามประเด็นได้อีกด้วย ขณะนี้ร่างนี้ ครม.รับหลักการแล้ว และกำลังส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งตามกระแสข่าวที่ออกมาช่วงนี้ดูเหมือนกฤษฎีกาจะมีการปรับแก้ในสาระสำคัญ และคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็แสดงควาไม่เห็นด้วยไปแล้ว ที่เหลือก็เพียงรอลุ้นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
 
คณะกรรมการ 4 ฝ่ายตั้งองค์การอิสระฯ “เฉพาะกาล”
แน่นอนว่า กว่าร่างพ.ร.บ.จะผ่านการพิจารณาตามกระบวนการของรัฐสภา ย่อมใช้เวลายาวนาน และคงไม่ทันกับอุณหภูมิของภาคธุรกิจในเวลานี้ จึงมีการหาช่องในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ให้ได้ก่อน มีทั้งกระแสในการออกเป็นระดับพระราชกำหนด แต่สุดท้ายก็ตกไป และสรุปรวมความว่าจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. และระหว่างนี้ที่พ.ร.บ.ตัวจริงยังไม่ออก ก็ให้ตั้ง “องค์การอิสระฯ (เฉพาะกาล)” ไปก่อน โดยกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ แต่หลังจากมีเสียงติงจากกฤษฎีกาว่าคำสั่งสำนักนายกฯ ไม่สามารถจัดตั้งองค์การอิสระได้ จึงหาทางออกโดยการไพร่ให้ไปเป็น ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วย “คณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระ” มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานเช่นเคย และกรรมกาก็เป็นชุดเดียวกับกรรมการ 4 ฝ่ายเกือบทั้งหมด เพื่อระดมความเห็นในการจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาล ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ทำคลอดให้ออกมาเป็นองค์การอิสระฯ เวอร์ชั่นเฉพาะกาลก่อน
 
แม้มีเสียงคัดค้านว่าทางนี้ก็ดูจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่คณะกรรมการอิสระยังคงเดินหน้า โดยมีการเปิดรับฟังความเห็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการร่างกรอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิส่งตัวแทนสมัคร (องค์กรเอกชน และสถาบันการศึกษา) คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นกรรมการองค์กรอิสระ ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ การคัดสรรกันเอง ฯลฯ เรียบร้อยหมดแล้ว และนำมาชี้แจงในเวทีวันนั้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีกรอบเรื่องของเอชไอเอไว้เสร็จสรรพเรียบร้อย หลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้วางกรอบเวอร์ชั่นละเอียดเกี่ยวกับการทำเอชไอเอไว้แล้วเป็นฉบับแรกเมื่อไม่นานมานี้
 
รายละเอียดต่างๆ หาได้ใน www.greenvoice-committee.org  และสามารถส่งข้อมูล ความคิดเห็นได้ที่ greenvoice67@gmail.com ทั้งนี้ กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 26 ก.พ.นี้ และจะประกาศรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งกรรมการองค์การอิสระฯที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในวันที่ 4 มี.ค. โดยสัญญาจะเปิดให้สาธารณะได้ร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านี้ด้วย และจะเปิดให้มีการคัดค้านได้ในระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับตำแหน่งอีกครั้งภายในวันที่ 11 มี.ค. จากนั้นจะมีการประชุมบุคคลเหล่านี้เพื่อคัดเลือกกรรมการบริหารองค์การอิสระในวันที่ 15-16 มี.ค. ถ้าไม่มีอะไรผิดไปจากกำหนดการนี้ องค์การอิสระเฉพาะกาลก็จะจัดตั้งขึ้นได้พร้อมรับพิจารณา อีไอเอ เอชไอเอ ของบรรดาโครงการที่ถูกระงับไว้ที่มาบตาพุด ซึ่งแว่วว่ากำลังขมักเขมันทำตามขั้นตอนของมาตรา 67 กันตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าน่าจะยื่นผลการศึกษาให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาได้ในช่วงก่อนกลางปี
 
อะไรคือโครงการรุนแรง 
ในเมื่อโครงการที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 นั้นคือ “โครงการที่มีผลกระทบรุนแรง...” ดังนั้น ปัญหาสำคัญอีกเปลาะหนึ่งจึงได้แก่   การนิยาม หรือการตั้งเกณฑ์ว่าอะไรที่จะเข้าข่ายโครงการที่ว่าบ้าง เพราะตัวร่างพ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดไว้ หากแต่อยู่ในประกาศกระทรวง ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตเคยประกาศไปแล้ว 8 ประเภท (อ่านรายละเอียดได้ที่ 19 องค์กรชาวบ้าน ยื่นหนังสือนายกฯ ค้านร่างกฎหมายองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงอุตฯ , คลอดแล้ว! เกณฑ์โครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนรุนแรง ต้องทำตาม ม.67) สอบถามจากหนึ่งในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ความว่า ของกระทรวงอุตฯ อาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะก็จะดูแลเฉพาะในขอบเขตของกระทรวงเอง ประกาศนี้ได้รับการต่อต้านจากเอ็นจีโอและขบวนการชาวบ้านเพราะดูเหมือนจะเป็นเกณฑ์ที่ครอบคลุมประเภทอุตสาหกรรมน้อยเกินไปทั้งยังตั้งขนาดไว้ใหญ่มากจึงจะเข้าเกณฑ์
 
ขณะนี้จึงมีอีกร่างหนึ่งที่กำลังผลักดันออกมาด้วย คือร่างของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายร่วมกับกระทรวงทรัพฯ กำหนดประเภทอุตสาหกรรมไว้ 19 ประเภท อันที่จริงแล้วก็เป็นฉบับที่กระทรวงทรัพฯ ได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมายกร่างขึ้นมาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 51 แต่ไม่คืบหน้าไปไหนในเชิงนโยบาย ร่างนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของภาคประชาชน และกำลังจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น .... ครั้ง ก่อนจะประมวลผลปรับปรุงขั้นสุดท้ายแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นจะมีขึ้นดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 19 ก.พ.จังหวัดเชียงใหม่ , ครั้งที่ 2 วันที่ 25 ก.พ.จังหวัดขอนแก่น, ครั้งที่ 3 วันที่ 4 มี.ค.จังหวัดชลบุรี, ครั้งที่ 4วันที่ 12 มี.ค. จังหวัดนครศรีธรรมราช, ครั้งที่ 5 วันที่ 17 มี.ค. จังหวัดกรุงเทพฯ โดยเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมที่ www.publicconsultation.opm.go.th หรือโทรสาร 02 281 4872
 
แน่นอน เจตนารมณ์ของมาตรานี้อาจเต็มไปด้วยความปรารถนาดีในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ไร้อำนาจตลอดกาลอย่างชุมชนท้องถิ่น แต่ก็ยังเต็มไปด้วยคำถามหลายประการในกระบวนการระหว่างทาง และเป็นความท้าทายว่าท้ายที่สุดจะผลักดันให้มันสำเร็จโดยเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายได้แค่ไหน จะหาสมดุลระหว่างสิทธิของประชาชนในพื้นที่กับระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบันได้เพียงไร
 
 
 
อ่านข้อมูลประกอบ:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท