Skip to main content
sharethis

องค์กรสตรีกะเหรี่ยง KWO เผยแพร่รายงาน “เดินบนมีดแหลมคม” ระบุทหารพม่าละเมิดและทารุณผู้นำหญิงในชุมชนชาวกะเหรี่ยงอย่างเป็นระบบ เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าไปสอบสวน ย้ำการลงทุนกับรัฐบาลพม่าเท่ากับเติมเชื้อไฟให้รัฐทหาร กระตุ้นให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัย

   

ปกรายงาน “เดินบนมีดแหลมคม” (Walking Amongst Sharp Knives) รายงานสถานการณ์การทารุณกรรมต่อผู้นำหญิงชาวกะเหรี่ยงในพม่า ซึ่งองค์กรสตรีกะเหรี่ยง KWO เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ (อ่านเอกสารฉบับเต็มที่นี่)

 

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. องค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organization) หรือ KWO ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีของชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 49,000 คน ได้แถลงข่าวเผยแพร่รายงาน “เดินบนมีดแหลมคม” (Walking Amongst Sharp Knives) รายงานสถานการณ์การทารุณกรรมต่อผู้นำหญิงชาวกะเหรี่ยงในพม่า

โดยรายงานข้อ KWO เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้านที่เป็นสตรีกะเหรี่ยง 95 คน ในชุมชนกะเหรี่ยงทั้งในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ระหว่างปี 2548-2552

นางบลูมมิ่ง ไนท์ ซาน เลขาธิการร่วมขององค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยงกล่าวว่า ที่มาของชื่อรายงาน “เดินบนมีดแหลมคม” ว่ามาจากการที่ผู้นำสตรีชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ เผชิญประสบการณ์ที่เลวร้ายจากทหารพม่า ทั้งถูกละเมิด ตกเป็นผู้ถูกกระทำ เปรียบเหมือนเดินบนมีดคม

รายงานระบุว่า ธรรมเนียมการเลือกผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำของชุมชนชาวกะเหรี่ยง เกิดขึ้นแพร่หลายในชุมชนกะเหรี่ยงที่ลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของพม่านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หรือช่วงปี พ.ศ. 2520 ที่กองทัพพม่าขยายพื้นที่ยึดควบคุมเข้าไปในชุมชนชาวกะเหรี่ยงและมีการรุกรานหมู่บ้านเหล่านี้ ผู้ชายชาวกะเหรี่ยงมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้นำหมู่บ้าน ดังนั้นผู้หญิงกะเหรี่ยงจึงขึ้นมาเป็นผู้นำหมู่บ้านแทน โดยหวังว่าจะสามารถลดเหตุละเมิดจากทหารพม่าได้

อย่างไรก็ตามผู้หญิงก็ไม่เป็นข้อยกเว้นของความโหดร้ายของกองทัพพม่า โดยมีการทารุณผู้นำหมู่บ้านที่เป็นผู้หญิงกะเหรี่ยงอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการละเมิดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ โดยถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและเป็นอาชญากรรมสงคราม ผู้นำหญิงชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิรูปแบบต่างๆ เช่น การบังคับใช้เป็นแรงงานทาส การถูกตรึงกางเขน การเผาทั้งเป็น การข่มขืน รวมทั้งการรุมข่มขืน การทรมานรูปแบบต่างๆ ทั้งการทุบตีและการจับกดน้ำ การนำไปฝังในดินให้เหลือแต่ศีรษะโผล่ขึ้นมาและการตีจนตาย การสังหารโดยพลการ และการถูกตัดศีรษะ

ทหารพม่าจงใจเลือกผู้นำหมู่บ้านที่เป็นผู้หญิงเหล่านี้เป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงทางเพศ มีบางกรณีที่ผู้นำหมู่บ้านหญิงถูกข่มขืน และการรุมข่มขืน มีกรณีที่ผู้นำชุมชนหญิงที่ตั้งครรภ์และต้องการการรักษาพยาบาลกลับถูกทหารพม่าบังคับให้ทำงานหนักและถูกสอบสวนและทรมาน อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่าแม้จะต้องเผชิญกับการกระทำที่โหดร้ายเหล่านี้ ในรายงานระบุถึงผู้หญิงจำนวนมากที่แสดงความกล้าหาญและความเสียสละเพื่อท้าทายอำนาจของทหารพม่าและปกป้องชุมชน เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้านและเรียกเอาไก่จากชาวบ้าน 10 ตัว พร้อมไม่ไผ่ 100 ลำ แต่ผู้นำผู้หญิงก็สามารถต่อรองเหลือเป็นให้ไก่ 5 ตัวกับไม้ไผ่ 50 ลำ เป็นต้น

ทั้งนี้นางบลูมมิ่ง ไนท์ ซาน กล่าวว่า KWO มีข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อเหตุอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำโดยรัฐบาลทหารพม่า

นอกจากนี้ KWO ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการปกป้องผู้ลี้ภัยที่หนีภัยการโจมตีของทหาร และเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป

นอกจากนี้ในข้อเรียกร้องของ KWO ยังระบุให้รัฐบาลไทยระงับโครงการที่รัฐบาลไปลงทุนในพม่าทั้งการก่อสร้างเขื่อน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นการเติมเชื้อไฟให้กับรัฐทหาร และกระตุ้นให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการไปเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยให้เข้ามาในประเทศไทย

นางทินทินโหย่ กรรมการสันนิบาตสตรีพม่า (WLB) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าอ้างว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รายงานฉบับนี้สามารถพิสูจน์แล้วว่าคำกล่าวอ้างของรัฐบาลทหารพม่าไม่เป็นจริง ที่ผ่านมามีกฎหมายสากล หรือสนธิสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลพม่าตกลงกันไว้กับประชาคมโลก แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศเหล่านั้นเป็นแค่คำพูดแค่ตัวหนังสือที่อยู่ในกระดาษ ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

น.ส.จ๋ามตอง จากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) กล่าวว่า จากรายงานทำให้เห็นว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยทหารพม่า ไม่เพียงเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงเท่านั้น เมื่อปีก่อนก็มีรายงานทหารพม่าเผาทำลายหมู่บ้านในรัฐฉาน จนมีผู้อพยพนับหมื่นคน

และในปีนี้หากกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ไม่ยอมแปรสภาพเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces - BGF) ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลทหารพม่าวางไว้ ก็อาจเกิดการสู้รบกับทหารพม่า ทำให้ประชาชนต้องอพยพเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทยและจีน

จ๋ามตองกล่าวด้วยว่า แม้อาเซียนจะมีนโยบายไม่แทรกแซงกัน แต่การปล่อยให้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในพม่าทั้งการวางท่อก๊าซ การก่อสร้างเขื่อน ซึ่งการลงทุนเหล่านี้นอกจากเกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชน ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเหล่านั้น โดยจ๋ามตองเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนระหว่างรัฐบาลอาเซียนให้สอบสวนเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net