Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13:00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 30 คน เดินทางไปเยี่ยมและให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเหล่าอีหมัน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม  ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่บริษัท ไทยสารคาม อะโกร โปแตช จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตช มาตั้งแต่ปี 2548 ในท้องที่ ต.หนองเม็ก และ ต.ปอพาน อ.นาเชือก จำนวน 2 แปลง โดยมีเนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นกำลังดำเนินการขอต่ออาชญาบัตรพิเศษอีกครั้ง เนื่องจากเอกสารดังกล่าวได้หมดอายุไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 33 หลังจากที่มีการสำรวจมาได้ 5 ปีแล้ว

ในการนี้มีชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวให้ความสนใจและมาร่วมรับฟังข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชาวบ้านในท้องถิ่นดังกล่าว อาทิ นายก อบต. , ผู้ใหญ่บ้าน, ครู ฯลฯ โดยบรรยากาศการพูดคุยนั้นค่อนข้างเป็นกันเอง มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ให้ข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ ตลอดจนการเล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชาวบ้านต่างให้ความสำคัญ และซักถามในประเด็นที่ตนสงสัย หลังจากจบวงสนทนาดังกล่าวแล้ว ในช่วงเย็นมีการรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นการเลี้ยงต้อนรับและขอบคุณที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ มาให้ข้อมูลถึงพื้นที่ของตน

โดยนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึงการมาให้ข้อมูลในครั้งนี้ว่า “เรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชนี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อชาวบ้าน ทั้งข้อมูล ข่าวสาร รายละเอียดต่างๆ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ชาวบ้านก็เข้าถึงได้ยาก บางครั้งก็มีการปิดบังข้อเท็จจริง ไม่ให้ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือกระบวนการต่างๆ ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่กลุ่มอนุรักษ์ฯมาครั้งนี้ก็เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าให้กับพี่น้องผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันได้รับรู้ และให้มาต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยกัน”

นางมณี ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เรามีจุดยืนที่รักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานของเราได้อยู่อาศัย และทำกิน”

ทั้งนี้ นายฉัตรเฉลิมวุฒิ ลาดเหลา นายก อบต.หนองเม็ก ได้กล่าวว่า “หากโครงการเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนจริง ก็พร้อมที่จะคัดค้านและต่อสู้ เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านที่นี่มีบทเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมเกลือเมื่อหลายสิบปีก่อนเช่นกัน และทุกวันนี้ข่าวผลกระทบต่างๆที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมก็มีมาให้เห็นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น มาบตาพุดที่ จ.ระยอง หรือ หลุบยุบ ที่โคราชเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ตนเชื่อว่า โครงการเหล่านี้ต้องส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ตนปกครองอย่างแน่นอน”  นายฉัตรเฉลิมวุฒิ กล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การมาในครั้งนี้ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชที่จะเกิดที่นี้แก่ชาวบ้านแล้ว ยังต้องการขยายเครือข่ายในการต่อสู้กับโครงการดังกล่าวอีกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเขตพื้นที่ของ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ที่ต้องการผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่แห่งนี้ เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันคัดค้านในสิ่งที่ไม่เหมาะสมและ ผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านให้เกิดในชุมชน ซึ่งตนคิดว่าการมาในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะมีชาวบ้านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และคิดว่าอีกไม่นานน่าจะเกิดเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” นายสุวิทย์กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net