25 เครือข่ายร้อง “มาร์ค” เลิกประกาศ ก.อุตฯ เรื่องโครงการส่งผลกระทบรุนแรง-จี้ปลด 2 รมต.

ตัวแทนชาวบ้าน 25 เครือข่าย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ร้องปลด “รมว.ก.ทรัพย์ฯ-รมว.ก.อุตฯ” เหตุหนุนการลงทุนไม่ดูแลประชาชน พร้อมค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องโครงการฯ รุนแรง และให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

วานนี้ (23 ก.พ.2553) เวลาประมาณ 08.00 น.ตัวแทนชาวบ้านจากหลายพื้นที่ที่มีแผนการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กว่า 150 คน นำโดย นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จ.สระบุรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2552

อีกทั้งยังเพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในกรณีที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเคยยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม คัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ก่อนหน้านี้

หนังสือที่ยื่นถึงนายก ระบุถึงการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานทับซ้อนกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย โดยขัดขวางการประกาศบังคับใช้ “รายการโครงการรุนแรง” ของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งจะกำหนดประเภทและขนาดโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ อีกทั้งมีความพยายามล้มร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ โดยเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ขึ้นมาแทน เพราะหวั่นเกรงว่าจะฉุดรั้งทำลายการลงทุน

“เครือข่ายขอประณามการกระทำของส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ที่หนุนหลังรัฐมนตรี ข้าราชการ ในกระทรวงอุตฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะถือเป็นการกระทำที่เหยียบย่ำดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของคนไทย โดยไม่ยอมทำตามกติกา ไม่มีสำนึกขั้นพื้นฐานในการให้ความคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่าง รุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ มุ่งแต่รับผลประโยชน์จากภาคเอกชนและผู้ประกอบการลงทุนเป็นหลัก” นางจินตนากล่าว

ในส่วนของข้อเรียกร้องต่อนายก ประกอบด้วย 1.ขอให้ปลด รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมออกจากตำแหน่ง 2.ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวง เรื่องโครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับวันที่ 14 ก.ย.2552 3.ขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่..) พ.ศ....ไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร่งด่วน4.ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ทำการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ (ตามข้อ 2)

5.ขอให้ระบุโครงการหรือกิจการเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทและขนาดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ 1) การทำเหมืองว่าด้วยแร่ทุกขนาด 2) การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และโรงงานประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ 3) การทำเหมืองหิน และโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการโม่ บด หรือย่อยหิน 4) การขุดลอกดิน กรวด หรือทราย 5) โรงงานถลุงหรือหลอมโลหะ รวมเหล็กหรือเหล็กกล้าที่มีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวันขึ้นไป 6) โรงไฟฟ้าทุกประเภทที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป 7) เขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตร.กม.ขึ้นไป 8) การผันน้ำในลุ่มน้ำหลักหรือข้ามลุ่มน้ำหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน และได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้สะท้อนประเด็นปัญหาในพื้นที่ของตนเอง จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางต่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือให้แก่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

น.พ.นิรันดร์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ของชาวบ้านว่า การไปยื่นเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นการส่งเสียงให้นายกได้รับรู้ ในส่วนของกรรมการสิทธิฯ จะทำหน้าที่ต่อไปในการติดตามการทำงานของนายก รวมทั้งของ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม โดยอาจทำหนังสือติดตามหรือเชิญมาชี้แจง

น.พ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ยังมีชุมชนอีกหลายชุมชนที่ถูกทำลายจากโครงการพัฒนาไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ของมาบตาพุด และในกรณีของมาบตาพุดเองคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ตั้งขึ้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะปัญหามีความหลากหลาย ต่อให้ออกกฎหมายแล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ข้าราชการยังไม่เห็นหัวชาวบ้าน ชาวบ้านก็ยังคงต้องเดือดร้อนกันอยู่ ดังนั้นจึงต้องร่วมกันผลักดันการทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ในส่วนเครือข่ายภาคประชาชนจำเป็นต้องตื่นตัว และรวมตัวกันสร้างมาตรฐานการตรวจสอบโครงการอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาทำร้ายชุมชน ในฐานะเป็นผู้ตรวจการภาคประชาชน ทำข้อมูลองค์ความรู้ และพร้อมที่จะต่อสู้ในกระบวนการตุลาการ

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาชนที่ร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ มีทั้งหมด 25 องค์กร คือ 1.เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จ.สระบุรี คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง 2.กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด 3.ตัวแทนชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสยามของบริษัท สยามเอนเนอร์จี จำกัด 4.กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก 5.กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง 6.กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก 7.กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย 8.กลุ่มอนุรักษ์กุยบุรี สามร้อยยอด 9.เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา10.เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 11.เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช 12.กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นครศรีธรรมราช 13.ชุมชนเครือข่ายผู้รักษ์ลุ่มแม่น้ำนครนายก

14.กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม 15.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก 16.กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย 17.กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ จ.เลย 18.ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่ 19.เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำเกลือใต้ดิน จ.นครราชสีมา 20.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 21.กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 22.คณะกรรมการผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี 23.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี 24.เครือข่ายอนุรักษณ์ลุ่มน้ำตะกั่วป่า จ.พังงา 25.เครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

 

จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องคัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ

เขียนที่บ้านเลขที่ 202 หมู่ที่ 2
ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77190 

23 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่อง คัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อ 13 ตุลาคม 2552

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

อ้างถึง จดหมายเขียนที่บ้านเลขที่ 202 หมู่ที่ 2 ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบฯ ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เรื่อง คัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาจดหมายตามอ้างถึง

 

ตามอ้างถึงและสิ่งที่ส่งมาด้วย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องขอคัดค้านประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำหนด ประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว จึงต้องการทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามเรื่องที่ได้ร้องเรียนไว้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 250/2552 และ 18/2553 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) และคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการสองเรื่องสำคัญ คือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุงรายการโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวด ล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (‘รายการโครงการรุนแรง’) และการประสานงานการให้ความเห็นองค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือการจัดตั้งองค์กรอิสระชั่วคราวนั้น องค์กรภาคประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ขอเรียนชี้แจงดังนี้

ประการแรก - มีการดำเนินการซ้อนทับการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จากส่วนราชการและภาคเอกชนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อไม่ต้องการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกาศบังคับใช้ ?รายการโครงการรุนแรง? เพราะหวั่นเกรงว่าจะฉุดรั้งทำลายการลงทุน เนื่องจากหากโครงการหรือกิจการประเภทและขนาดใดจัดอยู่ใน ‘รายการโครงการรุนแรง’ แล้วจะต้องให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และต้องให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจการ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เสียเวลาจนอาจส่งผลต่อการฉุดรั้งหรือทำลายการลงทุนได้ ด้วยการเตรียมการออกประกาศกระทรวงจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยหรือคณะกรรมการ อุทธรณ์โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้ง ทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยว่าโครงการหรือกิจการประเภท และขนาดใดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมี ‘รายการโครงการรุนแรง’ ที่กำหนดประเภทและขนาดเอาไว้ก่อนแต่อย่างใด โครงการหรือกิจการประเภทและขนาดใดจะเข้าข่ายส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการวินิจฉัย (ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แต่งตั้ง) แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยขาดการมีส่วนร่วมและองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน

หรือถ้าหากไม่สามารถยับยั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ออกประกาศบังคับใช้ ‘รายการโครงการรุนแรง’ ได้ ก็จะออกประกาศกระทรวงให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อทำหน้าที่ให้ภาคเอกชนผู้ ประกอบการลงทุนอุทธรณ์เข้ามาเพื่อขอให้มีคำสั่ง/ความเห็นว่าโครงการหรือ กิจการที่เข้าข่ายอยู่ใน ‘รายการโครงการรุนแรง’ ไม่ถือว่าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเพื่อไม่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองแต่อย่างใด

 

ประการที่สอง - มีการดำเนินการซ้อนทับการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อล้มร่างพระราชบัญญัติองค์การ อิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เป็นผู้เสนอ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยการยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ขึ้นมาแทน โดยเพิ่มบางมาตราให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระ (ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้คัดเลือกคณะทำงานจัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระ) เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ

 

องค์กรภาคประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ขอประณามการกระทำของส่วน ราชการและภาคเอกชนผู้ประกอบการที่หนุนหลังรัฐมนตรีและข้าราชการในกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการกระทำที่เหยียบ ย่ำดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนไทย มีพฤติกรรมรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากภาคเอกชนผู้ประกอบการลงทุน ไม่ทำตามกติกาทั้งที่ในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็มีตัวแทนของภาครัฐและภาคเอกชนผู้ประกอบการลงทุนอยู่ด้วยแล้ว เป็นข้าราชการและนักการเมืองที่ไม่มีสำนึกพื้นฐานอยู่ที่การรับใช้ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ แต่กลับมุ่งรับใช้และรับประโยชน์จากภาคเอกชนผู้ประกอบการลงทุนเป็นหลัก

 

องค์กรภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. ขอให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมออกจากตำแหน่ง

2. ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวง เรื่อง โครงการหรือกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2552 เนื่องจากว่าเป็นประกาศที่ออกมาบังคับใช้โดยที่ไม่มีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติฉบับใดให้อำนาจแก่กระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ได้ ดังนั้น จึงเป็นประกาศกระทรวงที่ออกโดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นประกาศกระทรวงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และห้ามนำประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ไปเป็นข้ออ้างในการอนุมัติ/อนุญาตโครงการหรือกิจการต่างๆ

3. ขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร่งด่วน เพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง

4. ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดหรือคณะที่ทำการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว (ตามข้อ 2.) เนื่องจากว่ามีพฤติกรรมกระทำการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระฯ ไม่ให้มีความคืบหน้าเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่กลับเร่งรัดผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแทน

5. ขอให้ระบุโครงการหรือกิจการเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทและขนาดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ ดังนี้

5.1 การทำเหมืองว่าด้วยแร่ทุกขนาด (ปัจจุบันใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510)
5.2 การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และโรงงานประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวง 2535 ออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
5.3 การทำเหมืองหิน และโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการโม่ บด หรือย่อยหิน แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวง 2535 ออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
5.4 การขุดลอกดิน กรวด หรือทราย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรม กรวดอุตสาหกรรม หรือทรายอุตสาหกรรม และโรงงานประกอบกิจการขุดลอก กรวด ทราย หรือดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวง 2535 ออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
5.5 โรงงานถลุงหรือหลอมโลหะ รวมเหล็กหรือเหล็กกล้า ที่มีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวันขึ้นไป
5.6 โรงไฟฟ้าทุกประเภท ที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป (ทั้ง นี้ ให้คำนึงถึงการก่อสร้างสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าซึ่งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองประเภท อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมว่าจะเป็นโครงการที่ก่อผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น มากกว่าพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวส่งผลต่อการทำลายสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพและเศรษฐกิจของวิถีชีวิตเกษตรกรรมบนผังเมืองดังกล่าว)
5.7 เขื่อนกักเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ปริมาตรเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เก็บกักน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป
5.8 การผันน้ำในลุ่มน้ำหลักหรือข้ามลุ่มน้ำหลัก หรือลุ่มน้ำนานาชาติ ทุกขนาด

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้ละเว้นโครงการหรือกิจการตามข้อ 5. ไม่เข้าข่ายส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหรือไม่จัดอยู่ใน ‘รายการโครงการรุนแรง’ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ขอให้รัฐบาลหรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลต่อองค์กรภาคประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ว่าด้วยสาเหตุทางความรู้หรือหลักวิชาการใดจึงได้ละเว้นโครงการหรือกิจการตาม ข้อ 5. ไม่จัดอยู่ใน ‘รายการโครงการรุนแรง’ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน หลังจากที่รัฐบาลหรือคณะกรรมการ 4 ฝ่ายได้ทำการประกาศบังคับใช้ ‘รายการโครงการรุนแรง’ โดยขอให้จัดส่งหนังสือชี้แจงไปยังที่อยู่ตามด้านบนหนังสือฉบับนี้ด้วย

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นางจินตนา แก้วขาว)

(นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี)

 

องค์กรภาคประชาชนร่วมยื่นหนังสือฉบับนี้:
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จังหวัดสระบุรี คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง
กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
ตัวแทนชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสยามของบริษัท สยามเอนเนอร์จี จำกัด
กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย
กลุ่มอนุรักษ์กุยบุรี สามร้อยยอด
เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช
กลุ่มศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นครศรีธรรมราช
ชุมชนเครือข่ายผู้รักษ์ลุ่มแม่น้ำนครนายก
กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย
กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ จ.เลย
ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่
เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำเกลือใต้ดิน จ.นครราชสีมา
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
คณะกรรมการผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จังหวัดอุดรธานี
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี
เครือข่ายอนุรักษณ์ลุ่มน้ำตะกั่วป่า จ.พังงา
เครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท