‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ บทเรียนกระจายอำนาจ–อนาคตนครปัตตานี

‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ นักวิชาการด้านสันติวิธี สรุปเวทีท้องถิ่นเรื่อง “ท้องถิ่นร่วมคิดเพื่อคุณภาพชีวิตพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้” ชี้บทเรียนและประสบการณ์จากนโยบายการกระจายอำนาจ กับความท้าทายในเรื่องการผลักดันเรื่องนครปัตตานี

ประเด็นเรื่องนครปัตตานี ซึ่งเป็นการพูดถึงรูปแบบการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นถูกกล่าวถึงเป็นระยะ โดยกลุ่มการเมืองทั้งภาคประชาชน องค์กรทางการเมืองและภาควิชาการ เพื่อเป็นการปลุกกระแสสาธารณะในอันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในระดับนโยบาย
 
อย่างล่าสุดมีการจัดเวทีท้องถิ่นประจำปี 2553 ครั้งที่ 1เรื่อง “ท้องถิ่นร่วมคิดเพื่อคุณภาพชีวิตพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่นสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา โดยมีการพูดถึงเรื่องการผลักดันการกำหนดรูปแบบปกครองชายแดนใต้ โดยอาศัยช่องทางในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญไทยอยู่ด้วย
 
เวทีสัมมนาซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสะท้อนข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อเป็นเวทีเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
บวกกับมีการนำเสนอถึงปัญหาและอุปสรรคจากนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐตลอดช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพอจะเป็นบทเรียนได้ในระดับหนึ่ง ถึงการผลักดันในเรื่องนครปัตตานีได้บ้าง ซึ่งในเวทีมีการนำเสนอแนวคิดและที่มาของการจัดงานสัมมนา โดยรศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและนายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
 
รวมทั้งการสะท้อนมุมมองจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่มีอยู่ทุกระดับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี เทศบาล โดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) โดยนายสมาน แตบาตู นายก อบต.เชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 100 คน ดำเนินรายการ โดยนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี/อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)
 
ต่อไปนี้เป็นการสรุปเวทีดังกล่าวโดยนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งคือ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ตำแหน่งนายก อบต.ปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บวกกับประสบการณ์ 4 แห่งการทำงานเพื่อท้องถิ่นชายแดนใต้ ดังนี้
 

 

อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

 
ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือ เรื่องบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในพื้นที่ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) รวมทั้งในเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายงาน บุคคล และงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพและความเป็นจริง ทำให้กลายเป็นการผลักภาระในกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
 
ซึ่งในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกส่วนในพื้นที่ยังติดขัดในเรื่องกฎระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น
 
อย่างกรณีอดีตปลัด อบต.เขาตูม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบติดกับเขตเทศบาลนครยะลา โดยเทศบาลนครยะลาสามารถสร้างเสาไฟฟ้าต้นหนึ่งราคา 4 -5 แสนบาท แต่ อบต.เขาตูมเองจะหางบประมาณแสนหนึ่งมาสร้างเสาไฟฟ้าก็ยังทำไม่ได้ ซึ่งเกิดความเหลื่อมล้ำในแง่ของการกระจายอำนาจ
 
ที่ส่วนในที่ประชุม พยายามหาทางที่จะปลดล็อคในเรื่องกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอยู่ แต่ถ้าต้องออกกฎหมายใหม่คงต้องใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ส่วนตัวเห็นว่า ยังไม่มีนักกฎหมายที่เข้ามาช่วยหาทางออกให้มากกว่า เพียงแต่ในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา อาจอยู่ในรูปของคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเป็นคำสั่งของรัฐมนตรี
 
ที่ประชุมแสดงความเห็นว่า ความไม่เท่าเทียมในการกระจายอำนาจและการกระจายงบประมาณค่อนข้างจะชัดเจน เพราะพื้นที่ที่อบต.ต้องดูแลรับผิดชอบมีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ป่าและหมู่บ้าน ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์อะไร ต่างกับเทศบาลซึ่งมีพื้นที่น้อย แต่มีธุรกิจการค้าเยอะ ทำให้สามารถจับเก็บรายได้ได้เยอะ ในขณะที่เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่เท่าเทียมกันด้วย
 
ความไม่ชัดเจนในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องการมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล แต่เวลาทำแผนงานขึ้นมา เช่น อบต.ก็ต้องให้นายอำเภออนุมัติแผนงานดังกล่าว หรือถ้าเทศบาลตำบลก็เป็นนายอำเภออนุมัติ ถ้าเทศบาลนครก็ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด
 
ขณะที่ตอนนี้เงินอุดหนุนทั่วไปก็ถูกลด 52% จากเดิม แต่รัฐบาลมีนโยบายเฉพาะที่ผลักภาระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นโยบายเรียนฟรี โครงการเงินช่วยเหลือคนชราและคนพิการ รวมทั้งโครงการเชิงรุกทั้งหลายแหล่ เช่น ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยในพื้นที่หรือกิจกรรมของอำเภอหรือของจังหวัด ที่อบต.และเทศบาลต้องมีส่วนร่วมและต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย โดยบังคับให้ อบต.เทศบาลต้องจ่ายเงินสนับสนุนด้วย
 
ส่วนเรื่องการถ่ายโอนหน่วยงานต่างๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย ซึ่งก็เป็นเพียงแค่การถ่ายโอนบุคคล แต่เงินไม่ถ่ายโอนเงินงบประมาณมาด้วย จึงเกิดความไม่มั่นใจระหว่างข้าราชการที่ถูกถ่ายโอนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า เช่น อบต.จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ไม่ค่อยอยากจะบอกกับประชาชน เพราะถ้าบอกแล้วจะเสียคะแนนด้วยหรือไม่ก็ไม่รู้
 
ในที่ประชุมมีการนำเสนอว่า เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อมอบหมายภารกิจแล้ว ก็ต้องมอบอำนาจด้วย ซึ่งก็ต้องมาคุยกัน เช่น หน่วยงานด้านการเกษตรมาในหมู่บ้านทำเวทีประชาคมเสร็จก็ให้พันธ์ปลาแก่ชาวบ้าน วันรุ่งขึ้นหน่วยงานด้านการประมงมาทำเวทีประชาคมก็ให้พันธ์ปลาด้วย วันต่อมา อบต.จะทำเวทีประชาคมบ้าง แต่ไม่ให้อะไรเลย ชาวบ้านก็เลยไม่มา เป็นเพราะอะไร
 
ขณะที่หน่วยงานที่เข้ามาทำเวทีประชาคม เข้ามาเพราะนี้เป็นแผนงานมาจากข้างบน ชาวบ้านจะชอบใจไม่ชอบใจอีกเรื่องหนึ่ง
 
การบริหารงานบุคคลใน อบต.เอง ก็มีปัญหา นายก อบต.คนหนึ่งมาจากจังหวัดนราธิวาส บอกว่า คนที่เป็นนายก อบต.จริงๆ ในจังหวัดนราธิวาส มีไม่ถึง 10% นายกฯจริงๆ คือ นายกฯที่มีอำนาจจริงๆ
 
ที่บอกว่าไม่ใช่นายกฯ จริงคงเป็นเรื่องของการขาดการศึกษา เรื่องอำนาจบารมี อิทธิพลมืดด้วย ก็เลยทำให้เกิดความไม่มีเอกภาพของพื้นที่ ไม่มีการบูรณาการของพื้นที่ ที่จะทำให้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น
 
ในบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของจังหวัดเข้ามาจุ้นมากเลย เข้ามาวุ่นวายมาก ทำให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหา จึงมีข้อเสนอว่าน่าจะลดอำนาจของข้าราชการลง ความจริงคือลดอำนาจทั้งประเทศ เพื่อที่จะให้การปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจมากขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องการบริหารจัดการกันเอง ข้าราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องมาศึกษาว่า มีระเบียบอะไรบ้างที่สามารถปลดล็อคทำให้มีการกระจายอำนาจได้เต็มที่
 
นโยบายการกระจายอำนาจ เริ่มตั้งแต่มีการจัดตั้ง อบต.มา เป็นเวลา 15 ปี แล้ว ยังไม่เคยมีการศึกษากันจริงๆ ถึงเรื่องการกระจายอำนาจว่าเป็นอย่างไร แต่มีการพูดกันว่า รัฐบาลกลางเข้าใจตัวเองว่าได้กระจายอำนาจแล้ว แต่ที่จริงก็ยังรักษาอำนาจไว้อยู่ที่ส่วนกลาง
 
มีการยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 41 จังหวัด และมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ซึ่งเดิมเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว มีจำนวนกว่า 30,000 กว่าเทศบาล แต่ปัจจุบันเหลือ 2,000 กว่าเทศบาล โดยมีการยุบรวม แต่ประเทศไทยเทศบาลกับ อบต.อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่ยอมที่จะให้มีการยุบรวมกัน เพราะต่างคนก็มีฐานเสียงของตัวเอง นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น
 
ในเวทีจึงมีการวิเคราะห์กันว่า นโยบายการกระจายอำนาจมันต้องชัดเจนจากเบื้องบนแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้พื้นที่ทะเลาะกันเอง ส่วนกลางเองก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรมากมาย นอกจากการเพิ่มภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นด้วย
 
ขณะที่นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย พยายามจะบอกว่ารูปแบบปัจจุบันดีที่สุดอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้มันเต็มที่มากขึ้น การที่มีนายก อบต. นายกเทศมนตรี ดีอยู่แล้ว แต่นายก อบจ. ก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง เพราะฉะนั้นต้องปรับใหม่
 
ที่ประชุมจึงมีการพูดถึง 3 รูปแบบ (รูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้ คือ ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเสนอโดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี สามนครภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยนายอุดม ปัตนวงษ์ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร หรือปัตตานีมหานคร โดยนายอัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่ไม่ใช่เรื่องอบต. หรือเทศบาล แต่เป็นเรื่องนครหรือมหานคร ซึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร
 
ที่มีการพูดถึงเนื่องจากผมถามว่า แล้วรูปแบบไหนที่เราสามารถมองนอกกรอบได้ เพราะเรามองในกรอบอย่างเดียวว่า อบต.รูปแบบนี้มันติดขัดตรงไหน เทศบาลติดขัดตรงไหน อบจ.ติดตรงไหน
 
นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาลไทย พยายามบอกว่า ให้มองนอกกรอบไว้ว่า จะสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อบ้านเก่า ซ่อมใหม่ หรือทาสีใหม่ ถ้าจะสร้างบ้านใหม่ก็ให้โละทิ้งของเก่าไปเลย วางรากฐาน ตอกเสาเข็มใหม่ ถึงจะพูดคุยกันได้ ไม่อย่างนั้นก็ทะเลาะกันอยู่อย่างที่ผ่านมา โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 
โดยสรุปของเวที คือ การกระจายอำนาจในรูปแบบที่ไม่ใช่เป็นปัจจุบันกับรูปแบบเดิม ถามว่าจะตอบโจทย์ของเวทีได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ นอกจากเราต้องไปคุยกันใหม่
 
ทางออกอย่างหนึ่งก็คือการเดินหน้าของเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร ในการหารูปแบบใหม่สำหรับการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะไปหวังพึ่งกับ อบต. ก็ไม่ได้ เพราะแม้แต่ในเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ก็มีนายก อบต.มาไม่กี่คน มีแต่ปลัด อบต.กับตัวแทน
 
นายก อบต.เชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส บอกว่า นายก อบต.มีผู้กำกับมาคอยดูแล ผมถามว่า คือใคร ตำรวจใช่ไหม เขาบอกว่า คือนายอำเภอ เพราะข้อบัญญัติของ อบต.ต้องผ่านความเห็นชอบของนายอำเภอ
สมมุติว่ามีการทำเวทีประชาคม โดยมี 5 กิจกรรมที่ชาวบ้านเห็นชอบ แต่เมื่อนำเสนอไปที่นายอำเภอเพื่อขออนุมัติจัดทำเป็นข้อบัญญัติของ อบต. นายอำเภอต้องลงนามเห็นชอบหรืออนุมัติ แต่บังเอิญการนำเสนอต้องเสนอผ่าท้องถิ่นอำเภอ ซึ่งไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน แต่พัฒนาตัวเองมาเป็นท้องถิ่นอำเภอ จึงไม่รู้ว่ากิจกรรมการของชาวบ้านอันนี้คืออะไร หรือมันสมควรตัดออก โดยไม่รู้ว่าชาวบ้านคิดอย่างไร จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นมา
 
ในที่ประชุมมีการให้ข้อมูลว่า เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จึงผลิตบุคลากรไม่ทัน จึงมีการเปิดรับข้าราชการอาสาสมัครมาเป็นท้องถิ่นอำเภอ ทำให้บางแห่งมีเจ้าหน้าที่การเงินซึ่งมีความชำนาญเรื่องการเงินมาเป็นท้องถิ่นอำเภอ โดยไม่ได้เรียนจบทางด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่เคยมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง
 
สำหรับประสบการณ์ 4 ปีที่ผมเป็นนายก อบต.ปุยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พบว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้อนุมัติเงินอุดหนุนให้กับ อบต. แต่แล้วดึงเงินนั้นกลับไป
 
ยกตัวอย่างเช่น มีแผนงานการอบรม เช่น หลังการเลือกตั้ง เมื่อได้นายกอบต.มาแล้ว ก็ให้นายกอบต.เข้าอบรม 10 – 20 วัน โดยใช้เงินค่าลงทะเบียนประมาณ 30,000 บาท ซึ่งก็เป็นเงินของ อบต.
 
นายก อบต.หลายคนก็เข้าไปอบรม แต่ผมไปแค่ครั้งเดียว ตลอดช่วงการบริหารงาน 4 ปี โดยมีการจัดอบรมทุกปี ไปต่างประเทศก็มี โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นตัวโบรกเกอร์ (นายหน้า) อย่างครั้งล่าสุด ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดโครงการปิดทองหลังพระ ถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หรือบางทีประชุม 4 เสาหลักในอำเภอ โดยที่ประชุม 4 เสาหลักเสนอว่า ต้องให้อบต.ทุกแห่งสนับสนุนงบประมาณการเดินทางไปดูงาน อบต.ละ 80,000 บาท ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ แต่เรา อบต.ต้องจ่ายเงิน
 
แต่เมื่อนายก อบต. สมาชิก อบต. จะขอเงินค่าเสี่ยงภัยบ้าง เพราะข้าราชการได้ ปลัด อบต.ก็ได้ แต่ผู้ว่าราชการก็ไม่อนุมัติ ไม่รู้มันยากอะไร ดูแล้วไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่มีความเสี่ยงก็พอๆ กัน เพราะอบต.ก็ทำงานด้วยกันกับข้าราชการ ผู้ว่าชกาจังหวัดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร แต่มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้
 
เดือนแรกตอนที่ผมเป็นนายก อบต. ไม่ทันได้บริหารงานก็ต้องเซ็นเช็คแล้ว 300,000 กว่าบาท เป็นค่าเสี่ยงภัยตกเบิกให้กับนายก อบต.คนที่แล้ว กับของสมาชิก อบต.และข้าราชการ นี่คือการบังคับให้ผมเซ็น แต่พอรัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลับขึ้นไปเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์
 
มันจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร ถ้าเราไม่คิดนอกกรอบเลย ปัญหาก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป แต่เนื่องจากบ้านเรา คนที่มาเป็นนายกอบต.ไม่น้อยกว่า 80% มีฐานมาจากการเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีบารมี มีอิทธิพลมาก่อน แล้วก็ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพื้นฐานเรื่องการศึกษา เป็นการต่ออายุของอำนาจเท่านั้นเอง
 
จึงไม่แปลกที่ นายก อบต.นราธิวาสคนหนึ่งบอกว่า คนที่เป็นนายก อบต.จริงๆ มีไม่ถึง 10% คือ จาก 70 อบต. ก็คือ 7 อบต.เท่านั้นเอง ที่เหลือก็ให้ปลัด อบต.เป็นผู้บริหาร เพราะปลัดต้องจบปริญญาตรี นี่คือความล้มเหลว
 
ผมคนเดียวที่เป็นนายก อบต.แล้วเสนอให้ยุบ อบต. เวลาให้สัมภาษณ์ตนเองก็ไม่ได้บอกว่า เป็นนายก อบต. แต่เป็นนักวิชาการมาตลอด เพราะเราคิดอย่างนั้น แต่ที่เราต้องลงสมัครเป็นนายก อบต. เพราะเราต้องทำงานอะไรบางอย่างให้กับหมู่บ้าน และไม่ได้คิดจะอยู่ต่อตั้งแต่ต้นแล้ว
 
สำหรับสถาบันพระปกเกล้าที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเวทีครั้งนี้ เป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้รัฐสภา เพราะฉะนั้นแนวคิดต่างๆ สามารถสรุปและนำเสนอเข้าสภาได้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เสนอเป็นวาระ หรือร่างพระราชบัญญัติ หรือแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาได้
 
แต่บังเอิญรัฐสภาเรา ไม่ค่อยลงลึกในเรื่องการกระจายอำนาจมากนัก มัวแต่จะกระจายความรู้สึกว่า ส.ส.สามารถที่จะวางพื้นฐานคะแนนของตัวเองได้ ไม่ใช่บริหารกลไกทั้งระบบเพื่อจะแก้ปัญหา
 
ทุกฝ่ายจึงพยายามปลดล็อคที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ แต่เป็นการปลดล็อคในรูปแบบที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่รูปแบบนอกกรอบ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงต้องไม่ใช่ระบบหรือรูปแบบเก่า มันต้องเป็นระบบใหม่ เพื่อที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแก้ปัญหาในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เป็นอยู่
 
การจะแก้ปัญหาได้อย่างไรนั้น มันต้องคิดอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนรูปแบบเดิมก็ได้ แต่ต้องคิดในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่คิดอยู่ในกรอบเดิมนี้
 
เพราะถ้าเป็นรูปแบบที่ชัดเจนแล้ว ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเดียว แต่สามารถจะแก้ปัญหาทั้งประเทศได้ด้วย เพราะปัญหาการปกครองและการกระจายอำนาจในตอนนี้ มันยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
 
แต่การจะก้าวข้ามกรอบเดิมได้นั้น ถ้าให้ความหวังที่จะพึ่งรัฐไทยนั้น ริบหรี่ ดังนั้นจึงต้องสร้างการเมืองภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม สร้างเวทีให้ประชาชนมีพื้นที่ของการแสดงออกให้มาก เพื่อขจัดปัญหาทางการเมืองและการปกครองบ้านเรา เพราะปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเมือง เกิดจากการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยที่เต็มที่
 
วันนี้ เราเพียงแต่ใช้วลีดีๆ เพื่อจะบอกว่า ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่เนื้อหาของมันไม่ได้มีอะไรมากมายเลยในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท