Skip to main content
sharethis

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดรายงานวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิคนงานด่างด้าวในประเทศไทย ระบุพบการละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าวในรัฐไทยหลายประเด็น พบมีการเฆี่ยนตีคนงานต่างด้าวในที่กักขัง  การล่วงละเมิดทางเพศ  และการกระทำทารุณกรรม รวมถึงการละเมิดสิทธิแรงานในสถานประกอบการณ์ การรีดไถ

โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เสนอแนวทางแก่รัฐบาลไทยในการแก้ปัญหา 3 ประการคือ จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีอิสระ และความเป็นกลางในการสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานต่างงด้าวโดยตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอื่นๆ ทั่วประเทศ  คณะกรรมการพิเศษนี้ควรมีอำนาจในการส่งหมายศาลเรียกพยาน และบังคับให้มีการส่งมอบเอกสารที่เป็นหลักฐาน ตลอดจนจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณชน รวมทั้งยังควรมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะเพื่อให้มีการไต่สวนคดีอาชญากรรมพิเศษ และการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และกฎระเบียบ ตลอดจนแนวนโยบายที่มีผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว

ประการที่สอง ยกเลิกกฤษฎีกาจังหวัดที่จำกัดสิทธิของคนงานต่างด้าวในจังหวัดพังงา  ภูเก็ต  ระนอง  ระยอง  และสุราษฎร์ธานี  โดยกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นต่างๆเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของคนต่างด้าวที่มี และไม่มีเอกสารอย่างเท่าเทียมกัน
ดำเนินมาตรการทั้งมวลตามความจำเป็นเพื่อยุติการกระทำทารุณกรรม และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อคนต่างด้าวในที่คุมขัง  โดยจะต้องทำการสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยทันที และถี่ถ้วน เพื่อให้มีการดำเนินคดี และลงโทษต่อผู้กระทำผิดตามสมควร

ประการสุดท้าย แก้ไขมาตรา 88 และมาตรา 100 ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  เพื่ออนุญาตให้บุคคลทุกสัญชาติยื่นขออนุญาตจัดตั้งสหภาพแรงงาน และปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน ตลอดจนสร้างหลักประกันให้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ที่มีการแก้ไขดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดยอนุสัญญาฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคม)  ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์

อ่านสรุปรายงานการวิจัยตามรายละเอียดด้านล่าง

000

ฮิวแมนไรท์วอท์ช

กุมภาพันธ์ 2553

“หนีเสือปะจระเข้”

การละเมิดสิทธิคนงานด่างด้าวในประเทศไทย

 

บทสรุปรายงานการวิจัย
 

ฉันเป็นคนพม่าและเป็นคนงานต่างด้าว  ดังนั้นตำรวจจึงไม่สนใจกับคดีนี้เลย  สามีและตัวฉันเองนั้นเป็นเพียงคนงานต่างด้าว  เราทั้งสองไม่มีสิทธิ์อะไรที่นี่เลย

-  อยีอยีมา  จากพม่า ผู้ถูกชายไทยสองคนรุมข่มขืนหลังจากใช้อาวุธปืนสังหารสามีของเธอ  เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ที่พังงา

ในเมื่อ  “ประเทศไทย” หมายถึง “ดินแดนแห่งความเสรี”  รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้คนต่างด้าวมีเสรีภาพ และได้รับสวัสดิการสังคมในประเทศไทย  ตลอดจนความเคารพในสิทธิมนุษยชน  คนงานต่างด้าวไม่ว่าจะมีสถานภาพทางกฎหมายเช่นไร  ย่อมสามารถแสวงความยุติธรรมจากระบบศาลของไทยในกรณีที่ถูกปฏิบัติมิชอบ และล่วงละเมิดด้วยความรุนแรงภายใต้กฎหมาย

-  นายกรัฐมนตรี  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  วันที่ 5 ตุลาคม 2552  กรุงเทพ

คนงานต่างด้าวนับหมื่นนับพันที่ข้ามพรมแดนจากพม่า  กัมพูชา  และลาวมายังประเทศไทยในแต่ละปีนั้น  ล้วนยอมแลกการใช้ชีวิตที่ใกล้ขีดความยากจนที่บ้านเกิด  กับการแสวงหาโอกาสเพื่อความก้าวหน้ากว่าในต่างประเทศ  แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ยอมเสี่ยงเพื่อชีวิตที่ดีกว่ามิได้ลงจบด้วยโศกนาฏกรรมดังเช่นกรณีของอยีอยีมา แต่ส่วนใหญ่แล้วทุกคนล้วนต้องเผชิญกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว  ความรุนแรง  การกระทำมิชอบ  การคดโกง  การข่มขู่คุกคาม  ตลอดจนการที่จะต้องคอยระแวดระวังอันตรายนานัปการ  อันเนื่องมาจากการที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

ทันทีที่เดินทางมาถึงประเทศไทย  คนต่างด้าวจำนวนมากได้เผชิญกับภาวการณ์ตามคำพังเพยของไทยที่ว่า  หนีเสือปะจระเข้  ซึ่งหมายถึงการตกอยู่ในภาวะเข้าตาจน หรือเผชิญอันตรายร้ายแรงโดยไม่มีทางรอด  แรงงานต่างด้าวถูกผูกมัดโดยนายจ้างอย่างไม่มีทางเลี่ยง  และยังเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ในหลายกรณีนั้น ทั้งฝ่ายตำรวจ  ทหาร  และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ต่างข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และคุกคามคนงานต่างด้าวได้โดยที่ไม่ต้องงรับผิด ส่วนคนที่ถูกกักขังล้วนต้องเผชิญกับการถูกทุบตี และการล่วงละเมิดอื่นๆ  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม  แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยล้วนเสี่ยงต่อการเผชิญกับนายจ้างล่วงละเมิด และก่ออาชญากรรม ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยมักไม่เต็มใจสอบสวน และยังมีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วยในบางกรณี

ทั้งในการสัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ถึงพฤษภาคม 2552 และการวิจัยติดตามผลจนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2553  เราได้พบหลักฐานในการละเมิดสิทธิของคนงานต่างด้าวอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นกับคนงานจากพม่า กัมพูชา และลาว โดยการละเมิดดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในที่ใดที่เดียว หรือสองสามบริเวณเท่านั้น  แต่ทว่ากระจายครอบคลุมไปทั่วทั้งประเทศจากชายแดนไทย-ลาว โดยเริ่มต้นที่ประตูสู่ประเทศ คือ อุบลราชธานีไปจนถึงบริเวณอ่าวไทย  และพาดผ่านไปจนจดชายแดนไทย-พม่า   การล่วงละเมิดสิทธิในหลายกรณีฝังรากลึกอยู่ในตัวบทกฎหมาย และกฎข้อบังคับระดับท้องถิ่น เช่น การจำกัดเขตในการเคลื่อนย้าย หรือการละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่  เช่น การกระทำทารุณกรรมโดยตำรวจ

บรรยากาศของการไม่ต้องรับผิดที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศไทยเอื้ออำนวยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนต่างด้าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น คนต่างด้าว ยอมทนทุกข์ โดยปิดปากเงียบ และไม่กล้าร้องเรียนเนื่องจากกลัวว่าจะถูกล้างแค้น  หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะไม่รู้ภาษาไทยดีพอที่จะคัดค้าน  รวมทั้งขาดความศรัทธาในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย  ที่มักจะมองไม่เห็นความทุกข์ยากของแรงงานย้ายถิ่น

ในการสัมภาษณ์เชิงลึกกับสายของตำรวจคนหนึ่งที่ทำงานมายาวนาน คนต่างด้าวชาวพม่า ชื่อ ซอตู ให้ข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่งถึงการทำงานของตำรวจไทย  ซอตูบรรยายถึงการเฆี่ยนตีคนงานต่างด้าวในที่กักขัง  การล่วงละเมิดทางเพศ  และการกระทำทารุณกรรม  ซอตูบอกเล่าต่อฮิวแมนไรท์วอท์ชว่า  “เวลาที่ตำรวจทุบตีพวกเรา ตำรวจชอบตบหน้า  ส่วนใหญ่เขาจะใช้มือตี และเตะต่อย แต่ไม่ใช้อาวุธ  เวลาที่คนต่างด้าวที่ถูกจับกุมพูดกับตำรวจ  เขาต้องก้มหน้าพูด  เพราะหากคนย้ายถิ่นมองหน้าตำรวจจะถูกตบทันที”

นอกเหนือจากการข่มขู่ว่าจะถูกกระทำมิชอบ  การเพิ่มวันกักขัง และการเนรเทศแล้ว  คนต่างด้าวยังหวาดกลัวการถูกกรรโชกทรัพย์โดยตำรวจอีกด้วย  คนต่างด้าวที่ถูกตำรวจกักขัง และให้สัมภาษณ์กับเราเกือบทุกคนกล่าวว่า  ตำรวจเรียกร้องเงินหรือของมีค่าจากตัวผู้ถูกจับกุมเอง หรือไม่ก็ญาติพี่น้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัว  คนต่างด้าวรายงานถึงการติดสินบนจำนวนไม่น้อยซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละท้องที่ และสถานการณ์แวดล้อมในการจับกุม  ตลอดจนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดหากคนต่างด้าวจะต้องสูญเสียเงินเท่ากับค่าจ้างหลายเดือนในกรณีมิชอบทั้งหลายนี้  และหากใครไม่มีเงินมากพอเพื่อนำมาแลกกับการปลดปล่อยจากการกักขัง  เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตัวมาก็จะถามว่ามีเพื่อน หรือญาติพี่น้องที่ยินดีมาจ่ายเงินแทนบ้างไหม   การใช้ชีวิตประจำวันของคนต่างด้าวถูกจำกัดในหลายด้านด้วยเช่นกัน  คนงานต่างด้าวถูกห้ามมิให้จัดตั้งสมาคม และสหภาพแรงงาน ห้ามมิให้เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ  ตลอดจนถูกจำกัดการเคลื่อนย้ายโดยเสรี  ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบริเวณที่ทำงานหากไม่มีหนังสือยินยอมจากนายจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ประจำเขตปกครองนั้น  รัฐบาลไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวมีใบขับขี่  กฤษฎีกาที่ครอบคลุมท้องถิ่นจังหวัดพังงา  ภูเก็ต  สุราษฎร์ธานี  ระนอง  และระยองลิดรอนสิทธิพื้นฐานของผู้ย้ายถิ่นอย่างมาก  ซึ่งรวมทั้งการห้ามมิให้มีการจดทะเบียนยานพาหนะ  มิให้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ในความครอบครอง  หรือห้ามมิให้ออกจากบริเวณที่ทำงาน หรือที่พักอาศัยภายหลังเวลาที่ประกาศห้ามออกนอกบ้าน  ถึงแม้ในเดือนธันวาคม 2552 กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดแนวนโยบายที่ถือว่ามีความสำคัญมาก คือ การอนุญาตให้คนงานย้ายถิ่นยื่นขอเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์  แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้กำหนดว่า นโยบายใหม่นี้จะมีสถานะเช่นใดในกฤษฎีการะดับจังหวัดเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของคนงานต่างด้าว

ผลของการกำหนดนโยบายดังกล่าวข้างต้นทำให้คนต่างด้าวถูกตำรวจสั่งหยุดรถโดยใช้อำนาจบังคับตามใจชอบเพื่อค้น และยึดรถมอเตอร์ไซค์  โทรศัพท์เคลื่อนที่  ตลอดจนของมีค่าอื่นๆ ดังที่ ส่ายีซอน ซึ่งเป็นคนงานชาวพม่า กล่าวว่า  “ผมรู้สึกเหมือนถูกจับใส่กรงขัง  ผมเดินทางมากรุงเทพฯ สองสามครั้ง  แต่รู้สึกกังวลว่าถ้าถูกสั่งให้หยุดที่จุดตรวจของตำรวจ  ผมคงต้องถูกจับเพราะผมไม่ใช่คนไทย ”

ตำรวจไทยมักไม่สอบสวนคดีอาญาทั่วไปที่กระทำต่อคนต่างด้าวอย่างจริงจัง  รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้วย  การที่คนต่างด้าวขาดความไว้วางใจในตำรวจนั้นมีหลักฐานสนับสนุนด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำหลายครั้ง  ทั้งนี้ เอกสารหลายชิ้นในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่า  คนไทยที่ลงมือทุบตี หรือทำร้ายร่างกายผู้ย้ายถิ่นเป็นฝ่ายที่เรียกตำรวจให้มาจับคนต่างด้าวไปคุมขัง

แรงงานย้ายถิ่นจากพม่า  กัมพูชา และลาวเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนสำคัญในกำลังแรงงานของประเทศไทย  โดยมีจำนวนประมาณ  1.8 ล้านถึง 3 ล้านคน  รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นสมาชิกในครอบครัว  ทั้งนี้คิดโดยคร่าวๆเท่ากับร้อยละ 10 ถึง ร้อยละ 15 ของกำลังแรงงาน  อนึ่ง เนื่องจากความไม่แน่นอนของระบบลงทะเบียน  ดังนั้นจึงมีคนงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่าผู้ที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย  ถึงกระนั้น คนงานที่ถูกกฎหมายก็ยังรายงานว่า ตนเองก็เสี่ยงต่อการถูกจับตามใจชอบของเจ้าหน้าที่  รวมทั้งถูกเรียกเงินเพื่อการปล่อยตัว  และถูกกระทำมิชอบทางกาย  ฝ่ายนายจ้างนั้นมักเก็บเอกสารแสดงตัวของคนงานต่างด้าวไว้  ทั้งที่เป็นเอกสารแสดงสถานภาพตามกฎหมาย  อีกทั้งยังมีอำนาจที่จะลงนาม หรือไม่ลงนามในเอกสารสำคัญ  เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเปลี่ยนงาน และดำรงสถานภาพตามกฎหมาย

ฮิวแมนไรท์วอท์ชพบว่า มีการละเมิดสิทธิของคนงานต่างด้าวอย่างร้ายแรงในสถานประกอบการ  คนงานที่พยายามจัดตั้งองค์กร และรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิจะถูกนายจ้างข่มขู่ และคุกคาม  ตลอดจนต่อต้านในกรณีที่คนงานดังกล่าวยื่นข้อร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ  คนงานต่างด้าวทั้งที่จดทะเบียน และไม่จดทะเบียนร้องเรียนว่า ถูกทำร้ายร่างกาย และล่วงเกินด้วยวาจา อีกทั้งยังต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่มีวันหยุด  ค่าจ้างต่ำ  และสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย  อีกทั้งยังถูกหักค่าจ้างโดยไม่มีคำอธิบาย และผิดกฎหมาย  หากคนงานต่างด้าวขาดงานหนึ่งวัน หรือมากกว่า ก็มักจะถูกยึดเงินที่นายจ้างยังติดค้างอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด  ในกรณีที่คนงานต่างด้าวจะร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่เรื่องการปฏิบัติไม่ชอบของนายจ้างนั้น  คนงานจะต้องระมัดระวังตัวอย่างยิ่งเนื่องจากนายจ้างอาจใช้ความได้เปรียบจากการที่คนงานไม่มีสัญชาติไทยไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง  ตำรวจ  หรือแม้กระทั่งต่ออันธพาลที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งสามารถกระทำการต่างๆ ได้โดยไม่เกรงกลัวว่าจะต้องรับผิด

โดยทั่วไปตำรวจจะหาทางรีดไถเงิน และของมีค่าจากคนต่างด้าวโดยมิชอบ  ไม่ว่าจะโดยการเรียกให้หยุดรถ หรือเมื่อถูกนำไปจำขัง  คนต่างด้าวรายงานว่า ต้องจ่ายสินบนให้ตำรวจตั้งแต่ 200 บาทจนถึง 8,000 บาท หรือมากกว่านั้น  แล้วแต่ท้องที่ และสถานการณ์ในการตรวจจับ  รวมทั้งทัศนคติของตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  สำหรับคนต่างด้าวที่ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเพื่อให้ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ผู้จับตัวไปก็จะถามว่า มีญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่ยินดีจะมาช่วยจ่ายเงินให้หรือไม่

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้หลักประกันเรื่องสิทธิมนุษยชน  อีกทั้งประเทศไทยยังเข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับหลักด้วย  ข้อตกลงนี้กำหนดให้ผู้ที่มิใช่พลเมืองของประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้เป็นพลเมืองทุกประการ  ยกเว้นสิทธิทางการเมืองเช่นการออกเสียงเลือกตั้งหรือการลงสมัครรับเลือกตั้ง  ทว่ารัฐบาลไทยไม่ใส่ใจต่อการสร้างหลักประกันเพื่อให้คนงานต่างด้าว และครอบครัวได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานดังกล่าว

นโยบายของรัฐบาลไทยว่าด้วยการจดทะเบียนของคนงานต่างด้าว และการพำนักอาศัยเป็นเรื่องซับซ้อน และยุ่งยากสำหรับคนงานย้ายถิ่นจำนวนมากรวมทั้งผู้ที่เป็นปากเสียง  ข้อกำหนดเงื่อนไข และค่าใช้จ่ายสำหรับต่างด้าวที่ต้องการพำนักอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา  ปรากฏว่าปัจจุบันนี้ ช่องทางการย้ายถิ่นตามกฎหมายมีผู้มาขอรับอนุญาตน้อยกว่าที่ควร  เนื่องจากความยุ่งยากซับซ้อน และความล่าช้าของระเบียบปฏิบัติ  และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2551 มีการประกาศนโยบายที่กำหนดให้คนงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนเพื่อการยืนยันสัญชาติกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของตนเอง  ตามข้อกำหนดนี้คนงานต่างด้าวชาวพม่ามากกว่าหนึ่งล้านคนต้องมายื่นใบสมัครก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553  เพื่อเดินทางกลับไปขอใบรับรองจากรัฐบาลทหารของพม่าเพื่อขอรับหนังสือเดินทางชั่วคราว  และต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ขณะนี้ปรากฏว่ามีชาวพม่ามายื่นขอใบรับรองดังกล่าวน้อยมาก ชาวพม่าจำนวนมากอ้างถึงความหวาดกลัวที่จะถูกลงโทษทางอาญาเมื่อกลับไปยังประเทศพม่า  อันเนื่องมาจากการเดินทางออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น  การพยายามกวาดล้างคนงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และคนงานที่มาขึ้นทะเบียนแต่มิได้มาขอรับการยืนยันสัญชาติอาจเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2553 นี้  ทั้งนี้ เพื่อการเตรียมการดังกล่าว  รองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงระหว่างหน่วยงานต่างๆ นำโดยฝ่ายตำรวจ  เพื่อดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีกับคนต่างด้าว

นโยบายด้านคนงานต่างด้าวของรัฐบาลไทยโดยทั่วไปมีการกำหนดโดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ  ดังสะท้อนให้เห็นในภาษาที่ใช้ในกฤษฎีกาที่ประกาศในห้าจังหวัดตามการวิเคราะห์ในรายงานนี้  และตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการจ้างงานของชาวต่างชาติ พ.ศ. 2551  เจ้าหน้าที่รัฐบาลมักมองคนงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นบุคคลที่อาจก่ออันตรายต่อชุมชนชาวไทย  ต่อผลประโยชน์ของคนงานไทย  และต่ออธิปไตยของชาติ ถ้อยแถลงต่อสาธารณชนของเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกองทัพไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ตลอดจนกฤษฎีการะดับจังหวัดล้วนจำกัดสิทธิของคนต่างด้าว  อีกทั้งบทบัญญัติในกฎหมายล้วนสะท้อนแนวนโยบายนี้ทั้งสิ้น  อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมถึงการควบคุมเกือบจะโดยเด็ดขาดของนายจ้างเหนือคนงานต่างด้าวภายใต้ระบบการจดทะเบียนคนต่างด้าว

การทุจริต และพฤติกรรมอันเป็นอาชญากรของตำรวจท้องที่และเจ้าหน้าที่อื่นๆ  เป็นการเพิ่มความรุนแรงให้กับปัญหาการไม่ต้องรับผิด  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่มีการไต่สวน หรือการติดตามผลอย่างที่ควรจะเป็น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องละเมิดสิทธิ และก่ออาชญากรรมสามัญต่อคนต่างด้าว

กรณีของอยีอยีมา  สตรีที่เราเอ่ยถึงในตอนต้นรายงาน ผู้ถูกข่มขืน และสามีถูกฆ่าตายนั้น  เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการเริ่มต้นสอบสวนของตำรวจที่ลงจบด้วยความเงียบหาย  ทั้งที่มีการพบน้ำอสุจิที่จุดก่ออาชญากรรม ซึ่งสามารถนำมาพิสูจน์ดีเอ็นเอได้  อีกทั้งยังมีรายงานของตำรวจที่มีการบ่งบอกถึงชายผู้หนึ่งในท้องที่นั้นว่า เป็นผู้ต้องสงสัย  แต่คดีนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจากจุดเริ่มต้นแต่อย่างใด  ผู้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงนำเรื่องของอยีอยีมา มาส่งฟ้อง  และนายจ้างชาวไทยของเธอล้วนบอกกับฮิวแมนไรท์วอท์ชเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ตำรวจไม่สนใจติดตามดำเนินคดีเรื่องนี้ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะสถานภาพคนต่างด้าวของเธอ

ประสบการณ์ของ อยีอยีมา ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายนั้นมิได้เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด  ในคดีที่สำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่มากนั้นอาจเป็นไปได้ที่คนงานต่างด้าวจะสามารถเข้าถึงความยุติธรรม  ทว่าแนวโน้มโดยทั่วไปคือ ตำรวจมีอิสระเสรีในการใช้วิจารณญาณอย่างมาก  และยังมีปัญหาการไม่ต้องรับผิดอย่างแพร่หลายในกรณีการกระทำมิชอบต่อคนต่างด้าว

คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 บ่งชี้โดยชัดเจนว่ารัฐบาลไทยในระดับสูงสุดได้แสดงเจตนารมณ์ในการถือว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงานต่างด้าวเป็นพันธกิจสำคัญ  ดังที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสนับสนุนสิทธิของคนงานต่างด้าวไว้ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวาเมื่อเดือนมิถุนายน 2552  อันเป็นการสนองตอบต่อการแทรกแซงของฮิวแมนไรท์วอท์ช ทั้งนี้ รัฐบาลไทยแถลงว่า  “รัฐบาลไทยมีความพร้อม...ที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการสร้างหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานต่างด้าว ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน และกลไกระหว่างประเทศ เช่น ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว”

ฮิวแมนไรท์วอท์ชขอต้อนรับพันธกิจนี้ และรอคอยโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลไทยในการปฏิบัติต่อประชากรต่างด้าว แต่ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังละเมิดสิทธิพลเมือง และเศรษฐกิจของคนงานต่างด้าวตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

รัฐบาลไทยกำลังปฏิรูปนโยบายด้านคนต่างด้าวด้วยการกำหนดระเบียบการยืนยันสัญชาติ และปรับปรุงโครงการจัดหาคนงานโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล  แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังมีเพียงคนงานต่างด้าวจำนวนน้อยที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น ที่เข้าร่วมในกระบวนการยืนยันสัญชาติ  และยังมีน้อยกว่านั้นที่เข้ามายังประเทศไทยโดยผ่านกระบวนการจัดหาคนงานอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า  กัมพูชา  และลาว  ความยุ่งยากอย่างยิ่งในนโยบายการยืนยันสัญชาติอาจสร้างความยากลำบากให้กับนายจ้างที่ต้องการจะทำให้การจ้างงานคนงานต่างด้าวในกิจการของตนถูกต้องตามกฎหมายในอนาคตอันใกล้นี้

การวิจัยของเราได้พบว่าการลงโทษด้วยการเลือกปฏิบัติ และปฏิเสธสถานภาพของคนต่างด้าวดังกล่าวโดยรัฐบาล  ทำให้เกิดเงื่อนไขอันนำไปสู่การเพิ่มทวีของการทุจริต และการรีดไถโดยตำรวจ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอื่นๆ  ซึ่งยังคงลับหูลับตาสำหรับผู้ทีอำนาจหน้าที่ระดับชาติ  นายจ้าง และคนงานต่างด้าวไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตมีช่องทางรีดไถเงินทองของคนงานผู้ไม่มีเอกสาร ด้วยการทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นคนงานเหล่านั้น  อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการเข้าเมืองยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลอันใหญ่หลวงของหน่วยงานรักษาความมั่นคงแห่งชาติ  ซึ่งยังคงรักษาโครงสร้าง และกฎระเบียบในการควบคุมคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด  อันนำไปสู่การบั่นทอนเสรีภาพของคนต่างด้าวในการร่วมชุมนุม  จัดตั้งสมาคม  แสดงความคิดเห็น  และเคลื่อนไหว  ทั้งนี้ ทางออกของรัฐบาลไทยในการสร้างความสมดุลย์ระหว่างสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวกับความห่วงใยด้านความมั่นคงของชาติ  ย่อมเป็นตัวกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

ข้อเสนอแนะสำคัญ

เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อคนต่างด้าว  รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยควรดำเนินการดังต่อไปนี้

จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีอิสระ และความเป็นกลางในการสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานต่างงด้าวโดยตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอื่นๆ ทั่วประเทศ  คณะกรรมการพิเศษนี้ควรมีอำนาจในการส่งหมายศาลเรียกพยาน และบังคับให้มีการส่งมอบเอกสารที่เป็นหลักฐาน ตลอดจนจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณชน รวมทั้งยังควรมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะเพื่อให้มีการไต่สวนคดีอาชญากรรมพิเศษ และการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และกฎระเบียบ ตลอดจนแนวนโยบายที่มีผลเสียต่อสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว

ยกเลิกกฤษฎีกาจังหวัดที่จำกัดสิทธิของคนงานต่างด้าวในจังหวัดพังงา  ภูเก็ต  ระนอง  ระยอง  และสุราษฎร์ธานี  โดยกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นต่างๆเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของคนต่างด้าวที่มี และไม่มีเอกสารอย่างเท่าเทียมกัน
ดำเนินมาตรการทั้งมวลตามความจำเป็นเพื่อยุติการกระทำทารุณกรรม และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อคนต่างด้าวในที่คุมขัง  โดยจะต้องทำการสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยทันที และถี่ถ้วน เพื่อให้มีการดำเนินคดี และลงโทษต่อผู้กระทำผิดตามสมควร

แก้ไขมาตรา 88 และมาตรา 100 ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  เพื่ออนุญาตให้บุคคลทุกสัญชาติยื่นขออนุญาตจัดตั้งสหภาพแรงงาน และปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน ตลอดจนสร้างหลักประกันให้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ที่มีการแก้ไขดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดยอนุสัญญาฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคม)  ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net