‘โคทม’ วอนนายกฯ ขยายเวลาแรงงานข้ามชาติพิสูจน์สัญชาติ

22 ก.พ. 53นายโคทม อารียา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ส่งจดหมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 ก.พ. ขอความกรุณาขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติ โดยจดหมายซึ่งออกโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เรียกร้องให้ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองและได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทในราชอาณาจักร โดยให้คณะรัฐมนตรีมีมติขยายระยะเวลาการยื่นแบบคำขอพิสูจน์สัญชาติจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ออกไปอีกระยะหนึ่ง

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม  พ.ศ. 2550 จำนวน 382,541 คน และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองจดทะเบียนเป็นครั้งสุดท้ายจำนวน  933,391 คน รวมเป็น 1,315,932 คนจะต้องกรอกแบบและยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า จะต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ณ ศูนย์ประสานงานพิสูจน์สัญชาติในประเทศพม่า 3 แห่ง คือเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองเมียวดี และเกาะสอง นั้น

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ได้ติดตามปัญหาแรงงานข้ามชาติและกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามนโยบายของรัฐบาลตลอดมา มูลนิธิฯ ขอสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการที่จะดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพากำลังแรงงานเหล่านี้อย่างมาก ลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการที่ยังมีข้าราชการบางคนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากกระบวนการนำแรงงานเข้ามาและทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ เห็นว่า การปฏิบัติตามนโยบายการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในประเทศเอง เช่นยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่รู้ ไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และไม่ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการพิสูจน์สัญชาติดังกล่าว และปัจจัยในประเทศพม่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นความขัดแย้งทางการเมืองและทางเชื้อชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติบางกลุ่ม บางเชื้อชาติ เกิดความหวั่นเกรงถึงความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ในการที่จะต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศพม่า

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม ผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ก็คือ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องถูกส่งกลับโดยเจ้าหน้าที่ หรือต้องกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย เป็นการเพิ่มจำนวนให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มที่ถูกบังคับส่งกลับอาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัวอันเกิดจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและทางเชื้อชาติในประเทศพม่า

 

 

                                                                                   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท