Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เวลาประมาณ 9.45 น. ลุงกาล หรือ นายพรม  บูรณชน ได้เสียชีวิตอย่างสงบ ศิริอายุได้ 83 ปี โดยได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่หมู่บ้านแก่งศรีโคตร ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

 
 
 
ประวัติลุงกาลโดยย่อ
 
 
 
 
พรม บูรณชน (สหายกาล)
วันวานแจ่มกระจ่างอยู่กลางใจ
โดย โกเมศ มาสขาว
 
ในค่ำคืนที่ลมพายุหอบฝนห่าใหญ่มาจากฝั่งประเทศลาว ลุงพรมยังคงบรรจงจิบน้ำชาจากจอกกระเบื้องเคลือบด้วยท่าทีที่สงบเยือกเย็น และบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านพ้นมาในชีวิตของท่านผ่านน้ำเสียงที่แหบพร่า แข่งกับเสียงสายฝนที่ตกลงมากระทบหลังคาสังกะสีดังครืนโครม…ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง
           
ผมพิจารณาดูใบหน้าชราและดวงตาขุ่นมัวคู่นั้น ภาพลักษณ์ภายนอกของลุงพรมไม่ต่างไปจากผู้เฒ่าผู้กรำชีวิตที่ผมเคยพบเห็นทั่วไป…คนในวัยเดียวกันหลายคนบ้างก็สานตะกร้ากระบุง นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้านให้ลูกหลานเลี้ยงดู หรือไม่ก็ล้มหมอนนอนเสื่อป่วยกระเสาะกระแสะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ …ทว่าลุงพรมที่ผมรู้จักนั้น เป็นชายชราร่างเล็กวัย 80 ปีที่ผมเปลี่ยนจากสีดอกเลาเป็นขาวโพลน คล่องแคล่วและไม่ยอมอยู่นิ่ง วันทั้งวันผู้เฒ่ายังคงกรำงานหนัก ทั้งขุดดินทำไร่ ทั้งปีนต้นมะขามที่ปลูกไว้หลายสิบไร่เพื่อเก็บฝักขาย ด้วยความที่เป็นคนมีอัธยาศัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านโดยทั่วไป นั่นเป็นเพียงภาพปัจจุบันของชายชรา – หัวหน้าครอบครัวที่มีเพียงหลานสาวอ่อนวัยและภรรยาวัยใกล้เคียงกัน สมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้านแก่งศรีโคตร หมู่บ้านชายแดนในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่มะขามหวาน และใช้ชีวิตเฉกเช่นชาวบ้านโดยทั่วไป
           
สิ่งที่น่าสนใจในชีวิตของท่านไม่ใช่มีอยู่เพียงเท่านี้ หากแต่วันวัยที่ผ่านพ้นมานั้นเป็นดั่งเบ้าหลอมที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าต่อสังคมและส่วนรวมที่ท่านได้ปฏิบัติเรื่อยมานับจากอดีตจวบปัจจุบัน    …ลุงพรมคือผู้พลีกายใจให้กับขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนมากว่า 70 ปี เสียสละถึงขนาดที่ต้องสูญเสียลูกชายให้แก่ขบวนการปฏิวัติไปถึง 3 คน
 
…ลุงพรม ผู้ปฏิบัติงานรุ่นแรกที่ร่วมบุกเบิกพื้นที่งานปฏิวัติร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในขณะที่ตัวเองมีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น ทั้งยังได้เข้าร่วมกับกองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่นของ พคท. ไปร่วมรบขับไล่ผู้รุกรานในปลายมหาสงครามเอเชียบูรพา ในปี 2488 ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับแนวร่วมอื่น ๆ จนสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศไทยไปได้ เพียงเท่านี้ก็นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย หากแต่เกร็ดชีวิตที่โลดโผนโจนทะยาน ที่ลุงพรมได้ประจญประจัญมานั้นยิ่งกว่านิยายกำลังภายในเรื่องยาว ทั้งดุเด็ดเผ็ดมันและยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนอย่างแท้จริง
           
ในปี 2483 เด็กชายวัย 13 ปีจากจังหวัดปราจีนบุรีได้แอบหนีขึ้นรถไฟเข้ามาเสี่ยงโชคในกรุงเทพฯเพียงลำพัง นับจากนั้นอีกสองปีให้หลังพรรคคอมมิวนิสต์ไทยถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ( เพิ่มคำว่าแห่งประเทศไทย ในปี 2495 ) เขาได้เข้าไปเป็นผู้ปฏิบัติงานจัดตั้งแนวร่วมกรรมกรในเขตเมืองอย่างเต็มตัว ในช่วงเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่2 ยังคงครุกรุ่นอยู่ทั่วไป เกิดความวุ่นวายโกลาหลทุกหย่อมย่าน ทั้งภัยผู้รุกรานและทุพภิกขภัยโถมซัดกระสานซ่านเซ็นไปทั่ว ดังนั้นพรรคจึงมีนโยบายหลักภายใต้คำขวัญ “ขับไล่จักรพรรดินิยมญี่ปุ่น ถอนตัวออกจากสงครามรุกราน ”   พรม บูรณชน ได้อาสาสมัครเข้าเป็นกองอาสาต่อต้านญี่ปุ่นรุ่นแรก มีกองกำลังเพียง 250 คนเท่านั้น ไปร่วมรบขับไล่ญี่ปุ่นที่จังหวัดกาญจนบุรีจนญี่ปุ่นพ่ายแพ้และถอนตัวออกไปในปี 2488
           
ต่อจากนั้นลุงพรมก็ได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อบุกเบิกขยายพื้นที่เขตงานของพรรค โดยการแฝงตัวไปเป็นช่างทำรองเท้า ปลุกระดมและให้การศึกษามวลชนจนสามารถควบคุมเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวปลอดภัย พรรคจึงจะส่งหน่วยงานอื่นเข้าไปรับช่วงแทน ส่วนลุงพรมก็จะออกเดินทางไปบุกเบิกพื้นที่อื่นต่อไปเรื่อย ๆ เงินเก็บมีเท่าไหร่ก็จะส่งเข้าสนับสนุนพรรคจนแทบจะไม่เหลือไว้ใช้ส่วนตัวเลย
           
ในประวัติศาสตร์ยุคเริ่มต้นการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย แทบทุกที่และทุกครั้ง ลุงพรม บูรณชน จะมีส่วนร่วมในการบุกเบิกพื้นที่ตลอดจนจัดตั้งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านคูซอด จังหวัดศรีสะเกษ ภูพานหรือเขตงานอีสานใต้ลุงพรมก็ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหน่าย
           
กระทั่งในปลายปี 2496 สถานการณ์ทางการเมืองพลิกผัน พรรคจึงมีมติให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละเขตงานอำพรางตนเองโดยการแต่งงานสร้างครอบครัวกับคนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เสียลับ ลุงพรมจึงได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี กระนั้นอยู่กินกันได้ไม่ถึง 2 เดือนก็เกิดการเสียลับ ต้องหลบหนีออกจากหมู่บ้านในค่อนดึก ปล่อยให้ภรรยาอยู่บ้านตามลำพังกว่า 1 ปีเต็มจึงได้ส่งคนให้ไปรับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯด้วย ชีวิตครอบครัวดำเนินไปอย่างยากลำบากเพราะลุงพรมต้องออกทำงานให้กับพรรคอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดการเสียลับก็จะย้ายไปทำงานที่อื่นโดยไม่สามารถพาภรรยาไปอยู่ด้วยได้ เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งหลายหน จนกระทั่งครั้งสุดท้ายพรรคได้ส่งลุงพรมไปเรียนต่อโรงเรียนการเมืองการทหารในประเทศจีน ในขณะที่ทั้งสองมีลูกชายด้วยกัน 4 คน
           
ภรรยาจึงได้พาลูกน้อยทั้ง 4 ของนางกลับไปอยู่บ้านตามเดิม …ทุกข์ซ้ำกรรมซัด เมื่อการก่อสร้างเขื่อนสิรินธรแล้วเสร็จลง พื้นที่ที่เคยเป็นหมู่บ้านไร่นาทั้งหมดถูกน้ำท่วมจมหายอยู่ใต้ท้องอ่าง จำเป็นต้องอพยพโยกย้ายไปอาศัยอยู่กับคนในหมู่บ้านอื่น นางต้องหาผักหาปลาหาบเข้าไปแลกข้าวถึงฝั่งประเทศลาวมาจุนเจือครอบครัว หาเลี้ยงลูกน้อยอยู่อย่างอัตคัดขัดสน กระทั่งลุงพรมกลับมาจากประเทศจีน จึงได้พาสมัครพรรคพวกออกตามหาภรรยาจนพบ และพากลับเข้าไปร่วมทำงานปฏิวัติในเขตป่าเขาด้วย
           
นี่คือเกร็ดชีวิตโดยสังเขปของคน ๆ หนึ่ง ที่ชั่วชีวิตอุทิศพลีให้กับการทำงานโดยไม่เคยนึกถึงประโยชสุขส่วนตัวเลย ลูกชายทั้ง 4 ของลุงพรมถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนการเมืองการทหารที่ อต.4 (อีสานใต้) เมื่อจบออกมาก็แยกย้ายไปเป็นทหารปฏิวัติรับใช้พรรคและประชาชนตามแนวทางที่คิดว่าถูกต้อง โดยที่ลูกชาย 3 ใน 4 คนนั้นไม่มีโอกาสได้กลับมาพบหน้าพ่อแม่อีกเลย ทั้งหมดเสียสละชีวิตอย่างสมเกียรติในสมรภูมิรบ พรรคจึงได้ส่งลูกชายคนเล็กมาอยู่ดูแลแม่ในทับผู้เฒ่าเป็นการทดแทน
           
นับตั้งแต่ปี 2521-2525 นั้น สถานการถึงขั้นวิกฤติสูงสุด เกิดสงครามระหว่างพรรคพี่พรรคน้องเวียดนาม-กัมพูชา เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในระดับสากลโดยทั่วไป เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่สามารถดำรงเคลื่อนไหวอยู่ในป่าได้อีกต่อไป
           
ในปี 2525 ลุงพรมจึงได้พาภรรยาออกมาจากป่า มาทำการเคลื่อนไหวอยู่ในเขตเมือง และถูกจับกุมได้ในปี 2527 ถูกคุมขังอยู่ในศูนย์การุณยเทพ 1 ปีเต็ม จึงถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2528
           
ทันทีที่ได้รับอิสระภาพ ลุงพรม บูรณชน ได้พาภรรยากลับมาที่จังหวัดอุบลราชธานีทันที มาซื้อที่ติดลำห้วยทรายในบริเวณหมู่บ้านแก่งศรีโคตร โดยได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเงินจากน้องสาว จากนั้นก็เริ่มลงมือขุดถางพื้นที่รกร้างหามรุ่งหามค่ำ ปลูกมะละกอ มะม่วง และมะขามหวาน ดำรงชีวิตด้วยความมุ่งมั่นอดทนมาจนถึงปัจจุบัน
 
แม้ว่าวันเวลาของการปฏิวัติประชาชาติประชาชนจะล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม กระนั้นลุงพรมยังคงใส่ใจการเมืองและความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนเสมอมา ปัจจุบันเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน ทำการต่อสู้เรียกร้องในแนวทางสันติวิธี กรณีเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรเรื่อยมา
 
อดีตกาลได้ล่วงเลยผ่านไปแล้ว ทว่าภาพความทรงจำ ทั้งที่งดงามและเจ็บปวดก็ยังคงว่ายเวียนอยู่ในความทรงจำของ พรม บูรณชนและครอบครัวอยู่เสมอ …และสหายกาลผู้นั้น…ชายหนุ่มผู้หยัดยืนถือปืนบรรเลงเพลงรบบนยอดภูในวันวาน ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางการรับใช้ประชาชนด้วยชีวิตจิตใจที่เสียสละกล้าหาญ พร้อมยอมพลีทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างสะพานให้ผู้คนได้ก้าวข้ามไปสู่สังคมอุดมธรรม…ในวันนี้เขาคือชายชราวัย 80 ขวบปี (2550) ที่เส้นผมขาวโพลนไปทั้งศีรษะ ผู้ที่ยังคงตรากตรำทำงานในไร่ตั้งแต่เช้ายันค่ำ และเฝ้ามองความเป็นไปของสังคมด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสักครั้งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
 
 

 
กำหนดการ
สวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2553 เวลา 18.00 น.
เผาศพในวันที่ 4 มีนาคม 2553 เวลา 16.00 น. ที่วัดแก่งศรีโคตร
 
เส้นทางมายังสถานที่จัดงานบำเพ็ญกุศล
ออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 มายังด่านชายแดนช่องเม็ก อ.สิรินธร ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงหมายเลข 2396 อีกประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านแก่งศรีโคตร อันเป็นสถานที่ตั้งศพ
 
ติดต่อประสานงาน
นายสมบัติ บูรณชน ( สหายนิดร ลูกชายของลุงกาล ) 087 – 3332065
นายประพนธ์ สิงห์แก้ว ( เอก ) 084 – 6061640
 
 
 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net