Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากการจัดทำรายงาน 301 พิเศษประจำปี 2010 ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เพิ่มขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาขึ้นบัญชีดำประเทศคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากเดิมที่รับฟังเฉพาะภาคธุรกิจในสหรัฐฯเท่านั้น ทำให้มีภาคประชาสังคมทั่วโลก มากกว่า 250 เครือข่ายรวมทั้งไทยได้ทำหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การจัดทำรายงานตามมาตรา 301 พิเศษ

 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ทำหนังสือในนามภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานติดตามเรื่องการเข้าถึงยา12 องค์กร ตำหนิการทำหน้าที่ของผู้แทนการค้าสหรัฐฯที่ใช้การจัดทำรายงานฯเป็นตัวกดดันให้ประเทศต่างๆแก้ไขกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์ผนวก) ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโครงการเอชไอวีและเอดส์และการเข้าถึงยาจำเป็นอื่นๆ ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนไม่ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และยังไม่เคารพต่อการทำตามกฎหมายระหว่างประเทศและของไทยในกรณีการประกาศบังคับใช้สิทธิ
 
“นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ เริ่มที่จะเปลี่ยนท่าทีหันมารับฟังความคิดเห็นจากภาคสาธารณะ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ความกังวลคงจะมีอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ไม่ได้นำเอาข้อคิดเห็นที่ได้ไปพิจารณาอย่างจริงจังและยังคงปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทยาข้ามชาติในสหรัฐฯ จนเกินขอบเขตอยู่ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นด้านสาธารณสุขของผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาและไม่เคารพต่อความตกลงทริปส์และปฏิญญาโดฮา ถ้าเช่นนั้นแล้ว ข้อคิดเห็นและการประชาพิจารณ์ดังกล่าวก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่าและจะไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ
 
นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ภายใต้คณะบริหารประเทศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา หยุดกดดันประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยอาศัยรายงานมาตรา 301 พิเศษและมาตรการลงโทษทางการค้าอื่นๆ เป็นเครื่องมือ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นแก้ไขนโยบายต่างๆ ในประเทศให้เกินกว่าพันธะผูกมัดภายใต้ความตกลงทริปส์ การเจรจาการค้าใดๆ ไม่ว่าในระดับทวิภาคหรือภูมิภาค ควรมีความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอน ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ควรเปิดเผยแผนปฏิบัติการที่เป็นผลจากรายงานมาตรา 301 พิเศษที่ได้ตกลงร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ของไทยแก่สาธารณะ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ควรแสดงความจริงใจที่จะสร้างความสมดุลย์ระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเรียกร้องอย่างจริงจังให้อุตสาหกรรมยาในสหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโยลีแก่ประเทศกำลังพัฒนาในลักษณะที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
 
ก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมไทยได้ทำหนังสือถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เปิดเผยหนังสือและแผนปฏิบัติการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปตกลงกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
 
นอกเหนือจากภาคประชาสังคมไทยแล้ว ยังมีภาคประชาสังคมจำนวนมากที่เสนอความเห็นต่อผู้แทนการค้าสหรัฐฯมากกว่า 250 ความเห็น นับว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพราะในปี 2007 ผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้รับความเห็น 26 ความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่นเดียวกับปี 2008 ได้รับความเห็นเพียง 23 ความเห็นเพื่อจัดทำรายงานตามมาตรา 301 พิเศษปี 2009
 
สำหรับความเห็นจากภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเข้าถึงยาที่น่าสนใจ อาทิ ภาคประชาสังคมในสหรัฐ, บราซิล, อินเดีย, องค์การหมอไร้พรมแดน, อ็อกแฟม, องค์กรนิเวศวิทยาความรู้ (KEI), สถาบันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายด้านการค้าและสาธารณสุข (CPATH)
 
สำหรับรายงานตามมาตรา 301 พิเศษนั้น สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯจะเผยแพร่ ในวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษมาตั้งแต่ปี 2007 ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า รัฐบาลอิสราเอลยอมตามแรงกดดันของผู้แทนการค้าสหรัฐด้วยการกำหนดให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) เป็นเวลา 6.5 ปี แม้จะมากไปกว่าความตกลงทริปส์ของ WTO ก็ตาม เพื่อที่จะได้ถูกจัดอันดับประเทศให้ดีขึ้น จากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ถูกจับตา (PL)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net