ก่อนจะสายเกินไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นสถานการณ์หลังคำตัดสินยึดทรัพย์แล้วทำให้นึกถึงความเห็นของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่มีฝ่ายใดเป็นขาวล้วน ดำล้วนอย่างที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อกัน ฉะนั้น จึงยากที่จะทำให้สังคมมีความเห็นร่วมกันได้ เขาเรียกวิกฤตเช่นนี้ว่า ‘วิกฤตฉันทานุมัติ’

ย้อนไปมองเฉพาะปรากฏการณ์ของ ‘คนมหาวิทยาลัย’ เมื่อครั้งเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็จะเห็นวิกฤตดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่ง เช่น ปรากฏการณ์ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆตบเท้าเข้ารายงานตัวต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) บางคนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางคนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) บางคนสนับสนุนรัฐประหารและออกเดินสายอธิบายเหตุผลสนับสนุนรัฐประหารทั้งในและต่างประเทศ หลายคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่เลือกที่จะอยู่เฉยๆ มีน้อยคนที่ออกมาคัดค้านรัฐประหารและการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแสดงบทบาทสนับสนุนรัฐประหาร

และเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ 46,000 ล้านบาท เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้คนทั้งประเทศจะรู้ว่ากระบวนการไต่สวนและคำตัดสินดังกล่าวจะมีที่มาจากอำนาจรัฐประหาร แต่ ‘วิกฤตฉันทานุมัติ’ ก็ยังดำรงอยู่เช่นเดิมเช่นเดียวกับเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นั่นคือ บางฝ่ายบอกว่าชอบธรรมแล้วและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้คำตัดสินของศาลดำเดินคดีอาญากับทักษิณ บางฝ่ายบอกว่าคำตัดสินไม่ชอบธรรมสมควรต่อสู้เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ทักษิณ หรือเพื่อทำให้รัฐประหารไม่มีผลอันเป็นการปกป้อง ‘หลักการ’ประชาธิปไตยที่จะทำให้ป้องกันรัฐประหารได้อย่างถาวร บางฝ่ายบอกว่า ‘กระบวนการ’ ไม่ชอบธรรมแต่ก็คล้อยตาม ‘เนื้อหา’ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าทักษิณผิดจริงจึงเลือกที่จะอยู่เฉยๆ หรือหาทางออกใหม่ที่พ้นไปจากปัญหา ‘ทักษิณ’

(แม้แต่ในภาพย่อยก็ดูจะเกิดวิกฤตฉันทานุมัติด้วยเช่นกัน เช่นในกลุ่มคนเสื้อแดงเองในแง่ยุทธศาสตร์ก็มีทั้งไม่เอาอำมาตย์ แต่เอาประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องการประชาธิปไตยที่ไม่มีเจ้า รัฐสวัสดิการ มีทั้งเอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ ในแง่ยุทธวิธีมีทั้งปลุกเร้าการใช้ความรุนแรงและยืนยันสันติวิธี ฯลฯ ในคนเสื้อเหลืองก็หลากหลายเช่นกัน)

ฝ่ายที่มองเฉพาะ ‘ที่มา’ ของคำตัดสินของศาลซึ่งอาศัยอำนาจรัฐประหารก็ยืนยันด้วยเหตุผลที่ยากจะโต้แย้งได้ว่า คำตัดสินของศาลไม่อาจตอบโจทย์ความยุติธรรมในสังคมได้ ส่วนฝ่ายที่มองเฉพาะ ‘ผล’ ของคำตัดสินที่เอาผิดกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของผู้นำประเทศได้ ก็มีเหตุผลอีกชุดหนึ่งมาสนับสนุนความยุติธรรมในคำตัดสินของศาล ส่วนฝ่ายที่ยอมรับว่า ‘ที่มา’ ไม่ชอบธรรม แต่คล้อยตาม ‘ข้อเท็จจริง’ ในคำวินิจฉัยของศาลก็ตกอยู่ในสภาพ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ ในทางศีลธรรม

แต่หากพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดอาจเห็นพัฒนาการบางอย่างว่า ในสภาวะวิกฤตฉันทานุมัติดังกล่าวตลอด 3-4 ปีมานี้ มีการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ที่พัฒนามาถึงระดับที่การเมืองไทยไม่อาจอยู่ในสภาพเดิมอีกต่อไปแล้ว กล่าวคือ สังคมเราไม่อาจอยู่กับประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำ/กำกับของศักดินา-อำมาตย์ได้อย่างปกติ หรืออย่าง ‘รู้รักสามัคคี’อีกต่อไป

เห็นได้จากความพยายามคงอยู่ในอำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากองคมนตรี กองทัพ และพันธมิตรฯ (ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป) ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นความพยายามที่อยู่บนความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม และในแง่หนึ่งเป็นความพยายามที่อยู่บนความหวาดกลัว ‘คนเสื้อแดง’ หรือกลัวการสูญเสียอำนาจของอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ ดังการแสดงออกด้วยการกลัวการเลือกตั้ง ไม่กล้ายุบสภาของ ‘อภิสิทธิ์’ (หลังจากเข้ารับคำแนะนำจากประธานองคมนตรีว่า ‘อย่ายุบสภา’) เป็นต้น

ความล้มเหลวในการเยียวยาความแตกแยก และความกลัวดังกล่าวของอำมาตย์และรัฐบาลที่อำมาตย์สนับสนุน สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อย ‘รู้ทัน’ และไม่เอาอำมาตย์อีกต่อไปแล้ว เห็นได้ตั้งแต่ปฏิกิริยาของสังคมต่อข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ‘สูตร 70/30’ และให้กองทัพแทรกแซงการเมืองได้เมื่อรัฐบาลคอร์รัปชัน หรือไม่จงรักภักดี (ซึ่งเป็นการเสนอรูปแบบประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำ/กำกับของศักดินา-อำมาตย์ที่เข้มข้นมากขึ้น) ทำให้ ‘การเมืองใหม่’ ที่พวกเขาเสนอไม่อาจมีพลังพอที่จะโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเกิดฉันทานุมัติร่วมกันได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พันธมิตรฯก็สร้างเครดิตหรือมีมวลชนที่เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนักการเมืองคอร์รัปชัน ที่ยังทำให้มวลชนเสื้อเหลืองมีพลังในการคานอำนาจมวลชนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยในการต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจให้ทักษิณ

อย่างไรก็ตาม แม้สังคมจะไม่อาจเป็นปกติได้เหมือนเดิมภายใต้ประชาธิปไตยในกำกับของศักดินา-อำมาตย์ แต่ยุทธศาสตร์ ‘ล้มอำมาตย์/ขจัดสองมาตรฐาน’ หรือสร้าง ‘รัฐไทยใหม่’ ของคนเสื้อแดงก็ไม่อาจทำให้คนไม่สังกัดสีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมคล้อยตามได้ เนื่องจากไม่มีคำตอบที่ทำให้สังคมมองเห็น ‘ภาพอนาคต’ ชัดเจนร่วมกันว่า เมื่อล้มอำมาตย์ได้แล้ว (หรือทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ) สังคมจะเดินต่ออย่างไร ‘รัฐไทยใหม่’ มีหน้าตาเป็นอย่างไร

สภาวะที่สังคมเมื่ออยู่กับที่ก็ไม่สงบสุข ถอยกลับก็ไม่ได้ ก้าวไปก็ติดขัด เนื่องจากขาดฉันทานุมัติร่วมกัน หรือ ‘อุดมการณ์ร่วมกัน’ เช่นนี้ เป็นสภาวะสังคมที่ล่อแหลมต่อการเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ทางออกจึงอยู่ที่การสร้าง ‘ฉันทานุมัติร่วม’ หรือ ‘อุดมการณ์ร่วม’ ของคนส่วนใหญ่ในสังคมขึ้นมาให้ได้

โดยทางหนึ่งคือ การใช้ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้างฉันทานุมัติร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมในสังคมขึ้นใหม่ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายที่จะตัดสินใจใช้ความรุนแรงต้องมั่นใจว่าฝ่ายตนจะสามารถชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้เงื่อนไขที่ ‘พอเพียง’ และสถานการณ์ความขัดแย้งที่สุกงอม

ทางหนึ่งคือ สังคมปล่อยให้คู่ขัดแย้งต่อสู้กันไป รอให้เกิดความรุนแรงขึ้นก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ไขประนีประนอมเพื่อสร้างฉันทานุมัติร่วมขึ้นใหม่

และทางหนึ่งคือ สังคมร่วมกันหาทางสร้างฉันทานุมัติร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมกันให้ได้ก่อนที่จะเกิดความรุนแรง

คำถามจึงอยู่ที่ว่า จากบทเรียนความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมา และที่เป็นมา 3-4 ปีนี้ ทำให้สังคมเรามีวุฒิภาวะพอหรือยังที่จะสร้างทางเลือกตามข้อสุดท้าย ด้วยการสร้าง ‘เวทีสาธารณะ’ ในการต่อสู้ทางความคิดอย่างถึงที่สุดผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และปฏิรูปการเมืองทั้งระบบโดยการมีส่วนร่วม (เช่น โดยการเลือกตัวแทนเสนอความคิดเห็น/ ‘วาระ’ ของกลุ่มตนเอง ออกแบบรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ ฯลฯ) ของประชาชนทั้งประเทศ

กติกาประชาธิปไตยที่จะป้องกันวงจร ‘คอร์รัปชัน-รัฐประหาร’ อย่างรัดกุมที่สุด ต้องเป็นกติกาที่มาจากการร่วมคิด ฉันทานุมัติร่วม หรืออุดมการณ์ร่วมของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

โปรดให้ประชาชนทั้งประเทศได้ออกแบบอนาคตของตนเองร่วมกันเถิดครับ ก่อนที่จะสายเกินไป!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท