Skip to main content
sharethis
ไทรอัมพ์ยอมยุติการชุมนุมสิ้นเดือนนี้-รับจักรไปผลิตชุดชั้นใน
สำนักข่าวไทย (22 ก.พ. 52)
- ปิดฉากการชุมนุมม็อบไทรอัมพ์ หลังยืดเยื้อนานกว่า 4 เดือน คนงานยอมถอย รับจักร 250 ตัว ผลิต ชุดชั้นใน “ไทรอาม” เลี้ยงชีพ ประจานความไม่เป็นธรรม เตรียมย้ายออกจาก ก.แรงงาน ภายในสิ้นเดือนนี้
หลังปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานเพื่อประท้วงการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็น ธรรมนานกว่า 4 เดือน วันนี้อดีตคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่นประเทศไทย หรือคนงานไทรอัมพ์ จำนวนกว่า 500 คน ยอมรับข้อตกลงที่จะยุติการชุมนุมแล้ว โดยนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง และนายธวัช สุรินทร์คำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยตัวแทนอดีตคนงานไทรอัมพ์
นำโดย น.ส.จิตรา คชเดช ร่วมกันแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลงที่จะยุติการชุมนุมของคนงานภายใต้ เงื่อนไขที่กระทรวงแรงงานสนับสนุนจักรเย็บผ้าให้คนงานจำนวน 250 ตัว เพื่อนำไปประกอบอาชีพพร้อมจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะฝีมือและจัดหาแหล่งเงินกู้ โดยเตรียมประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการให้สินเชื่อ ซึ่งคนงานทั้งหมดจะทยอยเดินทางออกจากกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 20 -28 ก.พ.นี้
ด้าน น.ส.จิตรา ระบุว่า ข้อตกลงในวันนี้ แม้คนงานจะรู้สึกไม่ค่อยพอใจ เพราะกระทรวงแรงงาน จัดหาจักรได้เพียง 250 ตัว ซึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้คนงานจำนวน 560 คน แต่การชุมนุมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตาม แม้การชุมนุมที่กระทรวงแรงงานจะยุติลง กลุ่มคนงานจะไม่ยุติการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อบริษัทและรัฐบาล แต่จะเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้โดยเตรียมหาเช่าสถานที่เพื่อผลิตชุดชั้นใน ยี่ห้อไทรอาม ในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการถูกเอาเปรียบจากบริษัทและการไม่ได้รับความยุติธรรม จากรัฐบาล เช่นการทดลองใช้เครื่องแอลแรดของตำรวจ ในระหว่างการชุมนุมรวมถึงการออกหมายจับแกนนำ 3 คน เพื่อให้สังคมทราบ พร้อมขอรับบริจาคจักรเย็บผ้าจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อให้คนงานที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมได้รับบริจาค อย่างทั่วถึงกัน
เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน-โคราชมากสุดในภาคอีสาน
สำนักข่าวไทย (
22 ก.พ. 53) - นายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในการประชุมสัมมนาบูรณาการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน แรงงาน วันนี้ (22 ก.พ.) ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส โคราช ว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ทำให้เลิกจ้างงานจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนา หรือเข้าสู่ภาคการเกษตร แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไม่เฉพาะแรงงานคนไทย ยังรวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย ขณะนี้สถานประกอบการต่าง ๆ ร้องขอเข้ามายังกระทรวงแรงงานให้ช่วยปรับปรุงพัฒนาฝีมือแรงงาน และชักชวนให้แรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีตำแหน่งงานว่างกว่า 100,000 อัตรา โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องการแรงงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง แม้กระทรวงแรงงานพยายามพัฒนาแรงงานฝีมือป้อนเข้าภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากที่ สุด แต่ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งไม่สามารถขยายกิจการออกไปได้ เนื่องจากไม่มีแรงงานเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาจะต้องเร่งแก้ไข รวมถึง จ.นครราชสีมามีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากเช่นกัน และยังมีตำแหน่งงานว่างหลายพันอัตรา ซึ่งมากที่สุดในภาคอีสาน
จี้รัฐขยายพิสูจน์สัญชาติ รง.เถื่อน
ไทยโพสต์ (
22 ก.พ. 53) - นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบคำขอพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าว จากวันที่ 28 ก.พ.ออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามมติ ครม. วันที่ 19 ม.ค.53 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง และได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทในราชอาณาจักรตามมติ ครม. วันที่ 1 ธ.ค.52 จำนวน 382,541 คน และมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย.52 ให้แรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นครั้งสุดท้าย 933,391 คน รวมเป็น 1,315,932 คน จะต้องกรอกแบบและยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ.53 โดยแรงงานพม่าจะต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ณ ศูนย์ประสานงานในประเทศพม่า 3 แห่งคือ เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองเมียวดี และเกาะสองนั้น
 
มูลนิธิขอสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ และอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้าม ชาติ แต่เห็นว่าการพิสูจน์สัญชาติยังประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เช่น ยังมีผู้ไม่รู้เกี่ยวกับกระบวนการ และประเทศพม่ายังไม่สามารถควบคุมได้ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและทาง เชื้อชาติ ทำให้แรงงานเกิดความหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ในการที่จะต้องไปพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศพม่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติ ครม. วันที่ 19 ม.ค. ผลที่จะเกิดขึ้นหลัง 28 ก.พ. คือแรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องถูกส่งกลับ เป็นปัจจัยเอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่น จึงขอให้พิจารณาขยายระเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก.
สภาฯจับมือสวีเดนส่งแรงงานไทยโกยเงิน ล็อตแรก 60 คนดูแลผู้สูงอายุเริ่มงานสิงหา
แนวหน้า (22 ก.พ. 53) -
นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการบ้านพี่เมืองน้องระหว่างสภากรุงเทพมหานครกับสภาเมือง สวีเดนได้มีการเจรจากับเทศบาลเมืองสวีเดนและนอร์เวย์ในโครงการส่งผู้ดูแลผู้ สูงอายุไปยัง ราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือโครงการดังกล่าวระหว่างสภากรุงเทพมหานครกับสภา เมืองสวีเดน และระหว่างกรุงเทพมหานครกับกระทรวงแรงงาน ในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ
ในเบื้องต้นกำหนดคัดเลือกส่งแรงงานไทย 60 ราย โดยหลังจากลงนามความร่วมมือแล้วจะตั้งคณะทำงานร่วมสองประเทศเพื่อหารือกำหนด คุณสมบัติหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกซึ่งจะต้องมีความรู้ทางด้านภาษา การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และความรู้ทางด้านวัฒนธรรมทั้งสองประเทศด้วย ซึ่งจะมีการจัดอบรมภายใน 1 เดือนหลังจากลงนามความร่วมมือแล้ว คาดว่าจะส่งแรงงานไทย 60 คน แรกไปเริ่มงานได้ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2553
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากในการจัดส่งแรงงานไปทำงานนอกประเทศนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ของกรุงเทพมหานครจึงต้องลงนามความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานเพื่อให้กรมการจัด หางานเข้ามาเป็นผู้จัดการขั้นตอนต่างๆตามกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นสภากทม.ได้หารือกระทรวงแรงงานแล้วยินดีให้ความร่วมมือโครงการ นี้อย่างเต็มที่ โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้เจรจากับทางสวีเดนในรายละเอียดเรื่องรายได้ และสวัสดิการที่แรงงานไทยควรจะได้รับ โดยรายได้ที่คาดว่าจะได้รับคือ 85,000 บาท/เดือน หลังหักภาษี 30-33% แล้วจะมีรายได้เฉลี่ย 5-60,000 บาท/เดือน และมีสวัสดิการเทียบเท่าพลเมืองสวีเดนทุกประการยกเว้นสิทธิการเลือกตั้ง สัญญาการทำงานระยะเวลา 1ปี 6 เดือน
“จากการพูดคุยกับเทศบาลเมืองสวีเดน มีการประเมินความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุในสวีเดน กว่า 100,000 ตำแหน่ง โดยมีประเทศฟิลิปปินส์ที่มีความรู้ทางด้านภาษาเป็นคู่แข่งของประเทศไทย แต่ประเทศไทยจะได้เปรียบในเรื่องอุปนิสัยของคนไทยที่อ่อนน้อมใจเย็นในการ ดูแลเอาใจใส่ที่ดีกว่า และประเทศไทยก็ติดอันดับหนึ่งของประเทศที่ชาวสวีเดนต้องการไปอาศัยอยู่มา 7 ปีซ้อนแล้ว ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนที่ประกอบกิจการโรงเรียนสอนดูแลผู้สูงอายุให้ความสนใจ จำนวนมาก เชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์สามารถช่วยเหลือคนไทย สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าร่วมโครงการจะไม่จำกัดหรือปิดกั้นเฉพาะ ชาวกรุงเทพฯเท่านั้น” ประธานสภากทม.กล่าว
ไอแอลโอระบุไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติได้
สำนักข่าวไทย (23 ก.พ. 53) -
ผู้แทนไอแอลโอ ระบุมาตรการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติของไทยไม่สามารถทำได้ เหตุไทยมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งสุดในภูมิภาคจึงเป็นแรงดึงดูดแรงงานข้ามชาติต่อ เนื่อง ขณะที่ “ไพฑูรย์” ยืนยันจะไม่ขยายเวลาขึ้นทะเบียน-พิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว หลังหมดเวลาสิ้นเดือน ก.พ.นี้
ในงานสัมนาวิชาการ เรื่อง “วาระนโยบายแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย” ที่องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ และกระทรวงแรงงานร่วมกันจัดขึ้น โดยมีตัวแทนองค์การต่าง ๆ เข้าร่วมที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต
นายบิล ซอลเทอร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวว่า ตนเชื่อว่ามาตรการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย เช่น การขึ้นทะเบียน การพิสูจน์สัญชาติ และการผลักดันแรงงานเหล่านี้กลับสู่ประเทศต้นทางไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ และจะยังคงเป็นแหล่งดึงดูดแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรกำหนดนโยบายระยะยาวว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้เป็นนโยบายที่ครอบคลุมถึงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากร ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ที่มีเป้าหมายจะทำให้เกิดประชาคมเศรฐกิจอาเซียน ภายในปี 2558 ด้วย
ด้านนายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้ประสานงานสหประชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงภายหลังวันที่ 28 ก.พ.นี้ คือ การผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ กลับคืนสู่ประเทศต้นทาง คือการดำเนินการที่ต้องทำอย่างรอบคอบ และละเอียดอ่อน เพราะมีแรงงานจำนวนมากต้องถูกผลักดันกลับประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันว่าจะไม่ทบทวนหรือขยายเวลาในการยื่นความจำนงการขอพิสูจน์สัญชาติ ออกไป หลังวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยเชื่อว่าแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนกว่า 1 ล้านคน จะสามารถยื่นความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติทันกำหนด เนื่องจากเป็นการยื่นเอกสารเท่านั้น ส่วนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติทั้งระบบยังมีเวลาเหลืออีก 2 ปี
 
"ไพฑูรย์" ขู่นายจ้าง-แรงงานพม่า ไม่ยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ถูกจับ พร้อมผลักดันออกนอกประเทศ
ผู้จัดการ (23 ก.พ. 53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน "ไพฑูรย์" ขู่นายจ้าง-แรงงานพม่า ไม่ยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ถูกจับ พร้อมผลักดันออกนอกประเทศ เชื่อทำแรงงานเถื่อนให้ถูกกฎหมายได้ ยันกระบวนการพิสูจน์สัญชาติง่ายนิดเดียว เตรียมเจรจารัฐบาลพม่าขอตั้งศูนย์ในฝั่งไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "วาระนโยบายแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย" ว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้แรงานต่างด้าวชาวพม่ายื่นขอพิสูจน์สัญชาติ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่หลายฝายเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยนั้น เรื่องนี้ตนได้พูดคุยกับรัฐบาลพม่าแล้ว ซึ่งทางพม่าก็รับปากว่าจะไปพูดคุยในเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
เพราะในบางจังหวัดการเดินทางไปขอพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศพม่าเป็นไปอย่างยาก ลำบาก เช่น ที่บริเวณชายแดนของจังหวัดระนอง ที่แรงงานต้องเดินทางข้ามเกาะไปไกลเป็นชั่วโมง ซึ่งในพื้นที่นี้อาจเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทย ซึ่งต้องรอการยืนยันจากรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการอีกครั้ง "ผมเชื่อว่าถ้าเราทำกระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะทำ ให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินอย่างถูกต้อง ผมอยากบอกว่ากระบวนการยื่นเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ยากเย็น แค่ไปรับเอกสารมาแล้วกรอกข้อมูลลงไป ง่ายๆ เหมือนหย่อนบัตรเลือกตั้ง" นายไพฑูรย์กล่าว และว่าหากแรงงานข้ามชาติคนใดไม่ได้ทำการต่อใบอนุญาตทำงานและยื่นเรื่องขอ พิสูจน์สัญชาติไว้จะต้องถูกผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งถูกดำเนินคดีด้วย
สปส.เร่งดูมาตรา 40 คุ้มครองแรงงานนอกระบบ
คม ชัด ลึก (23 ก.พ. 53)
- นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีการประชุมชี้แจงการสร้างเครือข่ายขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ และการปรับปรุงระบบความคุ้มครองประกันสังคม ตามมาตรา 40 ที่ จ.อุตรดิตถ์ โดยสำนักงานประกันสังคมได้เร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี คือ (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพ) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 มากขึ้น
จึงได้จัดการประชุม โดยเชิญชวนอาสาสมัครแรงงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล แรงงานนอกระบบกลุ่มอาชีพต่างๆ ประชาชนทั่วไป และข้าราชการจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 400 คน เข้ามาร่วมประชุม ให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการประกันสังคมและ การขยายการคุ้มครอง ประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 และร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการประกันสังคมตาม มาตรา 40 รวมทั้งได้นำข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง และขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปบอกกล่าวต่อประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่าง ทั่วถึง
ข้อมูลที่ได้รับจากการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะภายในงานประชุมครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป เพื่อให้กลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองประกันสังคมเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด
HRW: แรงงานต่างด้าวในไทยถูกละเมิดหนัก "อภิสิทธิ์" ติงข้อมูลบางส่วน "ไม่รู้เอามาจากไหน"
ASTVผู้จัดการรายวัน (24 ก.พ. 53) -
"ฮิวแมน ไรต์ วอตช์" (HRW) องค์การเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก วันนี้(23)เผยแพร่รายงานจากข้อมูลการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวในไทย ระบุว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งถูกขู่กรรโชก, ถูกจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ, ถูกบังคับใช้แรงงาน, และยังถูกละเมิดร่างกาย โดยบางครั้งเป็นการลงมือจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียเอง และภาครัฐก็ไม่คิดจะเอาผิดด้วย HRWยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่ทางการไทยกำหนดเส้นตายวันที่ 28 ก.พ. ให้แรงงานต่างด้าวกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ มิฉะนั้นจะถูกส่งกลับประเทศทันที อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีท้วงติงว่า ไม่ทราบผู้เขียนรายงานไปเอาข้อมูลจากไหนมาเขียน
"แรงานต่างด้าวในไทยตกเป็นเป้าของการละเมิดหลายลักษณะด้วยกัน ตั้งแต่การถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม, การทรมาน ไปจนถึงการจับกุมตามอำเภอใจ และการใช้ความรุนแรงทางเพศ" นายสุนัย ผาสุก ตัวแทนของHRWในไทยระบุ ในระหว่างการนำเสนอรายงานซึ่งรวบรวมขึ้นจากการสัมภาษณ์แรงงานชาวกัมพูชา พม่า และลาว 82 คน โดยที่แรงงานกลุ่มนี้มีอยู่ในราว 1.8 ล้านคน จากจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 3 ล้านคนทั่วประเทศ "แรงงานต่างด้าวมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่แทบไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ" นายแบรด แอดัมส์ ผู้อำนวยการของHRWประจำเอเชียกล่าว และเสริมว่า "แรงงานเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากข้าราชการและตำรวจทุจริต นายจ้างไร้ศีลธรรม และพวกนักเลงอันธพาล คนเหล่านี้รู้ดีว่าพวกเขาสามารถละเมิดแรงงานต่างด้าวได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะ มีผลลัพธ์อะไร"
ปคม.จับนายหน้าตุ๋นแรงงานไปไนจีเรีย
ผู้จัดการ (
24 ก.พ. 53) - ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ จับกุม 2 นายหน้า ตระเวณหลอกชาวบ้านไปทำงานที่ไนจีเรียเชิดเงินคนละกว่าครึ่งแสน แล้วผลัดผ่อนให้เหยื่อรอเรื่อยไป จนกระทั่งเหยื่อเอะใจเข้าแจ้งตำรวจ และตามจับกุมได้ในที่สุด วันนี้ (24 ก.พ.) พ.ต.อ.สยาม บุญสม ผกก.4 บก.ปคม. พ.ต.ต.วรรษธร วาเกียรธนะ สว.กก.4 บก.ปคม. กับพวก ร่วมกันจับกุม นายดาวเรือง เกษดี, นางจันทร์จิรา เกษดี กับพวก ผู้ต้องหาร่วมกันหลอกลวงคนให้เดินทางไปทำงานในประเทศไนจีเรีย ตามหมายจับของศาลอาญา เลขที่ 316/2553 และ 317/2553 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2553 โดยจับกุมได้ที่ร้านอาหารปักษ์ใต้ ม.7 ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วันที่ 24 ก.พ.2553 พ.ต.อ.สยาม กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก นายดาวเรือง เกษดี และนางจันทร์จิรา เกษดี ได้ร่วมกับพวก หลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จกับ นายเช้า เหนียมพ่วง กับพวก คนหางานจำนวนหลายคน ว่าสามารถพาไปสมัครงาน เพื่อไปทำงานเกี่ยวกับช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ให้ทำที่ประเทศไนจีเรีย เงินเดือนประมาณ 60,000-70,000 บาท โดยมีบริษัทที่น่าเชื่อถือจัดหางานให้ ทำให้นายเช้าฯ กับพวก หลงเชื่อ สนใจจะไปทำงาน แล้วเรียกเก็บค่าดำเนินการ และค่าเครื่องบินจากนายเช้าฯ กับพวก คนละประมาณ 53,000 บาทโดยการโอนเงินและมอบเงินสดให้ พ.ต.อ.สยาม กล่าวต่อว่า หลังจากให้เงินแล้ว นายดาวเรือง กับพวก บอกให้รอ และเลื่อนการเดินทางไปเรื่อยๆ นายเช้า กับพวก ได้พยายามติดต่อและทวงถามนายดาวเรือง เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานเป็นระยะๆ แต่นายดาวเรือง บอกให้รอ กำลังไปทำวีซ่าอยู่ นายเช้า กับพวก
เครือข่ายแรงงานเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่
สำนักข่าวไทย (
25 ก.พ. 53) - รงแรมอิสติน 25 ก.พ.- เครือข่ายแรงงาน ชี้ถึงเวลาปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่ ระบุโครงสร้างเดิมมีปัญหา ไม่ตอบสนองผู้ประกันตน 9 ล้านคน เผยถูกฝ่ายการเมืองล้วงลูก ส่งนอมินีหาผลประโยชน์
ในเวที “วิพากษ์ข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่” ที่คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายองค์กรแรงงานร่วมกันจัดขึ้น น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก่อตั้งขึ้น การบริหารงานของ สปส.มีปัญหามีปัญหาตลอด โดยเฉพาะการไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตนได้ และถึงเวลาต้องมีการปฏิรูป ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูป พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ คือการเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงาน สปส.ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการและเข้าถึงผู้ประกันตนจำนวน กว่า 9 ล้านคน รวมถึงแรงงานนอกระบบที่มีอีก 24 ล้านคนได้ โดยเสนอให้มีการปรับสัดส่วนโครงสร้างของบอร์ดประกันสังคม โดยเพิ่มผู้แทนจากผู้ประกันตน จากเดิม 5 คน เป็น 10 คน เพื่อจะได้เป็นเสียงส่วนใหญ่แทนผู้ประกันตน และปรับเปลี่ยนกระบวนการสรรหาบอร์ด ให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิเลือกโดยตรง และหมดวาระทุก 2 ปี เพราะที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคม มักถูกฝ่ายการเมืองล้วงลูกส่งตัวแทนมาหาประโยชน์ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจากเดิมที่สามารถใช้ เงินได้ถึงร้อยละ 10 ของเงินกองทุน เหลือเพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น
ด้านนายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการเสนอให้ขยายสิทธิผลประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในหลายส่วน อาทิ เงินชดเชยการคลอดบุตร ที่ของเดิมเหมาจ่าย 12,000 บาท เปลี่ยนเป็นให้ สปส.จ่ายกับสถานพยาบาลตรง เงินสงเคราะห์บุตร ที่ควรขยายถึงบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือเพิ่มสิทธิการคุ้มครองผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจากเดิม 6 เดือน เพิ่มเป็น 8 เดือน หากเป็นผู้ประกันตน ไม่เกิน 10 ปี และเพิ่มเป็น 12 เดือน หากเป็นผู้ประกันเกิน 10 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของเครือข่ายแรงงานนี้ จะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ก่อนนำร่างดังกล่าวเสนอให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อนำสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สปสช.เคาะ 472 ล้านตั้งกองทุนอุ้มคนไร้สัญชาติ
คม ชัด ลึก (25 ก.พ. 53)
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)วาระ พิเศษว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชนที่ รอพิสูจน์สถานะบุคคล สำหรับจัดสรรให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดนใน 15 จังหวัด จำนวน 172 แห่ง ใช้เป็นงบประมาณในการให้บริการแก่กลุ่มบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ ซึ่งจะใช้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในการดำเนิน การเฉพาะครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2553 จำนวน 472 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 1,033 บาทต่อคนโดยพิจารณาตามโครงสร้างอายุ และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เร็วที่สุด เพื่อให้มีผลดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ส่วนในปีงบประมาณต่อไป สปสช.จะตั้งเป็นงบประมาณรายปีในการนำเงินเข้ากองทุนนี้
รมว.สธ. กล่าวอีกว่า บุคคลที่เข้าข่ายจะได้รับการคืนสิทธิการรักษาพยาบาลภายใต้กองทุนนี้จำนวน ทั้งสิ้น 457,409 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลที่ครม.รับรองให้อยู่ในประเทศไทยถาวร ประมาณ 9 หมื่นคน 2.บุคคลที่ครม.ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอพิสูจน์สถานะและมีแนวโน้มที่จะ ได้สัญชาติไทย 296,863 คน และ3.นักเรียนที่ได้รับสิทธิเรียนฟรีตามนโยบายของรัฐบาล มีการทำทะเบียนและประวัติที่ชัดเจนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับบริการด้านการรักษา 70,513 คน
“บุคคลทั้ง 3 กลุ่มเคยได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลจากภาครัฐอยู่แล้ว เช่น บัตรประกันสุขภาพ 500 บาท รวมถึง บัตรทอง แต่ถูกยกเลิกไปในปี 2547 ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการคืนสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่จะได้รับเหมือนกับสิทธิของคนไทย ทุกอย่าง ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค กับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ผลดีของการจัดตั้งกองทุนนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้บุคคลรอพิสูจน์สถานะได้รับ บริการด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยคนไทยแนวชายแดนที่จะไม่ถูกเบียดงบประมาณค่ารักษาเพื่อคนไทยมาใช้ รักษาคนกลุ่มนี้ อีกทั้ง สามารถควบคุมโรคตามแนวชายแดนไม่ให้มาสู่คนไทย เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย เอดส์ วัณโรค เท้าช้าง ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเข้าไปแก้ไข และช่วยแก้ปัญหาการเงินการคลังให้กับโรงพยาบาลชายแดน ที่ต้องจักเงินเฉพาะของโรงพยาบาลไปให้การรักษาคนกลุ่มนี้อยู่ในปัจจุบัน
นายจุรินทร์ กล่าวอีกด้วยว่า สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตามกฎหมายได้กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนและต้องมีการตรวจสุขภาพ รวมถึงทำประกันสุขภาพทุกครั้งที่ต่ออายุทะเบียนแรงงาน ครั้งละ 1,900 บาท ทำให้ต้องเข้มงวดและรณรงค์ให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนได้ ก็จะช่วยลดภาระให้แก่โรงพยาบาลในเขตชายแดนได้มาก ซึ่งได้ประสานไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว
ญาติคนทำงานโปแลนด์วอนสหภาพคนทำงาน ตปท. ช่วยเหลือหลังโดนจับ
ประชาไท (
25 ก.พ. 53) - เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 52 ที่ผ่านมาสำนักข่าวท้องถิ่นของโปแลนด์ รายงานว่าแรงงานไทย 20 คนถูกจับกุมที่ประเทศโปแลนด์ โดยคนงานไทยเหล่านี้ใช้วีซ่าทำงานผิดประเภทและถูกจับที่โรงเพาะเห็ดแห่ง หนึ่งใกล้กับเมือง Zielona Gora โดยคนงานเหล่านี้มีใบอนุญาตให้ทำงานในโปแลนด์แต่ถูกระบุไว้ว่าให้ทำงานในอีก ที่หนึ่ง
ทั้งนี้ทางการโปแลนด์กำลังเข้มงวดกับการจับกุมแรงงานข้ามชาติ ก่อนหน้านี้มีการจับกุมคนงานยูเครนและคนงานจากยุโรปตะวันออกกว่า 60 คน ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เมือง Lubin
 
จากนั้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ญาติของหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมได้ขอความช่วยเหลือสหภาพคนทำงานต่างประเทศ โดยได้ระบุว่ามีคนงานไทยทั้งหมดที่โดนจับกุม 20 คน เป็นหญิง 18 คน ชาย 2 คน โดยคนงานได้เสียค่าบริการในการจัดส่งแรงงานให้กับบริษัทเป็นเงิน 270,000 – 400,000 บาท ต่อคน ทั้งนี้ทางญาติของแรงงานได้ให้ข้อมูลว่าทุกคนจะถูกขังคุกอีก 2 สัปดาห์ และจะอยู่ที่สถานทูตอีก 2 สัปดาห์ก่อนจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยไทยได้ โดยความคืบหน้าในเบื้องต้นสถานกงสุลไทยได้เข้าไปดูแลคนงานกลุ่มนี้แล้ว
อายัดทรัพย์องค์การค้าเบี้ยวหนี้ค้างค่าคอมพ์ 27 ล้าน-พนักงานส่อชวดเงินเดือน
ASTV ผู้จัดการรายวัน (26 ก.พ. 53)
- นายวีรธัช อรุณเจริญพรชัยทนายความบริษัท นิปด้า คอมพิว-เทค จำกัด เปิดเผยว่า จากที่ บ.นิปด้าฯร่วมกับองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) จำหน่ายคอมพิวเตอร์ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ในปี2549 จำนวน 60 กว่าล้านบาทแต่องค์การค้าฯ ชำระเงินให้แก่ บ.นิปด้าฯ แค่ 40 ล้านบาท ยังค้างชำระอีก 23 ล้านบาทนั้น บ.นิปด้าฯได้ติดตามทวงหนี้ แต่ถูกบ่ายเบี่ยงตลอด ดังนั้น ในปี 2552 จึงฟ้องศาลแต่องค์การค้าฯ ก็เลื่อนนัดและระหว่างนั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาไกล่เกลี่ยมูลหนี้กับทางบริษัท ก่อนจะทำบันทึกยอมความยื่นต่อศาลมีการทำสัญญายอมความในศาลโดยมีเงื่อนไขว่าองค์การค้าฯ จะต้อง
ผ่อนชำระหนี้ 12 งวด งวดละ 2.3 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 6% หรือ3 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26.9 ล้านบาท หากผิดนัดไม่ชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดสัญญาและบริษัทมีสิทธิ์ที่จะอายัดทรัพย์สินทันที ถือว่าบริษัทประนีประนอมมากแล้ว เพราะตามกฎหมายสามารถเรียกดอกเบี้ยได้ถึง 7.5%
นายวีรธัช กล่าวต่อว่า การทำสัญญายอมความดังกล่าว มีขึ้นกลางเดือน ม.ค. 2553 โดยองค์การค้าฯ ต้องเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่ 31 ม.ค. จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2553 จนครบหนี้พร้อมดอกเบี้ย 6% แต่ปรากฏว่าองค์การค้าฯ ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดแรก ถือว่าองค์การค้าฯผิดเงื่อนไขตามสัญญา บริษัทจึงมีสิทธิ์ที่จะบังคับคดีตามที่มีการทำสัญญายอมในศาล ทั้งนี้ ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายบังคับคดีพร้อมกับสืบทราบว่า จำเลยมีทรัพย์สินที่ใดบ้างเพื่อยื่นต่อกรมบังคับคดีขอให้อายัดทรัพย์ โดยตนได้ยื่นขออายัดบัญชีธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์18.9 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย 4 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ 2 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1.5 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีจึงดำเนินการอายัดทรัพย์ทั้ง 4 บัญชีธนาคารขององค์การค้าฯดังกล่าวแล้ว เท่ากับเป็นการบังคับให้องค์การค้าฯ ต้องจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยภายในงวดเดียว จากเดิมที่ประนีประนอมให้แบ่งชำระเป็น 12 งวด
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมแล้ว และได้มีการวางแผนที่จะทยอยชำระหนี้ ทั้ง12 งวดตามสัญญา แต่ผลการประชุมมีขึ้นในเดือน ธ.ค.2552 ขณะที่เรื่องนี้ มาถึงตนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้นำเข้าสู่บอร์ดสกสค.ไม่ทัน จึงทำให้การชำระหนี้ล่าช้าออกไป แต่แทนที่ บ.นิปด้าฯจะโทร.มาเร่งรัด แต่กลับดำเนินการบังคับคดี ถือว่าผิดมารยาทการทำธุรกิจ เป็นการทำเกินกว่าเหตุทางองค์การค้าฯ ได้ส่งนิติกรไปขอคัดค้านการอายัดทรัพย์ต่อกรมบังคับคดีแล้วในวันที่ 25 ก.พ.เพราะองค์การค้าฯเป็นหน่วยงานของรัฐไม่สามารถอายัดทรัพย์ได้และยืนยันว่าองค์การค้าฯ จะชำระงวดเดือน ม.ค. 2553 ในทันที ส่วนงวดเดือน ก.พ. จะชำระภายใน 28 ก.พ.นี้ตามกำหนด และจะทยอยชำระต่อเนื่องไปเป็นงวดๆ จนครบงวดชำระที่เหลือ
ต่อมา นายวีรธัช เปิดเผยภายหลังการเจรจากับองค์การค้าฯที่กรมบังคับคดีว่า นิติกรขององค์การค้าฯ ได้ยื่นเรื่องขอคัดค้านการบังคับคดี ต่อกรมบังคับคดี อย่างไรก็ตามกรมบังคับคดีไม่รับคำคัดค้านส่วนกรณีที่องค์การค้าฯ เจรจาขอผ่อนจ่าย 2 งวดก่อนและขอให้บริษัทถอนอายัดนั้น บริษัทฯ ได้ยืนยันกลับไปว่าจะไม่ถอนการอายัด เพราะต้องการให้องค์การค้าฯจ่ายครบภายในงวดเดียว ซึ่งได้เสนอทางเลือกให้แก่องค์การค้าฯ2 ทางเลือก ดังนี้ 1. ชำระเงินงวดแรก 10 ล้าน ที่เหลือให้แบ่งชำระออกเป็น 5 งวด 2. ชำระเงินงวดแรก 5 ล้านและที่เหลือให้แบ่งชำระออกเป็น 3 งวด ซึ่งองค์การค้าฯจะให้คำตอบแก่บริษัทในวันที่ 26 ก.พ.นี้
"หน่วยงานที่จะไม่อยู่ในข่ายถูกบังคับคดี ก็ต่อเมื่อเงินรายได้ดังกล่าว มาจากงบประมาณแผ่นดินแต่กรณีขององค์กรค้าฯ เป็นเงินรายได้จากการทำธุรกิจขององค์การค้าฯ เอง จึงสามารถถูกอายัดได้"ทนายความ บ.นิปด้าฯ กล่าว
นายอนันต์ นุชเทศ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้า คุรุสภากล่าวว่า สหภาพฯกำลังประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรหากองค์การค้าฯถูกอายัดทรัพย์ เพราะหากถูกอายัดจริงพนักงานจำนวน 1,878 คนจะไม่ได้เงินเดือนในเดือนนี้ ซึ่งจะต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานประมาณ 35 ล้านบาท
"ไทรอัมพ์" ยุติการชุมนุม 8 เดือน
ข่าวสด (
28 ก.พ. 53) - วันที่ 27 ก.พ. ที่บริเวณชั้นล่างของกระทรวงแรงงาน กลุ่มอดีตสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ประกาศยุติการปักหลักชุมนุมบริเวณใต้ถุนกระทรวงที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.52 ลง หลังจากกระทรวงเตรียมใช้สถานที่ดังกล่าวจัดงานวันสตรีสากล และตกลงมอบจักรเย็บผ้าให้กับคนงานจำนวน 250 ตัว ตามรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงที่กระทรวงทำไว้กับแกนนำในวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยบรรยากาศในงานมีการร้องเพลงปลุกใจ การแสดงละครเวทีเสียดสีสังคม โดยกลุ่มแกนนำ และการ "เสวนา 8 เดือนการต่อสู้สู่ก้าวต่อไปของคนงานหญิงไทรอัมพ์ฯ และขบวนการแรงงาน"
ด้านน.ส.ธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์ อดีตรองประธานสหภาพ กล่าวถึงทิศทางที่จะดำเนินต่อไปว่า เบื้องต้นจะนำสิ่งของที่เป็นของสหภาพฯ ไปเก็บไว้ที่สหภาพแรงงาน สี่แยกเทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ ก่อนเตรียมผลิตชุดชั้นใน "ไทรอาม" ขายแข่ง เชื่อเป็นสินค้าของคนไทยราคาคนไทย ต้องได้รับการตอบรับที่ดีแน่ ส่วนในช่วงงานเสวนา 8 เดือน การต่อสู้ที่บริเวณ ชั้นล่างของกระทรวงแรงงาน มีเครือข่ายองค์กรแรงงาน นักวิชาการ ตลอดจนนักศึกษา ร่วมปราศรัย โดยชี้ตรงกันว่า เป็นตัวอย่างของการรวมตัวที่เข้มแข็ง
"แม้การชุมนุมที่กระทรวงจะยุติลงภายในวันนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของคนงานจะยุติลง โดยคนงานบางส่วนยังคงรวมตัวกันเรียกร้องการถูกกดขี่ข่มเหง โดยใช้ที่ทำการสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวและผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ "ไทรอาม" ขาย นอกจากนี้ ยังเคลื่อนไหวประสานกับเครือข่ายแรงงานในต่างประเทศ เพื่อประณามการกระทำของบริษัทซึ่งล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจของประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังพิจารณาคำร้องของคนงาน ที่ฟ้องร้องว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลของโออีซีดี" อดีตประธานกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net