Skip to main content
sharethis

25 ก.พ. 53 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน รวมพลกันตั้งแต่เช้าตรู่ที่หมู่บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ใส่เสื้อเขียวอย่างพร้อมเพรียงกัน เหมารถบัสโดยสารขนาดเล็ก จำนวน 5 คัน และรถกระบะอีก 3 คัน เพื่อยกขบวนไป เข้าร่วมประชุมในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับ “โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ” ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ที่ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดขึ้น เป็นครั้งที่ 2 ที่โรงแรมพูลแมนขอนแก่นราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น หลังจากที่ครั้งแรกได้จัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่

 
ในเวทีเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ประกอบด้วยหน่วยงาน และกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วม เช่น ข้าราชการจากกระทรวงอุตสาหกรรม เอกชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)  และภาคประชาชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพอกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ เดินทางมาถึงก็ทำให้ห้องประชุมแน่นไปถนัดตา และเก้าอี้ที่ทางโรงแรมจัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอ จนกลุ่มชาวบ้านบางส่วนต้องนั่งกับพื้นเพื่อร่วมรับฟังในเวที พร้อมชูป้าย เช่น “โครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นโครงการที่รุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสอง” ,“โครงการเหมืองแร่โปแตชสร้างผลกระทบที่รุนแรงให้กับชุมชน” และ “สิทธิชุมชนต้องมาก่อนนายทุน” เป็นต้น
 
บรรยากาศในเวทีเป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนของภาคประชาชนเข้าร่วมยังอยู่ในวงจำกัด ไม่กระจาย จะมีเพียงแต่กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ซึ่งนอกจากกลุ่มอนุรักษ์ฯแล้วก็มี เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน, กรณีปัญหาที่ดินทำกิน, เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย, ขุดลอกลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู, ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบน้ำเกลือ จ.นครราชสีมา  ทั้งนี้ เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้ติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
 
โดยนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวติงผู้จัดงานว่า  เป็นเวทีที่คับแคบ ยากแก่การเข้าถึงของประชาชน เนื่องจากจะต้องลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตจึงจะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการมาร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ชาวบ้านที่มารับฟังต้องควักกระเป๋าตัวเองต่างจากข้าราชการหรือผู้ประกอบการที่สามารถหาเบิกจากหน่วยงานตนได้ ถือว่าเป็นการปิดกั้นโอกาสของประชาชน
 
ในส่วนเนื้อหาของเวที นางมณีได้กล่าวต่อว่า ที่ขนกันมาเยอะวันนี้ก็เพื่ออยากให้ชาวบ้านได้รับฟังข้อมูล และแสดงออกถึงจุดยืนของกลุ่ม
“โครงการเหมืองแร่ทุกชนิด หากตั้งอยู่ในชุมชนย่อมต้องส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนอย่างแน่นอน ฉะนั้นไม่ว่าประกาศดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบใด การต่อสู้ของภาคประชาชนก็คงมีอยู่ต่อไป เพราะโครงการต่างๆยังไม่ยกเลิก” นางมณีกล่าว
 
ด้านนายบุญค้ำ ดาจันทร์ ชาวบ้านหาดคัมภีร์ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนปากชมกั้นแม่น้ำโขง กล่าวว่า พึ่งรู้ว่าจะมีเวทีเมื่อวันที่ 20 ที่ผ่านมา โดยทราบข่าวจากองค์กรพัฒนาเอกชน ก็เลยฉุกละหุก และขอให้เขาช่วยลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตให้ด้วย (การลงทะเบียนต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วัน) กับเพื่อนอีก 2 คน แต่ชาวบ้านคนอื่น หรือแม้แต่ผู้นำในพื้นที่ไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าจะมีเวทีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ตนก็จะนำข้อมูลที่ได้จากวันนี้ไปพูดคุยขยายในพื้นที่ต่อ  
   
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เวทีดังกล่าวมี NGOs เข้าร่วมน้อย คือไม่ถึงครึ่ง ด้านฝ่ายรัฐได้นำเอาข้อมูลด้านเทคนิค มาอภิปรายในเวทีเพื่อชี้ให้เห็นว่าจาก 19 โครงการ มีบางโครงการที่ไม่มีผลกระทบรุนแรง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของชาวบ้านที่เตรียมตัวมาน้อย แต่ฝ่ายรัฐ หรือ ฝ่ายเอกชนได้มีการเตรียมข้อมูลมาอย่างดี และบทบาทของกรรมการรับฟังฯ บางคนไม่ได้มีความเข้าใจชาวบ้านเลย นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวเสนอส่งท้ายว่า “ตามบัญชี 19 โครงการ ที่คณะกรรมการกำหนดประเภทโครงการฯ จัดทำมายังไม่พอ เพราะยังมีโครงการอื่นๆ อีกที่น่าจะถูกบรรจุไว้ในบัญชีด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้สายส่งยังแผ่รังสีแม่เหล็กออกมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพแก่ผู้อาศัยอยู่ นี่สมควรถูกบรรจุให้เป็นโครงการที่ 20 ด้วยซ้ำไป” นายสุวิทย์กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net