Skip to main content
sharethis

จนท.กระทรวงแรงงานไทยชี้ขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าอืด เหตุแรงงานอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วน จนท.พม่ามีน้อยทำให้เดินเรื่องได้เพียงวันละ 600 คน สมช.ชี้ รบ.ไทยอาจต้องร่วมพม่าเปิดพิสูจน์สัญชาติอีกรอบ ด้านเอ็นจีโอด้านแรงงานเสนอขยายเวลายื่นแบบพิสูจน์สัญชาติอีกอย่างน้อย 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (23 ก.พ.) องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กระทรวงแรงงาน และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการขึ้นเกี่ยวกับวาระนโยบายแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย ณ ห้องประชุมซี ชั้น 7 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนกว่า 150 คน เพื่อร่วมกันหาทางออกต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย

โดยช่วงเช้า มีการเปิดสัมมนาโดยนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน,นายทูมู โฮซูมี ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และนายบิล ซอลเตอร์ ผู้อำนวยการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก

 

ตัวแทนไอแอลโอชี้แรงงานข้ามชาติไม่ว่าถูกหรือผิดกฎหมายต้องได้รับการคุ้มครอง

หลังจากนั้นเป็นการปาฐกถาหัวข้อ “วาระนโยบายแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย” โดยนายประชา วสุประสาทตัวแทนจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลไหนทำเรื่องแรงงานข้ามชาติให้เป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งแรงงานไม่ใช่สินค้าที่จะมาซื้อขายกัน ดังนั้นแรงงานไม่ว่าผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายต้องได้รับการคุ้มครอง

นายประชา กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่าการใช้มติคณะรัฐมนตรีในลักษณะผ่อนผันรายปี ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามาตรการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมองตนเองเป็นประเทศที่ไม่เต็มใจกับการย้ายถิ่นเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงไม่มีนโยบายระยะยาวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ส่วนนโยบายระยะสั้นที่รัฐบาลกำหนดเป็นเพียงการดำเนินการเฉพาะเพื่อต้องการตอบสนองต่อสถานการณ์แบบไม่ต่อเนื่องและขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร นโยบายเหล่านี้จึงไม่คำนึงถึงความเป็นจริงและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะให้ความสำคัญกับนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยประเทศไทยต้องเร่งจัดทำนโยบายด้านการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองและแรงงานข้ามชาติที่ครอบคลุมทุกด้าน โปร่งใสและสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ นอกจากนี้ประเทศไทยควรต้องตระหนักถึงคุณูปการของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศไทย โดยควรส่งเสริมสิทธิ ความเสมอภาคในด้านโอกาส และการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่เท่าเทียมกับแรงงานไทย นอกจากนี้ควรนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการประกันสังคมของประเทศ และควรพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายประชาชนและแรงงานข้ามพรมแดนโดยเสรี

จากนั้นได้มีเวทีเสวนาเพื่อระดมความเห็นเรื่อง “แนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับการผ่อนผันการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 ม.ค.2553 เรื่องการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวและปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติ” โดยนายธนิช นุ่มน้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน, นางพรรษา ศิริมาจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกิจการภายในประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการจากถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายพีระ มานะทัศน์ กรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา, พ.ต.ท.ดร. พงษ์นคร นครสันติภาพ จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และนายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

 

พิสูจน์สัญชาติล่าช้า เหตุแรงงานอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ จนท.พม่าน้อย

นายธนิช นุ่มน้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวกล่าวว่า ปัญหาที่พบขณะนี้ในการพิสูจน์สัญชาติ คือแรงงานพม่าส่วนใหญ่พูดได้แต่เขียนหนังสือไม่ได้ทำให้ไม่สามารถกรอกแบบพิสูจน์สัญชาติได้ ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงได้ให้นายจ้างหรือแรงงานมายืนยันกับกระทรวงก่อนว่า แรงงานจะมาขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สัญชาติภายใน 28 ก.พ.53 จริง และจะสามารถยื่นแบบพิสูจน์สัญชาติออกไปถึงวันที่ 31 มี.ค.53 หากแรงงานต่างด้าวคนใดไม่ยื่นแบบพิสูจน์สัญชาติ ก็จะยกเลิกใบอนุญาตทำงานโดยทันที และทำการผลักดันออกนอกประเทศ

อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ จำนวนบุคลากรของรัฐบาลพม่าไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลพม่าทำการพิสูจน์สัญชาติได้เพียงวันละ 600 คนเท่านั้น ทางรัฐบาลไทยจึงมีการเจรจาขอให้รัฐบาลพม่าเพิ่มกำลังคนให้มีความสามารถในการพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 1,000 คน อย่างไรก็ตามตอนนี้รัฐบาลไทยได้มีการขยายการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 2 ปีถึงปี 2555 ซึ่งทางรัฐบาลพม่าก็เชื่อว่าเขาจะสามารถพิสูจน์แรงงานสัญชาติพม่าได้แล้วเสร็จภายในปี 2554

 

ตม.เชื่อพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจะช่วยแรงงานมากขึ้น

พ.ต.ท.ดร.พงษ์นคร นครสันติภาพ จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า ถ้ามองที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แล้วจะเห็นว่าทุกคนได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ โดยเฉพาะถ้าโฟกัสมาที่แรงงาน 3 สัญชาติ เพราะได้ใช้มาตรา 17 เป็นแนวทางจัดการ เพราะถ้าไม่มีมาตรานี้ แรงงานก็จะถูกตำรวจจับแน่นอน ต่อมามีมาตราหนึ่งที่ระบุว่า ถ้าคนต่างด้าวไม่มีเอกสารยืนยันถือว่าผิดกฎหมาย ฉะนั้นการไปพิสูจน์สัญชาติก็จะช่วยได้มากขึ้น มีข้อเสนอว่า แม้กฎหมายคนเข้าเมืองมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ผู้ร้ายข้ามชาติ ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติก็เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เราจะหาดุลยภาพแห่งความพอดีได้อย่างไร พร้อมทั้งย้ำถามหาถึงความชัดเจนในการแก้ไขข้อกฎหมาย ว่าต้องการให้แก้ไขในส่วนใด

 

สมช.ชี้รบ.ไทยอาจต้องร่วมพม่าเปิดพิสูจน์สัญชาติอีกรอบ

นางพรรษา ศิริมาจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกิจการภายในประเทศ (สมช.) กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมองว่าการพิสูจน์สัญชาติช่วยให้ทราบที่มาและที่ไปของแรงงาน อย่างไรก็ตามพบปัญหาว่าแรงงานไม่ยอมไปพิสูจน์สัญชาติ เนื่องมาจากมีข่าวลือถึงความไม่ปลอดภัยในประเทศต้นทาง และการถูกรีดไถเก็บภาษี นอกจากนี้ยังมีเรื่องกระบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามแม้มีความกังวลจากแรงงานว่า หากไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจะทำอย่างไร ซึ่งทาง สมช.เห็นว่าเมื่อได้ยื่นแบบฟอร์มและเข้าสู่กระบวนการถูกต้องแล้ว ขาดเพียงการพิสูจน์สัญชาติเท่านั้น ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องยืนยันกับประเทศพม่าให้เปิดมีการพิสูจน์สัญชาติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เขาทำงานต่อไปได้ในประเทศไทย

 

กมธ.วุฒิสภาอยากให้เปิดใจกว้างรับแรงงานข้ามชาติ แทนการทำลับๆ ล่อๆ

นายพีระ มานะทัศน์ คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภากล่าวว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติต่อไป เพราะประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังวัยแรงงานเริ่มลดน้อยลง อยากให้เปิดใจกว้าง และคิดกันว่าทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้ถูกต้องแทนที่จะลับๆล่อๆ แม้ไทยจะมีหน่วยงานอย่างคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว หรือ กบร. ก็ตาม แต่พบว่ายังมีปัญหาจำนวนมาก ทั้ง 22 หน่วยงานนั้นยังขาดการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน

ในส่วนนายจ้างเองก็มองว่าแรงงานเหล่านี้ผิดกฎหมาย ก็ยิ่งไปกดค่าแรงเขาให้ต่ำเข้าไว้ และตัวแรงงานเองก็ไม่รู้ข้อกฎหมาย ยิ่งทำให้ปัญหาซ้ำซ้อนมากขึ้น สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหา คือ ต้องมีระบบข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงกันได้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง มีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการมีอำนาจในพื้นที่ และการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

 

เอ็นจีโอแรงงานเสนอขยายเวลารับยื่นแบบพิสูจน์สัญชาติ 6 เดือนเพื่อให้แรงงานเข้าสู่ระบบ

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ สสส.กล่าวว่า จาก มติ ครม. 19 มกราคม 2553 ทำให้เกิดคน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ 2.กลุ่มที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้แน่นอนเป็นเรื่องที่ สมช.ต้องมาดูแลต่อไป 3.กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการพิสูจน์สัญชาติได้ เช่น กลุ่มลูกหลานที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ และ 4.กลุ่มที่ไม่กล้าไปพิสูจน์สัญชาติ ได้แก่ ชาวโรฮิงยาหรือชนกลุ่มน้อยในพม่าที่เป็นผลมาจากความขัดแย้ง ซึ่งคนเหล่านี้หลัง 28 ก.พ.นี้เราจะทำอย่างไรกับเขา

ดังนั้นแม้จะมีการขยายเวลายื่นแบบพิสูจน์สัญชาติออกไปถึง 31 มี.ค.ตนว่าก็ยังน่ามีปัญหาอยู่ ดังนั้นการจัดการระยะสั้นควรมีการขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน เพื่อให้แรงงานเข้าสู่ระบบ เปิดให้จดทะเบียนอีกครั้ง เพื่อให้แรงงานเข้ามาพิสูจน์สัญชาติได้มากขึ้น นอกจากนี้ควรจะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในเรื่องแรงงานที่ยื่นแล้วไม่ผ่านว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะรัฐลดความซ้ำซ้อนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าต้นทุนในการนำพาแรงงานเข้าร่วมกระบวนการพิสูจน์สัญชาติในครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่แทนนายจ้างและแรงงาน ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินเข้าระบบหลายพันล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้รัฐจะต้องเข้ามาช่วยแก้ไขกระบวนการที่มันซับซ้อน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ

ตนอยากเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยว่า แรงงานข้ามชาติที่เหลือที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แต่มีหลักฐานที่ผ่านการพิสูจน์ โดยหน่วยงานการปกครองของไทยควรที่จะจัดการเพื่อให้เขาได้รับสิทธิในการผ่อนผัน เพื่อทำให้การดำเนินการต่างๆ ให้แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net