Skip to main content
sharethis

“ค่อนข้างจะเป็นกังวลแทน เพราะพื้นที่ที่ชาวบ้านปางแดงอยู่กันตอนนี้ เป็นพื้นที่สวยมาก เป็นเนินโล่งเป็นไร่ ๆ มีภูเขาล้อมรอบซึ่งตรงกับความต้องการของทุนต่าง ๆ ที่อยากจะซื้อครอบครองไว้ทำรีสอร์ท ทำสวนป่า ทำอะไรทั้งหลาย ถ้าหากชาวบ้านไม่เข้มแข็ง ต่อไปในอนาคต ก็อาจตกเป็นเหยื่อของทุนเหล่านี้ได้”  

  

 
 

 
 

เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน คงจะรู้จักและคุ้ยเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งทำให้สังคมมองว่า เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ น่าศึกษาวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้

 

กับกรณีปัญหาปางแดงที่ผ่านมา นอกจากจะมีองค์กรหน่วยงานที่ได้ร่วมกับชาวบ้านปางแดงเพื่อเรียกร้องต่อสู้ ผ่านกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็ยังมีองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมอีกองค์กรหนึ่ง นั่นคือ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ซึ่งนอกจากจะเป็นสื่อสำหรับประชาชนที่นำเสนอข่าวสาร ความรู้และประเด็นปัญหาทางสังคม ผ่านกิจกรรมสาระ ความบันเทิงในรูปแบบที่เหมาะสมและง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชน โดยใช้สื่อทางวัฒนธรรม เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความรู้อย่างไม่มีพรมแดนระหว่างชุมชนกับชุมชนเพื่อสังคมส่วนรวม

นอกจากนั้น มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมระดมทุนในการจัดซื้อที่ดินผืนใหม่ สำหรับสร้างบ้านใหม่ปางแดงจนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา

นางสาวปองจิต สรรพคุณ ตัวแทนมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ว่าได้เข้าไปเชื่อมโยงกับทางชุมชนบ้านปางแดงได้อย่างไร ว่า ชุมชนบ้านปางแดง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มะขามป้อมย้ายมาอยู่ที่เชียงดาว หลังจากเมื่อก่อนมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอมาเจอสถานการณ์ชาวบ้านโดนจับเมื่อประมาณปี พ.ศ.2541 แล้วมีการจัดเวทีกันที่บ้านปางแดงนอก เราก็ได้มาร่วมกับสื่อมวลชนต่าง ๆ

“หลังจากนั้น เรามีความรู้สึกอยากจะย้ายมาอยู่ที่เชียงดาว อยากจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่าที่เชียงดาว เพราะว่ามะขามป้อมเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสาร ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านชุมชนให้มีสื่อของตัวเองที่จะสามารถและเป็นเครื่องมือในการพูดคุย เพราะเชื่อว่าคนในชุมชนที่เจอกันมาก ยิ่งคุยกันมากปัญหาน่าจะแก้ไขได้ และปัญหามันน่าจะน้อยลง นอกจากมีสื่อที่เราคุยกันในชุมชนกันแล้ว ชาวบ้านก็น่ามีสื่อเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการที่จะไปสื่อสารกับสังคม สื่อสารกับสาธารณะ ถึงปัญหาด้วยหูด้วยตาของตัวเอง”

นางสาวปองจิต บอกว่า มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ได้ช่วยระดมทุนจัดซื้อที่ดิน ในขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ให้ทุนสำหรับสร้างบ้านใหม่ให้ชาวบ้าน

“ตอนที่เกิดปัญหาขึ้น มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม)ได้พูดคุยและชักชวนหลาย ๆ ฝ่าย หลายๆ ส่วน ว่าเราต้องหาเงินหรือที่ดินกัน เพราะ พอช.ให้เป็นเรื่องของการสร้างบ้าน เรื่องที่ดินเราต้องหาเงินมาซื้อกันเอง ก็เป็นการช่วยค่าที่ดินของชาวบ้าน ก็ได้ชวนเด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชน ไปสื่อสารให้คนกรุงเทพฯหรือที่อื่นได้ฟัง ได้รับรู้ เราก็ทำละครและไปเล่นที่กรุงเทพฯกัน ซึ่งการทำละครเป็นครั้งแรกก็ประสบผลสำเร็จมาก และเราก็เชื่อว่ามีคนอีกมากมายในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือ และพร้อมที่จะบริจาค แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้รับรู้จริง ๆ พอเราเอาตัวเป็น ๆ ไปให้ดูกัน คุยกันต่อหน้า ชวนกันมานั่งคุย เอาการแสดงให้ชม แล้วก็มีเงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาเพื่อเป็นค่าที่ดิน”

นางสาวปองจิต บอกย้ำอีกว่า การนำเด็กเยาวชนและชาวบ้านปางแดงไปแสดงในเมืองใหญ่นั้น ไม่ใช่ไปเพื่อเรียกร้องความสงสาร แต่ไปเพื่อเผยตัวตนและแสดงศักดิ์ศรีของความเป็นเป็นคน

“ในการไปครั้งนั้น เราไม่ได้ไปในฐานะว่าช่วยหน่อย ช่วยมาสงเคราะห์ชนเผ่าหน่อย น่าสงสารเหลือเกิน ยากจนเหลือเกิน ถูกกระทำเหลือเกิน ไม่ใช่ลักษณะอย่างนั้น แต่เราไปครั้งนั้น เราไปอย่างมีศักดิ์ศรีของชนเผ่าดาระอั้ง เอาเรื่องราวไปสื่อสารว่าเขาก็เป็นคน เขาสืบเชื้อสายมาจากอะไร วิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่ผ่านมามันเกิดความไม่ยุติธรรมอะไรกับเขาบ้าง กับการที่เราไปสื่อกับคนกรุงเทพฯในครั้งนั้น เป็นการสื่อสารที่ให้เห็นว่า ยังมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับชนเผ่า ดังนั้น ถ้าคุณเห็นว่าไม่ยุติธรรมแล้ว คุณคิดว่าน่าจะมีส่วนช่วยเหลืออะไรบ้าง อันนั้นถึงมีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาเกือบแปดแสนบาท ที่นำมาใช้ในการจัดซื้อที่ดินกัน” 

กับคำถามว่า อะไรคือความสำเร็จ กับกรณีการแก้ไขปัญหาของปางแดง นางสาวปองจิตบอกว่า คือการมองเห็นปัญหาหลายอย่างนั้นคลี่คลายลง

“จากตัวฉันเองที่คิดว่าสิ่งที่เป็นความสำเร็จก็คือ การมองเห็นความทุกข์ของชาวบ้านที่เกิดจากการโดนจับ การอยู่อย่างหวาดระแวง การอยู่อย่างไม่มั่นคงต่าง ๆ มันคลี่คลายลง ลดน้อยลง แม้ว่าจะไม่มีหลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่โดนอีก แต่อย่างน้อยก็ยังมีหลักประกันอะไรที่จับต้องได้ อย่างเช่น ที่ทางป่าไม้เข้ามาช่วยให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น มีหน่วยงานในท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือให้การช่วยเหลือต่าง ๆ มากขึ้น” 

นางสาวปองจิต มองความสำเร็จอีกด้านหนึ่ง ก็คือ เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม เรื่องของความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วม และก็ส่วนขององค์กรเสริมต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นส่วนของสื่อมวลชน เกิดความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันของหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยตรงนี้ส่วนของนักวิชาการเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ลุล่วงไปด้วยดี 

ในอีกด้านหนึ่ง นางสาวปองจิตมองว่า ปัญหาทำให้ชาวบ้านเข็มแข็งและรู้ถึงสิทธิของตัวเอง

“ตัวชาวบ้านเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาสองสามปีที่เราทำกระบวนการกันมา เราเชื่อว่าชาวบ้านรู้ถึงสิทธิของตัวเองและก็ขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ต่าง ๆ”

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังวิตกกังวลกันอยู่ว่า ในอนาคตทิศทางของชาวบ้านและชุมชนปางแดงจะก้าวไปในทางไหน ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่กำลังรุกคืบเข้ามารอบๆ ชุมชน                                            

เหมือนกับที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พูดปัญหา2 เรื่องหลักๆ เอาไว้ว่า ชาวบ้าน คนยากคนจนที่อยู่ในชุมชนจะต้องเจอ นั่นคือ ‘อำนาจรัฐ’ ที่เราต่อสู้ในขณะนี้ กับเรื่องของ ‘ระบบทุน’ ที่เริ่มบุกทะลวงเข้ามามากขึ้น 

“ฟังแล้วค่อนข้างจะเป็นกังวลแทน เพราะว่าพื้นที่แถบนี้ ที่ชาวบ้านปางแดงอยู่กันตอนนี้ เป็นพื้นที่สวยมาก เป็นเนิน โล่งเป็นไร่ ๆ มีภูเขาล้อมรอบซึ่งตรงกับความต้องการของทุนต่าง ๆ ที่อยากจะซื้อครอบครองไว้ทำรีสอร์ท ทำสวนป่า อะไรทั้งหลาย ซึ่งอันนี้เป็นข้อเตือนใจและข้อพึงระวังของชาวบ้าน ถ้าหากว่าเราจัดการชุมชนได้ไม่เข้มแข็ง ต่อไปในอนาคต ก็อาจตกเป็นเหยื่อของทุนเหล่านี้ได้”  นางสาวปองจิต เอ่ยด้วยน้ำเสียงกังวล

เช่นเดียวกับ นางคำ นายนวล ตัวแทนชาวบ้านดาระอั้งชุมชนบ้านปางแดง ที่บอกว่า ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านต้องเจอกับปัญหา ต้องมีชีวิตอยู่อย่างหวาดผวา แต่ทุกวันนี้มีวิถีสงบสุขมากขึ้น แต่ก็ต้องหาทางทำให้ชุมชนของตนเข้มแข็งให้ได้

“ที่ผ่านมา เคยมีคนมาลากไม้ตอนกลางคืน ตัดไม้ บุกรุกที่ข้างๆของหมู่บ้าน ทำให้หวั่นๆ นอนไม่หลับ แต่ว่าปัจจุบันเมื่อมาอยู่บ้านใหม่ รู้สึกนอนหลับสนิท และรู้สึกว่าชาวบ้านเข้มแข็งมากขึ้น เพราะว่าที่ผ่านมาชาวบ้านเคยได้รับแต่ความเจ็บปวด และพวกเราเคยนั่งพูดคุยกันว่า เราจะอยู่อย่างจะมีความเจ็บปวดอีกหรือ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากให้หมู่บ้านเราเจริญ ให้เข้มแข็ง เราต้องมีกฎกติกา ต้องมีการรับฟังซึ่งกันและกัน” ตัวแทนชาวบ้านปางแดง บอกย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net