โอกาสของธุรกิจไทยจากการค้าเสรี

ทีดีอาร์ไอเตรียมศึกษาอัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ทุกฉบับ หวังกระตุ้นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แนะรัฐตั้งหน่วยงานติดตามการใช้ประโยชน์ และหาข้อมูลเตรียมทบทวนการเจรจา JTEPA ให้ได้ในปีนี้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

 
3 มี.ค. 52 - รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTAs) กับหลายประเทศ เพื่อหวังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์การประหยัดภาษีนำเข้า-ภาษีส่งออกในอัตราที่ต่ำลงหรือ 0% แต่ในภาพรวม พบว่า ภาคธุรกิจไทยยังใช้ประโยชน์จาก FTA ได้ไม่เต็มที่
 
ต่อประเด็นในเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก FTA ซึ่งไทยทำกับหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งโดยภาพรวม พบว่า FTA เหล่านี้ช่วยให้ ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์จากอัตราภาษีศุลกากรที่ลดลงได้พอสมควรทั้งฝั่งการนำเข้าและส่งออก
 
ตัวอย่างเช่น มูลค่าภาษีศุลกากรที่ประหยัดได้จากภาคการส่งออกของไทยจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สูงที่สุดถึงปีละกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ปีละกว่า 6 พันล้านบาท ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ปีละกว่า 3.8 พันล้านบาท ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ปีละกว่า 3.5 พันล้านบาท และความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) ปีละกว่า 260 ล้านบาท ส่วนภาคการนำเข้า พบว่า ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้ประโยชน์จากมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กว่า 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ JTEPA ทำให้เกิดมูลค่าภาษีที่ประหยัดได้ถึงปีละ 4.2 พันล้านบาท
 
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การทำ FTA เปรียบเสมือนการไปขุดบ่อเก็บน้ำฝน ขนาดบ่อจะกว้าง แค่ไหนก็อยู่ที่ว่าการเจรจาสามารถลดภาษีสินค้าได้กี่รายการ บ่อจะลึกแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าสามารถต่อรองให้ลดอัตราภาษีจากเดิมได้มากเพียงใด ส่วนเมื่อมีบ่อน้ำแล้ว จะเก็บน้ำฝนได้เท่าไรนั้นน ย่อมขึ้นอยู่กับอัตราการใช้ประโยชน์จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับความตื่นตัวของผู้ประกอบการ อย่างกรณีความตกลง JETPA ผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 55.9% ของโอกาสที่ได้รับจากอัตราภาษีศุลกากรที่ลดลงเฉลี่ย 7.8% ทำให้มีมูลค่าภาษีศุลกากรที่ประหยัดได้กว่า 6 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร รองลงมาคือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ ในฝั่งของญี่ปุ่นเอง JTEPA ก็เป็นความตกลงที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นแสดงความสนใจมากกว่าความตกลงการค้าเสรีอื่นที่มีอยู่ของญี่ปุ่น
 
การศึกษาที่ผ่านมาของทีดีอาร์ไอยังพบว่า การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นยังมีอุปสรรคบางประการในการใช้สิทธิประโยชน์ เช่น การที่สินค้าบางรายการไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้า การที่สินค้าส่งออกไม่ได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรหรือได้รับลดหย่อนน้อยเกินไป และในทางกลับกันอุปสรรคของผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มายังประเทศไทยคือ ต้นทุนในการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าต่อครั้งสูงมากสำหรับสินค้าที่ต้องส่งมาอย่างต่อเนื่องแบบทันเวลาพอดี (just-in-time) เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และความกังวลในการแจ้งโครงสร้างต้นทุนให้แก่หอการค้าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะเป็นภาคเอกชนด้วยกัน
 
รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้ในภาพรวมผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีแต่ละฉบับได้พอสมควรก็ตาม รัฐบาลไทยควรรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไทย มีความเข้าใจและใช้สิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยให้ข้อมูลข่าวสารด้านกฎระเบียบและตลาดของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคธุรกิจที่ยังไม่ตื่นตัว ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้
 
“การเปิดเสรีการค้าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงอยู่ในเวลาเดียวกัน การเปิดเสรีมีทั้งคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ นักธุรกิจจึงต้องติดตามข้อมูล ดูการเปลี่ยนแปลงแล้วปรับตัวให้ทัน จึงจะแข่งขันได้ การใช้ประโยชน์จริงๆ ไม่ยาก จึงน่าเสียดายถ้าได้รับลดภาษีแล้ว แต่ไม่ใช้สิทธิ”
 
ทั้งนี้การศึกษาเรื่อง JTEPA ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยจัดตั้ง “สำนักงานติดตามการใช้ประโยชน์ตามความตกลง JTEPA” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ติดตามและเร่งรัดการใช้ประโยชน์ รับฟังปัญหาจากภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ และจัดเตรียมข้อมูลให้คณะเจรจาฝ่ายไทยเมื่อมีการเจรจาทบทวนความตกลงใน ปี 2554 เพื่อให้ความตกลงที่จะได้รับการทบทวนสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการศึกษาติดตามข้อมูลของฝั่งญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกของตลาดญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรเร่งกำหนดหน่วยงานที่จะเป็นต้นสังกัดของสำนักงานดังกล่าวว่า จะเป็นกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงการต่างประเทศ ให้ได้ในปีนี้ เพื่อให้สามารถเตรียมข้อมูลเพื่อรองรับการเจรจาทบทวนความตกลงได้ทัน
 
รองประธานทีดีอาร์ไอ เสนอว่า การเจรจาทบทวนความตกลงที่จะเกิดขึ้นควรมีการเจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากรและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น เจรจาผ่อนคลายกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้เอื้อต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกของไทยบางรายการมากขึ้น เช่น อาหารแมว พรม ผ้าม่าน และผู้ปูที่นอน เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งรัดโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในขณะเดียวกัน กรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศก็ควรเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง JTEPA เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งยังขาดความเข้าใจในการใช้สิทธิประโยชน์
 
ตัวอย่างเช่น ในความตกลง ไทยสามารถส่งออกสับปะรดที่มีขนาดลูกละไม่เกิน 900 กรัม (9ขีด) ไปขายที่ญี่ปุ่นได้ในอัตราภาษีพิเศษ นั่นหมายความว่า สับปะรดขนาดเล็กของไทยซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ อาทิ สับปะรดภูแล ก็มีโอกาสทางการส่งออก แต่ปัญหาคือ เกษตรกรผู้ปลูก และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสับปะรดบางคนยังไม่รู้ว่ามีโอกาสทางการค้าดังกล่าว
 
“ข้อมูลอย่างนี้ถือว่าสำคัญและหากเราไม่ใช้ประโยชน์ก็น่าเสียดาย จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานที่จะตั้งขึ้นมา ที่จะต้องติดตามและรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจาทบทวนความตกลงกับญี่ปุ่นในปี 2554 ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องเตรียมทำการบ้านเพื่อใช้การเจรจาทบทวนในรอบต่อไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ทีดีอาร์ไอร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมที่จะทำการศึกษา FTA ทุกฉบับอีกครั้งเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นและเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์ต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท