ถ้าโจทย์คือ “การเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยฯ” ต้องใช้เวลานาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ของอดีตนายกฯทักษิณในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นี้จะออกมาในรูปใด ก็พอคาดหมายได้ว่า แนวโน้มสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ของกลุ่มคนเสื้อแดงหลังจากนั้น ไม่น่าจะมีความรุนแรงแต่อย่างใด (เว้นแต่อยากเชื่อตามคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลและเครือข่าย) แกนนำ นปช. ได้ประกาศชัดเจนถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงว่ายึดมั่นในแนวทางสันติวิธี (ไม่มีข้อสงสัยใดๆ การใช้แนวทางอื่นมีแต่ความวิบัติและล้มเหลวของฝ่ายประชาธิปไตย) ผู้เขียนเข้าใจว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์ต่อให้มีจำนวนมากก็ตาม คงไม่สามารถสร้างแรงกดดันอะไรต่อรัฐบาลได้มากนัก [1] ตราบใดที่พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเกาะเกี่ยวกันได้ และกองทัพยังคงสนับสนุนรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์อย่างแข็งขัน

เพราะขนาดการชุมนุมเมื่อ 8 เมษายนเมื่อปีที่แล้ว ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่อารมณ์ผู้คนดูเข้มข้นกว่าช่วงนี้ (หลังช่วงการยึดสุวรรณภูมิ การยุบพรรค การเปลี่ยนขั้ว การเข้าสู่อำนาจรัฐบาลอภิสิทธิ์ การแฉอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับข้อมูลการประชุมวางแผนของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยในการบงการพยายามสังหารทักษิณ การรัฐประหาร การใช้ตุลาการแทรกแซงการเมือง ฯลฯ) แต่การชุมุนมนั้นก็ไม่สามารถก่อผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แท้ที่จริง กลุ่มคนเสื้อแดงมีข้อจำกัดในการชุมนุมไม่น้อย พื้นที่การชุมนุมบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่หลายตารางกิโลเมตรของหน่วยงานราชการจำนวนมากที่ห่างไกลชุมชน เพียงรัฐบาลควบคุมสื่อส่วนใหญ่ไว้ได้ การเคลื่อนไหวของคนต่อให้จำนวนมากอย่างไร (สมมุติว่าได้มากสุดไม่น้อยกว่าเมื่อปีกลาย) ก็หาได้มีความหมายหรือมีนัยสำคัญที่จะกระทบต่อรัฐบาลมากไปด้วยไม่ ในทางกลับกันหากคนเสื้อแดงคิดเลือกชุมนุมในพื้นที่ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ อาจเป็นที่สนใจของสังคมมากกว่า แต่ก็เสี่ยงต่อการเผชิญความรู้สึกต่อต้านของคนจำนวนไม่น้อยที่เกรงจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ยากที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะเลือกชุมนุมเช่นนั้นได้

สำหรับเรื่องการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไร้ความน่าจะเป็น รัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ในฐานะตัวแทนฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่มีกองทัพหนุนหลัง น่าจะสามารถดำรงอำนาจไปได้จนครบสมัย (ปลายปี 2554) การรัฐประหารจะเกิดขึ้นต่อเมื่อหากมีการเลือกตั้งหรือหากปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แล้วฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้ง และมีอำนาจในขอบเขตที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเห็นว่าเป็นภัยคุกคามตน 

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลตัวแทนอำมาตยาธิปไตยยังคงมั่นคงในอำนาจอยู่ได้นั้น ไม่ใช่ลำพังเพียงเพราะมีกองทัพ หรือกลไกรัฐอื่นๆ อย่างศาล องค์กรอิสระ ตลอดจนกุมสื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะพื้นฐานปัญหาการศึกษาอันอ่อนด้อยคุณภาพของสังคมไทยเองที่ผลิตรูปการจิตสำนึกของผู้คนจำนวนมากของสังคมโดยเฉพาะที่ผ่านระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ ให้ขาดความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์

ผู้มี “การศึกษา” หรือ “ผ่านการศึกษา” ในระบบเช่นว่านี้ โดยทั่วไปมักหลงคิดว่า การได้อ่านข้อมูลมากๆ บริโภคข่าวสารมากๆ มีความหมายเท่ากับการมีความรู้ที่มากและถูกต้องแล้ว ตัวอย่างเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมายืนยันปัญหารากฐานของสังคมไทยนี้

สภาพปัจจุบันของสังคมไทยจึงเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่กลุ่มชนชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาอย่างเป็นทางการมากนัก กลับจับประเด็นหลักของปัญหาการเมืองไทยได้อย่างดิบๆ ชัดเจน ตรงไปตรงมากว่ากลุ่มชนผู้มี “การศึกษา”

ถึงแม้ว่ามวลชนฝ่ายเสื้อแดงดูจะขยายตัวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ยากจะเถียงก็คือ ยังคงมีผู้คนในสังคมไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลไม่โดยตรงก็โดยอ้อมจากระบบการศึกษาที่ล้าหลัง ผู้คนเหล่านี้ยังคงไม่เข้าใจฝ่ายเสื้อแดง

ผลของสภาพความล้าหลังของการศึกษาไทย และการยึดกุมอำนาจอย่างมั่นคงของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ฝ่ายเสื้อแดงยังคงยากที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้ในเร็ววัน

ด้วยเหตุนี้ จึงสมควรพิจารณาศึกษาอย่างจริงจังว่า แนวทางการเคลื่อนไหวที่มองในกรอบช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นนั้นจะเป็นอย่างไร? และจากการมองกรอบเวลาที่ยาวขึ้นดังกล่าว การเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงย่อยจะเป็นอย่างไร?

ในเชิงเงื่อนไขสถานการณ์เท่าที่พอจะคาดการณ์ได้ และ ในเชิงการบริหารจัดการที่มีการตั้งเป้าหมาย

“กรอบช่วงเวลาที่ยาวนาน” ในที่นี้ น่าจะอยู่ที่ 3-4 ปีจากนี้ไป นั่นคือ ในช่วงราวปี พ.ศ.2555-2556

สมมุติภาพจำลองสถานการณ์ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถยื้ออยู่จนครบเทอมและจัดการเลือกตั้งในปลายปี 2554 เวลานั้น กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย บ้านเลขที่ 111 ยังไม่อาจลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะผลของการเพิกถอนสิทธิในยุคเผด็จการ คมช.ที่ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี คาบเกี่ยวการเสียโอกาสการเลือกตั้งไปถึงสองสมัยในสภาพปกติ กลุ่มสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเมืองสูงจะครบกำหนดโทษ (ที่เกิดจากการไม่ได้ทำผิด) ในช่วงกลางปี 2555 และในช่วงปลายปี 2556 กลุ่มที่มีศักยภาพทางการเมืองสูงอีกชุดหนึ่ง (กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย) ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จะสามารถกลับเข้ามามีสิทธิทางการเมืองอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาใน 3-4 ปีท้ายช่วงนั้น การต่อสู้ทางการเมืองของซีกนักการเมืองอาชีพจะมีความเข้มข้นอย่างสูงยิ่งโดยธรรมชาติ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการรัฐประหารของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยอีกครั้ง

ในเชิงการบริหารจัดการที่มีการตั้งเป้าหมาย การกำหนดช่วงระยะเวลา 3-4 ปี อาจดูนานเกินไป หรืออาจดูไม่เนิ่นนานก็ได้ การตั้งเป้าเวลานี้ถูกต้องหรือไม่ขึ้นอยู่กับสามารถประเมินสถานการณ์และดุลกำลังด้านมวลชนและด้านอื่นๆได้ถูกต้องและแม่นยำหรือไม่ ผู้เขียนมองว่า ถ้าวัดจำนวนมวลชนที่สนับสนุนพรรคที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยจากคะแนนเลือกตั้งถ้าเลือก ณ วันนี้ หรือภายใน 2 ปีหน้า ย่อมมีมากกว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือหากจะทำให้ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยมั่นคงได้ ควรที่จะต้องขยายจำนวนมวลชนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นอีก มากจนกระทั่งเกิดพลังฉันทานุมัติที่จำกัดมิให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยสามารถรื้อฟื้นอำนาจได้อีก

การต่อสู้ที่ยาวนานไม่อาจอาศัยการกระตุ้นด้วยอารมณ์เท่ากับการใช้เหตุผลที่ลุ่มลึก รอบคอบ

ตลอดระยะเวลา 3 -4 ปีนี้ มวลชนเสื้อแดงจำเป็นต้องแปรจากกลุ่มผู้ฟังเชิงรับ (passive audience) ไม่ว่าจะอยู่หน้าจอทีวีหรือในสนามชุมนุมจริง ให้เป็นนักเผยแพร่ความคิดที่กระตือรือร้น (active propagator) บทบาทหลังย่อมเรียกร้องการพัฒนาตนเองที่ต่างจากแบบแรก

คนเสื้อแดงในฐานะนักเผยแพร่ความคิดที่กระตือรือร้นควรจะต้องมีบทบาทในการสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมขนานใหญ่ทั่วทั้งสังคมไทย คุณลักษณะที่สำคัญที่ควรมุ่งสร้างให้เกิดขึ้นคือ การมีความคิดเชิงวิพากษ์นั่นเอง ท่าทีของมวลชนเสื้อแดงในฐานะนักเผยแพร่ความคิดที่มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ คือจะต้องเข้าใจความคิด ความรู้สึกของส่วนที่เหลือของสังคม จะต้องมีความใจกว้าง มีความสุข ให้เกียรติผู้ที่คิดต่างจากเรา จะต้องสามารถแลกเปลี่ยนเหตุผลกับมวลชนที่เหลือของสังคมได้อย่างชัดเจน ประเด็นสำคัญในการสนทนาแลกเปลี่ยน ชวนกันคิด (ไม่ใช่ยัดเยียด ระบุคำตอบให้ใครโดยตรง) ด้วยการตั้งคำถามหลักๆ เพื่อเชื้อเชิญการพิจารณา คำถามที่สำคัญนั้น ได้แก่

1.สภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นแล้วหรือ?

2.บ้านเมืองของเราควรจะเป็นอย่างไร? เราควรจะอยู่กันอย่างไร?

3.จะมีวิถีทางอย่างไรที่ทำให้บ้านเมืองเราเป็นอย่างที่ควรจะเป็น?

4.ในฐานะปัจเจกบุคคล เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

 

เท่าที่ประสบกับตัวเองและเห็นจากคนอื่นมา ผู้เขียนมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ใครก็ตามถ้าไม่หลอกตนเองจนเกินไปแล้ว ลองให้โอกาสตนเองที่จะใคร่ครวญพิจารณาปัญหาทั้ง 4 ข้อข้างต้น ย่อมค้นพบคำตอบได้

 

หมายเหตุ

[1] อนึ่ง น่าสนใจว่า ในการชุมนุมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากผู้เขียนเคยลองตั้งคำถามคนที่เคยเข้าชุมนุมว่า การชุมนุมครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการยึดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรฯถ้าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ผู้ตอบจำนวนไม่น้อยมักจำผิดว่าเป็นการชุมนุมภายหลัง ความจริงที่น่าหดหู่และมักลืมกันคือ หลังการชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนมากในครั้งนั้นในสามสัปดาห์ถัดมา ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกลับยังคงมั่นคงแน่วแน่ในแนวทางล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลังจากให้กลุ่มพันธมิตรไปยึดสุวรรณภูมิหนึ่งสัปดาห์แล้ว ศาลก็ได้ตัดสินให้ยุบสามพรรคการเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท