Skip to main content
sharethis

“เพราะฉะนั้นนี่คือเหยื่อทางการเมือง เป็นเหยื่อที่บอกว่าเป็นชาวเขา ทำลายป่า ที่ไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องต่อสู้และเป็นเครื่องป้องกัน จึงทำให้เป็นเหยื่อทั้งที่ถูกกระทำเมื่อไหร่ก็ได้”

 

 

 
 
เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน คงจะรู้จักและคุ้ยเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งทำให้สังคมมองว่า เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ น่าศึกษาวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้
 
 
 “การมีกฎหมายไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง
แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่ใช้กฎหมายนั้น ใช้กฎหมายอย่างไร
ใช้กฎหมายเพื่อสร้างผลงานทางการเมืองให้กับตัวเอง
หรือใช้กฎหมายที่ไม่ได้คำนึงว่ามนุษย์มีลมหายใจต่างไปจากเราหรือเปล่า”
 น.ส.กมลวรรณ ชื่นชูใจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 1ใน 4 เจ้าของวิทยานิพนธ์ "เพื่อคนจน" รางวัล "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ซึ่งจัดโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับกองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ ได้หยิบประเด็นการใช้กฎหมายจับกุมและดำเนินคดีกับชาวเขา และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อยืนยันสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในพื้นที่อำนาจของตุลาการ 1 ในอำนาจอธิปไตยของปวงชน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะยืนยันเรียกร้องสิทธิทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการปฏิเสธการผูกขาดการนิยามความหมายของกฎหมาย โดยตุลาการอีกด้วย

 “ในส่วนตัวของดิฉันไม่กลัว เพราะว่าความกลัวนั้นอยู่ที่จิตสำนึก ซึ่งไม่ใช่อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แล้วแต่ว่าคุณจะมีการตีความอย่างไร เรามีการสู้กันในศาลชั้นต้นอย่างเดียวนั้น ศาลไม่ปล่อย และมีการยื่นคำร้องก็ไม่ปล่อย และระหว่างการยื่นคำร้องนั้น เราก็ไม่ได้มีการยื่นเปล่าๆโดยการที่เราไปทำวิจัยชุดหนึ่งที่บอกว่า 56 คนที่ถูกจับมานี้ แต่ละคนขณะที่ถูกจับนั้นกำลังทำอะไรเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่า ในขณะที่จับนั้นไม่มีความผิดซึ่งหน้า ไม่มีอะไรเลย และทุกคนนั้นอยู่ในเคหะสถานที่ไม่สมควรที่จะถูกจับ อยู่ในครอบครัวของตนเอง และข้อมูลวิจัยที่ยื่นคำร้องต่อศาลว่านี่เป็นคำร้องที่มิชอบ ศาลวางไว้ ไม่ได้เปิดอ่าน แล้วก็ยกคำร้อง โดยการไม่ฟังคำร้องของเรา ก็จบไป คน 50 คนก็ถูกขังอีกเหมือนเดิม อีก 6 คนนั้นอยู่ในศาลเยาวชน และทนายก็สู้เหมือนเดิมอีกครั้ง บอกว่าไม่ได้ มันต้องมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว กฎหมายเขียนไว้ ถ้ามีการจับผิดก็ต้องปล่อย…”

น.ส.กมลวรรณ บอกเล่าให้ฟังอีกว่า ขณะนั้นมีคำพิพากษาฉบับหนึ่งเกี่ยวกับมาตราที่เราต่อสู้ คือ นายสวัสดิ์ คำประกอบ สสร.จังหวัดนครสวรรค์ เป็นคนใช้กฎหมายฉบับนี้ และศาลนั้นก็จะมีอยู่ 3 ระดับ คือ ชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้น ที่ จ.เชียงใหม่ ที่เราพากันไปประท้วงกัน ศาลเขาก็ไม่ฟัง จนกระทั่งมีนักวิชาการ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นคนออกรายการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย บอกว่าขณะนี้มีคำพิพากษาฉบับหนึ่งที่ให้อำนาจศาลในการปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมโดยมิชอบ และได้ใช้ฎีกาฉบับนี้ยื่นต่อศาลเยาวชน ปรากฏว่า ศาลเยาวชนตีความว่าถูกจับผิดมาตรา237 และปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไปเปิดดูก็มีข้อยกเว้นอยู่ ที่เรียกว่า “บทเฉพาะกาล” ในบทเฉพาะกาลหรือข้อยกเว้นนั้นยังไม่มีผลบังคับใช้ในมาตรา 237 เพราะฉะนั้นคำร้องนั้นไม่มีผล 

“นี่คือการเมืองเรื่องการตีความ และคุณเองเป็นนักตีความกฎหมาย นักเทคนิค บอกว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ว่าโดยเจตจำนงของการมีกฎหมายฉบับนี้มันมีการคุ้มครองเราอยู่แล้ว แต่ความที่กลัวเสียหน้าถ้าปล่อยไปก็ต้องเสียชื่อศาลทางเชียงใหม่ และศาลเยาวชนมีการถูกปล่อยก็เกิดการเสียหน้าเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผู้พิพากษาตีความแบบนี้มันทำให้ สิ่งที่ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้รับความคุ้มครอง นี่เป็นประเด็นของเรื่องของการต่อสู้ในชั้นศาล...”

น.ส.กมลวรรณ บอกอีกว่า และเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดอันหนึ่งก็คือ ในขณะที่คนเราจำนวนหนึ่งไม่มีสัญชาติ ต้องรายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ “บัตรประชาชนอยู่ไหน ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนต่างด้าว” ก็มีการสั่งฟ้องใหม่ที่ศาลแขวง นี่เป็นเจอคดีที่ 2 แล้ว คดีแรกเป็นคดีป่าไม้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และมีการพบว่าคนนี้ไม่มีในทะเบียน บัตรประชาชน ตำรวจก็จับอีกรอบหนึ่ง “เป็นข้อหาลักลอบเข้าเมือง” และย้ายจากศาลจังหวัดเชียงใหม่มาขึ้นศาลแขวง ศาลแขวงพิพากษาให้ จิ๋ง จองตาล และนุ จองตาล มีครอบครัวถูกจับอยู่7 คน และ 2 คน ถูกศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้เนรเทศไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) “ส่งพื้นที่ชายแดนแต่ขอให้พ้นออกจากอนาเขตไทยก็พอแล้ว” และ 2 คนนั้นก็ยังเป็นผู้ต้องหาของศาลจังหวัดเชียงใหม่อยู่ พอศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาคดี 2 คนนี้หายไปไหน...คำตอบ คือ ศาลแขวงได้เนรเทศไปแล้ว ต้องเรียกตัวจาก ตม. ศาลผู้พิพากษาจังหวัดเชียงใหม่ต้องทำหนังสือถึงตม.ให้นำคน 2 คนนี้กลับมาดำเนินคดีอีกรอบหนึ่งในข้อหาผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ หลังจากมีการพิพากษามาแล้วในคดีลักลอบเข้าเมือง 

“เห็นไหมว่ามีการดำเนินคดีซ้ำซ้อน ในการถูกจับตั้งแต่ปี 2532 จนถึงล่าสุดก็มีการถูกจับอีกครั้งหนึ่ง นี่คือความซ้ำซ้อนของกฎหมายที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่บอกได้คำเดียวว่า “มันไม่ยุติธรรม” สิ่งที่เราสู้ก็เพื่อความยุติธรรมเท่านั้น เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ขณะที่เป็นคนชายขอบ ชาวเขา คนที่ไม่ใช่คนไทย นี่เป็นสิ่งที่มองเห็นว่าสิ่งที่น่าจะสรุปบทเรียน คือ ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น เพราะการใช้กฎหมายในมุมมองส่วนตัว ไม่ได้คิดถึงว่านี่มันก็คนเหมือนกัน เอากฎหมายไปบังคับใช้ เหมือนกับที่ท่านว่า สัตว์ป่ามันยังได้รับความคุ้มครองแต่มนุษย์นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย”

น.ส.กมลวรรณ กล่าวอีกว่า ฉะนั้น เราเป็นคนไทยมีบัตรประชาชนก็ยังมีกฎหมายห่อหุ้มกายอยู่และใครก็ไม่สามารถที่จะมาทำอะไรเราได้ แต่คนที่เป็นชาวเขาไม่มีกฎหมายเป็นอาภรณ์ของหุ้มกาย ท่านไม่มีสัญชาติไทยนั้นไม่มีกฎหมาย นี่เป็นความรุนแรงทำให้ชาวบ้านปางแดงถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

“เพราะฉะนั้นนี่คือเหยื่อทางการเมือง เป็นเหยื่อที่บอกว่าเป็นชาวเขา ทำลายป่า ที่ไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องต่อสู้และเป็นเครื่องป้องกัน จึงทำให้เป็นเหยื่อทั้งที่ถูกกระทำเมื่อไหร่ก็ได้”

น.ส.กมลวรรณ กล่าวทิ้งท้าย ว่า ที่คนปางแดงดำรงอยู่มาถึงตรงนี้ได้ เป็นผลจากการที่นักวิชาการ NGOs คนมีจิตสาธารณะจำนวนหนึ่ง ลุกขึ้นมาคุ้มครอง เห็นว่าเราต่างเป็นมนุษย์ ทำไมชีวิตมนุษย์ต้องถูกย่ำยีภายใต้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมอย่างนี้ 

“คำถามว่า ถ้ามีกฎหมายสังคมนี้จะได้รับความยุติธรรม การมีกฎหมายไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่ใช้กฎหมายนั้น ใช้กฎหมายอย่างไร ใช้กฎหมายเพื่อสร้างผลงานทางการเมืองให้กับตัวเอง หรือใช้กฎหมายที่ไม่ได้คำนึงว่ามนุษย์มีลมหายใจต่างไปจากเราหรือเปล่า”


ตัวอย่างบทคัดย่อ "วิทยานิพนธ์เพื่อคนจน" ที่ได้รับรางวัล

เขียนโดย น.ส.กมลวรรณ ชื่นชูใจ

 กฎหมายดำรงอยู่ภายใต้ความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ บางครั้งกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงแก่ประชาชน ดังนั้น กรณีความขัดแย้งเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรที่ดินป่าไม้ ระหว่างชุมชน จึงส่งผลให้ "ชาวเขา" บ้านปางแดงถูกจับกุมด้วยกฎหมายป่าไม้ 3 ครั้ง ดังนั้น การศึกษาเรื่อง "การจับกุมชาวเขา บ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่" จึงมีสมมติฐานว่า กฎหมายที่ใช้ในการจับกุมมีความรุนแรง

  วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดในกฎหมายที่ใช้จับกุมและดำเนินคดีกับชาวเขา และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อยืนยันสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในพื้นที่อำนาจของตุลาการ 1 ในอำนาจอธิปไตยของปวงชน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะยืนยันเรียกร้องสิทธิทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการปฏิเสธการผูกขาดการนิยามความหมายของกฎหมาย โดยตุลาการอีกด้วย

  ผลการศึกษาพบว่า กฎหมายคือการเมือง กฎหมายเป็นวาทกรรม วาทกรรมกฎหมายปฏิบัติการทางอำนาจในรูปการตีความ อำนาจการตีความจึงเป็นอำนาจการเมืองในกฎหมาย การตีความเป็นความรุนแรงในกฎหมาย กฎหมายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง กฎหมายมีความรุนแรง เนื่องจากการบังคับใช้ไม่ได้ดำเนินไปภายใต้หลักนิติธรรม การตีความทางกฎหมายที่ไม่รับรองสิทธิทางการเมืองที่ก้าวหน้า และการตีความที่ละเลยหลักนิติธรรมหรือไม่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐาน คือการฉุดรั้งการพัฒนาประชาธิปไตย โลกทัศน์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ขัดขวางการบรรลุถึงสังคมแห่งการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  นอกจากนี้ ยังพบว่า กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการแสดงผลงานทางการเมือง ดังนั้น ฐานทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนความรู้ความสามารถในการใช่กฎหมายของบุคคล จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงสภาพการเมืองในกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ปลอดจากการเมืองอย่างที่กล่าวอ้าง

  เหตุที่กฎหมายคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง กฎหมายคือวาทกรรม และกฎหมายคือการเมือง ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ จึงอยู่ที่การสร้างระบบตรวจสอบการตีความกฎหมายของสถาบันตุลาการ ตลอดจนตั้งคำถามกับ "ความยุติธรรมตามกฎหมาย" หรือการตั้งคำถามกับวาทกรรมกฎหมาย ที่ครอบคลุมสังคมนิติรัฐ

  ข้อเสนอแนะที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บุคคลที่มีอำนาจใช้กฎหมายต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ เพื่อให้สิทธิทางการเมืองของพลเมืองตามกฎหมายได้รับการปฏิบัติ และเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบรรลุถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

 
 
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (3)                     
ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (4)
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net