Skip to main content
sharethis
25 ก.พ.53  นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ภายหลังทราบคำสั่งศาลปกครองกลางอนุญาตให้ 9 โครงการประเภทรุนแรงในพื้นที่มาบตาพุดสามารถเดินหน้าก่อสร้างและทดลองเครื่องจักรต่อไปได้นั้น สุ่มเสี่ยงว่าคำสั่งดังกล่าวอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการจัดทำอีไอเอ, เอชไอเอ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ส่วนได้เสีย และการให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ “ก่อนดำเนินโครงการ” ดังกล่าว แต่การที่ศาลอนุญาตให้โครงการทั้ง 9 โครงการดำเนินโครงการต่อไปได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนเสี่ยก่อน จึงอาจถือว่าเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
นายสมาคมฯ ระบุในฐานะผู้ฟ้องคดีจะต้องหาข้อยุติในทางกฎหมายเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในทางกฎหมาย อาจจะต้องยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองอนุญาตให้ 9 โครงการดังกล่าวก่อสร้างและทดลองเครื่องจักรต่อไปได้ โดยที่ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนเสียก่อนนั้น “ขัดหรือแย้ง” ต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหาก 9 โครงการดังกล่าวเดินหน้าดำเนินการก่อสร้างและเดินเครื่องจักรต่อไปได้ตามคำสั่งของศาลแล้ว หากเกิดเหตุอุบัติภัยหรือเกิดเหตุใด ๆ เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของชาวบ้าน ใครจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าวระหว่างศาลปกครองกับผู้ประกอบการ
 
อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่  1 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 10.30 น. สมาคมฯ จะไปยื่นฟ้องร้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลปกครองระงับ 12 โครงการในมาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงเพิ่มเติม ภายหลังที่ สผ. เห็นชอบ EIA ไปแล้วหลังจากที่สมาคมฯยื่นฟ้องขอให้ระงับ 76 โครงการในพื้นที่ดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานอนุญาตต่าง ๆยุติการให้ความเห็นชอบโครงการต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนกว่าจะกลับไปดำเนินการและปฏิบัติให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองเสียก่อน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะ 7 ราย สามารถดำเนินการได้ตามคำร้องขอคือ ก่อสร้างโครงการส่วนที่เหลือต่อไปจนแล้วเสร็จ ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทดลองระบบที่เกี่ยวข้อง และทดลองเดินเครื่องจักร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้เป็นไปตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลักเกณฑ์กฎหมายโดยเคร่งครัด สำหรับ 7 โครงการดังกล่าว ได้แก่ 1. โครงการขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมีและคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด 2. โครงการผลิตเมธิลเมตาคลีเลต โรงงานที่ 2 บริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด 3. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน บริษัท สยามโพลิเอททีลิน จำกัด 4. โครงการผลิตโพลิเอททีลีน บริษัท สนามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด 5. โครงการผลิตเม็ดพลาสติคโพลิเอททีลีน บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด 6. โครงการบีสฟีนอลเอ บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด 7. โครงการผลิตเหล็กส่วนขยาย บริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด
        
นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงจะขอความร่วมมือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งจัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในต้นเดือนมีนาคม เพื่อหารือกระบวนการทำงานภาครัฐต่อกิจการที่เข้าข่ายรุนแรงในทิศทางเดียวกัน หลังจากฝ่ายปฏิบัติยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ อีกทั้งระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และ รมว.อุตสาหกรรมจะไปโรดโชว์ประเทศญี่ปุ่น และชี้แจงการแก้ปัญหามาบตาพุดจะได้นำความคืบหน้าจากที่ประชุมไปชี้แจง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net